ถอดรหัสกลไกการอักเสบ เมื่อผู้เชี่ยวชาญบอกว่าร่างกายของเราต้องการการอักเสบในระดับที่ไม่มากเกินไป?

หลังจากหลายร้อยปีของการถกเถียงและการวิจัย ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รู้ว่าการอักเสบเป็นวีรบุรุษพอๆกับที่เป็นศัตรู

ขึ้นชื่อว่าการอักเสบก็ฟังดูไม่ดีแล้ว เมื่อคิดถึงว่าเรามีทั้งอาหารต้านอักเสบ อาหารเสริม ยา และเคล็ดลับในการใช้ชีวิตมากมายที่ช่วยให้อาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว เช่น ผื่นแดง ปวด ร้อน หรือบวม จากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อ บรรเทาลงได้ในระดับหนึ่ง

“คนเราเชื่อมโยง (การอักเสบ) กับสิ่งที่เป็นลบอยู่แล้วครับ” วูล์ฟกัง มาร์กซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาโภชนาการจากมหาวิทยาลัยดีคินในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย บอก

แต่ความจริงซับซ้อนกว่านั้นมาก และเป็นไปได้ว่าจะเป็นผลดีด้วย หลังจากหลายร้อยปีของการถกเถียงและการวิจัย ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าการอักเสบเป็นวีรบุรุษพอๆกับที่เป็นศัตรู ในทางทฤษฎีแล้ว กระบวนการทางสรีรวิทยานี้เอาชนะการติดเชื้อ ป้องกันมะเร็งไม่ให้เติบโตในร่างกาย เอื้อต่อการเยียวยาการบาดเจ็บ เปลี่ยนวัคซีนให้กลายเป็นการป้องกันโรคระยะยาว และอื่นๆ อันที่จริง เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากบทบาทมากมายที่การอักเสบมีต่อการทำงานปกติของร่างกาย

“ทุกแง่มุมของสุขภาพมนุษย์มีการอักเสบสอดแทรกอยู่ครับ” พาลี ปุเลนทรัน นักวิทยาภูมิคุ้มกันจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกและเสริมว่า “ถ้าไม่มีการอักเสบที่เหมาะสม ทั้งชนิดและระดับ ระบบภูมิคุ้มกันจะไม่สามารถเริ่มการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพได้เลย”

ภาพเอกซเรย์เพิ่มสีนี้แสดงให้เห็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมหญิงวัย 79 ปี การอักเสบ อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณข้อต่อ โดยเฉพาะในผู้สูงวัย แต่ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเยียวยารักษาด้วย (ภาพถ่าย: สกอตต์ คามาซีน, SCIENCE SOURCE)
แมสต์เซลล์ (mast cell) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง อาจถูกสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อ หรือการบาดเจ็บ กระตุ้น จนทำให้เกิดการอักเสบ ในภาพเติมสีจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่านนี้ วงรีสีส้มคือนิวเคลียสของเซลล์(ภาพถ่าย: CNRI, SCIENCE PHOTO LIBRARY)
การอักเสบอาจเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ในร่างกาย เพื่ออธิบายให้เข้าใจ ภาพนี้สร้างขึ้นจากการใช้แผ่นประคบร้อนและกล้องถ่ายภาพความร้อน (ภาพถ่าย: ไจลส์ ไพรซ์)

แต่ก็เหมือนกับปฏิกิริยาทางชีววิทยามากมาย อันตรายอยู่ที่มากน้อยเพียงใด หากการอักเสบคงอยู่ในระดับเรื้อรังหลังผ่านการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บครั้งแรกแล้ว มันอาจเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ ทำให้เกิดโรคระยะยาว เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะซึมเศร้า และอัลไซเมอร์ ภาวะอาการมากมายเหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่พบเป็นปกติมากขึ้นเมื่อสูงอายุ ซึ่งเชื่อมโยงกับระดับการอักเสบที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ระบบภูมิคุ้มกันอาจโจมตีเนื้อเยื่อในร่างกายของตัวเองได้ ส่งผลให้เกิดภาวะภูมิต้านตนเอง เช่น รูมาทอยด์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคโครห์น นักวิจัยบางคนกำลังสำรวจหาความเชื่อมโยงระหว่างการอักเสบในระดับเกินกว่าปกติกับภาวะลองโควิดด้วย

