การ ‘ดื่มแอลกอฮอล์’ บนเครื่องบินสร้างผลกระทบเฉพาะให้เกิดกับร่างกาย และเครื่องดื่มเหล่านั้นอาจทำให้ประสบการณ์บนเครื่องบินของคุณแย่ลงไปอีก
คุณนั่งอย่างพอใจบนเที่ยวบินระยะไกลระหว่างประเทศ ความดันในห้องโดยสารอยู่ในระดับคงที่ สัญญาณรัดเข็มขัดนิรภัยดับลง เวลาเดียวกันนี้เองรถเข็นบาร์ที่กำลังเคลื่อนไปตามทางเดินก็เริ่มต้นขึ้น และในที่สุดก็ถืงเวลาผ่อนคลายซึ่งไม่มีอะไรดีกว่าไวน์สักแก้วเพื่อให้นอนสบายได้สัก 2-3 ชั่วโมง
แม้คุณจะคิดถึงการงีบหลับหลังจากดื่มนิดหน่อยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสิ่งนี้อาจจะทั้งเพื่อคลายความวิตกกังวล แต่เครื่องดื่มเหล่านั้นอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะงานวิจัยใหม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แอลกอฮอล์จะสร้างผลกระทบที่ผสมผสานกับระดับความสูงที่ร่างกายอยู่
มันจะเข้าไปเพิ่มภาระให้กับระบบหัวใจและหลอดเลือด ลดระดับออกซิเจนในเลือดซึ่งทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลง ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้คุณวิตกกังวลมากขึ้นได้อีกด้วย
“ทำไมไม่หลีกเลี่ยงการดื่มในสถานการณ์ที่ทำให้ร่างกายเครียดอยู่แล้วล่ะ?” เอวา-มาเรีย เอลเมนโฮรสท์ (Eva-Maria Elmenhorst) ผู้เขียนการศึกษากล่าว
อย่างไรก็ตามนี่ยังคงเป็ฺนคำถามที่ยังสงสัย แอลกอฮอล์สามารถรบกวนประสบการณ์บนเครื่องบินได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนอนหลับ และใครที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพมากที่สุด? ผู้เชี่ยวชาญได้พยายามทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง และแนะนำแนวสิ่งที่ผู้โดยสารสามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด
เช่นเดียวกับการขึ้นภูเขา การบินทำให้ร่างกายเกิดความเครียด ระดับสูงที่เพิ่มขึ้นทำให้ความกดอากาศลดลงซึ่งทำให้ความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศลดลงด้วยเช่นกัน และมีผลทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘ออกซิเจนในเลือดต่ำ’ จนมีออกซิเจนในปอดและกระแสเลือดลดลง
แม้ว่าเครื่องบินจะได้ปรับแรงดันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ แต่เครื่องบินที่อยู่ในระดับความสูงมาตราฐานของการล่อง (30,000 ถึง 40,000 ฟุต หรือราว 9,144 เมตรถึง 12,192 เมตร) ก็จะยังคงมีแรงดันในห้องโดยสารที่ตรงกับระดับความสูงเหนือน้ำทะเลที่ประมาณ 8,000 ฟุต (2,438 เมตร) อยู่ดี
ปีเตอร์ แฮกเกตต์ (Peter Hackett) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระดับความสูงและเหตุฉุกเฉินกล่าวว่า สำหรับคนที่มีสุขภาพดี ระดับที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่สามารถสังเกตเห็น(ผลกระทบ)ได้ชัดเจน เนื่องจากร่างกายของเรามีกลไกการปรับตัวตามธรรมชาติ
“อัตราการเต้นของหัวใจของคุณสูงขึ้น คุณจะหายใจถี่ขึ้นในแต่ละนาที/หรือหายใจลึกขึ้น” แอนดรูว์ ลุคส์ (Andrew Luks) แพทย์ศาสตร์และศาสตราจารย์ด้านปอด การดูแลวิกฤต และยานอนหลับจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว นี่เป็นเพียงบางส่วนของ “การตอบสนองทางสรีรวิทยาทั้งหมดในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ร่างกายของคุณปรับตัวเข้ากับสภาวะออกซิเจนต่ำ พร้อมกับชดเชยมัน”
อย่างไรก็ตาม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจขัดขวางการตอบสนองนี้ แฮกเกตต์ เสริมว่าแม้กลไกต่าง ๆ จะยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ผู้เชี่ยวชาญสงสัยว่าแอลกอฮอล์จะไปขัดขวางการหายใจและส่งผลต่อปริมาณออกซิเจนที่เข้าไปในร่างกาย
“(แอลกอฮอล์) คือสิ่งที่เราเรียกกันว่าเครื่องกดการหายใจ” แฮกเกตต์ กล่าวและว่า แม้ว่าร่างกายที่นิ่งสงบจะตอบสนองต่อความสูงโดยการเพิ่มอัตราการหายใจ แต่เขากล่าวว่า “แอลกอฮอล์ทำให้การตอบสนองดังกล่าวแย่ลง”
นักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนหลับในระดับความสูงจำลอง จะมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น (สูงกว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่ไม่เดิม 15 ครั้งต่อนาที(bpm)) และลดระดับออกซิเจนในเลือด โดยมีความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มร้อยละ 3 ผลกระทบทั้งสองนี้ทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักขึ้น
