ลองนึกภาพโลกอนาคต เวลาเดินหน้าไปสู่ปี ค.ศ. 2121 บ้านบนเสาสูงในกรุงพนมเปญอยู่เหนือแปลงพืชผักในเขตเมืองที่อาศัยน้ำจากแม่น้ำโขง นครเอเธนส์ปลอดจากหมอกควันหลังห้ามใช้รถยนต์ และครอบครัวในกรุงโตเกียวอาศัยอยู่บ้านที่สามารถป้องกันรังสีจากนิวเคลียร์ ส่วนที่เมืองกรีนวิลล์ รัฐเซาท์แคโรนา บ้านเรือนที่อยู่นอกสายส่งไฟฟ้าใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และอาศัยแหล่งน้ำจากน้ำฝน
ภาพเมืองแห่งโลกอนาคตเหล่านี้มาจากแนวคิดของอแลน มาร์แชลล์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความช่วยเหลือจากนักศึกษาทั่วโลก มาร์แชลล์นึกภาพว่าเมืองที่สามารถปรับตัวและรับมือภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมในศตวรรษหน้าได้จะมีหน้าตาอย่างไร เขารวบรวมภาพในจินตนาการเหล่านั้นไว้ในหนังสือ Ecotopica 2121 ซึ่งตีพิมพ์ในโอกาสครบรอบ 500 ปีที่โทมัส มอร์ นักเขียนชาวอังกฤษ เขียนถึงดินแดนอุดมคติในหนังสือ Utopia ของเขา มาร์แชลล์บอกว่า “แรงกระตุ้นจากแนวคิดยูโทเปียมีอยู่ว่า สิ่งต่างๆสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ครับ”
โครงการ Ecotopia เกิดจากความกังวลที่มาร์แชลล์มีต่อบ้านเกิดในเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเผชิญเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้ง การออกแบบที่คำนึงถึงภัยพิบัติในโลกอนาคตอาจเป็นทางรอดของเมือง เขานึกสงสัยว่าจะเป็นอย่างไรหากผู้คนที่นั่นเลือกอาศัยอยู่ในอาคารบ้านเรือนเตี้ยๆ แบบที่เห็นในภาพยนตร์ ฮอบบิต แทนที่จะเป็นอพาร์ตเมนต์บนตึกระฟ้า “เราใช้แฟนตาซีกระตุ้นให้คนฉุกคิดต่างออกไปครับ” มาร์แชลล์บอก
หลังทำงานโดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาอยู่หลายปี มาร์แชลล์ก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า สังคมในโลกอนาคตน่าจะสามารถหลีกเลี่ยงหายนะได้ อย่างไรก็ตาม เขาจะสำรวจความเป็นไปได้บนสมมุติฐานเลวร้ายที่สุด (Worst-case scenario) ที่อาจเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นคือสิ่งที่เขาจะทำในโครงการ “Frankencities” ซึ่งเป็นโครงการต่อไปของเขา
เรื่อง นีนา สตรอคลิก
รูปประกอบ อแลน มาร์แชลล์ และจูเซ็ปเป ปารีซี
อ่านเพิ่มเติม