ผีจากบาดแผลทางใจ: ทำไมภัยธรรมชาติจึงกระตุ้นให้คนเชื่อในสิ่งลี้ลับ

“บาดแผลทางใจและการได้รับสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกาย

อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยในเขตภัยพิบัติมองเห็นผี”

หนึ่งสิ่งที่ตามมาหลังเหตุภัยธรรมชาติอย่างไฟไหม้ป่า พายุเฮอริเคนหรือน้ำท่วม ก็คือ “เรื่องลี้ลับ” ในกลุ่มพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เรื่องสยองขวัญเหล่านี้เป็นเสมือนบาดแผลทางใจที่ภัยธรรมชาติได้ทิ้งเอาไว้

ความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักมีผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของคนเราอย่างมาก เลสลี ฮาร์ทลีย์ กีส จิตแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาผู้รอดชีวิตจากเหตุไฟป่าในฮาวายเมื่อปี พ.ศ. 2566 กล่าว “หลาย ๆ คนมีอาการมองเห็นหรือได้ยินเสียงของคนรักและคนในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว” กีสเสริม “พวกเขาเลยคิดว่าตัวเองเสียสติไปแล้วแน่ ๆ”

นักจิตแพทย์ชี้แนะว่าการเผชิญประสบการณ์ลึกลับเหนือธรรมชาติอาจเป็นตัวสะท้อนถึงวิธีที่ผู้คนรับมือกับความสูญเสีย เห็นได้จากการที่ยอดสมาชิก Spiritualists’ National Union องค์กรการกุศลที่เชื่อว่าคนอยู่สามารถติดต่อคนตายได้ เพิ่มขึ้นถึง 325 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือนแรกของการกักตัวเพื่อควบคุมโรคโควิด 19 ในสหราชอาณาจักร

ผู้รอดชีวิตหลายรายจากเหตุไฟไหม้ป่าเกาะเมาวี น้ำท่วมที่ลิเบีย แผ่นดินไหวและสึนามิในโทโฮกุต่างประสบพบเจอกับเหตุการณ์แปลกประหลาดที่หาคำอธิบายไม่ได้ ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ยอดผู้ใช้บริการไล่วิญญาณและสืบสวนเรื่องเหนือธรรมชาติก็พุ่งสูงเช่นกัน 

ในเมื่อภัยพิบัติไม่อาจหายไป คำถามที่ตามมาก็คือ ความเชื่อในเรื่องผีจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

สุสานผุพังในเขตหวงห้ามที่เมืองนามิเอะ ประเทศญี่ปุ่น เมืองนามิเอะถูกนับเป็นเขตห้ามพักอาศัยเป็นเวลากว่าหกปีสืบเนื่องจากเหตุสารกัมมันตรังสีในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิรั่วไหล อันเป็นผลพวงจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2554 ภาพโดย Ko Sasaki, The New York Times, Redux

ผีที่เกิดจากบาดแผลทางใจ

ทางชีววิทยาอธิบายได้ว่า ความเศร้าโศกจากการสูญเสียและบาดแผลทางใจจะกระตุ้นการปล่อยคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนแห่งความเครียดอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่อาการนอนหลับไม่เพียงพอ (Sleep Deprivation) และภาวะที่เรียกว่า Sensory Overload ซึ่งเกิดจากการได้รับข้อมูลทางประสาทสัมผัสมากเกินไป ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้ภาพหลอนดูสมจริงเสมือนหลุดออกมาจากความทรงจำ จึงอาจอธิบายได้ว่าทำไมผู้ที่จมอยู่กับความสูญเสียถึงมีอาการหูแว่วได้ยินหรือมองเห็นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว

เสียงโหยหวนของไซเรน แสงไฟกระพริบริบหรี่ ถนนและโรงเรียนที่โล่งรกร้าง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้อาศัยอยู่ในเขตภัยพิบัติมองเห็นสิ่งที่อาจมีหรือไม่มีอยู่จริง

กีสเผยว่าผู้รอดชีวิตหลายคนตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Derealization หรือ Depersonalization “พวกเขารู้สึกราวกับว่าโลกภายนอกไม่เหมือนจริง รู้สึกเหมือนพวกเขาไม่ใช่คนเดิม บางคนอาจมองไม่เห็นแม้กระทั่งเงาของตัวเองในกระจก” ปรากฏการณ์นี้ชวนให้คิดว่าผู้ที่อยู่ในภาวะดังกล่าวอาจไม่ได้มองเห็นผีจริง ๆ แต่รู้สึกว่าตัวเองต่างหากที่เป็นผี

สภาพพื้นที่หลังเกิดเหตุก็มีส่วนทำให้อาการเหล่านี้รุนแรงขึ้น อาคารทรุดตัวและโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดเพลิงไหม้นั้นมีสารเคมีอันตรายตกค้างอย่างสารปรอท สารหนูและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งสารดังกล่าวอาจรั่วไหลเข้าไปในน้ำประปาและก่อให้คนเกิดอาการเห็นภาพหลอนหรืออาจมีความรู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในอันตราย (impending doom) จนเกิดอาการชัก

ภาพสวนและไร่ที่ไม่ได้รับการดูแลระหว่างอยู่ในช่วงพยายามฟื้นฟูบูรณะมักดูรกร้างจนชวนให้ขนลุก เป็นเพราะพืชผลเน่าเสียจะเกิดเชื้อรากลุ่มเออร์กอต (Ergot) สารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทซึ่งทางนักวิจัยเชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมล่าแม่มดแห่งซาเลมในช่วงปี พ.ศ. 2233

