การตัดไม้ทำลายป่า การทำฟาร์มเกษตรกรรม และไฟป่าที่รุนแรงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ต้องออกรายงานเตือนถึงความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้
จากการอัปเดตล่าสุด IUCN ได้เพิ่มรายชื่อฟังไจที่ถูกคุกคามเข้าไปในบัญชีแดงอย่างน้อย 411 ชนิดจากทั้งหมด 1,300 สายพันธุ์ซึ่งอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
“เชื้อราถือเป็นฮีโร่ที่ไม่มีใครรู้จักของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยเป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศที่มีสุขภาพดี แต่มักกลับถูกมองข้ามอยู่เสมอ” Grethel Aguilar ผู้อำนวยการใหญ่ของ IUCN กล่าว “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำความรู้เหล่านี้ไปปฏิบัติจริง และปกป้องอาณาจักรฟังไจที่น่าทึ่งนี้ ซึ่งมีเครือข่ายใต้ดินที่หล่อเลี้ยงธรรมชาติอันกว้างใหญ่และชีวิตที่เรารู้จัก”
รายงานระบุว่าพื้นที่เกษตรกรรมและการพัฒนาเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของฟังไจหลายร้อยชนิดลดลงจนถึงขั้นใกล้สูญพันธุ์ ไม่เพียงเท่านั้น ไนโตรเจนและแอมโมเนียที่ไหลบ่ามาจากปุ๋ยในแหล่งเกษตรกรรม รวมถึงมลพิษจากเครื่องยนต์เองก็ได้คุกคามอย่าางหนักจนทำให้ฟังไจอีกเกือบร้อยสายพันธุ์ลดลง
ขณะเดียวกันการตัดไม้ทำลายป่าทั้งเพื่อการผลิตไม้แปรรูป ลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย หรือการถางป่าเพื่อการเกษตรเองก็ทำลายระบบนิเวศอันสมบูรณ์ซึ่งทำให้ฟังไจอย่างน้อย 198 เสี่ยงสูญพันธุ์ พร้อมกับทำให้ฟังไจฟื้นฟูตัวเองได้น้อยลงด้วย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แค่คุกคามฟังไจเท่านั้น แต่ยังคุกคามทุกชีวิตรวมถึงมนุษย์ด้วย
“แม้ว่าฟังไจจะอาศัยอยู่ใต้ดินและในป่าไม้เป็นหลัก แต่การสูญเสียฟังไจไปก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน เมื่อฟังไจหายไปเราก็จะสูญเสียฝ่ายสนับสนุนและความสามารถในการฟื้นตัวของระบบนิเวศ ทั้งในด้านความแห้งแล้งและการต้านทานโรคในพืชผลกับต้นไม้ ไปจนถึงการกักเก็บคาร์บอนในดิน” ศาสตราจารย์แอนเดอร์ส ดาลเบิร์ก (Anders Dahlberg) ผู้ประสานงานของ IUCN กล่าว
พืชส่วนใหญ่นั้นทำงานร่วมกับฟังไจเพื่อดูดซับและแลกเปลี่ยนสารอาหารที่จำเป็นต่อกัน ฟังไจช่วยย่อยสลายหมุนเวียนแร่ธาตุ พืชก็นำสิ่งนั้นมาผลิตเป็นอาหารที่สัตว์และมนุษย์นำมาใช้กินกัน รวมถึงเครื่องดื่มกับยารักษาโรคด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากฟังไจหายไปสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปตาม
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องฟังไจ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ฟังไจที่จะได้ประโยชน์ แต่ทุกชีวิตจะได้ประโยชน์ร่วมกัน
“ฟังไจเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของความหลากหลายทางชีวภาพ แต่บางครั้งก็มองไม่เห็น โดยช่วยสนับสนุนระบบนิเวศในรูปแบบที่เราเพิ่งจะเริ่มเข้าใจ การเพิ่มฟังใจหลายชนิดเข้าไปในบัญชีแดงของ IUCN นั้นเน้นย้ำถึงความสำคัญของฟังไจและภัยคุกคามเร่งด่วนที่เราต้องเผชิญ” ดร.แอนน์ บาวเซอร์ (Anne Bowser) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ NatureServe กล่าว
“ด้วยข้อมูลที่ดีขึ้น เราสามารถดำเนินการที่มีความหมายเพื่อปกป้องฟังไจ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าพืช สัตว์ และระบบนิเวศที่พึ่งพาฟังไจนั้นจะมีสุขภาพดี”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา