ตื่นตอนเช้าเพื่อออกไปวิ่ง ระหว่างวันก็กินอาหารเพื่อสุขภาพลดทั้งน้ำตาลและไขมัน ตกเย็นมาก็เข้าฟิตเนสอีกครั้งจากนั้นเข้านอนอย่างรวดเร็วเพราะต้องการพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งหมดนี้เพื่อการลดความอ้วนให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยความพยายามที่ไม่ย่อท้อ ในที่สุดร่างกายของเราก็อยู่ในจุดที่น่าพึงพอใจจนสามารถอวดโฉมในชุดว่ายน้ำได้
ทว่าในเย็นวันเดียวกันกับที่เราใส่ชุดว่ายน้ำอย่างมั่นใจนั้นก็มีความคิดว่า ‘กินของอร่อย ๆ สักมื้อคงไม่เป็นอะไรหรอกมั้ง’ พร้อมกับเดินเข้าไปที่ห้องอาหารของโรงแรมซึ่งจัดเลี้ยงอาหารแบบบุฟเฟ่ต์และตักกินอย่างมีความสุข แม้จะเพียงแค่มื้อเดียวและยังคงคุมอาหารต่อไป แต่ร่างกายกลับมีน้ำหนักพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ
ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดนี้มักถูกเรียกกันว่า โยโย่เอฟเฟ็กต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลลดน้ำหนักได้แล้วก็มักจะกลับมามีน้ำหนักเท่าเดิมหรือบางครั้งก็มากกว่าเดิมในภายหลัง แต่มันคือความผิดของใคร? อาหารบุฟเฟ่ต์มื้อเดียวนั้น? หรือความพยายามของเรายังไม่พอ?
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Nature เผยให้เห็นว่าบางทีอาจเป็นความผิดที่เซลล์ไขมันของเราเองที่ยังคงจดจำความอ้วนในอดีตที่ผ่านมา แถมยังดูเหมือนว่ามันยังคงมี ‘ความมุ่งมั่น’ ที่จะกลับไปเป็นแบบเดิมแม้ใจของเราจะไม่ต้องการก็ตาม
“(ผลการศึกษาใหม่นี้)แสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในระดับโมเลกุล และนั่นเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก” ฮยอน เชอล โรห์ (Hyun Cheol Roh) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอพิเจเนติกส์จากโรงเรียนการแพทย์ของมหาวิทยาลัยอินเดียนา กล่าว
ความอ้วนนั้นส่งผลมากกว่าที่เราคิด นักวิทยาศาสตร์ทราบกันดีว่าเมื่อเรากินสิ่งต่าง ๆ เข้าไปโดยเฉพาะของที่มีไขมันสูงซึ่งส่งผลทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือเรียกอย่างง่ายว่า ‘โรคอ้วน’ นั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เรามีรูปร่างอ้วนเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงเซลล์ของเราในสิ่งที่เรียกว่า ‘เอพิเจเนติกส์’ (Epicgenetic)
เอพิเจเนติกส์ นั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการควบคุมการแสดงออกของยีนที่ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับลำดับเบสที่อยู่บนดีเอ็นเองของเรา เช่น ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม นิสัยการกินของเรา และสภาพร่างกายของเราที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งในบริบทตอนนี้ก็คือ ‘โรคอ้วน’
ตามที่นักวิทยาศาสตร์ระบุ โรคอ้วนนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์เพื่อที่เซลล์เหล่านั้นจะสามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ในที่นี้ก็คือสภาพแวดล้อมที่มีน้ำตาลและไขมันสูงขึ้น เพื่อพยายามสร้างความสมดุลในกระบวนการเผาผลาญให้กับร่างกายให้ได้มากที่สุด
“เอพิเจเนติกส์บอกเซลล์ว่าเป็นเซลล์ประเภทใดและควรทำอะไร” ลอร่า ฮินเต (Laura Hinte) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว ปัจจัยเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่ายีนใดทำงานอยู่ในเซลล์ของเราและยีนใดที่ไม่ต้องทำงาน ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องไปนานหลายปี
ในงานวิจัยใหม่นี้ทีมวิจัยได้ศึกษาเซลล์ไขมันในร่างกายมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘เนื้อเยื่อไขมัน’ จากผู้เข้าร่วมการทดลอง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอ้วนเลย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่เคยเป็นภาวะอ้วนอย่างรุนแรง จากนั้นเปรียบเทียบเซลล์ไขมันระหว่างสองกลุ่มนี้ พวกเขาก็พบความแตกต่างในกิจกรรมของยีน
