ค้นพบ “ถ้ำดวงจันทร์” ที่พักพิงจากภัยอวกาศ ที่อาจเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์นอกโลก

ทำไมการค้นพบ “ถ้ำบนดวงจันทร์” จึงมีความสำคัญในการสำรวจอวกาศ? นักวิทยาศาสตร์เชื่อสถานที่ดังกล่าวสามารถใช้เป็นที่พักพิงให้แก่มนุษย์ในอนาคตได้ ซึ่งเป็นเวลานานแล้วที่มนุษย์ได้ฝันถึงการใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ และเรากำลังเข้าใกล้ความจริงนั้นมากน้อยเพียงใด?

เป็นเวลามากกว่า 50 แล้วนับตั้งแต่ ‘นีล อาร์มสตรอง’ และ ‘บัซ อัลดริน’ ได้เหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์บนพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ทะเลแห่งความเงียบสงบ’ (Mare Tranquillitatis) นักวิทยาศาสตร์ก็ได้เฝ้าฝันถึงวันที่มนุษยชาติจะกลับไปสถานที่แห่งนั้นอีกครั้ง โดยหวังว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศอย่างแท้จริง

แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ ‘สถานที่อยู่อาศัย’ บางคนอาจเสนอสร้างฐานบนพื้นผิวดวงจันทร์อย่างเรียบง่าย แต่บางคนกลับมองไปอีกด้านแล้วชี้ว่า ‘ถ้ำบนดวงจันทร์’ อาจเป็นสถานที่สะดวกกว่าซึ่งสามารถเป็นที่พักพิงให้แก่นักบินอวกาศได้ และที่สำคัญดวงจันทร์ก็ดูจะถ้ำอยู่ทุกที่

“ระบบถ้ำดวงจันทร์ได้รับการเสนอให้เป็นสถานที่ที่ดีเยี่ยมในการวางฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” แคเธอรีน จอย นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในอังกฤษ กล่าว “อย่างไรก็ตามขณะนี้เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับโครงสร้างใต้ดินทางเข้าหลุมเหล่านี้”

นักวิจัยต่างถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าจริง ๆ แล้วดวงจันทร์มีถ้ำอยู่จริงหรือไม่ พวกเขาเชื่อกันว่าถ้ำดังกล่าวอาจเป็นท่อลาวาที่เกิดจากกระบวนการภูเขาไฟเมื่อหลายพันล้านปีก่อน และน่าจะมีหลุมเชื่อมต่อขึ้นมาบนพื้นผิว นับตั้งแต่นั้นมาผู้เชี่ยวชาญต่างก็ขมักเขม้นค้นหาถ้ำที่เป็นไปได้ ซึ่งได้เผยแพร่รายงานใหม่ไว้ในวารสาร Nature Astronomy เมื่อเร็ว ๆ นี้

การวิเคราะห์ข้อมูลจากยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ที่อยู่ในวงโคจร ‘Lunar Reconnaissance Orbiter’ หรือ LRO ของนาซา (NASA) ซึ่งรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2010 ได้เผยว่ามีถ้ำแห่งหนึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลแห่งความเงียบสงบ และมันอาจเป็นสถานที่ที่นักวิทยาศาสตร์ตามหากันมานาน

ถ้ำที่เพิ่งค้นพบนี้มีช่องว่างอยู่ที่ระดับความลึกลงไปใต้ดินประมาณ 130-170 เมตร โดยมีความกว้างหน้าปากถ้ำราว 45 เมตร และมีช่วงยาวอยู่ที่ 30-80 เมตร กล่าวอย่างง่าย มันเป็นโพรงที่มีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป และเหมาะกับการอยู่อาศัยในช่วงแรกอย่างยิ่ง

“ถ้ำบนดวงจันทร์นั้นเป็นปริศนามาอย่างยาวนาน นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่ามันมีอยู่จริงมานานกว่า 50 ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจว่าในที่สุดก็สามารถพิสูจน์การมีอยู่ของมันได้” ลีโอนาโด คาร์เรอร์ (Leonardo Carrer) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาวิชาวิศวกรรมสารสนเทศและวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทรนโตในอิตาลี และหนึ่งในทีมวิจัย กล่าว

ใช้มันเป็นที่กำบัง

เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์สนใจถ้ำเป็นฐานที่ตั้งก็เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่รุนแรงของดวงจันทร์ ซึ่งมีอุณหภูมิสุดขั้วเปลี่ยนไปมาตามแต่ละช่วงเวลา ในกลางวันพื้นผิวจะร้อนขึ้นไปถึง 121 องศาเซลเซียส (°C) ขณะที่กลางคืนจะดิ่งลงไปถึง -133°C ตามรายงานของนาซา ระบุว่าาอาจสามารถลดลงไปได้ถึง -246°C

ด้วยอุณหภูมิเหล่านั้นจึงเป็นการยากที่จะอาศัยอยู่บนพื้นผิว หรือหากจะสร้างฐานที่ตั้งอยู่บนพื้นก็ต้องมีระบบป้องกันที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องนักบินอวกาศจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และใช้ทรัพยากรมหาศาล

