ฟอสซิลรอยเท้าเก่าแก่ที่สุดของการวิ่งสองขาในกิ้งก่า

ฟอสซิลรอยเท้าเก่าแก่ที่สุดของการวิ่งสองขาในกิ้งก่า

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกสายตาจับจ้องไปที่เมืองพย็องซัง ในเกาหลีใต้ สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งกำลังจัดการแข่งขันอยู่และจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 25 นี้ แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 110 ล้านปีก่อน ในทะเลสาบโคลนห่างออกไปทางตอนใต้จากสถานที่จัดการแข่งขันราว 170 ไมล์ รอยเท้าเล็กๆ ของกิ้งก่าที่กำลังวิ่งด้วยขาหลัง กลายเป็นรอยเท้าสำคัญในประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการในสัตว์เลื้อยคลาน

รายงานการค้นพบนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Scientific Reports และนับเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดสำหรับวิวัฒนาการของการเดินด้วยสองเท้า ในกิ้งก่า ปัจจุบันมากกว่า 50 ชนิดของกิ้งก่าล้วนวิ่งด้วยสองขาหลัง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิวัฒนาการของบรรพบุรุษพวกมัน

“ฟอสซิลของรอยเท้าเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมสัตว์ ซึ่งฟอสซิลโครงกระดูกไม่สามารถให้ข้อมูลเหล่านี้ได้” Yuong-Nam Lee นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ผู้เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ด้วยกล่าว

แผ่นหินที่พวกเขาค้นพบนั้นบรรจุรอยเท้าของกิ้งก่าไว้ทั้งหมด 29 รอย ทั้งนี้ชนิดพันธุ์ของกิ้งก่าที่เหยียบลงบนโคลนเหล่านี้เมื่อครั้งอดีตยังคงไม่อาจทราบได้แน่ชัด ทีมนักวิจัยตั้งชื่อให้แก่ฟอสซิลนี้ว่า Sauripes hadongensis หรือ “รอยเท้ากิ้งก่าแห่งฮาดง” เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ค้นพบฟอสซิล ซึ่งคือเมืองฮาดง ในเกาหลีใต้

รอยเท้าสำคัญที่สุดคือรอยเท้าจำนวน 25 รอยที่มาจากขาหลังของมัน ระยะห่างของแต่ละรอยนั้นห่างกันหลายนิ้ว บ่งชี้ว่าเจ้าสัตว์โบราณตัวนี้เริ่มต้นด้วยการเดินสี่ขาก่อนจะเปลี่ยนเป็นการวิ่งด้วยขาหลัง เช่นเดียวกับที่กิ้งก่าในปัจจุบันทำ

“นี่เป็นหลักฐานแรกที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของกิ้งก่าในมหายุคมีโซโซอิก (ราว 251 – 65 ล้านปีก่อน)” ยุคสมัยดังกล่าวเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลก รายงานจาก Tiago Simoes นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตากล่าว “มันชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในพฤติกรรมที่น่าสนใจที่สุดของกิ้งก่า สามารถย้อนกลับไปได้ถึงในยุคครีเตเชียส”

รอยเท้าของมันบ่งชี้ว่ากิ้งก่าโบราณนี้มีนิ้วเท้าแบบอสมมาตร ทีมนักวิจัยชี้ว่าเท้าของมันมีลักษณะคล้ายกับอีกัวน่าในปัจจุบัน
ภาพถ่ายโดย Yuong-Nam Lee

 

ย่างก้าวที่สำคัญ

ทุกวันนี้เราสามารถแบ่งลักษณะการเคลื่อนที่ของกิ้งก่าได้ออกเป็นสี่แบบ: การเดินสี่ขาแบบเชื่องช้า, การเดินสี่ขาแบบรวดเร็ว, การวิ่งทะแยงมุม และการวิ่งสองขาด้วยขาหลัง เช่นกิ้งก่าบาซิลิสก์หรือกิ้งก่าพระเยซูที่สามารถใช้สองขาหลังของมันวิ่งข้ามน้ำเป็นระยะสั้นๆ ได้

แต่การจะหาว่าวิวัฒนาการของมันนั้นเป็นมาอย่างไร เป็นเรื่องยุ่งยากพอควร นักวิจัยบางคนแนะนำว่าให้ศึกษาความเชื่อมโยงของความยาวขาหน้าและขาหลังในฟอสซิลกิ้งก่าโบราณกับกิ้งก่าปัจจุบัน เนื่องจากความยาวของขาหลังจะช่วยให้พวกมันวิ่งได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในเดือนสิงหาคม ปี 2004 Lee และ Hang-Jae ผู้ร่วมวิจัยพบฟอสซิลรอยเท้าในเมืองฮาดง แต่ที่น่าสนใจก็คือมีร่องรอยของสัตว์โบราณอย่างเทอโรซอร์อยู่บนนั้นด้วย

เหตุใดเจ้ากิ้งก่าต้องวิ่งหนี? ทีมนักวิจัยชี้ว่าเจ้ากิ้งก่า Sauripes hadongensis น่าจะกำลังเอาชีวิตรอดจากผู้ล่า ซึ่งจากร่องรอยที่พบในชั้นหินอกชั้นหนึ่งบ่งชี้ว่า นักล่าที่หมายจะเอาชีวิตกิ้งก่าโบราณตัวนี้คือ Pteraichnus koreanensis เทอโรซอร์ชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดเล็ก ดวงตาโต ฟันแหลมคม

“พวกมันมักโจมตีเหยื่อตัวเล็กๆ อย่างกิ้งก่า โดยจะโฉบลงมาจากอากาศเช่นเดียวกับนก” Lee กล่าว

เรื่อง มิคาเอล เกรสโค

 

อ่านเพิ่มเติม

ฟอสซิลหนอนอายุ 500 ล้านปี ช่วยไขปริศนาวิวัฒนาการ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.