ข้อมูลระบุว่ายีนบางตัวในเซลล์ไขมันของผู้เข้าร่วมที่เคยเป็นโรคอ้วนมีระดับการทำงานที่มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยเป็นโรคอ้วน ซึ่งปัญหาก็คือยีนเหล่านี้ยังทำงานในระดับคงที่แม้ว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีน้ำหนักลดลงมานานแล้วก็ตาม ยีนในเซลล์ไขมันของพวกเขายังคงมีพฤติกรรมเหมือนกับว่าเขายังคงเป็นโรคอ้วนอยู่
“การศึกษาของเราบ่งชี้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การรักษาน้ำหนักตัวให้คงเดิมหลังจากลดน้ำหนักได้ในช่วงแรกนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก” ศาสตราจารย์ เฟอร์ดินานด์ ฟอน เมเยนน์ (Ferdinand von Meyenn) ผู้เขียนอาวุโสจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐในเมืองซูริก กล่าว
“เซลล์ไขมันจะจำสถานะอ้วนก่อนหน้านี้ได้และมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นสถานะนี้อีกครั้ง ดูเหมือนว่าความทรงจำจะเตรียมเซลล์ให้ตอบสนองต่อน้ำตาลหรือกรดไขมันได้เร็วขึ้น และอาจจะในทางที่ไม่ดีต่อสุขภาพด้วย” เขาเสริม
แต่เพื่อยืนยันสิ่งที่เกดิขึ้นให้ชัดเจนมากขึ้น ทีมวิจัยจึงตัดสินใจทดสอบมันในเซลล์ไขมันของหนูทดลองอย่างละเอียดจากสองหลุ่มก็คือหนูที่มีน้ำหนักเกิด และหนูที่ลดน้ำหนักแล้วด้วยการอดอาหาร จากนั้นก็ได้ให้อาหารที่มีไขมันสูงอีกครั้งกับหนูเป็นเวลาหนึ่งเดือนในทั้งสองกลุ่ม
ผลลัพธ์ยังคงเช่นเดิมนั่นคือ หนูที่ไม่เคยอ้วนมีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5 กรัม ขณะเดียวกันหนูที่เคยอ้วนกลับมีน้ำหนักพุ่งสูงขึ้นเฉลี่ยถึง 14 กรัม นอกจากนี้เซลล์ไขมันจากหนูที่เคยอ้วนมาก่อนยังดูดซับน้ำตาลและไขมันได้มากขึ้นด้วย
“จากมุมมองด้านวิวัฒนาการแล้ว เรื่องนี้สมเหตุสมผล” ฮินเต กล่าว “มนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ได้ปรับตัวให้เข้ากับน้ำหนักตัวที่มากขึ้นแทนที่จะลดลง เนื่องจากในอดีตนั้นการขาดแคลนอาหารถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อย” หรือกล่าวคือ เมื่อเจออาหารโดยเฉพาะไขมันสูง ร่างกายของเราก็ไม่รอช้าที่จะเก็บเกี่ยวมัน
งานวิจัยนี้อาจปูทางไปสู่แผนจัดการน้ำหนักที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากต้องประสบปัญหากับภาวะอ้วนทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ตามมา รวมถึงสุขภาพจิตที่ผู้ที่พยายามลดความอ้วนอาจโทษตัวเองและมองว่าตัวเองไร้ความสามารถ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพราะเซลล์ที่อยู่ในร่างกายของเรา ไม่ใช่ความพยายามที่ยังไม่เพียงพอ
“ในระดับสังคม สิ่งนี้อาจช่วยปลอบโยนผู้ที่ต่อสู้กับโรคอ้วนได้บ้าง” ดร. แดเนียล คาสเตลลาโน-คาสตีโย (Daniel Castellano-Castillo) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “การพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะลดน้ำหนักอาจถูกขัดขวางจากความจำระดับเซลล์ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขัน”
ในอนาคต ทีมวิจัยต้องการศึกษาเนื้อเยื่อประเภทอื่น ๆ เช่น ในตับอ่อน ตับ หรือสมอง เพื่อดูว่าเซลล์ของเนื้อเยื่อเหล่านี้มี “ความทรงจำ” ของโรคอ้วนด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังต้องการศึกษาว่ายาออกกำลังกายหรือยาลดน้ำหนัก เช่น เซมากลูไทด์ สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเอพิเจเนติกส์ที่เชื่อมโยงกับโรคอ้วนได้หรือไม่ ทั้งหมดเพื่อการลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.smithsonianmag.com
https://www.technologynetworks.com