นักวิทย์ฯพบ ไมโครพลาสติกในหมากฝรั่ง

“หมากฝรั่งสามารถปล่อยไมโครพลาสติกจำนวนหลายร้อยชิ้นเข้าสู่ปากของคุณได้”

ไมโครพลาสติกนั้นเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่แตกออกมาจากชิ้นที่ใหญ่กว่าซึ่งมันก็มาจากผลิตภัณฑ์พลาสติกตามชื่อของมัน อย่างไรก็ตามมีบางสิ่งที่คุณอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่ามันสามารถสร้างไมโครพลาสติกได้เช่นกันนั่นคือ หมากฝรั่ง ที่อาจปล่อยไมโครพลาสติกได้หลายร้อยถึงหลายพันชิ้น

“เป้าหมายของเราคือไม่ทำให้ใครตกใจ” ดร. ซานเจย์ โมฮันตี (Sanjay Mohanty) รองศาสตราจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ซามูเอลีแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลลิส และผู้เขียนรายงานอาวุโส กล่าว 

“นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบว่าไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อเราหรือไม่ ไม่มีการทดลองกับมนุษย์ แต่เรารู้ว่าเราสัมผัสกับพลาสติกในชีวิตประจำวันและนนั่นคือสิ่งที่เราต้องการตรวจสอบที่นี่” 

เป็นที่ทราบกันดีกว่า ไมโครพลาสติกคือชิ้นส่วนของพอลิเมอร์ที่มีขนาดตั้งแต่ 1 ไมโครเมตรถึง 5 ไมโครเมตร หากเล็กกว่านั้นจะถือว่าเป็น ‘นาโนพลาสติก’ แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามพวกมันต่างถือเป็นพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่ยังคงเป็นหน่วยกลุ่มก้อนทางเคมีที่ต่อกันซ้ำ ๆ ยาวเป็นโซ่ที่เรียกว่า ‘โมโนเมอร์’ ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความทนทานและยืดหยุ่น

กลับบกันพอลิเมอร์ธรรมชาตินั้นมักจะประกอบด้วยเซลลูโลสจากพืช ทว่าทั้งสองก็ถูกใช้ในหมากวฝรั่งเพื่อให้มีเนื้อสัมผัสที่ดี ยืดหยุ่น และมีรสชาติที่ดีขึ้น ดังนั้นทีมวิจัยจึงสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่หมากฝรั่งจะกลายเป็นแหล่งพลาสติกต่อไปที่สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปากได้?

“หมากฝรั่งเป็นหนึ่งในอาหารที่เราเลือกเพราะเป็นอาหารชนิดเดียวที่ใช้พลาสติกพอลิเมอร์เป็นส่วนผสม” โมฮันตี กล่าว “ขณะที่อาหารชนิดอื่นปนเปื้อนไมโครพลาสติกผ่านการแปรรูและการบรรจุภัณฑ์” ซึ่งนี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการ “ตรวจสอบหรือเปรียบเทียบไมโครพลาสติกในหมากฝรั่งที่วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์” 

หมากฝรั่งตัวร้าย

ทีมวิจัยใช้ตัวอย่างจากหมากฝรั่ง 10 ชนิดที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา โดยครึ่งหนึ่งเป็นชนิดสังเคราะห์ และอีกครึ่งหนึ่งทำจากส่วนผสมของธรรมชาติ ผู้เข้าร่วมทดลองแต่ละคนจะได้เคี้ยวหมากฝรั่งนาน 4 นาที ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นนักวิจัยจะเก็บน้ำลายที่หลั่งออกมาทุก ๆ 30 วินาที

ผู้เข้าร่วมจะต้องล้างปาก 3 ถึง 5 ครั้งด้วยน้ำบริสุทธิ์ จากนั้นนักวิจัยจะผสมตัวอย่าง ’น้ำล้างปาก’ กับตัวอย่างน้ำลาย เพื่อให้แน่ใจว่าได้เก็บไมโครพลาสติกทั้งหมดที่อยู่ในปากไว้ได้ ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะมีการทำซ้ำ 7 ครั้งสำหรับหมากฝรั่งแต่ละชิ้น

อย่างไรก็ตามมีหมากฝรั่งบางชิ้นถูกเคี้ยวนานกว่า 20 นาที โดยเก็บน้ำลายทุก ๆ 2 นาที เพื่อสามารถเปรียบเทียบว่าจำนวนไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่เวลาการเคี้ยวหรือไม่ ท้ายที่สุดทีมวิจัยจะระบุชนิดและปริมาณของไมโครพลาสติกในหมากฝรั่งทั้งหมดผ่านหลายวิธี

เช่น กล้องจุลทรรศน์ หรือการกรองและใช้การวิเคราะห์ทางเคมี ไม่เพียงเท่านั้นทีมวิจัยยังแยกไมโครพลาสติกที่พบในตัวอย่างน้ำลายที่หลั่งออกมาครั้งแรกสุด เพื่อให้เหลือไมโครพลาสติกที่มาจากน้ำลายในตอนที่เคี้ยวหมากฝรั่งเท่านั้น 

“สมมติฐานเบื้องต้นของเราคือหมากฝรั่งสังเคราะห์จะมีไมโครพลาสติกมากกว่านี้มาก เนื่องจากฐานเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง (Gum base คือวัสดุที่ช่วยให้หมากฝรั่งเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น ซึ่งบางชนิดมีพอลิเมอร์ที่ทำจากปิโตรเลียมหรือองค์ประกอบที่ใช้ผลิตยางรถยนต์)” ลิซา โลว์ (Lisa Lowe) ผู้เขียนวิจัยร่วม และนักศึกษาระดับปริญญาตรีของห้องปฏิบัติการณ์ กล่าว 

“แต่น่าแปลกใจมากที่หมากฝรั่งทั้งแบบสังเคราะห์และแบบธรรมชาติต่างก็มีไมโครพลาสติกที่ปล่อยออกมาในปริมาณที่ใกล้เคียงกันเมื่อเราเคี้ยวมัน” เธอเสริม

จากการวิเคราะห์เผยให้เห็นว่าหมากฝรั่ง 1 กรัมสามารถปล่อยไมโครพลาสติกได้ประมาณ 100 ชิ้นโดยเฉลี่ย แต่ก็มีหมากฝรั่งบางตัวที่ปล่อยมากถึง 637 ชิ้น ประเภทสังเคราะห์ปล่อยอยู่ที่ 104 ชิ้นและประเภทธรรมชาติปล่อยที่ 96 ชิ้น นอกจากนี้ไมโครพลาสติกร้อยละ 94 ของทั้งหมดจะถูกปล่อยออกมาภายใน 8 นาทีแรกที่เคี้ยว 

พอลิเมอร์ส่วนใหญ่ที่ถูกปล่อยออกมาเป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์ 4 ประเภทหลังซึ่งได้แก่ โพลีโอเลฟิน (polyolefins) โพลีเทเรฟทาเลต (polyterephthalates) โพลีอะคริลาไมด์ (polyacrylamides) และโพลีสไตรีน(polystyrenes) ซึ่งเป็นพลาสติกแบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตพลาสติกในชีวิตประจำวัน 

ปิดบังไม่ให้ใครรู้

โดยส่วนใหญ่แล้วหมากฝรั่งเม็ดหรือหมากฝรั่งแผ่นมักมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 2 กรัมต่อชิ้น เมื่อคำนวณตัวเลขต่อไปด้วยปริมาณหมากฝรั่งที่เคี้ยวในแต่ละปี เราก็จะมีไมโครพลาสติกที่ถูกกลืนลงไปประมาณ 30,000 ชิ้นต่อไป 

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวเลข ทว่าเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ได้มากกว่า เนื่องจากทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ‘ทำไมจึงพบพอลิเมอร์สังเคราะห์ในหมากฝรั่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง’ หรืออาจเป็นเพราะผู้ผลิตใช้พอลิเมอร์ประเภทที่ไม่ควรใช้โดยที่ไม่ได้มีการประกาศออกมา

“เนื่องจากผู้ผลิตไม่ค่อยรายงานองค์ประกอบของหมากฝรั่ง จึงยากที่จะระบุแหล่งที่มาของไมโครพลาสติกที่พบในหมากฝรั่งธรรมชาติได้” ดร. โอลิเวอร์ โจนส์ (Oliver Jones) ศาสตราจารย์ด้านเคมีจากมหาวิทยาลัย RMIT ในออสเตรเลีย กล่าว 

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า พอลิเมอร์บางชนิดเช่น โพลิเทเรฟทาเลต ที่มักพบในขวดน้ำนั้นกลับพบในหมากฝรั่งสังเคราะห์ ซึ่งไม่มีใครทราบแน่ชัดมาก่อนว่ามันอยู่อย่างทั่วไปขนาดนี้ 

เช่นเดียวกัน ฉลากและเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์หมากฝรั่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็ไม่ได้เปิดเผยว่าฐานหมากฝรั่งของพวกเขาประกอบด้วยอะไรบ้างหรือผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างไรบ้าง การขาดความโปร่งใสเหล่านี้ทำให้ทีมวิจัยกังวล

“ไม่มีทางทราบได้ว่าไมโครพลาสติกเข้าไปในหมากฝรั่งที่เราทดสอบได้อย่างไรและที่ใด” โมฮันตี กล่าว 

ที่แย่กว่านั้นก็คือหน่วยงานกำกับดูแลบางแห่งมีจุดยืนว่า ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับไมโครพลาสติกในอาหารและน้ำ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตราย

“นั่นเป็นแนวทางที่ผิดโดยสิ้นเชิง เราควรใช้แนวทางป้องกันไว้ก่อนและถือว่าควรเป็นเช่นนั้น” ดร. เดวิด โจนส์ (David Jones) จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ กล่าว “เราจำเป็นต้องลงทุนในการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างไร เพื่อที่เราจะเริ่มบรรเทาผลที่ตามมาได้” 

แต่หากคุณต้องการที่จะเคี้ยวหมากฝรั่งต่อไป นักวิจัยเน้นย้ำว่าโปรดกำจัดหมากฝรั่งดังกล่าวอย่างถูกต้อง

“พลาสติกที่ปล่อยออกมาในน้ำลายเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของพลาสติกที่อยู่ในหมากฝรั่ง” โมฮันตี เตือน “ดังนั้น โปรดใส่ใจสิ่งแวดล้อมและอย่าทิ้งมันไว้ข้างนอกหรือแปะมันไว้กับผนัง” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.acs.org

https://www.eurekalert.org

https://www.popsci.com

https://edition.cnn.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์พัฒนาเทคนิครีไซเคิลพลาสติกแบบใหม่โดยใช้ความชื้นในอากาศ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.