นักดาราศาสตร์เผยดาวเคราะห์น้อย2024 YR4 มีโอกาสพุ่งชนโลกในปี 2032

“ดาวเคราะห์น้อยขนาด 60-100 เมตรมีโอกาสพุ่งชนโลก 1.3% ในวันที่ 22 ธันวาคม 2032”

ในวันที่ 27 ธันวาคม 2024 ระบบกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินที่คอยตรวจสอบท้องฟ้าเพื่อมองหาวัตถุที่มีความเสี่ยงในการพุ่งชนโลกหรือที่เรียกว่า ATLAS ได้ตรวจจับดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่มีขนาดราว 60-100 เมตรพร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า 2024 YR4 

มันดูเหมือนดาวเคราะห์น้อยทั่ว ๆ ไปที่วนเวียนไปมาในอวกาศ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์คำนวณวงโคจรของมัน พวกเขาก็ต้องพบว่า 2024 YR4 มีโอกาสพุ่งชนโลก 1 ใน 83 หรือประมาณ 1.3% ในวันที่ 22 ธันวาคม 2032 

ตัวเลขนี้อาจทำให้คุณตกใจเนื่องจากมันเป็นการบอกถึงโอกาสการชนอย่างชัดเจน ทั้งความน่าจะเป็นและวันที่อย่างเจาะจง ซึ่งอาจดึงดูดความสนใจไปจากแง่ตรงข้ามก็คือ 2024 YR4 ยังมีโอกาสอีกว่า 98.3% ที่จะพุ่งผ่านโลกโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ดังนั้นคุณจึงน่าจะสบายใจได้

“มีแนวโน้มสูงที่ดาวเคราะห์น้อยนี้จะพุ่งผ่านไปโดยไม่สร้างอันตรายใด ๆ” โคลิน สน็อคกราส (Colin Snodgrass) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าว “มันสมควรได้รับการสนใจจากล้องโทรทรรศน์เพิ่มอีกนิดหน่อยจนกว่าเราจะสามารถยืนยันได้ ยิ่งติดตามวงโคจรของมันนานเท่าไหร่ การคาดการณ์เส้นทางการโคจรในอนาคตของเราก็จะยิ่งแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น” 

มาตราส่วนตูรินโน 

นอกจากโอกาสในการชนที่มีมากกว่า 1 แล้ว ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 นั้นยังได้รับคะแนนความเสี่ยงตามมาตราส่วนตูรินโน (Torino scale) ที่ 3 คะแนน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเล็กน้อย 

แต่คะแนนมาตราส่วนนี้คืออะไร? โดยทั่วไปแล้วนักวิทยาศาสตร์จะให้คะแนนความเสี่ยงกับดาวเคราะห์น้อยที่มีแนวโน้มซึ่งจะมีตั้งแต่ 0-10 คะแนน โดย 0 จะเท่ากับไม่มีความเสี่ยงเลยหรือมีเล็กน้อย(แบบเล็กน้อยจริง ๆ)เท่านั้น ขณะที่ 10 จะหมายความว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนโลกอย่างแน่นอนและก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง

ในทำนองเดียวกันคะแนนในมาตราส่วนตูรินโนเองก็จะถูกแบ่งออกเป็น 3 โซนได้แก่ เขียว เหลือ แดง ซึ่งเขียนคือปลอดภัยหรือค่อนข้างปลอดภัย ส่วนเหลืองนั้นหมายความว่าควรได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และสาธารณชน ขณะที่สีแดงนั้นคือระดับอันตราย

ดังนั้นดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ที่ได้คะแนนอยู่ที่ 3 คะแนนซึ่งอยู่ในโซนสีเหลืองจึงมีความหมายว่าวัตถุดังกล่าวมีความเสี่ยงเล็กน้อยและควรได้รับความสนใจเพิ่มเติม โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ได้ระบุเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ว่า

“การเผชิญหน้าในระยะใกล้นี้ควรได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ การคำนวณปัจจุบันให้โอกาสชนกันที่อาจทำลายล้างได้ในระดับ 1% หรือมากกว่านั้น แต่การสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ใหม่ ๆ อาจมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การกำหนดระดับใหม่เป็น 0 ทั้งนี้ (2024 YR4) ควรให้ความสนใจจากสาธารณชนและเจ้าหน้าที่สาธารณะหากการเผชิญหน้าจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ” 

อันที่จริงแล้ว ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่จะถูกจัดให้มีคะแนนตามมาตราส่วนตูรินโนที่สูงไว้ก่อน และเมื่อมีการสังเกตการณ์เพิ่มเติมก็จะค่อย ๆ ลดลงเหลือศูนย์เป็นปกติ เหตุผลก็เพราะว่าเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยเกือบทั้งหมดนั้นมีความไม่แน่นอนอยู่มาก 

ซึ่งในกรณีนี้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันว่า 2024 YR4 จะผ่านโลกในระยะทางตั้งแต่ 1,500 กิโลเมตรไปจนถึง 100,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อลดช่องว่างของความไม่แน่นอนให้แคบลง 

“สิ่งสำคัญก็คือต้องจำไว้ว่าวงโคจรของมันยังไม่แน่นอนเกินไปที่จะรู้ว่ามันพุ่งชนหรือไม่ และในตอนนี้ผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือพลาดเป้า” เดวิด แรนคิน (David Rankin) วิศวกรของโครงการสำรวจทางดาราศาสตร์ Catalina Sky Survey กล่าว 

นักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะสังเกตการณ์มันให้ละเอียดมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนที่มันจะหายไปจากสายตา หากการวัดดังกล่าวไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกในปี 2032 ได้ 2024 YR4 ก็จะยังคงอยู่ในรายชื่อความเสี่ยงต่อไปจนกว่าจะสังเกตเห็นได้อีกครั้งในปี 2028

“ขั้นตอนแรกในการตอบสนองการป้องกันก็คือ การสังเกตเพิ่มเติม” สน็อคกราส กล่าว “หากการสังเกตเหล่านั้นไม่ได้ตัดผลกระทบออกไป ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการวัดลักษณะเฉพาะที่ละเอียดมากขึ้นโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ และหารือถึงสิ่งที่หน่วยงานอวกาศสามารถทำได้ในแง่ของการมองหาที่ละเอียดมากขึ้น และในท้ายที่สุดก็คือภารกิจบรรเทาผลกระทบ” 

“ดาวเคราะห์น้อยนี้มีขนาดที่ภารกิจอย่างดาร์ตอาจมีประสิทธิภาพได้หากจำเป็น ดังนั้นเราจึงมีเทคโนโลยีและมันก็ได้รับการทดสอบแล้ว” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://blogs.nasa.gov

https://earthsky.org

https://ssd.jpl.nasa.gov

https://www.space.com

https://www.theguardian.com

https://www.sciencealert.com


อ่านเพิ่มเติม : นิวเคลียร์ช่วยโลก? งานวิจัยเผยวิธีสกัดดาวเคราะห์พุ่งชนโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.