ความหลากหลายทางพันธุกรรม หรือ การคัดเลือกโดยธรรมชาติ เป็นการวิวัฒนาการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น ยีราฟที่มีการปรับลักษณะทางพันธุกรรมให้คอยาวขึ้น เพื่อให้เข้ากับการกินอาหารที่อยู่สูง หรืออาจจะเกิดจากการควบคุม อาทิ การคัดเลือกพันธุ์สุนัขเพื่อผสมโดยมนุษย์ หรือในมนุษย์เองจะเห็นได้ชัดจากสีตา สีผม ผิวหนังของคนแต่ละเชื้อชาติ
ทั้งนี้ เนื่องจากสิ่งที่ทำให้ยังมีสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นยังดำรงอยู่ โดยเมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งพบว่าต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ส่วนมากจะเกิดการปรับตัวผ่านสารพันธุกรรมในรุ่นลูกต่อไป ซึ่งลูกของแต่ละตัวก็อาจจะได้รับการพัฒนามาคนละแบบ การคัดเลือกโดยธรรมชาติจะช่วยคัดเลือกว่าการปรับแบบไหนจะสามารถทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอดได้ต่อไป
ความหลากหลายทางพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อมนุษย์โดยตรงคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หากไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม เราคงไม่มีตัวเลือกในการกินมากนัก สิ่งนี้จึงสำคัญมากต่อโลก
สำหรับความหลากหลายทางพันธุกรรมนี่ที่มาจากยีนในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เช่น ข้าว ชาวไทยเองมีทั้ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวสังข์หยด ข้าวญี่ปุ่น ฯ ให้เลือกทาน แต่หากความหลากหลายทางพันธุกรรมหมดไป อาหารและสารอาหารบางอย่างก็จะหายไปจากเมนูบนโต๊ะอาหาร
ขณะที่ในธรรมชาติเอง การมีสัตว์ชนิดใดมากจนเกินไป ก็อาจทำลายระบบนิเวศทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ปลาหมอคางดำ ที่เป็นปัญหาในเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งในทางตรงเป็นปลาต่างถิ่นที่มาแย่งอาหารปลาท้องถิ่น ส่วนในทางอ้อมคือปลาที่แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เอาตัวรอดเก่ง อยู่ได้หลายนํ้า จึงมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปลาชนิดอื่นหลายเท่า เรียกว่าทั้งลดประชากรสัตว์นํ้าชนิดอื่น และ เพิ่มประชากรของตัว ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงเกิดปัญหาใหญ่หลายอย่างทั้ง ผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง , การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากเกินไป , การสูญเสียพื้นที่ที่อยู่อาศัย , มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และ การบุกรุกของสายพันธุ์ต่างถิ่น
หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหา เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือ Invasive Alien species หนึ่งในปัญหาใหญ่ของความหลากหลายทางพันธุกรรม การบุกรุกของสายพันธุ์ต่างถิ่นจากการนำเข้าพืชพันธุ์ต่างถิ่น ไปจนถึงสัตว์ชนิดต่างๆ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียด หรือถูกทำลายตั้งแต่ที่สนามบิน เนื่องจากอาจเกิดการแพร่เชื้อโรคให้กับพืชพันธุ์พื้นถิ่นได้
อนึ่ง แม้จะเป็นส้มเหมือนกัน แต่ด้วยสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมต่างกัน ย่อมมีความทนทานต่อโรคที่แตกต่างกัน พันธุ์นำเข้าอาจจะนำเชื้อที่พันธุ์ท้องถิ่นไม่สามารถต่อสู้ได้เข้ามาด้วย หลายประเทศจึงมีกฎหมายที่เข้มงวดมากในการนำอาหาร ผัก ผลไม้ ครื่องปรุง และ สัตว์ เข้าประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปลาซัคเกอร์ ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อดูดคราบในกระจกตู้ปลา เมื่อตัวใหญ่ขึ้น มันสามารถดูดอาหารที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย เช่น ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น เมื่อคนเลี้ยงนำไปปล่อยสู่แหล่งน้ำ จึงทำให้ระบบนิเวศเสียหาย
เช่นเดียวกับข่าวล่าสุดอย่าง ปลาหมอคางดำ ที่ถูกนำมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งสร้างปัญหาอย่างมากให้กับคนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปกินกุ้งของชาวประมง รวมถึงการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วจนเกินการควบคุม แม้หลายหน่วยงานพยายามหาทางแก้ไข แต่ยังหาทางออกที่เหมาะสมไม่เจอ
ต้นไม้แต่ละต้นสามารถแตกหน่อใหม่ซึ่งเป็นทายาทของต้นดั้งเดิมและยังคงเชื่อมต่อกันด้วยระบบรากเดียวกันเป็นครอบครัว แต่อาจยกเว้นเพียง ต้นฝ้ายสีดำ ที่เติบโตและดำรงอยู่อย่างโดดเดียว ซึ่งยีนของต้นฝ้ายสีดำ แม้ว่าจะเป็นเครือญาติกัน แต่กลับกลายเป็นว่าทุกต้นมีความแตกต่างทางพันธุกรรมอย่างสิ้นเชิงระหว่างสายพันธุ์เดียวกัน
ต้นฝ้ายสีดำ เป็นไม่กี่ตัวอย่างของพืชพันธุ์ที่น่าสนใจในเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม เพราะในต้นเดียวพบความแตกต่างในยีนนับพันตั้งแต่หน่อบนสุด กิ่งล่างสุด และราก ซึ่งความแปรผันภายในต้นไม้ต้นเดียวอาจมากกว่าความแปรผันของต้นไม้ต่างๆ
ดังนั้น การวิวัฒนาการอาจเกิดขึ้นเฉพาะในประชากรมากกว่าในระดับปัจเจกบุคคล แน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม แต่ไม่เป็นปัญหาเพราะเกิดจากการปรับตัวทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ค่อยเป็นค่อยไป ทว่าปัญหาด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกในทุกวันนี้ แทบทุกครั้งเกิดจากการกระทำของมนุษย์
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพจาก Eric in SF
ข้อมูลอ้างอิง
https://littlebiggreen.co/blog/biodiversity-day-2021