Explorer Awards 2018: วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

พิธีกรรายการสารคดีและนักเดินทาง

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คือนักทำสารคดี พร้อมกับการเป็นพิธีกร ช่างกล้อง ผู้กำกับ คนขับรถ ผู้ประสานงานรายการ เถื่อน Travel ซึ่งอาจเป็นรายการท่องเที่ยวเพียงรายการเดียวที่มีคนเดินทางและถ่ายทำด้วยตัวคนเดียว ก่อนหน้านี้วรรณสิงห์เป็นพิธีกรให้กับรายการ “พื้นที่ชีวิต” ที่พาผู้ชมสำรวจความเชื่อความศรัทธาในดินแดนต่างๆ มาแล้ว นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือและทำคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเดินทางด้วย

 

งานที่ทำเกี่ยวข้องกับการสำรวจอย่างไร

จุดเริ่มต้นของการทำงานมันเริ่มมาจากทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราคือ ความอยากรู้อยากเห็น แต่ละคนก็อยากรู้เรื่องที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะอยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ บางคนอยากปีนเขาไปดูเอเวอเรสต์ สำหรับผม ผมอยากรู้เรื่องด้านมืดของสังคมมนุษย์ ซึ่งหลักๆ มันไปอยู่กับเรื่องสงคราม เพราะว่าเราได้ยินเรื่องสงครามมาตั้งแต่เด็ก อย่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามระหว่างนิกายทางศาสนา คือโลกเราไม่เคยขาดสงคราม

ในช่วงที่เริ่มต้นทำรายการเดินทางใหม่ๆ ประมาณเกือบสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้เน้นเรื่องสงคราม หรือพื้นที่ขัดแย้งหรอก แต่ว่าเรามีโอกาสไปแตะพื้นที่เหล่านี้บ้าง แล้วมันมักจะอยู่ในใจเราเสมอ ว่าเราอยากรู้เรื่องพวกนี้มากกว่านี้ ในขณะที่สถานที่ทั่วไปชิลๆ อย่างยุโรป หรือประเทศที่เจริญแล้ว เรากลับพบว่า ไปแล้วก็ลืม ไม่มีอะไรค้างคา อยู่ในใจเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น งานเถื่อนแทรเวลก็เริ่มมาจากความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง เมื่ออยากรู้ก็ออกไปสำรวจ แล้วก็ทุกครั้งที่ไป (พื้นที่สงคราม) ก็ได้ความรู้ ได้ความเข้าใจอะไรใหม่ๆ จากความสงสัยตั้งต้นแรก ที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง และสงครามของมนุษย์

“มันก็ไม่ใช่ว่าเราไปสำรวจในที่ที่ไม่เคยมีใครไปแน่นอน เพราะว่า ทุกที่บนโลกนี้ก็มีมนุษย์เคยไป แล้วมันก็ไม่ใช่การพิชิต เพราะผมไม่ได้คิดเลยว่า เราไปพิชิตอะไร ไปถึงสิ่งที่เราไปเจอก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะเราก็เพียงไปเยือนเค้า เพราะฉะนั้น การสำรวจสำหรับผม มันคือ “การเรียนรู้” ที่สำคัญครับ”

 

พอได้ออกไปรู้มันก็ตอบโจทย์ที่อยากรู้

ตอบโจทย์ประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีใครสามารถเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีหลายมิติมาก ทั้งมิติเชิงมนุษย์ วัฒนธรรม การเมือง ไปแต่ละที่ก็จะได้แง่มุมต่างกันไป ตอนนี้ผมไปอิรัก อัฟกานิสถาน ซีเรีย และโซมาเลีย ทุกที่ก็จะมีด้านของคำว่า “สงคราม” แตกต่างกันไป

 

นิยามคำว่า “สำรวจ” ในแบบของวรรณสิงห์

มันก็ไม่ใช่ว่าเราไปสำรวจในที่ที่ไม่เคยมีใครไปแน่นอน เพราะว่า ทุกที่บนโลกนี้ก็มีมนุษย์เคยไป แล้วมันก็ไม่ใช่การพิชิต เพราะผมไม่ได้คิดเลยว่า เราไปพิชิตอะไร ไปถึงสิ่งที่เราไปเจอก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะเราก็เพียงไปเยือนเค้า เพราะฉะนั้น การสำรวจสำหรับผม มันคือ “การเรียนรู้” ที่สำคัญครับ ในฐานะกระบวนการเรียนรู้ของคนที่เติบโตมา โดยเฉพาะในงานสายสารคดี เรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้ที่สุดจากการเดินทาง จากการออกไปสำรวจโลก หลายๆ อย่าง อ่านในหนังสือก็ดี ดูคลิปก็ดี เดี๋ยวมันก็ลืม มันก็หายไปจากหัวเอง แต่ว่าพอได้ไปสำรวจเอง ได้เข้าใจเอง มันซึมเข้าไปในเส้นเลือด และมันเป็นสิ่งที่จะไม่ลืมไปอีกนานเลย

หลายๆ อย่างถ้าเราอ่านมา เราก็คงเข้าใจมันประมาณหนึ่ง แต่พอเราได้ประสบมันมา เราจำได้ลึกในเชิงประสบการณ์ และสามารถรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นรอบๆ โลกไปด้วยได้ มันต่างกันระหว่างการอ่านเรื่องสงครามที่อัฟกานิสถาน กับการไปอยู่ตรงนั้น พออ่านข่าวแล้วเรารู้สึกเศร้า รู้สึกเสียใจ รู้สึกเจ็บปวดไปกับพวกเขา มันต่างกันกับการได้นั่งอ่านสถิติว่าคนตายกี่คน เรากลับรู้สึกจริงๆ ว่า คนกำลังล้มตายอยู่ตรงนั้น คือมนุษย์ด้วยกันเอง ที่เราเคยเห็นหน้าเคยกินข้าวด้วยกัน

 

อ่านเพิ่มเติม

เมื่อสงครามกลางเมืองจบ หมู่บ้านแห่งนี้เหลือเพียงผู้หญิงและเด็ก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.