เมื่อช่วงวันที่ 19 สิงหาคม 2024 ผู้คนทั่วโลกได้รับชม ซุปเปอร์บลูมูน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ดวงจันทร์ของเราเผยโฉมออกมาแบบเต็มดวงอย่างเป็นทางการ 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นปรากฏการณ์หายากที่จะเกิดขึ้นประมาณ 1 ครั้งในทุก ๆ 10 ปี
แต่เราเพิ่งบอกทุกท่านไปว่าโลกมีซุปเปอร์บลูมูน 2 ปีติดต่อกัน และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ มันทั้งเกิดขึ้นครั้งเดียวในรอบทศวรรษและเพิ่งเกิดในปีนี้กับปีที่แล้ว ปรากฏการณ์นี้มีความซับซ้อนที่ต้องอธิบายกันเล็กน้อย
นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าคำว่า บลูมูน นั้นปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในบันทึกการเขียนของศตวรรษที่ 16 ตามที่ ฟิลิป ฮิสค็อก (Phillip Hiscock) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเมโมเรียลในนิวฟันแลนด์ ผู้ซึ่งศึกษาความหมายของ บลูมูน มาอย่างยาวนานกล่าว
“ในภาษาอังกฤษ การใช้ครั้งแรกที่เราเห็นนั้นทำโดยคาร์ดินัลวูลซีย์” ศาสตราจารย์ ฮิสค็อก กล่าว โดยคาร์ดินัลวูลซีย์ (Cardinal Wolsey) นั้นเป็นที่ปรึกษาอันฉาวโฉ่ของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 “คาร์ดินัลวูลซีย์เขียนถึงศัตรูทางความคิดของเขาที่ ‘อยากให้คุณเชื่อว่าดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงิน’”
กล่าวอีกนัย เขาต้องการใส่ความเชื่อผิด ๆ ให้กับผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับเขาเพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง ขณะเดียวกันคำว่า บลูมูน ก็ถูกพูดถึงเป็นครั้งคราวในตอนที่ภูเขาไฟพ่นเถ้าถ่านออกมา ซึ่งอาจทำให้ผู้มองเห็นสับสนว่าดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงิน แต่ความจริงก็คือมันยังคงเป็นสีขาวและสีเหลือง
“วลีดังกล่าว (บลูมูน) จึงเป็นเหมือนการเปรียบเปรยถึงความไร้สาระหรือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” ฮิสค็อก กล่าว คำนี้ถูกใช้ในแง่นั้นเรื่อยมาในแบบที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเท่าไหร่ จนในช่วงปี 1869 มันก็ไปปรากฏในบันทึกของนักเดินเรือที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรืออับปาง
ชายคนดังกล่าวเขียนไว้ว่า ‘ช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนที่เรียกว่า ‘บลูมูน’ และ 7 ปีต่อมามันก็ปรากฏในนิยายปี 1871 ซึ่งตัวละครในเรื่องกล่าวว่าเขายอมรับที่เคยกิน “ขนมปังผลไม้ครั้งหนึ่งในช่วงบลูมูน” ทางศาสตราจารย์ ฮิสค็อก เองระบุว่าคำนี้ดูเหมือนจะค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจว่าวลี ‘บลูมูน’ นี้ถูกนำมาใช้กับปรากฏการณ์ทางจันทรคติที่เกิดขึ้นไม่บ่อยได้อย่างไรและเมื่อไหร่กันแน่
แต่สิ่งที่ดูจะชัดเจนที่สุดดูเหมือนจะเป็นหลักฐานจาก ปฏิทินของชาวไร่ที่ตีพิมพ์ในรัฐเมน ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่ไม่ทราบแน่ชัด ชาวไร่เริ่มแรกดวงจันทร์เต็มดวง ‘ครั้งที่ 3’ ในฤดูกาลที่มีดวงจันทร์เต็มดวง 4 ครั้งว่า ‘บลูมูน’
มีทฤษฎีมากมายที่เสนอขึ้นมาว่าทำไมชาวไร่ถึงเรียกเช่นนี้ บ้างก็บอกว่าปฏิทินเริ่มต้นด้วยการพิมพ์ดวงจันทร์ครั้งต่าง ๆ ด้วยสีที่ไม่เหมือนกันอาจเพื่อให้จำง่าย แต่บางคนก็กล่าวว่าดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 3 นั้นเป็นลางร้าย จึงทำให้เรียกว่า บลูมูน
ทว่าในปี 1946 ด้วยความผิดพลาดของผู้สื่อสาร นักดาราศาสตร์สมัครเล่น เจมส์ ฮิวจ์ พรูเอตต์ (James Hugh Pruett) เขียนบทความเกี่ยวกับคำว่า “บลูมูน” ลงในนิตยสาร Sky & Telescope ซึ่งกำหนดให้ บลูมูน คือ ดวงจันทร์เต็มดวง ‘ครั้งที่ 2’ ในหนึ่งเดือนตามปฏิทิน นับตั้งแต่นั้นมา บลูมูน ก็แพร่กระจายไปทั่ว
“ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา คำคำนี้ดึงดูดความสนใจของผู้คนในอเมริกาเหนือและทั่วโลกได้อย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์ ฮิสค็อก กล่าว
