จากรางวัลโนเบลสู่คำเตือน เมื่อ “บิดาแห่งเอไอ” หวั่นสิ่งประดิษฐ์ของเขาคุกคามมนุษยชาติ

“บิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์” ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ แต่เขาเกรงว่าสิ่งที่เขาสร้างขึ้นจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ชาติ “เจฟฟรีย์ ฮินตัน” เตือนว่า “เอไอ” อาจเข้ามาควบคุมพวกเราทั้งหมดในท้ายที่สุด

การประกาศผลรางวัลโนเบล ได้มีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ได้มอบให้กับ ‘จอห์น ฮอปฟิลด์’ (John Hopfield) และ ‘เจฟฟรีย์ ฮินตัน’ (Geoffrey Hinton) ในฐานะที่เป็นผู้ค้นพบการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) ซึ่งทำให้เอไอในปัจจุบันเกิดขึ้นได้

“งานของพวกเขามีความสำคัญในการวางรากฐานสำหรับสิ่งที่เราพบเห็นในปัจจุบันว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์” มาร์ก เพียร์ซ (Mark Pearce) สมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ กล่าวกับซีเอ็นเอ็น

อย่างไรก็ตาม บิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์เตือนว่าสิ่งนี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของมนุษย์ และนำไปสู่ ‘วันสิ้นโลก’ เนื่องจากเครื่องจักรเหล่านั้นกำลังเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่การโกหกไปจนถึงการฉ้อโกง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอยางมากต่อความปลอดภัยของมนุษย์

แรงบันดาลใจที่เกิดจากสมองของมนุษย์

อันที่จริงแล้ว ฮอปฟิล์ด และ ฮินตัน มีชื่อเสียงในวงการวิทยาศาสตร์มาอย่างยาวนานแล้ว โดยพวกเขาเป็นผู้ผลักดันการศึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายทางระบบประสาทตั้งในแต่ในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่สาขานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเติบโตไปในทิศทางใด

อย่างไรก็ตาม ด้วยการผสมผสานความรู้ในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นจากนักจิตวิเคราะห์ ชีววิทยา และประสาทวิทยา ฮอปฟิลต์ ก็สามารถสร้างสิ่งที่เรียกกันว่า ‘เครือข่ายฮอปฟิลด์’ ขึ้นมา ซึ่งสามารถบันทึกและสร้างรูปแบบใหม่ ๆ จากข้อมูลได้

ต่อมา ฮินตัน ก็ได้นำเครือข่ายนี้มาต่อยอดเป็นของตนเองที่เรียกว่าเครื่อง ‘โบลต์ซมันน์’ (Boltzmann) ซึ่งสามารถระบุรูปแบบในข้อมูลจำนวนมากได้ ความก้าวหน้าเหล่านี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งในการสร้างเครื่องมือที่สามารถจำแนกภาพได้ในที่สุด โดยในปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวถูกใช้เป็น เอไอ ที่เรียนรู้จากภาพและรูปแบบที่เก็บไว้ในข้อมูลขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว

“ฮอปฟิลด์ อยากรู้ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีระบบทางกายภาพโดยได้รับแรงบันดาลใจจากสมอง ซึ่งเป็นเครือข่ายของเซลล์ประสาทขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกัน เขาอยากรู้ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างระบบการเรียนรู้ที่เรียบง่ายเช่นนั้น และมันก็เป็นไปได้จริง ๆ”

ในขณะที่สมองมีเซลล์ประสาทและสื่อสารกันผ่านไซแนปส์ (synapses) เครือข่ายประสาทเทียมนี้จะมีโหนดที่มีค่าแตกต่างกันและมีอิทธิพลต่อกันผ่านการเชื่อมต่อ โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถฝึกให้เครือข่ายประสาทเทียมพัฒนาการเชื่อมต่อที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างโหนดได้แบบเดียวกับการฝึกสมอง

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราสั่งให้สมองรู้จักหรือจดจำบางสิ่งมากขึ้นในทุก ๆ วัน การเชื่อมต่อของระบบประสาที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจะแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่คำศัพท์หรือการเรียนรู้อะไรบางอย่างที่เราแทบไม่เคยได้ใช้มันอีกต่อไป ก็จะลดลงและจำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แมชชีนเลิร์นนิ่งก็เช่นกัน

ด้วยการทำงานของพวกเขาทำให้มนุษยชาติมีเครื่องมือใหม่ในกล่องเครื่องมือ ซึ่งเราสามารถเลือกใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ดีได้ การเรียนรู้ของเครื่องจักรที่อิงจากเครือข่ายประสาทเทียมกำลังปฏิวัติวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และชีวิตประจำวัน” คณะกรรมการรางวัลโนเบลเขียนบน เอ็กซ์ (X, ทวิตเตอร์เดิม)

ตั้งแต่การเริ่มต้นในทศวรรษ 1980 เครือข่ายระบบประสาทเทียมก็ได้ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยในตอนแรกมีเพียง 30 โหนดเท่านั้นและมีพารามิเตอร์เชื่อมโยงกันน้อยกว่า 500 ตัว ขณะที่ปัจจุบันเครือข่ายที่ขับเคลื่อน ‘ChatGPT’ นั้นสามารถมีพารามิเตอร์ได้มากกว่า 1 ล้านล้านตัว

