เรื่อง มาร์ค เอ็ม ซินนอท
เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ นักปีนผาคนดังกลายเป็นบุคคลแรกที่สามารถพิชิตเอล คาพิทัน ภูเขาหินความสูง 3,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ที่ตั้งตระหง่านคล้ายกำแพงขนาดยักษ์ได้สำเร็จ โดยปราศจากเชือก หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยใดๆทั้งสิ้น ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ อาจเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในวงการปีนผา
ตัวเขาใช้เวลาในการปีนทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง 56 นาที ภารกิจท้าทายขีดจำกัดของตัวเองนี้เสร็จสิ้นลงในเวลา 9.28 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น ภายใต้ท้องฟ้าสดใส ที่มีเมฆบางเบา ฮอนโนลด์ทิ้งร่างกายลงบนโขดหินของยอดเขาที่มีขนาดราวห้องนอนของเด็กเท่านั้น
ฮอนโนลด์ หรือเป็นที่รู้จักในฐานะนักปีนผาด้วยมือเปล่า เริ่มภารกิจนี้ในตอนที่อรุณแตะขอบฟ้า เมื่อเวลา 5.32 นาฬิกา หลังใช้เวลาทั้งคืนในรถตู้ เขาแต่งกายด้วยเสื้อยืดตัวโปรดสีแดง และกางเกงไนลอน เติมเต็มท้องที่ว่างเปล่าด้วยมื้อเช้า ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวโอ๊ต, เมล็ดเจีย, เมล็ดแฟลกซ์ และบลูเบอร์รี่
เมื่อเดินทางมาถึง ฮอนโนลด์จอดรถตู้และเดินขึ้นไปตามทางเดินกรวด มุ่งตรงสู่กำแพงหินขนาดยักษ์ เขาดึงรองเท้าปีนเขาคู่ใจออกมา คาดถุงเล็กๆบรรจุผงชอล์กไว้รอบเอว ซึ่งจะช่วยให้มือของเขานั้นแห้งอยู่เสมอ และเมื่อพบรอยแยกแรก ฮอนโนลด์ก็เริ่มต้นสร้างตำนานใหม่ ด้วยการปีนขึ้นไป
เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี ที่ชายผู้นี้ฝึกฝนการปีนป่ายในหลายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา, จีน, ยุโรป และโมร็อกโก มีเพียงเพื่อน และนักปีนผาไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้เกี่ยวกับโปรเจคนี้ และทั้งหมดสัญญาว่ามันจะเป็นความลับ
ทีมงานผู้ผลิตสารคดีนี้นำโดย จิมมี่ ชิน หนึ่งในคู่หูนักปีนของฮอนโนลด์ และ อลิซาเบธ ชาย วาซาเฮลยี ทีมงานผลิตสารคดีจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ฮอนโนลด์เคยเริ่มต้นการปีนยังสถานที่แห่งนี้มาแล้ว แต่หลังจากผ่านไปเพียง 1 ชั่วโมงจำต้องยกเลิก เนื่องจากสภาพอากาศนั้นไม่เอื้ออำนวย
หลังผ่านหลักสูตรการปีนผาจากยิมแห่งหนึ่ง ในนครแซคราเมนโต ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ฮอนโนลด์ในวัย 31 ปี เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา เมื่อเขาปีนผาด้วยสองมือเปล่า ที่ภูเขาฮาร์ฟ โดม และ มูนไลท์ บัทเทรส ในอุทานแห่งชาติไซออน ของรัฐยูทาห์ เมื่อปี 2008
บรรดานักปีนมากมายใฝ่ฝันที่จะพิชิตภูเขาเอล คาพิทัน ด้วยมือเปล่า แต่มีเพียงสองคนเท่านั้นที่ออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่าพวกเขากำลังพิจารณาที่จะพิชิตภารกิจนี้อย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือ ไมเคิล เรียร์ดอน นักปีนผามือเปล่าผู้เสียชีวตจากการจมน้ำในปี 2007 หลังพลัดตกหน้าผาริมทะเล ในไอซ์แลนด์ และอีกคน ดีน พอตเตอร์ ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกระโดดร่มในชุดวิงสูท ที่อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี เมื่อปี 2015
