วนกลับมาอีกครั้งสำหรับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของอวกาศเมื่อดวงจันทร์ได้โคจรเข้าใกล้โลกสุดอีกครั้งในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ซึ่งทำให้ทุกคนทั่วโลกสามารถมองเห็นดวงจันทรที่ใหญ่กว่าและสว่างกว่าปกติได้ในเหตุการณ์ที่ชื่อว่า ‘ซูเปอร์ฟูลมูน’ (Super Full Moon)
ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกสุดครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 จากทั้งหมด 4 ครั้งของปี 2024 ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ต่อมาเป็นกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายนตามลำดับ โดยในประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:28 น. ทางทิศตะวันออกเรื่อยมาไปตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
อะไรทำให้ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่น ๆ ?
โดยทั่วไปแล้ว ดวงจันทร์จะโคจรห่างจากโลกเป็นระยะทางเฉลี่ยประมาณ 384,400 กิโลเมตรในลักษณะวงรี จึงทำให้มีช่วงหนึ่งของโคจรที่เข้ามาใกล้โลกซึ่งช่วงเวลานั้นเองที่เป็นช่วงที่จะเกิด ‘ซูเปอร์ฟูลมูน’ โดยในครั้งนี้ดวงจันทร์จะอยู่ห่างจากโลกเพียง 357,428 กิโลเมตร ทำให้เป็นครั้งที่ใกล้ที่สุดของปี 2024
ตามข้อมูลจากองค์การนาซา (NASA) และ ท้องฟ้าโลก (EarthSky) เผยว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ดวงจันทร์ดูมีขนาดใหญ่ขึ้นราว 8% และสว่างขึ้นประมาณ 16% เมื่อเทียบกับขนาดเฉลี่ยของดวงจันทร์เต็มดวงทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ดร. โรบิน แอล. เชลตัน (Robin L. Shelton) ศาสตราจารย์สาขาฟิสิก์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า อันที่จริงแล้วซูเปอร์ฟูลมูนครั้งนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่ หรือสว่างกว่าดวงจันทร์ครั้งอื่น ๆ แต่เนื่องด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง เลยทำให้ดวงจันทร์ดู ‘ใหญ่กว่าปกติ’
ขณะเดียวกันนักดาราศาสตร์และนักจิตวิทยาเองก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมมนุษย์ถึงมองเห็นซูเปอร์ฟูลมูนได้ใหญ่โตเพียงนั้น บางทีอาจเป็นเพราะดวงจันทร์จะสามารถดูใหญ่อย่างเหลือเชื่อเนื่องจาก ‘ภาพลวงตา’ ที่เกิดจากการเทียบขนาดกับสิ่งที่อยู๋ด้านหน้าในรูปถ่ายเช่น ต้นไม้หรืออาคาร
แต่ยังไงก็ตามข้อเท็จจริงที่ว่าวันที่ 17 ตุลาคมนี้เป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกที่สุดของปี 2024 ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดปรากฏการณ์พิเศษของธรรมชาติครั้งนี้
ในช่วงเวลาของทุกวันจะมีน้ำขึ้นน้ำลงตามปกติอยู่ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่เรียกตัวกันเป็นแนวเดียวกับพื้นโลก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากดวงอาทิตย์ที่มีต่อน้ำขึ้นน้ำลงนั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแรงจากดวงจันทร์
แรงน้ำขึ้นน้ำลงนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะห่างของวัตถุหนึ่ง หากวัตถุดังกล่าวอยู่ห่างออกไป แรงน้ำขึ้นน้ำลงจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยลดลงในอัตราที่เป็นกำลังสามของระยะห่างที่เพิ่มขึ้น ทว่าสิ่งสำคัญก็คือหาก น้ำขึ้นน้ำลงจะไม่ตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด แต่จะช้ากว่าหลายวันขึ้นอยู่กับตำแหน่งชายฝั่งที่เฉพาะเจาะจง
นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าในครั้งนี้ ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดมากกว่าตำแหน่งใกล้โลกโดยเฉลี่ยประมาณ 12.2% ดังนั้นดวงจันทร์จะมีอิทธิพลต่อน้ำขึ้นน้ำลงมากขึ้น 42% เมื่อเทียบกับระดับน้ำขึ้นน้ำลงในช่วงครั้งเมื่อเดือนเมษายน
ซูเปอร์ฟูลมูนครั้งนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งก็คือ ดวงจันทร์ฮันเตอร์ หรือ ดวงจันทร์นักล่า สำหรับชาวตะวันตก ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกดวงจันทร์เต็มดวงครั้งแรกหลังจากวันวิษุวัต (Equinox) ซึ่งเป็นวันที่ 22 กันยายนของปีนี้ และเป็นเหตุการณ์ทางจันทรคดีที่ถือว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนฤดูกาล
ดวงจันทร์เต็มดวงทำให้ชาวพื้นเมืองในอดีตได้รับประโยชน์จากแสงจันทร์ที่ส่องลงมาอย่างสว่างไสว ช่วยให้การล่าสัตว์ทำได้ง่ายขึ้นในช่วงเวลานี้ของปี และช่วยให้ชาวบ้านเตรียมอาหารสำหรับฤดูหนาวที่ยาวนานได้ดีขึ้น
นอกจากซูเปอร์ฟูลมูนที่พิเศษนี้แล้ว ท้องฟ้าของเรายังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พิเศษไม่แพ้กันนั่นคือดาวหาง C/2023 A3 หรือ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ที่โคจรเข้ามาใกล้โลกในรอบ 80,000 ปีและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นนี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการแหงนมองท้องฟ้าและรับชมความสวยงามของจักรวาลแห่งนี้
สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : Anthony Ayiomamitis, TWAN on National Geographic