คุณภาพการนอนหลับและระยะเวลาการนอนในระดับความสูงนั้นเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว แม้แต่กับคนที่มีสุขภาพดีและมีสติก็ตาม อย่างที่ ลุคส์ ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้คนใช้เวลาน้อยลงมากในช่วงการนอนหลับลึกและในช่วง REM”
ระดับออกซิเจนที่ต่ำลงจะทำให้หลายคนตื่นบ่อยขึ้น และหายใจเป็นช่วง ๆ คั่นด้วยช่วงการหยุดหายใจขณะหลับซึ่งเป็นปราฏการณ์ที่เรียกว่า ‘การหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ’ แน่นอนว่าเสียงรบกวน หลุมอากาศ ที่นั่งคับแคบ และคลื่นรบกวนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการนอนหลับ
“ยังมีอีกหลายส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้ไม่แพ้กัน” ลุคส์ กล่าว
แม้ว่าไวน์สักแก้วอาจดูเหมือนจะช่วยให้ผ่อนคลายได้ดี แต่จริง ๆ แล้วแอลกอฮอล์กลับมีผลเสียต่อคุณภาพการนอนหลับ มาริแอนน์ เปียโน (Mariann Piano) ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สารเสพติดและศาสตราจารย์ด้านการพยาบาลจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ กล่าวว่า แม้แต่ในระดับน้ำทะเล แอลกอฮอล์ก็ยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจรบกวนการนอนหลับช่วง REM และรบกวนการผ่อนคลายหัวใจและหลอดเลือดได้
“เมื่อคุณดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ มันจะมีผลกดประสาท และคุณจะรู้สึกง่วง” เธออธิบาย “แต่เมื่อคุณนอนหลับ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของคุณจะลดลง และการมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ระดับหนึ่ง ก็จะเป็นตัวกระตุ้นมากขึ้นซึ่งทำให้คุณตื่น”
นอกจากนี้ การหมุนเวียนของอากาศที่แห้งและเย็นบนเครื่องบิน ก็ยังส่งผลทำให้ร่างกายขาดน้ำซึ่งอาจรุนแรงขึ้นได้หากดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเท่านั้นเครื่องดื่มดังกล่าวยังไปยับยั้งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะ ซึ่งทำให้คนเราเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นเพื่อขับน้ำออกจากร่างกาย
ทั้งหมดนี้ต่างรบกวนการนอน การหายใจ และการพักผ่อนบนเครื่องบินที่อยู่ในระดับความสูงปกติ กลายเป็นเที่ยวบินที่อาจทำให้คุณรู้สึกว่าได้รับประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก
ในการศึกษาของ เอลเมนโฮรสท์ การผสมผสานของแอลกอฮอล์และระดับความสูง ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีสุขภาพดีมีระดับความเครียดเกี่ยวกับหัวใจปรากฏขึ้น แฮกเกตต์ กล่าวเสริมว่าเทียบได้กับการ ‘เดินเล่น’ แต่ในทางกลับกัน การลดลงของออกซิเจนอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวหรือเวียนศีรษะได้ แม้ว่าเขาจะบอกว่ามันอาจไม่สำคัญสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีก็ตาม
ลุคส์ เห็นด้วย โดยสังเกตว่าคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี รวมถึงผู้เข้าร่วมทั้งหมดในการศึกษานี้ “โดยทั่วไปแล้วสามารถทนต่อภาวะขาดออกซิเจนในเลือดได้พอสมควร” แม้ว่าระดับออกซิเจนที่ลดลงในระยะเวลานานอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อได้ ทว่าในกรณีส่วนใหญ่เช่นบนเที่ยวบน ผลกระทบที่เกิดจากแอลกอฮอล์และระดับความสูงก็จะยังไม่รุนแรงในระยะสั้น และจะหายไปในไม่ช้าหลังจากกลับสู่ระดับน้ำทะเล
ทว่า ผลกระทบอาจรุนแรงมากขึ้นในผู้สูงวัยหรือผู้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคที่เป็นอยู่แล้วเช่น โรคหัวใจหรือปอด เปียโนก ล่าวว่า ตามทฤษฎีแล้วการเพิ่มขึ้นของอัตราการเต้นของหัวใจ หรือระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนที่ลดลงอาจทำให้เกิด “ผลกระทบทางสรีรวิทยาขึ้นมากระทันหัน” เช่น หัวใจล้มเหลว
หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนเครื่องไม่ใช่สิ่งที่คุณจะปฏิเสธมันได้ง่าย ๆ ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอเคล็ดลับบางประการเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อการนอนหลับและต่อสุขภาพ
เปียโน แนะนำว่าให้ดื่มไม่เกิน 1 แก้วตลอดเที่ยวบินเป็นการดีที่สุด และจะดียิ่งกว่านั้นหากดื่มพร้อมกับอาหารสักมื้อแล้วตามด้วยน้ำเปล่าเพิ่มเติม เช่นเดียวกับบนพื้นดิน ผลของแอลกอฮอล์จะยิ่งรุนแรงขึ้นในขณะที่ท้องว่าง
ท้ายที่สุดแล้วเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของแอลกอฮอล์ “ก็มักจะมีคำถามเสมอว่า ‘มากแค่ไหน?’” ลุคส์ กล่าวและทิ้งท้าย “ไปดื่มเบียร์หรือไวน์สักแก้ว แต่อย่าหนักจนเกินไป”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://thorax.bmj.com/content/early/2024/05/03/thorax-2023-220998