‘พาราโซเชียล’ เมื่อสมองบอกเราว่าเป็น ‘เพื่อน’ เปิดเบื้องหลังความสัมพันธ์ยุคโซเชียลที่อาจถูกมองข้าม

ฉันรู้จักเธอ แต่เธอไม่รู้จักฉัน’ ความสัมพันธ์ข้างเดียวแบบใกล้ชิดและผูกพันธ์กับคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราโดยเฉพาะกับ ดารา นักแสดง ไอดอล หรือผู้ที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ ส่งผลต่อสมองของเราอย่างไร

โซเชียลมีเดียในปัจจุบันทำให้แฟน ๆ เข้าถึงบุคคลสาธารณะได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์จนเกิดความสัมพันธ์ที่ชื่อว่า ‘พาราโซเชียล’ ที่แฟนคลับรู้สึกใกล้กับศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบราวกับคนสนิทในครอบครัว ‘อยู่ฝ่ายเดียว’ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเสมอไป

หลายครั้งที่เราเห็นนักร้อง นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ หรือแม้แต่ยูทูปเบอร์กับนักคอสเพลย์ชื่อดังออกมาระบุว่าตอนนี้แฟนคลับของพวกเขากำลังรุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการสะกดรอยตาม หรือการสัมผัสที่ไม่พึงประสงค์ไปจนถึงการติดต่อกับเพื่อน ๆ และสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา

สังคมก็เกิดการอภิปรายขึ้นมาในทันทีว่านั่นเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นไปในทางที่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำเรียกของความสัมพันธ์ใหม่นี้ว่าคือ ‘ความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียล’

ความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียล หรือ Parasocial relationships (PSR) นั้นมักถูกนิยามว่าเป็นความสัมพันธ์ที่คนคนหนึ่งรู้จักอย่างสนิทชิดเชื้อกับอีกบุคคลหนึ่ง โดยที่บุคคลฝ่ายหลังนั้นไม่รู้จักบุคคลฝ่ายแรกเลย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือแฟนคลับที่รักศิลปินอย่างสุดหัวใจ แต่ศิลปินไม่รู้ว่าหลายคนในนั้นไม่มีตัวตนอยู่

ความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับมนุษย์ที่มีชีวิตจริง ๆ เท่านั้นแต่ยังรวมถึงตัวละครในภาพยนตร์ นิยาย การ์ตูน หรือแม้แต่เพลงด้วยเช่นกัน ทว่าในปัจจุบันสื่อดิจิทัลแฟลต์ฟอร์มอย่าง X (ทวิตเตอร์) และอินสตาแกรม (Instagram) กำลังทำให้แฟน ๆ เข้าถึงคนดังได้อย่างใกล้ชิดจนบางคนกังวลว่า ‘มากเกินไปหรือไม่?’

เมื่อไหร่จึงจะกลายเป็นพาราโซเชียล?

การตรวจสอบความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อนักจิตวิทยาพยายามทำความเข้าใจว่าผู้ชมโทรทัศน์มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อพิธีกรรายการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ทางโทรทัศน์ที่กำลังพูดคุยกับพวกเขา(ผู้ชม)โดยตรงผ่านหน้าจอ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในยุคสมัยนั้น

การปรากฏตัวในทีวีทำให้เกิดความกังวลกันว่าผู้ชมทางบ้านอาจไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับบุคคลในโทรทัศน์ กับความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อคนจริง ๆ ได้ เป็น “เหยื่อของกระจกวิเศษ” ตามที่ริชาร์ด ฮอร์ตัน (Richard Horton) และ โดนัล วอฮ์ล (Donald Wohl) อธิบายไว้ในเอกสารปี 1956 ที่อ้างถึงวลี ‘ปฏิสัมพันธ์แบบพาราโซเชียล’ ขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 นักวิชาการก็เริ่มตั้งสมมติฐานว่าการสร้างความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลนี้เกิดจากความเหงาและความโดดเดี่ยว คนที่เหงาจะมีแนวโน้มที่จะสร้าง PSR ที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย

