โครโมโซม XY ในวงการมวยหญิง ความท้าทายของ ‘ชีววิทยา’ และ ‘กติกากีฬา’

อิมาน เคลิฟ ไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศ ท่ามกลางคำครหาจากทั่วโลกที่กล่าวว่าเธอไม่ใช่ ‘ผู้หญิงที่แท้จริง’ แล้ววิทยาศาสตร์บอกอะไรเกี่ยวข้อกล่าวหานี้บ้าง? 

อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) ชาวแอลจีเรียและ หลิน อวี้ถิง (Lin Yu Ting) นักมวยจากไต้หวันได้ขึ้นชกในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ซึ่งสร้างการถกเถียงกันขึ้นมาในทันทีว่านักกีฬาทั้งสองคนนี้เป็นผู้หญิงจริงหรือไม่? ทำให้กฎระเบียบเรื่องเพศถูกตั้งคำถามขึ้นมาอีกครั้งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแข่งขันกีฬา

แม้ว่าสมาคมมวยสากลนานาชาติ (International Boxing Association) หรือ IBA จะประกาศเมื่อปี 2023 ว่านักกีฬาทั้งสองคนถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันชิงแชมป์โลก เนื่องจากไม่ผ่านการทดสอบคุณสมบัติในประเภท ‘มวยหญิง’ แต่คณะกรรมการโอลิมปิก (IOC) กลับให้ทั้งคู่ลงแข่งได้โดยไม่มีปัญหา

นี่ไม่ใช่ข้อถกเถียงแรกและครั้งสุดท้ายเกี่ยวเรื่องเพศผู้เข้าแข่งขัน “เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโอลิมปิกปารีส” ดร. พาโยชนี มิตรรา (Payoshni Mitra) กรรมการบริหารของศูนย์กีฬาและสิทธิ์มนุษยชน ซึ่งสนับสนุนนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าว

แล้ววิทยาศาสตร์บอกอะไรบ้าง?

ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน

ประเด็นเกี่ยวกับเพศนักกีฬาเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกรีฑาเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว นักกีฬาจะต้องผ่านการทดสอบความเหมาะสมทางเพศจำนวนมาก ทั้งตรวจร่างกาย ตรวจฮอร์โมน รวมไปถึงตรวจโครโมโซม

“ผู้หญิงที่มาจากประเทศกำลังพัฒนามักตกเป็นเป้าหมายเสมอ” ดร.มิตรรา กล่าว ในปี 1928 ผู้หญิงที่เข้าแข่งขันกรีฑาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกจะถูกสงสัยว่าเป็นผู้ชายมากเกินไปแทบจะเป็นอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามในขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดตรวจสอบอย่างจริงจัง

จนกระทั่งในปี 1948 องค์กรที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘กรีฑาโลก’ (World Athletics) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ให้ผู้ที่ต้องการเข้าแข่งขันในฐานะนักกีฬาหญิงต้องส่งใบรับรองแพทย์เป็นครั้งแรก ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960 เจ้าหน้าที่ขององค์กรก็เพิ่มมาตรการตรวจร่างกายเป็นครั้งแรก

ผู้ที่ต้องเข้าแข่งขันกรีฑาหญิง “ถูกเรียกเข้าไปในห้องโดยไม่ได้บอกว่าจะต้องเจอกับอะไร และถูกบังคับให้นอนลงบนโซฟาพร้อมกับต้องตรวจทางสูตินรีเวช” ไจเม ชูลส์ (Jaime Schultz) ศาสตราจารย์ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา กล่าว

ในกรณีอื่น ๆ ผู้หญิงจะต้องถอดเสื้อผ้าและนำร่างกายไปแสดงให้แพทย์ดู ศาสตราจารย์ ชูลส์ ระบุว่าการทดสอบเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าผู้หญิงที่ต้องการเข้าแข่งขันทุกคนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ชาย ซึ่งสร้างการถกเถียงขึ้นมา เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการล่วงละเมิดอย่างมากต่อผู้หญิงจริง ๆ และต่อนักกีฬาทั่วไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหลายองค์กรเริ่มหันมาทำตามองค์กร กรีฑาโลก โดยบังคับให้ผู้หญิงต้องพกใบรับรองความเป็นผู้หญิงในการแข่งขันเสมอ ขณะเดียวกันทาง IOC ก็ได้เพิ่มการตรวจสอบโครโมโซมของนักกีฬาเข้าไปด้วย ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวกลายเป็นประเด็นขึ้นในเวลาต่อมา