ไม่เพียงเท่านั้น พื้นผิวดวงจันทร์ยังถูกโหมกระหน่ำด้วยรังสีอันตรายจากอวกาศ ที่สามารถทำลายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตได้ ดังนั้นการมีที่กำบังโดยธรรมชาติจึงถือว่าเป็นการช่วยนักบินอวกาศในหลาย ๆ ด้านอย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ถ้ำบนดวงจันทร์ก็อาจมีน้ำแข็งซ่อนอยู่ มันจึงช่วยเรื่องทรัพยากรได้อีกทางหนึ่ง

“ถ้ำบนดวงจันทร์สามารถให้ประโยชน์มหาศาลแก่นักบินอวกาศ เนื่องจากพวกเขาสามารถหาที่กำบังจากอันตรายบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ เช่น การแผ่รังสี อุกาบาตขนาดเล็ก และอุณหภูมิสุดขั้ว” ไทเลอร์ ฮอรวาท์ธ (Tyler Horvath) นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส กล่าว

ยังไงก็ตามนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าสภาพภายในน้ำเป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งต้องให้รถเข้าไปสำรวจอยู่ใกล้ ๆ ฮอรวาท์อธิบายว่า หากมันเป็นท่อลาวาจริง ๆ ก็อาจเป็นผนังเรียบทั้งหมด ยกเว้นในกรณีที่มีลาวาหยดลงมาก็อาจก่อตัวเป็นเนินภายในถ้ำก็ได้ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความกังวลว่าถ้ำเหล่านี้อาจเข้าออกได้ยาก ซึ่งจะสร้างปัญหามากกว่า

“การเข้าไปในหลุมนั้นต้องลงลึกไปถึง 125 เมตรก่อนจะถึงพื้น และขอบเหล่านั้นก็เป็นทางลาดชัดที่มีเศษซากหลุดลอย ซึ่งการเคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตามจะส่งผลให้เกิดการถล่มลงไปสู่ใครก็ตามที่อยู่ด้านล่าง” โรเบิร์ต เวกเนอร์ (Robert Wagner) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา กล่าว “แน่นอนว่าสามารถเข้าได้ แต่ก็ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากอยู่ดี”

การสำรวจถ้ำในอนาคต

นักวิทยาศาสตร์เสริมว่า ‘จะไม่แปลกใจเลยหากพบถ้ำขนาดนี้เพิ่มเติมบนดวงจันทร์’ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ต่ำกว่าโลก ถ้ำขนาดใหญ่จึงสามารถก่อตัวได้โดยมีความเสี่ยงต่อการพังทลายน้อยกว่าบนโลกมากนัก โดยในการศึกษาปี 2020 ระบุว่าอาจมีท่อลาวาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1 กิโลเมตรซ่อนอยู่

“เราไม่ควรแปลกใจ หากการสำรวจในอนาคตเผยให้เห็นถ้ำที่ใหญ่กว่านี้อีก เรากำลังมองเห็นระบบท่อประปาภูเขาไฟในดวงจันทร์คร่าว ๆ” พอล เฮย์น (Paul Hayne) รองศาสตราจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์และดาวเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ กล่าว

ด้วยยานสำรวจอวกาศที่วิ่งอยู่บนพื้นดิน หรือลอยอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สำเร็จดาวบริวารของโลกได้เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญวางแผนในการสร้างฐานของมนุษยชาติได้รอบขอบและละเอียดยิ่งขึ้น ทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นยุคการสำรวจอวกาศที่จะทำให้เราไม่ได้แค่เพียง ‘มอง’ ออกไปเท่านั้น แต่จะเป็นการเดินทางออกไปอย่างแท้จริง

“LRO อยู่บนดวงจันทร์มาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว โดยได้สร้างชุดข้อมูลที่น่าทึ่งซึ่งเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อดวงจันทร์ และถูกนำมาใช่ในการค้นพบประเภทนี้” โนอา เปโตร (Noah Petro) หัวหน้าห้องปฏิบัติการธรณีวิทยาดาวเคราะห์ ธรณีฟิสิกส์ และธรณีเคมีของนาซา กล่าว

นั่นเพราะถ้ำเป็นหนึ่งในความประหลาดใจที่ยอดเยี่ยมที่ดวงจันทร์เตรียมไว้ให้เราเสมอ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพจาก Nasa

ที่มา

www.nature.com

https://science.nasa.gov/solar-system/new-evidence-adds-to-findings-hinting-at-network-of-caves-on-moon/

www.space.com

www.smithsonianmag.com

www.theguardian.com

https://edition.cnn.com


อ่านเพิ่มเติม : จักรวาลขยายตัวด้วยความเร็วเท่าไหร่? เมื่อกล้องเจมส์ เวบบ์ เผยข้อมูลท้าทายความเข้าใจ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.