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญและมักย้อนแย้งกันดังกล่าวกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์สืบค้นลึกลงไปเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการนี้ ตอนที่ลุยจิ แฟร์รุชชี แพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุและนักวิทยาการระบาด เริ่มศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการอักเสบกับการสูงวัยเมื่อปี 1999 เรารู้จักโมเลกุลห้าหรือหกโมเลกุล เรียกว่าตัวบ่งชี้ หรือสารชักนำ ซึ่งใช้เป็นมาตรวัดการอักเสบในร่างกาย ทุกวันนี้มีหลายพันตัว

“ตอนนี้เราวัดโปรตีนได้ 10,000 ตัวในเลือดหนึ่งหยด จึงเริ่มเข้าใจว่ามีการอักเสบชนิดย่อยๆจำนวนมาก และการอักเสบเหล่านั้นเกิดจากสารชักนำการอักเสบแตกต่างกันด้วย” แฟร์รุชชี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของสถาบันสูงวัยแห่งชาติ บอก “การศึกษาว่าพวกมันทำงานและเชื่อมโยงกันอย่างไรจะช่วยให้เราเข้าใจปฏิกิริยาตอบสนองต่อการอักเสบมากกว่าที่เคยเป็นมาครับ”

ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นนี้ชี้ว่า “การอักเสบ” ในฐานะคำคำหนึ่ง ถือว่าค่อนข้างไม่มีความหมาย เพราะมันมีวิธีแสดงออกหลายรูปแบบมาก สำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยารูมาติก นักวิทยาภูมิคุ้มกัน ศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ นักวิทยาวัคซีน และอื่นๆ คำนี้บรรยายถึงกลุ่มโมเลกุลที่แตกต่าง ทว่าบ่อยครั้งก็ทับซ้อนกัน ปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุล กลุ่มอาการ และผลลัพธ์ต่างๆ “คำว่า ‘การอักเสบ’ เป็นคำที่ใช้เรียกรวมๆเพื่อความสะดวก เป็นสิ่งที่เราพูดกันจนติดปาก แต่บดบังความหมายจนคลุมเครือ และทำให้เข้าใจสับสนได้ครับ” ปุเลนทรันสาธยาย

เมื่อนักวิจัยเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการอักเสบ พวกเขาก็สามารถเลือกใช้ประโยชน์จากกระบวนการนี้ได้ดีขึ้น ยาชนิดใหม่ๆและอาหารที่ปรับสูตรให้ดีขึ้น รวมถึงคำแนะนำในการใช้ชีวิตเพื่อรับมือกับการอักเสบรูปแบบต่างๆ และช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ดีขึ้น กำลังปรากฏให้เห็น ภารกิจเร่งด่วนจึงได้แก่การหาวิธีให้ทุกคนเข้าถึงและซื้อหานวัตกรรมเหล่านี้ได้ในราคาเอื้อมถึง

นักวิทยาศาสตร์เริ่มเห็นพ้องกันมากขึ้นเรื่อยๆว่า การอักเสบไม่ได้ดีหรือแย่โดยตัวมันเอง เราแค่จำเป็นต้องเลือกปริมาณให้เหมาะกับสถานการณ์

เราทุกคนล้วนต้องประสบกับสิ่งนี้ อายุที่มากขึ้นมาพร้อมกับอาการปวดตามข้อและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง สมองเสื่อม ข้ออักเสบ และโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นผลตามมาจากการเพิ่มจำนวนของโมเลกุลอักเสบต่างๆที่สะสมต่อเนื่องตลอดชีวิต ภาวะนี้เกิดขึ้นเป็นปกติถึงขนาดมีชื่อเรียกว่า การอักเสบจากความชรา (inflammaging)

ขณะนี้ นักวิจัยกำลังเร่งไขความลับว่า กระบวนการอักเสบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในชั่วอายุขัยของมนุษย์อะไรเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น และเราจะแทรกแซงกระบวนการนี้ได้อย่างไร