แม้แต่ จอห์น บาคาร์ นักปีนผามือเปล่าผู้เป็นตำนานในปี 1970 และเสียชีวิตจากการปีนผามือเปล่า ในวัย 52 ปี เมือปี 2009 ก็ไม่เคยพิจารณาที่จะลองปีนเนื่องจากในตอนที่ตัวเขาโด่งดังนั้น ยังไม่เคยมีใครลองปีนภูเขานี้ด้วยมือเปล่ามาก่อน ด้าน ปีเตอร์ ครอฟต์ นักปีนผาวัย 58 ปี ผู้พิชิตภูเขาแอสโตแมน ในปี 1980 เชื่อว่าสักวันจะมีคนทำได้
เมื่อสิ้นปี 2014 ฮอนโนลด์กลายเป็นคนดังอย่างแท้จริง ภาพถ่ายของเขาได้ปรากฏอยู่บนปกของนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก, นิวยอร์ก ไทม์, เอ้าไซด์ และ 60 มินนิท นอกจากนั้นตัวเขายังก่อตั้งมูลนิธิไม่แสวงผลกำไร เพื่อช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสทั่วโลก แต่ตัวเขายังรู้สึกว่าตนยังไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับการปีนผาของตัวเอง
ในเดือนมกราคม ปี 2015 เมื่อ ทอมมี คาลด์เวลล์ และ เควิน จอร์เกสัน สามารถพิชิตการปีนภูเขาดอร์น วอร์ได้สำเร็จ หลังฝึกฝนมาเป็นปีๆ นั่นทำให้ฮอนโนลด์ตั้งคำถามถึงภารกิจของตัวเขาเอง และ เอล คาพิทัน คือคำตอบ
เส้นทางที่ฮอนโนลด์เลือกที่จะปีนขึ้นไปยังยอดของ เอล คาพิทันนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ฟรีไรเดอร์ ตัวเส้นทางถูกแบ่งออกเป็น 30 ระดับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการปีนขึ้นไป และตลอดหลายปีที่ผ่านมานักปีนเขายังคงต้องใช้เชือกช่วยเพื่อที่จะขึ้นไปให้ถึงยอดผาอย่างปลอดภัย
บริเวณที่เขาเลือกปีนนั้นเต็มไปด้วยรอยแยก และรอยแตกหลายรอย ตลอดเส้นทางการปีนเขาพยายามเบียดร่างกายเข้าไปยังรอยแยกแคบๆ บางครั้งชะง่อนที่ยื่นออกมาก็มีขนาดความกว้างเพียงแค่กล่องไม้ขีดไฟเท่านั้น และในบางช่วงเวลาตัวของเขายื่นออกมารับลมด้านนอก มีเพียงนิ้วมือเท่านั้นที่ยังคงยึดเกี่ยวกับขุนเขาเอาไว้
เส้นทางฟรีไรเดอร์นี้เป็นบททดสอบสำหรับนักปีนผาในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของร่างกาย ตลอดจนความยึดหยุ่น และความอดทน นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับปัจจัยทางธรรมชาติที่เช่น แสงแดด, ลม หรือฝนฟ้าคะนองที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นอะไรที่ฮอนโนลด์จำต้องระมัดระวัง
อย่างไรก็ตามบททดสอบที่ยากที่สุดสำหรับเขานั้นคือการสร้างความสงบนิ่งในจิตใจตัวเอง ท่ามกลางความสูงหลายร้อย หลายพันฟุต ที่การก้าวเท้าเพียงแค่ต่ำไป หรือสูงไปอาจหมายถึงชีวิต นักปีนผาระดับแนวหน้าพากันมองว่าฮอนโนลด์โดดเด่นในความสามารถดังกล่าวนี้ จากประสบการณ์การปีนผาที่ตัวเขามีตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ฮอลโนลด์ยังคงสามารถสงบนิ่งได้ แม้เผชิญกับสถานการณ์อันตราย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลสะท้อนจากการฝึกฝนร่างกายอย่างหนัก และสม่ำเสมอ
นักปีนผาที่มีร่างกายแข็งแรงแบบฮอนโนลด์นั้นมีมากมาย แต่นักปีนผาที่สามารถควบคุมความกลัวได้แบบตัวเขานั้นหาได้ยาก กรณีของเขาน่าสนใจเสียจนนักประสาทวิทยาสนใจที่จะทำการศึกษาสมองของฮอนโนลด์ว่ามีความแตกต่างจากสมองของคนทั่วไปหรือไม่
“ในการปีนแบบมือเปล่า แน่นอนผมรู้ว่าตนเองกำลังเสี่ยงอันตราย แต่ความกลัวไม่ได้ช่วยให้ขึ้นไปยังเป้าหมายได้” เขากล่าว “ยิ่งมีมันยิ่งกีดขวางการทำงานของผม ดังนั้นผมเลยกักมันไว้ข้างใน และปล่อยให้มันเป็นไป”
อ่านเพิ่มเติม : ประติมากรรมแห่งลาวา, ภาพเนินทะเลทรายที่น่าตื่นตาของญี่ปุ่น