อิทธิพลมหาศาลของ ‘เอไอ’ 

เมื่อถูกถามว่าเทคโนโลยีของเขาเหล่านี้จะเป็นอย่างไรกับสังคมของมนุษยชาติบ้าง ฮินตันตอบว่า เอไอ จะมีอิทธิพลมหาศาลต่อเราทั้งหมด

“มันจะเทียบได้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่แทนที่จะเหนือกว่าผู้คนในด้านความแข็งแรงทางกายภาพ มันจะเหนือกว่าผู้คนในด้านความสามารถทางสติปัญญา แต่เราไม่เคยมีประสบการณ์ที่ว่าหากสิ่งของฉลาดกว่าเรา มันจะเป็นอย่างไร” เขากล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หลังได้รับรางวัล

ขณะที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเพราะการค้นพบเหล่านนี้ทำให้ เอไอ ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่การจดจำใบหน้าไปจนถึงการแปลภาษา รวมถึงจะช่วยให้การดูแลสุขภาพต่าง ๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมาก

เช่นเดียวกับวงการวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคุณประโยชน์อันมหาศาล และทำให้นักวิจัยจำนวนมากสามารถระบุข้อมูลรูปแบบใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อนหรือด้วยวิธีอื่น ๆ

“เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ผู้คนต่างตื่นเต้นกับเครือข่ายประสาทเหล่านี้มาก… แต่ในตอนนั้นเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้และใช้ประโยชน์จากการค้นพบเหล่านี้ได้จริง ๆ ต้องใช้เวลา และตอนนี้เราก็ทำได้แล้ว ความก้าวหน้าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ไมเคิล โมโลนีย์ (Michael Moloney) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถาบันฟิสิกส์อเมริกัน กล่าว

“ระบบเอไอเชิงสร้างสรรค์และระบบการเรียนรู้ของเครื่องจักรกำลังเปลี่ยนโฉมการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบไปแล้ว” เขาเสริม “นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลาย ๆ ตัวอย่างเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม บิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์ กลับมองไปในด้านตรงข้ามและเตือนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ความเกรงกลัว 

ในปี 2012 ฮินตันและเพื่อนร่วมงานหลายคนได้เข้าทำงานที่ ‘Google’ ในตำแหน่งนักวิจัยและรองประธาน พร้อมกับประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการเขียนโปรแกรมเครือข่ายประสาทจน เอไอ ของบริษัทพัฒนาไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ฮินตันคาดคิดไว้มาก

ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยเชื่อว่าข้อความประเภทต่าง ๆ ที่ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์นั้นดูจะเป็นไปไม่ได้ในช่วงชีวิตของเขา ทว่ามันกลับเป็นไปแล้วภายในไม่กี่ปี ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ ฮินตัน ไม่สบายใจจนเขาลาออกจาก Google เมื่อปี 2023 เพื่อที่จะได้วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมนี้อย่างตรงไปตรงมา

“ผมเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์ที่จู่ ๆ ก็ตระหนักได้ว่าสิ่งเหล่านี้ฉลาดขึ้นกว่าเรา” ฮินตัน กล่าวกับซีเอ็นเอ็นเมื่อปี 2023 “ผมอยากจะเปิดโปงและบอกว่าเราควรต้องกังวลอย่างจริงจังว่าเราจะหยุดยั้งไม่ให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาควบคุมเราได้อย่างไร”

เขาเตือนว่า เอไอ นั้นรู้วิธีการเขียนโปรแกรมในการหาวิธีหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่เรากำหนดไว้ก่อนหน้า ซึ่งอาจนำไปสู่วิธีการทำให้ผู้คนทำสิ่งที่เอไอต้องการอย่างไม่รู้ตัว พร้อมเสริมว่าการเร่งตัวขึ้นของอุตสาหกรรมเอไอนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อด้านลบต่อสังคมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้มีระเบียบที่เข้มงวดกว่านี้ในการพัฒนาเอไอ ฮินตันเองก็แสดงความกังวลใจว่า เอไอ ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบอาจ ‘เข้าครอบงำ’ มนุษยชาติได้ แม้ว่ามันจะมีประโยชน์มากมายก็ตาม

“แนวคิดที่ว่าสิ่งนี้สามารถฉลาดกว่ามนุษย์ได้นั้น มีเพียงไม่กี่คนที่เชื่อเช่นนั้น” ฮินตัน กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ในปี 2023 “แต่คนส่วนใหญ่คิดว่ามันยังห่างไกล และผมก้คิดว่ามันห่างไกลเช่นกัน น่าจะอยู่อีกสัก 30-50 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่าตอนนี้ผมไม่คิดเช่นนั้นแล้ว”

สืบค้นและเรียบเรียง : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : วิกิพีเดีย

ที่มา

https://news.sky.com

https://edition.cnn.com

https://www.popsci.com

https://www.reuters.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทย์ฯ พบแผนที่สมองแมลงวันผลไม้ที่อาจเป็นกุญแจสู่การเข้าใจสมองมนุษย์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.