พบกับต้นไม้กินแมลงจอมเห็นแก่ตัว

พบกับ ต้นไม้กินแมลง จอมเห็นแก่ตัว

การพบเห็นต้นหยาดน้ำค้างกินแมลงเป็นอาหารไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์อะไรนัก เป็นปกติของ ต้นไม้กินแมลง เหล่านี้ที่ใช้สารอาหารจากแมลงเป็นโภชนาการเพิ่มเติมนอกเหนือจากแร่ธาตุที่ได้รับจากดินซึ่งไม่เพียงพอสำหรับมัน

แต่เบื้องหลังเรื่องนี้มีพฤติกรรมที่ไม่ธรรมดา ในญี่ปุ่นมีหยาดน้ำค้างที่เรียนรู้ที่จะฉวยโอกาสขโมยแมลงจากพืชอื่นข้างเคียง รายงานจาก Kazuki Tagawa จากมหาวิทยาลัยคิวชู ในจังหวัดฟุกุโอกะ

พฤติกรรมทำนองนี้ดูเหมือนจะเข้าข่าย “kleptoparasitism” ซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์บางชนิด เมื่อพวกมันคอยขโมยอาหารมาจากผู้ล่าที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น นกโจรสลัดที่มักชอบขโมยเหยื่อจากนกบูบีเท้าแดง

“เท่าที่เรารู้ กรณีนี้ไม่เคยถูกศึกษามาก่อน” Tagawa กล่าว รายงานการค้นพบครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงใน Ecological Research แต่การขโมยในที่นี้ไม่ใช่การหยิบฉวยอย่างที่คิด ต้นไม้กินแมลงแค่รู้จักใช้ประโยชน์จากเพื่อนบ้านก็เท่านั้น

(ชมสุดยอดภูมิปัญญาของชาวอินเดีย เมื่อพวกเขาปลูกสะพานจากต้นไม้)

ภาพถ่ายระยะใกล้ของต้นหยาดน้ำค้าง น้ำเหนียวๆ ที่หลั่งออกมาจากต่อมหนวดจับบนใบของมันมีไว้สำหรับการดักจับแมลง
ภาพถ่ายโดย Joni Niemela
หยาดน้ำค้างสายพันธุ์ Drosera
ภาพถ่ายโดย Joni Niemela

 

ปัญหาจากการผสมเกสร

ทีมวิจัยของ Tagawa ทำการทดลองกับหยาดน้ำค้างสองสายพันธุ์ คือพันธุ์  Drosera makinoi และ Drosera toyoakensis เพื่อดูว่าดอกของมันมีบทบาทอย่างไร ตลอดจนมีความเชื่อมโยงใดกับต้นไม้อื่นๆ ที่ไม่ได้กินแมลงซึ่งอาศัยอยู่รอบๆ  รวมทั้งพวกเขายังเปรียบเทียบจำนวนแมลงที่หยาดน้ำค้างทั้งสองสายพันธุ์จับได้ เมื่อหนึ่งในดอกของแต่ละต้นถูกตัดออกไปอีกด้วย

ผลที่ได้นั่นช่างน่าประหลาดใจ ทีมวิจัยพบว่าจำนวนของแมลงที่พวกมันจับได้นั้นขึ้นอยู่กับว่ารอบๆ ของพวกมันมีพืชที่ไม่ได้กินแมลงออกดอกหรือไม่ ทีมนักวิจัยพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง หยาดน้ำค้างนั้นได้ประโยชน์เต็มๆ อยู่แล้วจากการฉวยเอาแมลงที่เข้ามาผสมเกสรให้พืชอื่นเป็นอาหาร แต่ทว่าพืชปกติเองได้ประโยชน์อันใดจากพืชกินแมลง เพราะแทนที่แมลงเหล่านี้จะเช้ามาช่วยขยายพันธุ์ให้พวกมัน แต่กลับต้องกลายไปเป็นเหยื่อของต้นหยาดน้ำค้างแทน

ต้นหยาดน้ำค้างไม่ใช่แค่กินแมลงเท่านั้น พืชกินแมลงเองก็ใช้แมลงเป็นตัวถ่ายระอองเรณูเช่นกัน พวกมันวิวัฒน์กลไกเป็นพิเศษเพื่อการนี้ เช่น ในพืชบางชนิดกลไกของกับดักกินแมลงจะไม่ทำงานจนกว่าพืชจะออกดอก และจากการเฝ้าสังเกตการณ์ Tagawa พบว่าดอกของหยาดน้ำค้างสามารถออกเมล็ดได้จากการผสมเกสรในตัวเอง