อย่างไรก็ตาม เกยล์ สตีเวอร์ (Gayle Stever) ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียล กล่าวว่าการวิจัยเพิ่มเติมยังไม่สามารถพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าวได้

“ใช่ คนที่โดดเดี่ยวสร้างความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียล แต่คนที่ไม่โดดเดี่ยวก็สร้างความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลเหมือนกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่สร้างความสัมพันธ์กับบุคคลนั้นบนหน้าจอได้เช่นเดียวกัน”

สตีเวอร์ เป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่มรวมถึง he Psychology of Celebrity และ Parasocial Experiences ที่เพิ่งตีพิมพ์ใหม่ โดยร่วมเขียนกับ เดวิด กิลส์ (David Giles) ซึ่งหนังสือเล่มหลังใช้จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการในการตรวจสอบบทบาทของความผูกพันแบบพาราโซเชียลในสังคมและวัฒนธรรม

เธอชี้ให้เห็นว่า “เราในฐานะมนุษย์นั้น มีสมองที่ถูกออกแบบมาให้เอาชีวิตรอดและสืบพันธ์” ดังนั้นหากตัวละครหรือคนดังทำให้บุคคลใดรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และมั่นคง “สมองของคุณก็จะไม่สนใจว่าคุณรู้จักกับบุคคลนี้ในชีวิตจริงหรือไม่” แต่สมองจะสร้างความผูกพันที่ยั่งยืนโดยอัติโนมัติ

แน่นอนว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเลวร้ายแค่เพียงอย่างเดียว ความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียล ‘ที่ดี’ สามารถเป็นแหล่งที่มาของความแข็งแกร่ง กำลังใจ และแรงบันดาลใจได้มาก การที่มีนักร้อง นักแสดง หรือตัวละครที่ชื่นชอบนั้น ไม่ได้บ่งชี้ถึงความเหงาโดยเนื้อแท้

ในความเป็นจริงแล้ว สตีเวอร์ได้สังเกตไว้ว่ายิ่งบุคคลใดมีความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตจริงมากเท่าใด PSR ของเขาก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นและมีสุขภาพดีขึ้นเท่านั้น

พาราโซเชียลประเภทใหม่ทางออนไลน์

แต่การโต้ตอบทางดิจิทัลทำให้ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติเหล่านี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้สร้างคอนเทนต์บนยูทูป ติ๊กต็อก หรืออินสตาแกรม นั้นพยายามสร้างความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลกับผู้ชมโดยเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบธุรกิจของตน

นับตั้งแต่มีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น อินฟลูเอนเซอร์ ก็อาศัยความสัมพันธ์แบบสองทางที่แท้จริงระหว่างพวกเขาและผู้ชม เพื่อสร้างความภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งเหตุการณ์หลายครั้งที่ผ่านมาก็ส่งสัญญาณว่ามันอาจส่งผลเสียได้ (เช่นหลุดคำพูดบางอย่าง การลืมปิดกล้อง หรือการแสดงความคิดเห็น)

“เมื่อแฟน ๆ เข้าถึงคนดังผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ก็จะทำให้รู้สึกใกล้ชิดกันเพิ่มมากขึ้น ผู้คนคิดว่าพวกเขามีความสัมพันธ์มากกว่าที่เป็นจริง” เมล สแตนฟิลล์ (Mel Stanfill) ศาสตราจารย์ด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัล ที่มหาวิทยาลัยฟลอริดาและผู้เขียนหนังสือ Fandom is Ugly กล่าว

พวกเขาชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ในความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลนั้นแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ แต่ก็ถูกขยายออกอย่างมหาศาลจากโซเชียลมีเดีย การจัด PSR แบบเดิม ๆ ที่แฟน ๆ หรือผู้ติดตามไม่มีการติดต่อกับคนดังหรือผู้สร้างจริง ๆ นั้นเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือด้วยแฟลต์ฟอร์มใหม่ ๆ บนมือถือ คนดังสามารถเป็นข้อความของแฟน หรือแม้แต่ตอบกลับ

“สมองประมวลภาพที่ถ่ายทอดสดด้วยวิธีเดียวกับที่ประมวลภาพที่พบในชีวิตจริง” สตีเวอร์ กล่าว