กลางทศวรรษ 1980 นักวิ่งข้ามรั้วชาวสเปนที่ชื่อ มาเรีย โจเซ มาร์ติเนส-พานิโน (Maria José Martínez-Patiño) ถูกไล่ออกจากทีมชาติสเปนเนื่องจากไม่ผ่านการทดสอบด้านโครโมโซม ซึ่งเผยให้เห็นว่าเธอมีโครโมโซม XY แต่เธอก็มีภาวะไม่ไวต่อฮอร์โมนเพศชาย (Androgen Insensitivity Syndrome) หรือ AIS ด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่า “ร่างกายของเธอไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ไหลเวียนในร่างกายของเธอที่ผลิตขึ้นตามธรรมชาติ” ศาสตราจารย์ ชูลส์ กล่าว บุคคลที่มีภาวะ AIS อาจมีอวัยวะเพศที่ดูเหมือนเพศหญิงแต่จะไม่มีอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง (รังไข่)

กล่าวอย่างง่ายคือ แม้ มาร์ติเนส-พานิโน จะมีโครโมโซมเป็น XY (ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศของผู้ชาย) แต่ร่างกายของเธอกลับไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนชาย จึงเหมือนกลายเป็นว่าร่างกายของเธอสร้างทุกอย่างให้เป็นผู้หญิงมาตั้งแต่ต้น และเป็นไปได้ต่อไปว่าพ่อกับแม่ก็อาจเลี้ยงดูเธอในฐานะ ‘ลูกสาว’

มาร์ติเนส-พานิโน โต้แย้งการถูกไล่ออกของเธอในศาลซึ่งชนะในปี 1988 โดยตัดสินว่าเธอไม่ได้ใช้ความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการแข่งขันวิ่งข้ามรั้ว ทว่าก็สูญเสียความเป็นส่วนตัว ทุนการศึกษา และความสัมพันธ์มากมายในกระบวนการนี้

“เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนได้ตรวจสอบอวัยวะเพศ ตรวจสอบโครโมโซม ค้นหายีนเฉพาะ ตรวจสอบฮอร์โมนเพศชาย และสิ่งที่เราได้คำตอบในท้ายที่สุดก็คือ ความเข้าใจว่าไม่มีคำจำกัดวามที่ชัดเจนเกี่ยวกับเพศ เพราะการทดสอบแต่ละครั้งเหล่านี้ล้มเหลวลงด้วยน้ำหนักของมันเอง” ศาสตราจารย์ ชูลส์ กล่าว

อิมาน เคลิฟมีโครโมโซม XY หรือไม่?

อูมาร์ เครมเลฟ ประธาน IBA ชาวรัสเซียกล่าวว่าการทดสอบโครโมโซมแสดงให้เห็นว่านักกีฬาทั้งสองคนมีโครโมโซม XY ซึ่งทำให้พวกเขาต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันชิงแชมป์โลก นอกจากนี้สมาคมยังระบุด้วยว่าร่างกายของ เคลิฟ มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูง

อย่างไรก็ตามผลการทดสอบดังกล่าวไม่เคยถูกเปิดเผยออกมาเป็นรายงานทางวิทยาศาสตร์ และเคลิฟเองก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลทางชีวภาพของเธอเช่นเดียวกัน แต่โต้แย้งว่าการตัดสินใจของ IBA นั้นเป็น ‘การสมคบคิดครั้งใหญ่’ เนื่องจากการตัดสิทธิ์เกิดขึ้นหลังจากที่ เคลิฟ เอาชนะนักมวยชาวรัสเซียได้ในการแข่งขันปี 2023

จากข้อครหาทั้งหมดจึงเป็นเรื่องลึกลับพอสมควรว่าแท้จริงแล้ว อิมาน เคลิฟ มีโครโมโซม XY จริงหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ทั้งกระบวนการตรวจสอบและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของ IBA และ เคลิฟ เองก็ไม่พูดถึงข้อมูลทางชีวภาพของตน

อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอาจต้องมีการ ‘กำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทดสอบด้านเพศ’ ที่ชัดเจน ละเอียด และรอบคอบมากยิ่งขึ้น

สไวเออร์ ซินโดรม (Swyer syndrome) และภาวะความผิดปกติของพัฒนาการระบบอวัยวะเพศ (DSD; difference in sexual development) ในทางวิทยาศาสตร์มักพบภาวะผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับ ยีน ฮอร์โมน และอวัยวะสืบพันธุ์อยู่เสมอ ซึ่งประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ สิ่งที่นักวิจัยพิจารณาคือข้อมูลทางชีวภาพในร่างกายเพียงอย่างเดียว

ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นในบุคคลที่มีโครโมโซม X หนึ่งตัว และโครโมโซม Y หนึ่งในในแต่ละเซลล์ ทว่าร่างกายกลับสร้างอวัยวะสืบพันธุ์แบบผู้หญิง ขึ้นมาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทาง พญ. ณัฐนิภา ภารพบ จากคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนผ่านเว็บไซต์ขอบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ อธิบายเรื่องนี้ว่า

 ในระยะแรกตั้งแต่การปฏิสนธิจนอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ ตัวอ่อนทั้งเพศชายและหญิงจะมีลักษณะที่เหมือนกัน ซึ่งไม่สามารถแยกลักษณะทางเพศได้ โดยเรียกว่า ‘indifferent state’ ต้องรอจนถึงเลยอายุ 7 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จึงสามารถระบุเพศได้

แต่ทั้งนี้ความผิดปกติในการพัฒนาทางเพศเกิดได้ในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการกำหนดเพศโดยโครโมโซม (chromosomal development) การพัฒนาของต่อมเพศ (gonadal development) หรือการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ (genital development) หากมีการพัฒนาที่ไม่สัมพันธ์กันของขั้นตอนเหล่านี้ จะทำให้มีการพัฒนาทางเพศที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือ DSD

ส่งผลให้เกิด ‘ความเข้าใจผิด’ ว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่งได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนทั่วไปมักจะแยกอย่างง่าย ๆ โดยสังเกต ‘อวัยวะเพศ’ ซึ่งมีพ่อแม่จำนวนน้อยมากเท่านั้นที่จะตรวจโครโมโซม สิ่งนี้ทำให้เด็กเหล่านั้นเข้าใจเกี่ยวกับเพศของเขาตามที่ถูกเลี้ยงดูมา

ทั้งนี้ อิมาน เคลิฟ และ หลิน อวี้ถิง เองก็ไม่ได้เปิดเผยถึงข้อมูลด้านภาวะสไวเออร์ ซินโดรม และ DSD ออกมา จึงทำให้ไม่ทราบว่าทั้งคู่มีอาการนี้หรือไม่

นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้ผู้หญิงบางคนมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงใน (ผู้หญิงทั่วไปที่มีโครโมโซม XX ก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน) ซึ่งองค์กรบางแห่งเสนอว่าให้กำหนดกฎระเบียบโดยการตรวจฮอรโมนนี้ หากสูงเกินไปก็อาจทำให้ ร่างกายของบุคคลนั้น ‘มีความเป็นชายมากกว่า’ ซึ่งทำให้เกิดข้อได้เปรียบทางด้านร่างกาย

ทว่านักวิทยาศาสตร์บางคนก็ระบุว่านี่ก็ยังไม่ใช่การทดสอบที่สมบูรณ์แบบ และแม้จะเห็นพ้องต้องกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับ IOC ที่ว่าเทสโทสเทอโรนเป็น “ปัจจัยสำคัญที่กำหนดประสิทธิภาพของนักกีฬาในกีฬาบางประเภทหรือกิจกรรมบางอย่าง” แต่มันก็ไม่ได้ทำนายประสิทธิภาพที่แท้จริงของนักกีฬาแต่ละคนได้เสมอไป

“ผู้หญิงหลายคนอาจมีเทสโทสเทอโรนซึ่งเรียกว่า ‘ระดับของผู้ชาย’ และยังคงเป็นผู้หญิงพร้อมกับแข่งขันในฐานะผู้หญิง ความคิดที่ว่าคุณทำการตรวจเทสโทสเตอโรนเพียงครั้งเดียวแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อยนั้น ผมเกรงว่าจะไม่ใช่เป็นแบบนั้น” มาร์ก อดัมส์ โฆษกของ IOC กล่าวกับนักข่าว

ดูเหมือนว่าทั้งวงการกีฬาและวงการวิทยาศาสตร์จะต้องหาแนวทางใหม่ ๆ ในการสร้าง ‘ความยุติธรรม’ ให้ได้มากที่สุดในการแข่งขัน เพื่อให้นักกีฬาทุกคนได้ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่และมีโอกาสชนะอย่างเท่าเทียมกัน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : Facebook Imane Khelif

 

ที่มา

www.webmd.com

https://rarediseases.org

https://link.springer.com

https://time.com

https://www.bloomberg.com

https://www.wsj.com

https://www.npr.org

https://www.nbcnewyork.com


อ่านเพิ่มเติม : โอลิมปิกที่ตาฮีตี เสี่ยงทำลายปะการังล้ำค่า เพื่อแข่งขันกีฬาโต้คลื่น

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.