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ไซโตไคน์กระตุ้นการอักเสบและโมเลกุลเกี่ยวข้องกับการอักเสบอื่นๆที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รอน เดพีโน นักชีววิทยามะเร็งและนักวิจัยด้านการสูงวัยจากศูนย์มะเร็งเอ็มดีแอนเดอร์สัน มหาวิทยาลัยเท็กซัส บอก แต่โดยทั่วไป อายุ 50 ปีคือวัยที่การอักเสบเริ่มเพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงจะปรากฏชัดเจนหลังอายุ 60 ปี

เริ่มจากอายุ 65 ปี จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกห้าปี ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใหญ่อายุเกิน 65 ปี ร้อยละ 80 มีอาการของโรคเรื้อรังอย่างน้อยหนึ่งอย่าง

ยาต้านอักเสบและสุขนิสัยต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย อาจชะลอบางแง่มุมของกระบวนการอักเสบจากความชราได้ เดพีโนบอก แต่เพื่อหาวิธีแก้ไขที่มีลักษณะมุ่งเป้ามากกว่า นักวิจัยกำลังพยายามทำความเข้าใจปัญหานี้ให้ดียิ่งขึ้น

จนถึงขณะนี้ เราสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยามากกว่าสิบอย่างที่เกี่ยวข้องกับวัย ลักษณะเด่นหรือเครื่องหมายของความสูงวัยทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบ ลุยจิ แฟร์รุชชี จากสถาบันสูงวัยแห่งชาติ บอก เมื่อคนแก่ตัวลง เซลล์ภูมิคุ้มกันจะสูญเสียพลังในการปกป้องและหยุดต่อต้านผู้รุกรานหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า เซลล์เสื่อมสภาพ โดยจะหยุดแบ่งตัว หยุดทำงาน และเริ่มปล่อยโมเลกุลอักเสบอันทรงพลังที่พลอยทำให้เซลล์อื่นๆเสื่อมสภาพตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ความเสียหายของดีเอ็นเอในเซลล์ก็สะสมตามกาลเวลา โดยเฉพาะที่ปลายโครโมโซมบริเวณที่ได้รับการปกป้องอย่างเทโลเมียร์ (telomere) ซึ่งเป็นสายยาวของดีเอ็นเอที่มัดรวมกัน ทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว เทโลเมียร์จะหดสั้นลงเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดพลิกผันที่เซลล์มองว่าเป็นความเสียหายของดีเอ็นเอ หรือความไม่เสถียร ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสื่อมได้

เดพีโนบอกว่า นักวิทยาศาสตร์เคยมองว่า การหดสั้นลงของเทโลเมียร์ การอักเสบ และกระบวนการอื่นๆ เป็นทฤษฎีความชราคนละส่วนกันซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต่างๆได้ แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และการอักเสบทำหน้าที่ผู้สมคบคิดในกระบวนการชราภาพ

เมื่อเกิดการอักเสบเรื้อรัง ระบบภูมิคุ้มกันย่อมทำงานประจำ เช่น ตรวจหาและกำจัดเซลล์มะเร็งและจุลชีพก่อโรค ได้ยากกว่าปกติ โอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆจึงสูงขึ้นได้ แต่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเรื่องการอักเสบจากความชราในฐานะวงจรที่ไม่หยุดยั้งของขั้นตอนต่างๆที่ล้วนทำให้การอักเสบรุนแรงขึ้น กำลังเผยวิธีใหม่ๆในการทำลายวัฏจักรดังกล่าว

หลอดเลือดอักเสบซึ่งถูกลิ่มเลือดอุดตันในปอดของผู้ป่วยโควิด 19 ดูเป็นสีเหลืองในภาพสามมิตินี้ (ภาพถ่าย: ESRF, HUMAN ORGAN ATLAS)
ภาพเอกซเรย์เติมสีนี้แสดงให้เห็นมือของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและการ สึกกร่อนของกระดูก (เห็นเป็นปื้นสีส้ม) บริเวณใกล้ข้อนิ้ว (ภาพถ่าย: ZEPHYR, SCIENCE SOURCE)

