Google เปิดตัว DolphinGemma โมเดล AI สำหรับใช้สื่อสารกับโลมา

“คุณพร้อมจะคุยกับโลมารึยัง?”

‘กูเกิ้ล’ (Google) กำลังฝึกเอไอของตัวเองให้พูดภาษาโลมา โมเดลภาษาขนาดใหญ่นี้มีชื่อเรียกอย่างน่ารักว่า ‘ดอลฟินเจมมา’ (DolphinGemma) 

โลมานั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดและมีทักษะทางสังคมที่ยอดเยี่ยม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลทีมีสมองขนาดใหญ่เหล่านี้ใช้วิธีสื่อสารกันด้วยเสียง ‘คลิก’ และการเป่าปากที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เพียงเท่านั้นยังดูเหมือนว่าพวกมันแต่ละตัวก็มี ‘ชื่อ’ ของมันเอง

ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือ เอไอ (AI) ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนจุดประกายไอเดียว่า ‘เป็นไปได้ไหมที่จะสื่อสารกับโลมาผ่านเอไอ?’ ด้วยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย, Wild Dolphin Project (WDP) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร 

และกูเกิ้ลก็ได้ประกาศความร่วมมือสร้างแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (LLM) แรกสำหรับการสนทนากับโลมาที่ชื่อว่า ดอลฟินเจมมา โดยหวังว่าพวกเขาจะเข้าสิ่งที่โลมากำลังพูดในเร็ว ๆ นี้

จุดเริ่มต้น

นักวิทยาศาสตร์จาก WDP นั้นได้ศึกษาโลมาลายจุดแอตแลนติก (Atlantic spotted dolphin; Stenella frontalis) มานานกว่า 40 ปีแล้ว พวกเขาบันทึกเสียงทุกอย่างที่ทำได้มาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลที่ยอดเยี่ยมในการฝึกในเอไอรู้จักกับสิ่งมีชีวิตสปีชีส์นี้

โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเสียงคลิก เสียงหวีด และเสียงพัลส์ที่รวดเร็วซึ่งโลมาเปล่งออกมาเมื่อพวกมันต่อสู้หรืออยู่ในระยะใกล้ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจำลองเสียงเหล่านี้ขึ้นมาโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้เลย แต่ LLM สามารถสร้างจากสิ่งที่มันเรียนรู้ได้ 

“ครึ่งหนึ่งเป็นเสียงรบกวนพื้นหลังที่คุณคาดว่าจะได้ยินจากมหาสมุทรอยู่แล้ว” แท้ด สตาร์เนอร์ (Thad Starner) จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย และ กูเกิ้ลดีบมายด์ (Google DeepMind) “แต่เมื่อครั้งแรกที่ผมได้ยินมันเล่นเสียง ผมก็กระโดดโลดเต้นไปทั่วห้อง” 

แต่สิ่งที่ทรงพลังที่สุดของเอไอคือ ความเร่งในการเรียนรู้ข้อมูล กล่าวคือหากต้องตรวจสอบข้อมูลเสียงโลมาทั้งหมดที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ด้วยมือนั้นจะต้องใช้เวลาประมาณ 150 ปี อีกทั้งยังต้องพยายามวิเคราะห์และดึงรูปแบบที่ดูเหมือนจะมีอะไรบางอย่างออกมา แม้จะไม่รู้ว่ามันคืออะไรก็ตาม 

แต่สำหรับเอไอ พวกมันรับข้อมูลเข้ามาและสามารถจับสิ่งที่เหมือนกันได้อย่างรวดเร็วแถมยังเร็วขึ้นเรื่อย ๆ รูปแบบที่ตอบกลับมาอย่างสม่ำเสมอนั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นได้ว่าโลมากำลังทำอะไรเมื่อส่งเสียงนั้น ๆ เช่นกำลังเล่นหรือกำลังทะเลาะกับเพื่อนอยู่ 

นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจได้เรียนรู้คำเฉพาะใหม่ ๆ หรือแม้แต่สอนคำใหม่ ๆ ให้โลมาใช้ เช่น คำที่อ้างถึงหญ้าทะเล ของเล่น หรืออาหาร 