พาราโซเชียลอาจกลายเป็นพิษได้

ภาพลวงตาของความใกล้ชิดอาจดูเป็นจริงมากสำหรับสมอของมนุษย์ ซึ่งเริ่มจากการดูใครสักคนบนหน้าจอ และเพิ่มขึ้นด้วยความเป็นไปได้ของการสื่อสารโดยตรงในส่วนของช่องแสดงความคิดเห็น

เมื่อแฟนคลับด้อมต่าง ๆ เริ่มเป็นที่สังเกตมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นี้ แฟนด้อมก็เริ่มมีความเกี่ยวข้องกับเยาวชนและความไม่เป็นผู้ใหญ่ แม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะเคยและยังมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมแฟนคลับตลอดชีวิตอยู่บ้างก็ตาม

กระนั้นสตีเวอร์กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลที่เข้มข้นเป็นพิเศษ เพราะอาจเป็นโอกาสที่จะได้แสดงความรู้สึกแบบผู้ใหญ่กับใครสักคนในระยะห่างที่ปลอดภัย สตีเวอร์มองว่าการไม่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับของคนดังบางคนก็เป็นผลมาจาก PSR ที่รุนแรงของแฟนคลับในบางครั้ง

“พฤติกรรมที่เป็นพิษ(จากแฟนที่รุนแรงเกินไป)เป็นลักษณะเฉพาะของวัยรุ่น ฉันไม่ได้บอกว่าแฟนผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ค่อนข้างที่จะหาได้ยาก(ในผู้ใหญ่)” สตีเวอร์ กล่าว

พฤติกรรมที่เคยถูกจำกัดอยู่แค่เพียงบุคคลคนเดียวหรือเพียงไม่กี่คน ก็อาจแพร่กระจายออกไปได้กว้างไกลเนื่องจากโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแฟนคลับออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่เต็มไปด้วยวัยรุ่นอารมณ์รุนแรง อาจทำให้เกิดพฤติกรรมแย่ ๆ ในหมู่ผู้ใหญ่ขึ้นได้

“การแสดงออกถึงความเป็นศัตรูในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนออนไลน์ที่ผู้คนต่างยุยงกันเอง เมื่อคุณโต้ตอบกับทุกสิ่งทุกอย่างผ่านโทรศัพท์ ความจริงที่ว่ามีมนุษย์อยู่ปลายสายก็มักจะหายไป” สแตนฟิลล์ กล่าว “สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการขาดการยับยั้งชั่งใจ พร้อมกับมีเสียงสะท้อนอยู่เต็มหูที่ผู้คนโน้มน้าวตัวเองว่า ‘ทุกคนต้องเห็นด้วยกับฉัน ดังนั้นพวกเรา(ทุกคน)จึงมีแนวทางที่ถูกต้อง”

ดังนั้นความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลที่เริ่มต้นด้วยขอบเขตที่เหมาะสม ก็อาจกลายเป็นเรื่องเลวร้ายได้เมื่อมีความคิดแบบกลุ่มคนเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการคุกคาม

“(ผู้ที่ทำตัวเป็นพิษในแฟนด้อม) มองเห็นได้ชัดเจนกว่าที่เคย พวกเขาสามารถประสานงานกันได้ดีขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงส่งเสียงดังขึ้นแม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของประชากร(แฟนด้อม)ก็ตาม” สแตนฟิลล์อธิบาย

ความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียล เป็นเรื่องธรรมชาติ และโดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่สตีเวอร์เสริมว่า “ความสัมพันธ์ทางสังคมปกติทั่วไปสามารถเป็นจริงได้เช่นเดียวกัน ความสัมพันธ์แบบพาราโซเชียลนั้นดีหรือไม่ดีต่อเราหรือไม่ แน่นอนว่าเราต่างก็รู้ตัวอยางของเรื่องเหล่านี้”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเรื่องโดยตรง

Photography by Saumya Khandelwal, Nat Geo Image Collection

 

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/parasocial-relationships-social-media


อ่านเพิ่มเติม : เปิดตำราวิทยาศาสตร์ เผยกลไกลับในสมอง ที่ทำให้เราเชื่อเรื่องผี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.