การพัฒนาวิธีแทรกแซงด้านการชะลอวัยที่มุ่งเป้าไปยังการอักเสบยังคงเป็นความท้าทาย ตามที่แฟร์รุชชีบอก เพราะจำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงพอที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างผลเสียมากกว่าผลดี ตัวอย่างเช่นการรับมือกับการอักเสบเรื้อรังด้วยยาต้านอักเสบทั่วไปอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอต่อการเกิดโรค เพราะไปบั่นทอนกระบวนการอักเสบที่ร่างกายจำเป็นต้องมีเพื่อคงความแข็งแรง

“เวลาเราติดเชื้อ ถ้าไม่มีการอักเสบ เราจะตายครับ” แฟร์รุชชีบอกและเสริมว่า “การปิดกั้นกระบวนการอักเสบด้วยยาแรงอย่างคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือโมโนโคลนอลแอนติบอดีได้ผลก็จริง แต่ก็เป็นอันตรายไม่น้อยด้วย”

หนึ่งในกลยุทธ์ใหม่ๆที่มีศักยภาพมากที่สุดในการรับมือการอักเสบจากความชราคือการโจมตีเซลล์เสื่อมสภาพ ในหนูทดลอง การให้สารสองชนิดร่วมกันในปริมาณต่ำ นั่นคือ (ยา) ดาซาทินิบ และ (สารพฤกษเคมี) เควอร์เซทินดูจะมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษในการกำจัดเซลล์เสื่อมสภาพในลำไส้ การทดลองทางคลินิกกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เพื่อดูว่ากลุ่มยาเซโนไลติก (Senolytic) หรือที่เรียกกันว่ายาทำลายเซลล์เสื่อมสภาพเหล่านี้ทำงานได้ผลในมนุษย์หรือไม่

ระบบลิมบิกของสมอง รวมถึงฮิปโปแคมปัสและอะมิกดาลา การอักเสบบริเวณดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายแก่ความทรงจำและพฤติกรรม (ภาพถ่าย: เค.เอช. ฟุง, SCIENCE SOURCE)
ภาพถ่ายระยะใกล้เติมสีจากกล้องจุลทรรศน์นี้ แสดงภาพจุลชีพในลำไส้ซึ่งสุขภาวะจะถูกกำหนดจากสิ่งที่เราเลือกกิน อาหารต้านอักเสบคือกุญแจสู่การมีสุขภาพดีโดยรวมๆ (ภาพถ่าย: มาร์ติน เอิกแกร์ลี)

นักวิทยาศาสตร์หวังจะเข้าใจในไม่ช้าว่า การแทรกแซงใดช่วยได้ดีที่สุด “เนื้อเยื่อต่างๆยังมีความสามารถยอดเยี่ยมในการฟื้นฟูตัวเอง หากเราเอาตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการชราภาพที่แฝงอยู่ออกไปได้ครับ” เดพีโนบอก

สำหรับตอนนี้ การออกกำลังกายคือหนึ่งในยาที่ดีที่สุดจริงๆ การศึกษาหลายฉบับชี้ว่า การออกกำลังกาย ลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรงได้ เพียงแค่วันละ 15 นาทีก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว เดพีโนบอก

ทางเลือกในการกินอาหารช่วยชะลอการอักเสบจากความชราได้เช่นกัน การศึกษาในต่างประเทศมากมายสนับสนุนการกินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นธัญพืชเต็มเมล็ด ผักผลไม้สด ถั่วเปลือกแข็งหรือนัต และปลา  การกินผักหลากหลายชนิดอาจส่งผลดีต่อชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้ด้วยเช่นกัน

เวลาแฟร์รุชชีซื้อของเข้าบ้าน เขาจะซื้อผัก 10 ชนิด “นั่นคือสิ่งหนึ่งที่งานวิจัยแนะนำครับ” เขาบอก “และผมคิดว่าการทำตามคำแนะนำนั้นไม่ได้ยากเย็นอะไร”

เรื่อง เอมิลี โซห์น

ภาพประกอบ ไบรอัน โครนิน

แปล  ศรรวริศา เมฆไพบูลย์


อ่านเพิ่มเติม : “ที่นี่คือแผ่นดินโคฟาน ของเรา ไม่ใช่ของคุณ” สะท้อนวิธีการที่สหายร่วมชาติพันธุ์ โคฟาน เมื่อเห็นภัยคุกคามต่อชีวิตและผืนแผ่นดินของพวกเขา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.