“(การวิเคราะห์ของเอไอ)ทำให้เรามีโอกาสเห็นรูปแบบที่เราอาจมองไม่เห็นจากมุมมองของมนุษย์” ธีอา เทย์เลอร์ (Thea Taylor) ผู้จัดการโครงการของซัสเซ็กส์ดอลฟิน (Sussex Dolphin Project) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการใหม่นี้ กล่าว 

ข้อควรระวัง

แต่เพื่อให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่าง ทีมงานได้สร้างฐานจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า CHAT (Cetacean hearing augmented telemetry) ซึ่งพัฒนาโดยทีมของ สตาร์เนอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย โดยบันทึกข้อมูลจากอุปกรณ์ที่อยู่ในกระเป๋าเล็ก ๆ ที่ติดอยู่กับหน้าอกของนักดำน้ำ ซึ่งจะคอยจดจำและเล่นเสียงของโลกมา

นักดำน้ำจะทดลองเล่นเสียงที่ LLM สร้างขึ้น จากนั้นพวกเขาจะคอยสังเกตสิ่งที่โลมาตอบสนองเช่น พวกมันอาจเลียนแบบหรือขอวัตถุนั้นหรือไม่ นี่เป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนให้ระวังว่ามันอาจเป็นการฝึกโลมาโดยไม่ได้ตั้งใจ 

“(หากโลมาตอบสนอง) เราต้องคิดว่านั่นเป็นการเข้าใจในภาษาจริง ๆ หรือว่ามันเหมือนกับการสอนสุนัขให้นั่งเพราะมันจะได้รับรางวัล” 

ขณะเดียวกัน อาริก เคอร์เชนบอม (Arik Kershenbaum) นักสัตววิทยาที่ศึกษาการสื่อสารของสัตว์ที่วิทยาลัยเกอร์ตัน (Girton College) ในอังกฤษและไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้คิดว่ายังไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุนว่าโลมามีภาษาในทางเทคนิค และเขาก็คิดว่าโลมานั้นไม่ได้มีภาษาจริง ๆ

“ภาษามีความซับซ้อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” เขากล่าว “หากคุณมีคำศัพท์เฉพาะสำหรับแต่ละวัตถุในสภาพแวดล้อมของคุณ นั่นไม่ใช่ภาษา” 

ยิ่งกว่านั้นก็คือโลมามีข้อจำกัดในการสื่อสารผ่านเสียงร้องของมัน แม้เสียงหวีดของโลมาจะมีความหลากหลาย แต่เราก็ไม่ทราบจริง ๆ ว่าเสียงเหล่านี้หมายถึงสิ่งที่แตกต่างกันจริง ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ยังควรจำด้วยว่า นี่เป็นข้อมูลจากประชากรเพียงกลุ่มเดียวของสายพันธุ์ที่หลายหลากในมหาสมุทร

“กลุ่มแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างกันของเสียงร้องในตัวเอง” เทย์เลอร์ กล่าวเสริม ขณะที่ เตอร์เชนบอม ยกตัวเอย่างถึงภาพยนตร์เรื่อง Star Trek IV: The Voyage Home ที่ลูกเรือของยานเอนเตอร์ไพรส์พยายามสื่อสารกับวาฬหลังค่อม พวกเขาสามารถเลียนแบบเสียงได้ แต่เลียนแบบเสียงร้องไม่ได้ 

“นี่ไม่ใช่เรื่องของการแปลเพียงอย่างเดียว” เขาบอก 

ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อกันว่าเราจะยังไม่มี ‘การสนทนา’ กับโลมาเร็ว ๆ นี้ นอกจากโครงการดอลฟินเจมมาแล้ว ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู๋เช่น Earth Species Project และ Project CETI (Project Cetacean Translation Initiative) ในการถอดรหัสภาษาของอีกาและวาฬสเปิร์มตามลำดับ 

“บางที (การเข้าใจภาษาของโลมา) อาจทำให้เราเชื่อมโยงกันแตกต่างออกไป และตระหนักว่าสายพันธุ์เหล่านี้มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง” เดนีส เฮอร์ซิ่ง (Denise Herzing) ผู้ก่อตั้งของ WDP กล่าว 

ที่มา

https://blog.google

https://www.scientificamerican.com

https://www.popsci.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์ผนึกกำลังกับ AI พัฒนา ‘เซรุ่มต้านพิษงู’ ชนิดใหม่

ที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกกว่าเดิม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.