พบฟอสซิลมนุษย์นอกทวีปแอฟริกาที่เก่าแก่ที่สุด

พบฟอสซิลมนุษย์นอกทวีปแอฟริกาที่เก่าแก่ที่สุด

บางส่วนของฟอสซิลขากรรไกรบนที่ยังคงมีฟันติดอยู่ซึ่งถูกพบในอิสราเอลนั้น ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการอพยพเดินเท้าออกจากทวีปแอฟริกาอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ การค้นพบครั้งนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าสายพันธุ์มนุษย์ของเรานั้นมีวิถีชีวิตที่ทับซ้อนกับสายพันธุ์มนุษย์ผู้เป็นญาติอย่าง มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล บนพื้นที่ลิแวนต์ (บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ปัจจุบันคือพื้นที่ของประเทศจอร์แดน เลบานอน อิสราเอล ดินแดนปาเลสไตน์ และซีเรีย)

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากฟอสซิลชิ้นก่อนๆ ที่ถูกค้นพบชี้ว่าบรรพบรุษของเรา มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ ปรากฏขึ้นบริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาเมื่อราวๆ 200,000 ปีก่อน แต่การอพยพครั้งใหญ่ออกจากบ้านเกิดนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นราว 50,000 – 60,000 ปีก่อน ในขณะที่หลักฐานจากฟอสซิลชี้ว่าการอพยพกลุ่มเล็กๆ ของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์นั้นน่าจะย้อนกลับไปได้ราว 120,000 ปีที่ผ่านมา

จนเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยที่สำรวจฟอสซิลจากถ้ำจีเบล อีร์ฮูด (Jebel Irhoud) ในประเทศโมร็อกโกค้นพบหลักฐานบางอย่างที่ก่อให้เกิดการถกเถียงครั้งใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีการอพยพของบรรพบรุษมนุษย์ พวกเขาระบุว่าการปรากฏตัวขึ้นของมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์แท้จริงน่าจะย้อนไปไกลได้ถึง 350,000 ปีก่อนด้วยซ้ำ

ผลการค้นพบใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงยังวารสาร Science ชี้ว่ากลุ่มมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์น่าจะอพยพเข้าสู่ผืนทวีปยูเรเซียเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นั่นคือราว 180,000 ปีก่อน

ฟอสซิลถูกพบในถ้ำ Misliya ส่วนหนึ่งถ้ำโบราณบริเวณทิวเขา Carmel ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์

(พอล ซาโลเพก ออกเดินเท้าตามรอยบรรพบรุษของเราจากแอฟริกา มาดูกันว่าเขาพบอะไรบ้างระหว่างทาง)

“มันเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากครับ บรรพบรุษของเราออกจากแอฟริกาเร็วกว่าที่เคยคิดไว้” Darren Curnoe ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำเนิดมนุษย์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ในนครซิดนีย์ ของออสเตรเลียกล่าว

“การค้นพบเมื่อปีที่ผ่านมาช่วยฉายภาพใหม่ๆ ของทฤษฎีการกำเนิดมนุษย์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากหลังหลายสิบปีที่ผ่านมาองค์ความรู้เหล่านี้หยุดนิ่งมานาน”

ชิ้นส่วนฟอสซิลของขากรรไกรบนชิ้นนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2002 ระหว่างการสำรวจทางที่พื้นที่โบราณคดี Misliya บริเวณทิวเขา Carmel ทางตอนเหนือของอิสราเอล สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่พักพิงของมนุษย์มาแล้วมากกว่าแสนปี

“มนุษย์เราชอบอาศัยอยู่ตามเพิงหิน เพื่อที่จะได้มองเห็นว่ามีอันตรายหรือเหยื่อคืบคลานมาใกล้หรือไม่ และพื้นที่บริเวณนั้นต้องแห้งด้วย เปรียบเสมือนระเบียงที่พวกเขาสามารถมองเห็นภูมิทัศน์ทั้งหมดได้” Rainer Grün ผู้อำนวยการจากสถาบันวิจัยวิวัฒนาการของมนุษย์จากมหาวิทยาลัย Griffith ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียกล่าว

 

