วิกฤตวัยรุ่นทั่วโลก! วิจัยพบคนทำงานยุคใหม่ไม่มีความสุขแต่กลับเพิ่มขึ้นตามวัย

งานวิจัยใหม่พบว่า วัยรุ่นและคนวัยเริ่มต้นทำงานในปัจจุบันมีความสุขน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ช่วงวัยนี้มักถูกมองว่าเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดของชีวิต

เราหลายคนมักได้ยินคำพูดจากผู้ใหญ่ตอนปลายหรือผู้สูงอายุว่า “วัยหนุ่มสาวเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุดของชีวิต” มีความเป็นอิสระ มีแรงกายและแรงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีเงินมากมาย ทว่าคนหนุ่มสาวก็ยังคงหาความสุขของชีวิตในด้านอื่น ๆ ได้ง่ายกว่า

เช่นเดียวกับรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1973 ใน 146 ประเทศทั่วโลก ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘กราฟตัว U (ยู)’ โดยแนวนอนด้านซ้ายมือของกราฟจะเป็นช่วงอายุตั้งแต่วัยเด็ก จากนั้นก็เลื่อนไปทางขวาตามอายุที่มากขึ้น

ขณะที่แนวตั้งจะเป็นระดับความสุขที่ยิ่งสูงแสดงว่ายิ่งมีความสุข กราฟดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความสุขจะขึ้นสู่จุดสูงสุดช่วงอายุ 30 ปี และจะกลับไปสู่จุดต่ำสุดที่อายุประมาณ 50 ปี จากนั้นก็จะขึ้นมาอีกครั้งในช่วง 70 ปี การค้นพบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับกลุ่ม โฮโม เซเปียนส์ เท่านั้น แต่ยังพบในลิงด้วยเช่นกัน

กล่าวอีกนัย วัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจนและเริ่มต้นทำงาน เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างมีความสุขในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ทว่าในยุคปัจจุบัน ความจริงดังกล่าวกลับตาลปัตรไปอีกด้าน

“มีวรรณกรรมตีพิมพ์บทความอย่างน้อย 600 ฉบับที่เสนอว่าความสุขเป็นรูปตัวยู” เดวิด บลานซ์ฟลาวเวอร์ (David Blancflower) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ และผู้เขียนรายงานเรื่องเส้นโค้งแห่งความสุขรูปตัวยูในฉบับแรก ๆ กล่าว “จากข้อมูลและการวัดผลที่หลากหลาย มีการค้นพบวิกฤตวัยกลางคน(มีความสุขต่ำ)ในแบบจำลองอย่างสม่ำเสมอ”

“แต่นั่นไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว” เขากล่าวและว่า “ในปัจจุบัน คนหนุ่มสาว (โดยเฉลี่ย) เป็นคนที่มีความสุขน้อยที่สุด ปัจจุบันความทุกข์ลดลงตามอายุ และความสุขก็เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี 2017 วัยผู้ใหญ่มีความสุขกว่าคนหนุ่มสาว”

ความสิ้นหวัง

เส้นโค้งความสุขรูปตัวยูดังกล่าวอยู่มานานหลายทศวรรษ แต่มันไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปเมื่อ บลานซ์ฟลาวเวอร์ และเพื่อนร่วมงานของเขาจากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) ระบุว่ามีการลดลงของความสุขอย่างต่อเนื่องในหมู่คนหมุ่นสาว ซึ่งหมายความว่าคนรุ่นดังกล่าวไม่มีความสุขอีกต่ไป

พวกเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของความทุกข์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลระบบเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านพฤติกรรมและจิตใจ ของกรมควบคุมโรคของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2022 ซึ่งจะมีผู้เข้ามาทำแบบทดสอบความเครียด อาการซึมเศร้า และปัญหาอื่น ๆ โดยจะเป็นการสังเกตอารมณ์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

ข้อมูลชี้ให้เห็นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งตอบว่าไม่มีวันที่สุขภาพจิตแย่ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เป็นประเด็นก็คือ ผู้คนราวร้อยละ 7 ถึง 30 ระบุว่ามีอย่างแน่นอน และสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกือบ 2 เท่าในช่วงปี 1993 ถึง 2023 อัตราดังกล่าวเติบโตรวดเร็วที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 18 ถึง 25 ปี

