นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีแปลก ๆ ในการลดโลกร้อน ด้วยการยิงผงเพชรขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

เราจะยอมจ่ายแพงเพื่อโลกหรือไม่? 

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการโปรย ‘ผงเพชร’ บนท้องฟ้าสามารถช่วยลดโลกร้อนได้และชดเชยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่ทว่าต้องใช้เงินจำนวนประมาณ 5,900 ล้านล้านบาท 

ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสังเกตได้จากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกที่ไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นทำลายสถิติอยู่บ่อยครั้ง แม้จะมีความพยายามหลาย ๆ ด้านในการลดจำนวนลงแต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอและ ‘ช้า’ เกินไป

ทำให้นักวิทยาศสตร์หลายคนเสนอทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะในกระบวนการที่เรียกว่า ‘ภูมิวิศวกรรม’ หรือ Geoengineering ซึ่งก็คือการใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก 

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการพูดถึงทั้งดาวเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่นการสร้างพื้นที่สีเขียวบนดาวอังคารเพื่อให้มีความสามารถในการรองรับชีวิตมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ซึ่งในที่นี้คือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

ตามรายงานใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่บนวารสาร Environmental Research: Climate เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา นักวิจัยยืนยันว่า เพชร คือวัสดุที่ดีที่สุดในการฉีดเข้าไปยังชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์เพื่อลดอุณหภูมิที่เกิดขึ้นได้ อย่างน้อยก็ในทฤษฎี

“มันเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมาก” ซานโดร วัตติโอนี (Sandro Vattioni) นักวิจัยด้านฟิสิกส์บรรยากาศที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิสในเมืองซูริก (ETH Zurich) และผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าว “มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ต้องการห้ามทำการวิจัยหรือแม้แต่กระทั่วการวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อนี้” 

เนื่องจากหลายคนกังวลว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโลกใบนั้นอาจส่งผลเลวร้ายอื่น ๆ ที่นึกไม่ถึงมากกว่าที่คิด กระนั้นงานวิจัยใหม่ก็ได้สำรวจในทุก ๆ ด้านที่พวกเขานึกออกพร้อมระบุว่า การโปรยผงเพชร 5.5 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศทุกปี อาจทำให้โลกเย็นลงได้ถึง 1 องศาเซลเซียส (°C) 

โดยละอองลอยเหล่านี้จะสามารถสะท้อนแสงและสะท้อนรังสีของดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศได้ และทำให้โลกเย็นลงพร้อมกับยืดระยะภาวะโลกร้อนให้มนุษยชาติมีเวลาเพียงพอในการเปลี่ยนทุกอย่างไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 

เรียนรู้จากภูเขาไฟ

ทีมวิจัยระบุว่าการฉีดผงเพชรขึ้นไปยังชั้นสตราโตสเฟียร์นั้นได้รับแรงบันดาลใจมากจากการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเมื่อภูเขาไฟปะทุขึ้น มันจะพ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมากออกมาด้วย ก๊าซนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงกรดซัลฟิวริกในชั้นบรรยากาศ จากนั้นจะควบแน่นจนกลายเป็นละอองซัลเฟตละเอียดที่สะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่อวกาศ ทำให้พื้นที่โลกในบริเวณดังกล่าวเย็นขึ้นระดับหนึ่ง

งานวิจัยล่าสุดนี้เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้าที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งที่ได้สำรวจความเป็นไปได้ว่า หากฉีดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไปในสตราโตสเฟียร์จะช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากศได้หรือไม่? อย่างไรก็ตามพวกเขาพบว่ายังมีผลกระทบบ้างข้อที่น่ากังวลอยู่

เช่น ละอองกรดซัลฟิวริกเหล่านั้นจะดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์และพื้นดินในปริมาณมาก ซึ่งหมายความว่าจะกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนบนชั้นบรรยากาศและทำให้กระแสลมที่อยู่ภายในปั่นป่วน แต่สิ่งสำคัญก็คือ การรบกวนใด ๆ ต่อสตราโตสเฟียร์อาจส่งผลต่อรูปแบบการตกตะกอนและการหมุนเวียนของน้ำฝนทั่วโลก