ในตอนนี้เราจึงมีความหมายของคำว่า บลูมูน อยู่ 2 ความหมายนั่นคือ หนึ่ง-ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 3 ใน 4 ครั้งของฤดูกาล โดยในฤดูกาลปกติจะมีดวงจันทร์เต็มดวงเพียง 3 ครั้งทว่าปี 2024 นี้มี 4 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาจึงถูกเรียกว่า บลูมูน และความหมายที่สองคือ-ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน
“บลูมูน รายเดือนจะเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นดวงจันทร์เต็มดวงสองครั้งในเดือนเดียวกัน วงจรของดวงจันทร์คือ 29.5 วัน ซึ่งสั้นกว่าความยาวเฉลี่ยของเดือนตามปฏิทินเพียงเล็กน้อย ในที่สุดช่องว่างดังกล่าวจะส่งผลให้ดวงจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนโดยยังมีวันเหลืออยู่เพียงพอสำหรับรอบเต็มอีกครั้ง” เว็บไซต์ของนาซา (NASA) ระบุ
“ดังนั้นจึงมีดวงจันทร์เต็มดวงดวงที่สองในเดือนเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ดวงจันทร์เต็มดวงที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 หรือ 2 ของเดือนมักจะตามมาด้วยดวงจันทร์เต็มดวงดวงที่สองในวันที่ 30 หรือ 31 ซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ สองถึงสามปี”
ด้วยเหตุนี้เราจึงมี บลูมูน เมื่อปีที่แล้วด้วยเช่นกัน ขณะที่ บลูมูน ในอีกความหมาย “บลูมูนตามฤดูกาลจะเกิดขึ้นเมื่อมีดวงจันทร์เต็มดวง 4 ครั้งในฤดูกาลเดียว (ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว) แทนที่จะเป็น 3 ดวงตามปกติ ดวงจันทร์ดวงที่ 3 ในกลุ่มนี้คือบลูมูน ดวงจันทร์ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้เป็นบลูมูนตามฤดูกาล” นาซา ระบุ
ขณะเดียวกันก็มีอีกคำหนึ่งแต่เข้าใจง่ายกว่าคือ ซุปเปอร์มูน (Supermoon) มันคือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่กล่าวถึงเหตุการณ์พระจันทร์เต็มดวงที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรี มันจังมีบางช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลก โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ห่างประมาณ 363,710 กิโลเมตร
ตามข้อมูลของ นาซา ระบุว่าปี 2024 นี้มีซุปเปอร์มูนถึง 4 ครั้งได้แก่ วันที่ 19 สิงหาคม 17 กันยายน 17 ตุลาคม และ 15 พฤศจิกายน โดยซูเปอร์มูนที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดในปี 2024 จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม
ดังนั้น ‘ซูเปอร์บลูมูน’ ครั้งต่อไปตามคำจำกัดความของบลูมูนรายเดือนจะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 31 มกราคม 2037
และ ซูเปอร์บลูมูนครั้งต่อไปตามคำจำกัดความของบลูมูนตามฤดูกาลจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2024 เวลา หลังจากนั้น เราจะไม่ได้เห็นบลูมูนอีกเลย (ตามคำจำกัดความตามฤดูกาล) จนกว่าจะถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2032
“ผมคิดว่าวลีนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจริง ๆ และผมคิดว่านั่นเป็นเพราะโดยพื้นฐานแล้ว เราเป็นสังคมของผู้คนที่ถูกแยกออกจากธรรมชาติ เราเติบโตในเมืองกับใช้ชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลหรือวัฏจักรทางดาราศาสตร์ และเมื่อเราได้ยินสิ่งที่เชื่อมโยงเรากับสิ่งเหล่านั้น เราก็จะรู้สึกตื่นเต้นมาก” ศาสตราจารย์ ฮิสค็อก กล่าว
“บลูมูน เชื่อมโยงผู้คนในลักษณะที่สิ่งอื่น ๆ ทำไม่ได้ มันให้ความรู้สึกว่าเป็นของเก่าแก่ แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ที่นี่และตอนนี้ มันลดความรู้สึกแปลกแยกจากธรรมชาติสำหรับหลาย ๆ คน” เขาเสริม
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : พระจันทร์เต็มดวงขึ้นเหนือต้นไซเปรสที่ทะเลสาบในรัฐนอร์ทแคโรไลนา
Photograph by George Grall, National Geographic
ที่มา
https://science.nasa.gov/solar-system/moon/super-blue-moons-your-questions-answered/