ทำไมโต๊ะยืนทำงานถึงไม่ดีต่อสุขภาพ เรื่องนี้วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

“ผลจากงานวิจัยใหม่ระบุว่าจะยืนหรือนั่งเป็นเวลานานก็ไม่ดีต่อร่างกายทั้งนั้น

สิ่งที่ควรทำก็คือ ‘เคลื่อนไหว’ เป็นประจำต่างหาก”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากต้องทำงานจากที่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดกระแสด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน

อย่างที่ทราบกันดี การนั่งนาน ๆ นั้นส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างยิ่งทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ปัญหาด้านกล้ามเนื้อ รวมถึงเกิดเส้นเลือดบวมและเกิดลิ่มเลือดในขาได้ด้วยเช่นกัน จนทำให้มีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในการทำงานมากขึ้นรวมถึง โต๊ะที่ปรับระดับความสูงได้เพื่อเปลี่ยนท่าในการทำงานจากนั่งเป็นยืน

อย่างไรก็ตามงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร International Journal of Epidemiology การยืนทำงานดังกล่าวไม่ได้ลดความเสี่ยงของปัญหาต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง กลับกันอาจเพิ่มความเสี่ยงของระบบปัญหาไหลเวียนเลือด เช่น เส้นเลือดขอดหรือหลอดเลือดดำอุตตันด้วยซ้ำ 

“การนั่งนั้นไม่ดีต่อร่างกาย แต่การยืนทำงานอย่างเดียวก็ไม่ใช่ยาอายุวัฒนะ” ดร. แมทธิว อาห์มาดี (Matthew Ahmadi) ผู้เขียนงานวิจัย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุปกรณ์สวมใส่ (Wearables Research Hub) และนักวิจัยจากศูนย์วิจัยด้านกายภาพ, ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพประชากรของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าว

“การนั่งต้องผสมผสานกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เราต้องขยับร่างกาย เพราะถ้าเราต้องการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เราต้องทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่กระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือด” เขาเสริม สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ การนั่งทำงานนาน ๆ ยังคงเป็นเรื่องแย่มาก ๆ สำหรับสุขภาพ และการยืนอยู่เฉย ๆ นาน ๆ ก็ไม่ดีเช่นกัน

สิ่งที่งานวิจัยบอก

แล้วชาวออฟฟิศอย่างเราที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลาหลายชั่วโมงทุกวันโดยไม่สามารถละจากหน้าจอได้เลย จะทำอะไรได้บ้าง? ต้องยืนหรือต้องนั่ง? หรือต้องหางานใหม่? ขั้นแตกแรกที่สำคัญก็การเข้าใจผลการค้นพบของงานวิจัยนี้

ตามที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกที่เช่น แอนเดรีย ดูราน (Andrea Duran) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ให้ความเห้นว่า แม้จะดูเหมือนว่าขัดแย้งกับความรู้เดิม (ที่ให้ยืนทำงานสลับกับการนั่ง) 

แต่จริง ๆ เป็นการเพิ่มหลักฐานมากขึ้นว่า การยืนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาท่าทางการทำงาน

“สิ่งที่เราพบในการวิจัยและเอกสารฉบับนี้แสดงให้เห็นในระดับระบาดวิทยาที่กว้างขึ้นก็คือ การยืนเพียงอย่างเดียวไม่ได้มีผลในการปกป้อง(สุขภาพ)เสมอไป และหากทำมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้” ดูรัน กล่าว 

ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์ได้เก็บข้อมูลผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรมากกว่า 83,013 คนจากฐานข้อมูลบันทึกสุขภาพ UK Biobank ข้อมูลระบุว่ากลุ่มตัวอย่างนี้ไม่ได้มีโรคหัวใจในช่วงเริ่มต้นการศึกษา จากนั้นได้ให้ทุกคนสวมอุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหวที่ข้อมือเป็นระยะเวลา 7 ปี

พวกเขาพบว่า การยืนนานเกินวันละ 2 ชั่วโมงมีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบไหลเวียนโลหิต โดยทุก ๆ 30 นาทีที่เพิ่มขึ้น(จากที่เกินมา 2 ชั่วโมง) จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็น ทีมวิจัยระบุว่าการยืนเป็นท่าทางที่ ‘นิ่ง’ เช่นเดียวกันกับการนั่ง ซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น

สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดมากขึ้น นอกจากนี้แม้การยืนจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อได้มากกว่านั่ง แต่ก็ไม่ได้สร้างความท้าทายกล้ามเนื้ออื่น ๆ เหมือนการลุกมาเคลื่อนไหว 

“ประเด็นสำคัญคือ การยืนนานเกินไปจะไม่ชดเชยวิถีชีวิตแบบอยู่ประจำ (แบบที่นั่งนาน) และอาจเป็นอันตรายต่อบางคนในแง่ของสุขภาพการไหลเวียนเลือด เราพบว่าการยืนมากขึ้นไม่ได้ช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว และยังเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาการไหลเวียนเลือดอีกด้วย” อห์มาดีกล่าว

แล้วเราควรทำอย่างไร?

วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การเลิกใช้โต๊ะปรับระดับความสูงได้หรือใช้โต๊ะที่ออกแบบมาเพื่อยืนทำงาน อันที่จริงแล้วโต๊ะปรับระดับความสูงนั้นถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีด้วยซ้ำในการปรับให้สูงพอดีกับ ‘ท่านั่ง’ ของแต่ละคนที่ดีต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามควรเปลี่ยนกรอบความคิดที่ว่าต้องยืนสลับการนั่งให้เป็น นั่งสลับกับ ‘เคลื่อนไหว’ แทน

“โต๊ะทำงานแบบยืนยังคงเป็นช่องทางที่ดีเยี่ยมในการเคลื่อนไหว” ดูรัน กล่าว “ผมจะยืนขึ้น และแทนที่จะแทนที่เฉย ๆ ผมจะพยายามยืดเส้นยืดสายหรือทำท่าสควอทหรือทำอะไรสักอย่างที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อโครงร่างของผมหดตัวได้” 

นอกจากนี้การมีดัมเบลชุดเล็ก ๆ ไว้ข้างโต๊ะทำงานก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยกล้ามเนื้อได้ขยับ เนื่องจากเมื่อเราเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อจะหดตัวซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์ใช้กูลโคสเป็นพลังงานและช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้ที่ชอบดื่มน้ำหวานเป็นประจำ

สิ่งสำคัญก็คือควรเคลื่อนอย่างน้อย 5 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง แต่ะหากเราไม่สามารถลุกไปไหนได้เลยการนั่งนิ่ง ๆ แล้วคอยเหยียดขาขึ้นลงเป็นระยะ ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อยืดและหดตัวแทนก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า อาห์มาดียกตัวอย่างง่าย ๆ นั่นคือมีขวดน้ำเล็ก ๆ ไว้บนโต๊ะเพื่อที่จะสามารถลุกเดินไปเติมน้ำได้

ไม่เพียงเท่านั้นการออกกำลังสั้น ๆ แต่หลายครั้งจะช่วงสุขภาพได้มากเช่นเดิน 10 นาที 3 ครั้งสามารถส่งเสริมสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่าเดิน 30 นาทีครั้งเดียว(แต่เดิน 30 นาทีก็ให้ประโยชน์กว่าการไม่ทำอะไรเลยมากกว่ามากโข) 

“การผสมผสานที่ดีที่สุดเพื่อปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดของคุณคือ การยืนร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้คุณเคลื่อนไหว” อาห์มาดี กล่าว 

เก็บโต๊ะยืนทำงานของคุณไว้แต่เพิ่มการขยับแข้งขยับขาเพื่อชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น

“ยิ่งผู้คนหลีกเลี่ยงการอยู่นิ่ง ๆ ได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี” เอมิลี่ แมคเกรธ (Emily McGrath) พยาบาลโรคหัวใจอาวุโสที่มูลนิธิหัวใจบริติช (British Heart Foundation) ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov

https://www.popsci.com

https://theconversation.com

https://www.webmd.com

https://www.theguardian.com


อ่านเพิ่มเติม : ผลวิจัยจากโครงกระดูก พบ “ออฟฟิศซินโดรม”

สร้างปัญหาให้คนทำงานตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.