นี่คือจุดที่เพชรเข้ามามีประโยชน์ ทีมวิจัยระบุว่าอนุภาคเพชรนั้นจะไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในชั้นบรรยากาศหรือความปั่นป่วนอื่น ๆ เนื่องจากเพชรนั้นสะท้อนแสงได้ดีมาก และไม่เกาะรวมตัวกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่วัสดุอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้

วัตติโอนี เผยว่าเครื่องบินที่บินในระดับสูงจะต้องบินวนรอบโลกเพื่อปล่อยอนุภาคอย่างต่อเนื่องให้ถึงปริมาณที่จำเป็นสำหรับการทำความเย็น อย่างไรก็ตามกระบวนการเหล่านั้นไม่ได้รวมอยู่ขอบเขตการศึกษาล่าสุดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการวิจัยที่ต้องการเจาะจงไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

“เราพิจารณาแค่เพชรเท่านั้น เราไม่ได้คิดถึงต้นทุนหรือวิธีการขุดอนุภาคเหล่านี้” เขาบอก “แต่ก็เห็นได้ชัดว่านี่เป็นคำถามที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำอะไรแบบนี้” 

เพชรดีที่สุด

ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำความเย็นระหว่างอนุภาคเพชร กับอนุภาคอะลูมิเนียมและแคลไซต์ โดยใช้แบบจำลองระบบโลกเพื่อจำลองการตอบสนองสภาพอากาศทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงนี้ 

พวกเขาพบว่าปริมาณผงเพชรที่จำเป็นในการทำให้โลกเย็นลง 1°C นั้นอยู่ที่ 5.5 ล้านตันต่อไป อาจดูเป็นปริมาณมหาศาลแต่ตัวเลขนี้ก็เท่ากับ 1 ใน 3 ของวัสดุอื่น ๆ ที่สร้างความเย็นได้ในระดับเดียวกันเท่านั้น แต่สิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาจริง ๆ ก็คือค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ชัดเจน

ตามการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อปี 2020 เคยประมาณไว้ว่าการฉีดซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศตั้งแต่ปี 2035 ถึง 2100 จะมีค่าใช้จ่าย 18,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีหรือก็คือ 6.12 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับอะลูมิเนียมและแคลไซต์เองก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกัน ทว่าเพชรนั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย ทีมวิจัยในปี 2020 ระบุว่าอาจจะอยู่ที่ 175 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 5,950 ล้านล้านบาท 

“ในเรื่องนี้ อนุภาคแคลไซต์อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า” วัตติโอนี กล่าว พร้อมเสริมว่าแคลไซต์เองก็เป็นองค์ประกอบในหินปูที่พบได้ทั่วโลกในปริมาณมหาศาล แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบ ดังนั้นเพชรจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในด้านความแน่นอน

“การไม่ทำวิจัยนี้ก็เท่ากับละเลยเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ ที่อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความเสี่ยงได้” วัตติโอนี บอก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ “อาจซื้อเวลาให้เราได้บ้าง” 

“เราเสี่ยงที่จะผ่านจุดเปลี่ยนด้านสภาพอากาศที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ และจุดเปลี่ยนทางนิเวศวิทยาซึ่งการฉีดละอองลอยเข้าไปในชั้นสตราโตสเฟียร์อาจช่ววหลีกเลี่ยงจุดเหล่านั้นไปได้ จนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” วัตติโอนี ทิ้งท้าย

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://iopscience.iop.org

https://www.livescience.com

https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com


อ่านเพิ่มเติม : โลกร้อนทำอาหารแพงขึ้นจริงไหม

และพืชหรือสัตว์ชนิดใดเสี่ยงหายไปบ้าง

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.