“เราต้องมุ่งเน้นไปที่ผู้คนที่อยู่ในระดับสุดขั้ว” บลานซ์ฟลาวเวอร์ กล่าว “ลองนึกถึงผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด และต้องเสียชีวิตด้วยความสิ้นหวัง คนเหล่านี้คือคนที่พูดว่า ‘ทุกวันในชีวิตของฉันเป้นวันที่สุขภาพจิตไม่ดี ข้อเท็จจริงนี้เพียงอย่างเดียวก็น่าตกใจและน่ากังวลที่สุด ผมประมาณการว่า 11% ของหญิงสาวนั้น กำลังสิ้นหวัง”

ขณะที่ คาโรล กราแฮม (Carol Graham) นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันบรูดิงส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนระบุว่า “เราไม่เคยคิดถึงจุดต่ำสุดในวัยเยาว์เลย” เธอกล่าว “นั่นคือตอนที่ผู้คนเพิ่งเริ่มต้นการใช้ชีวิตของพวกเขา มันไม่ควรเป็นเวลาที่พวกเขาวิตกกังวลที่สุด หดหู่ที่สุด และหมดหวังกับอนาคต มันมีบางอย่างที่ผิดปกติมากที่นั่น”

แนวโน้มเหล่านี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอายุและความเจ็บป่วยเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความทุกข์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนอายุ 45 ปีในปัจจุบัน และเส้นความสุขก็ลดลงอย่างน่าตกใจโดยเฉพาะก่อนอายุ 25 ปี ซึ่งหมายความอย่างง่าย ๆ ว่าสุขภาพจิตของคนหนุ่มสาวลดลงอย่างรวดเร็ว

แทนที่จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข มันกลับกลายเป็นสิ่งตรงข้าม และการไม่มีความสุขนั้นก็ทำให้ร่างกายอ่อนไหวต่อโรคต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้คนหนุ่มสาวต้องเผชิญกับความทุกข์ทางการเพิ่มขึ้น

ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นทั่วโลก

ในตอนแรกทีมวิจัยคิดว่าการค้นพบดังกล่าวอาจเกิดขึ้นแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขาลองตรวจสอบกับออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ ทุกที่ต่างแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน

และเมื่อใช่ข้อมูลของโครงการ Global Mind Project ที่ครอบคลุม 34 ประเทศ ทีมงานก็พบว่ามีความเจ็บป่วยในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นในช่วงอายุน้อยบ่อยครั้งมากกว่าเดิม และแนวโน้มนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่มุมใดมุมหนึ่งของโลก มันกลับเกิดขึ้นไปทั่ว

“เราคิดว่าเป็นแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่เราก็เห็นมันทุกที่ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงตื่นตระหนก” บลานซ์ฟลาวเวอร์ กล่าว “คำถามก็คือ ทำไมผมไม่เห็นสิ่งนี้(ในตอนแรก)” ขณะที่ กราแฮม อธิบายเพิ่มว่า “เส้นโค้งรูปตัวยู ไม่เพียงแต่เป็นการค้นหาตามสัญชาติญาณเท่านั้น แต่ยังมีความสอดคล้องกันอย่างมากในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย”

ทีมวิจัยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ความสุขของคนหนุ่มสาวลดลง และทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้น บลานซ์ฟลาวเวอร์คิดว่าการใช้โทรศัพท์และโซเชียลมีเดียเป็นตัวแปรสำคัญ แต่เขาก็เสริมว่า ข้อมูลชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในกลุ่มหญิงสาว ดังนั้นมันน่าจะมีอะไรอื่นอีก แต่เขาไม่รู้เลย

อย่างไรก็ตาม “นี่เป็นปัญหาระดับโลก เราผ่านจุดวัดไปแล้ว เราจะต้องออกไปทำงาน พยายามคิดว่าอะไรจะใช้ได้ และเราควรพยายามหาทางแก้ไข” เขากล่าวต่อ

“บอกเราหน่อยว่า เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วงคนหนุ่มสาวที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : Photo by Tran Mau Tri Tam on Unsplash

ที่มา

www.papers.ssrn.com

www.iflscience.com

www.scientificamerican.com


อ่านเพิ่มเติม : ผลวิจัยใหม่พบดื่มแอลกอฮอล์บนเครื่องบิน เสี่ยงทำร่างกายพังอย่างคาดไม่ถึง

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.