อ่านเพิ่มเติม

นักสำรวจถ้ำค้นพบฟอสซิล ไขปริศนาญาติมนุษย์

แผนที่แสดงจุดพบฟอสซิลในแอฟริกาตอนเหนือและในตะวันออกกลาง

ทีมนักวิจัยวิเคราะห์รูปทรงของขากรรไกรและฟันอย่างละเอียดเพื่อหาว่าฟอสซิลที่ค้นพบนี้เป็นของมนุษย์สายพันธุ์ใหม่หรือมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลกันแน่ พวกเขาตรวจสอบเนื้อฟัน, เคลือบฟัน ไปจนถึงตะกอนที่ติดมากับฟอสซิลกราม และก้อนหินที่ถูกพบในบริเวณใกล้เคียงกับฟอสซิลด้วย

ผลการวิเคราะห์พบว่าฟอสซิลชิ้นนี้น่าจะมีอายุราว 177,000 – 194,000 ปี รายงานจาก Israel Hershkovitz นักบรรพมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ

ช่วงอายุนี้แสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของสายพันธุ์มนุษย์เรานั้นเกิดขึ้นมานานกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ “เรื่องราวการเดินเท้าออกจากแอฟริกาของเรา มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม” Jean-Jacques Hublin นักมานุษยวิทยาจากสถาบัน Max Planck หัวหน้าทีมขุดค้นในถ้ำจีเบล เออร์ฮาวด์ เมื่อปี 2017 ให้ความเห็น

ณ ตอนนี้ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการอพยพครั้งแรกเริ่มสุดของมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ที่เริ่มเดินเท้าเข้าสู่ทวีปยูเรเซียนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด และพวกเขาผ่านสถานที่ไหนมาแล้วบ้าง นับแสนปีมาแล้วที่ “ประชากรมนุษย์ในแอฟริกาทยอยเดินทางไปยังภูมิภาคทางตะวันตกของเอเชีย” Hublin กล่าว การอพยพของพวกเขาอาจเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ในตอนนั้นทุ่งหญ้าที่เขียวขจีของทะเลทรายซาฮาราทางตอนเหนือของแอฟริกาน่าจะดึงดูดใจบรรพบรุษของเรา

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของการค้นพบครั้งนี้คือ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่พบใกล้กับฟอสซิล รายงานจาก Julia Galway-Witham นักบรรพมานุษยวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในกรุงลอนดอน เครื่องมือที่พวกเขาพบคือเครื่องมือหินที่ซับซ้อนที่เรียกว่า เทคนิคแบบเลอวัลลัว (Levallois technique) คือการกะเทาะหินให้เครื่องมือที่ใหญ่โตเทอะทะพกพาได้สะดวก ซึ่งต้องใช้แรงกายและสมองมากขึ้นในการประดิษฐ์เครื่องมือดังกล่าว

อีกมุมมองหนึ่งของฟอสซิลขากรรไกรในอิสราเอลที่ถูกวิเคราะห์ล่าสุด

(ชมการเดินทางของพอล ซาโลเพก จากโปรเจค Eden Walk และนี่คือสิ่งที่เขาพบระหว่างการเดินทางในอุซเบกิสถาน)

“พวกเขาเป็นตัวแทนกลุ่มแรกที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับการใช้เครื่องมือแบบนี้นอกทวีปแอฟริกา” นักบรรพามานุษยวิทยาหญิงกล่าว “บางทีภูมิปัญญานี้อาจเกิดขึ้นร่วมกันในช่วงต้นที่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์อพยพมายังบริเวณถ้ำจีเบล เออร์ฮาวด์ ในโมร็อกโก จากนั้นมนุษย์รุ่นใหม่จากแหล่งโบราณคดีใน Misliya ก็รับเอาเทคนิคนี้มาพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในแอฟริกาและมนุษย์ในภูมิภาคตะวันตกของเอเชีย”

ด้วยงานวิจัยทางโบราณคดีมากมายจากภูมิภาคลิแวนต์ ฟอสซิลใหม่นี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการตอบข้อสงสัยอันยึดยาวที่มีต่อการอพยพของมนุษย์จากแอฟริกาเข้าสู่เอเชีย Grün กล่าวเสริม

และล่าสุดข้อมูลจากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม Hublin กล่าวเสริมว่า จากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอกระดูกของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอายุ 124,000 ปี ที่พบในเยอรมันชี้ว่า พวกเขาผสมข้ามสายพันธุ์กับเรา โฮโมเซเปียนส์ มาตั้งแต่เมื่อ 220,000 ปีก่อนแล้ว

 

อ่านเพิ่มเติม

เบาะแสใหม่ชี้ ยีนจากนีแอนเดอร์ทัลส่งผลถึงสุขภาพเรา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.