วัชพืชก่อตัวขึ้นตามอาคารที่พักในอำเภอฟูตาบะซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไอดิจิมากที่สุด สิบปีหลังเกิดเหตุ พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นเหมือนบ้านที่ไม่ใช่บ้านไปเสียแล้ว ภาพโดย James Whitlow Delano, The New York Times, Redux

พลังที่คุณอาจคาดไม่ถึงของการเล่าเรื่องผี

คริสทีน และ ทอดด์ แวนพูล (Christine and Todd Vanpool) นักมานุษวิทยา ณ มหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) แย้งว่าเรื่องผีไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าเขย่าขวัญเท่านั้น แต่ยังสามารถสื่อถึงเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ได้อีกด้วย ทั้งคู่เขียนอธิบายไว้ในหนังสือชื่อ An Anthropological Study in Spirits ว่าตำนานลี้ลับนั้นมีไว้เพื่อปกป้องชุมชนและคอยเฝ้าระวังไม่ให้คนในชุมชนจับพลัดจับผลูไปอยู่ในสถานที่หรือพบเจอกลุ่มคนที่อันตราย “เรื่องลี้ลับอาจเป็นสิ่งย้ำเตือนไม่ให้เราหลงไปกับความโลภและความโกรธ” คริสทีนเอ่ย

ทอดด์กล่าวว่า ‘ผี’ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปร่างวิญญาณของคนที่เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ในบางพื้นที่อย่างแถบเทือกเขาแอลป์ (Alps) ผู้อยู่อาศัยแถวนั้นก็ถูก ‘หลอกหลอน’ โดยความสูญเสียเช่นกัน ซึ่งความสูญเสียดังกล่าวหมายถึงธารน้ำแข็งละลายอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน เขาเสริมว่ามันเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มชุมชนที่กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบของภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม

“ทำไมหลาย ๆ ชุมชนจึงเลือกเชื่อในเรื่องลี้ลับแม้จะทำให้เกิดความกลัวล่ะ”

“เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นตัวช่วยให้กลุ่มชุมชนเรียนรู้ที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน” คริสทีนตอบ

พายุเฮอริเคนแคทรีนา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ถือเป็นเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา บาดแผลทางใจและการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นเหตุให้คนในพื้นที่ประสับภัยพิบัติเหล่านี้มองเห็นสิ่งลี้ลับ รภาพโดย Erika Larsen, Redux

เรื่องที่เล่าต่อกันมารุ่นสู่รุ่นก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างคนในชุมชน ผลักดันให้เกิดค่านิยมร่วมและย้ำเตือนคนในชุมชนถึงความสำคัญของการรวมตัวกันเพื่อช่วยจัดงานศพหรือพิธีกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้เกียรติคนตาย

ความเอื้ออาทรถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤต อย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศตุรกีเมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่เหล่าผู้รอดชีวิตไม่สามารถจัดงานศพให้กับผู้ตายและไว้ทุกข์เหมือนอย่างในสถานการณ์ปกติได้ องค์การอนามัยโลกรายงานว่านอกจากผู้ประสบภัยหลายคนจะได้รับ ‘แผลทางใจมือสอง (secondary trauma)’ แล้ว พวกเขายังไม่สามารถฝังศพคนสำคัญในชีวิตได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย ในกรณีดังกล่าว การเล่าถึงผู้ตายจึงเป็นเหมือนการเติมไฟให้กับความหวังและความทรงจำไม่ให้มอดดับไปเสียก่อน

หลังเหตุการณ์สึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2554 การละเล่นที่เรียกว่า ‘ไคดันไค’ หรือ ‘ตำนานร้อยเรื่องเล่า’ ที่ผู้เล่นจะนั่งล้อมรอบเป็นวงกลมและผลัดกันเล่าเรื่องสยองขวัญก็ได้กลับมารับความนิยมอีกครั้ง ริชาร์ด ลอยด์ แพร์รี (Richard Loyd Parry) นักข่าวเจ้าของหนังสือเรื่อง Ghosts of the Tsunami เผยว่าผู้รอดชีวิตจากสึนามิหลายคนหวังอยากมองเห็นวิญญาณของคนที่ตนรักเพื่อบอกลาครั้งสุดท้าย

ผลกระทบด้านจิตใจเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น กีสเล่าว่าช่วงเหตุสึนามิปี พ.ศ. 2554 เพื่อนร่วมงานของเธอได้รับการขอความช่วยเหลือจากกลุ่มชาวญี่ปุ่นในฮาวายที่อยู่ในอาการช็อกหลังทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฝั่งญี่ปุ่น

กีสอธิบายว่าภาวะเหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้คนประสบพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่าผี “ฉันคิดว่ายังมีอะไรให้เราค้นพบอีกมาก” เธอกล่าว กีสยังเสริมอีกด้วยว่าสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้คือการที่ข้อมูลเท็จและความเครียดวิตกกังวลส่งผลให้ผู้รอดชีวิตหลายคนหวนกลับไปพึ่งการใช้ยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรับมือกับความสูญเสีย 

เรื่อง Daniel Seifert

แปลและเรียบเรียง
พิมพ์มาดา ทองสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.