ตัวเขาและทีมงานมีแผนที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไปว่า หากพวกมันยังคงฉกฉวยโอกาสเช่นนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อพืชชนิดอื่นรอบๆ

Joni Cook จากมหาวิทยาลัย Loughborough ในสหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินแมลงของต้นหยาดน้ำค้าง ตัวเธอสนใจว่าการกินแมลงของพวกมันจะส่งผลกระทบต่อพืชอื่นรอบๆ หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรืออุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณแมลงลดลงตามไปด้วย

“ต้นไม้เหล่านี้ต้องรู้จักปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้นแล้วการปราศจากแมลงช่วยผสมเกสรจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของพืชท้องถิ่นในที่สุด” Cook กล่าว

ภาพถ่ายระยะใกล้ของปลายต่อมหนวดจับซึ่งหลั่งสารคัดหลั่งเหนียวออกมาไว้จับแมลง
ภาพถ่ายโดย Joni Niemela

 

ทีมนักวิจัยยังพบอีกว่าดอกของหยาดน้ำค้างสายพันธุ์ Drosera tokaiensis หุบดอกเพื่อตอบสนองกับการสัมผัสที่อันตราย
ภาพถ่าย Kazuki Tagawa

พลังที่คาดไม่ถึงของดอกไม้

ดูเหมือนว่าหยาดน้ำค้างจะเชี่ยวชาญในการหากลยุทธ์มาช่วยให้มันอยู่รอด ในระหว่างการวิจัย Tagawa และทีมของเขายังค้นพบเพิ่มอีกว่าดอกไม้ของต้นหยาดน้ำค้างมีการตอบสนองเป็นพิเศษต่อการสัมผัสทางกายภาพ

“เราไม่เคยทราบมาก่อนว่าต้นไม้สามารถหุบดอกได้ด้วย ในฐานะปฏิกิริยาตอบสนองจากการถูกสัมผัส” Tagawa กล่าว และตัวเขาได้บันทึกภาพถ่ายของปฏิกิริยาตอบสนองจากดอกไม้เมื่อถูกสัมผัสมาให้ชมกัน

สำหรับพืชบางชนิด เป็นที่รู้กันดีว่าพวกมันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสภาพอากาศ พวกมันอาจหุบดอกเมื่ออากาศมีความชื้นสูงขึ้นหรือมีอุณหภูมิลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนหรือหิมะทำอันตรายต่ออวัยวะภายในดอก ซึ่งดูเหมือนว่าต้นหยาดน้ำค้างจะใช้เทคนิคเดียวกันนี้ในการปกป้องดอกของมันจากนักล่า โดยเฉพาะกับมอธ sundew plume จากรายงานที่เคยเผยแพร่ลงในวารสาร Plant Species Biology กลีบของต้นหยาดน้ำค้างสายพันธุ์ Drosera tokaiensis และ Drosera spatulate พับเก็บขึ้นภายใน 2 – 10 นาที หลังต้นของมันถูกจับเขย่าด้วยแหนบ

ชุดภาพถ่ายนี้แสดงให้เห็นว่าดอกของหยาดน้ำค้าง Drosera tokaiensis หุบอย่างไร
ภาพถ่าย Kazuki Tagawa

เจ้ามอธสายพันธุ์นี้มักแทะกินหยาดน้ำค้างเป็นดั่งขนมหวาน ดังนั้นแล้ว Tagawa เชื่อว่ากลยุทธ์พิเศษนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้มันปกป้องเซลล์สืบพันธุ์ภายในดอก ซึ่งในอนาคตทีมนักวิจัยจะหารายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบสนองนี้

“การหุบกลีบดอกมีสิ่งที่ต้องแลก เนื่องจากแมลงที่ทำหน้าที่ผสมเกสรจะไม่สามารถเข้าถึงได้” Tagawa กล่าว แต่จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับการขโมยเหยื่อ หากว่าหยาดน้ำค้างยังสามารถผสมเกสรให้ตนเองได้ ก็ไม่น่าเป็นกังวลเรื่องความอยู่รอดเท่าไหร่นัก

เรื่อง Sandrine Ceurstemont

 

อ่านเพิ่มเติม

ต้นไม้ในเมืองใหญ่

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.