ในสายตาคนต่างแดน

ไม่ว่าคุณผู้อ่านเดินทางไปที่ไหนในกรุงเทพมหานคร มักจะได้พบกับชาวต่างชาติอย่างน้อยสักคนสองคนเสมอ อาจเป็นนักท่องเที่ยวหรือเป็นผู้อยู่อาศัย นั่นเป็นเพราะประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์สำหรับการท่องเที่ยวและโอกาสที่ดีในการทำงาน

ถึงแม้ว่าผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดสำหรับคนต่างชาติที่เข้าไปทำงานและอยู่อาศัยโดย HSBC เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราจะไม่ติดในอันดับต้นๆ แต่น่าสนใจว่าชาวต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ พวกเขามีความคิดเห็นต่อบ้านเราอย่างไร?

“ในสายตาคนต่างแดน” จะมีมุมมองอย่างไรบ้าง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทยได้ทดลองเดินเท้าไปตามย่านถนนสีลม เพื่อหาคำตอบ

Sanjay Kumar, ผู้จัดการด้านการสื่อสาร
นิวเดลี, อินเดีย

“ผมอยู่เมืองไทยมา 16 ปีแล้วครับ แต่งงานและมีครอบครัวที่นี่ ผมมีความสุขที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย คนไทยใจดี และสุภาพมาก แต่พวกเขาขี้อาย ไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึกหรือความคิดในใจ ผมต้องบอกให้พวกเขาพยายามพูดมันออกมา อีกหนึ่งเรื่องก็คือคนไทยไม่บอกกันตรงๆ ว่าเขารู้สึกเกลียดใคร มันเหมือนกับระเบิดเวลาที่รอระเบิดทีเดียวในสถานการณ์คับขัน”

Balar, เจ้าหน้าที่ดูแลโต๊ะสนุกเกอร์
รัฐมอญ, เมียนมา

“อยู่เมืองไทยสนุกดี กรุงเทพฯมีแต่ตึกสูงๆ ห้างใหญ่ๆ ไม่เหมือนที่บ้านเรา ที่นี่รถเยอะมากๆ ชอบอาหารไทย ตัวเราชอบกินอาหารไทยมากกว่าอาหารเมียนมาอีก ทุกวันนี้สบายนะ เพราะอยู่เป็นแล้ว ช่วงแรกๆ ลำบากหน่อย เพราะยังไม่มีเอกสาร พอมีแล้วเราก็ไปเที่ยวได้หลายแห่งเลย ทะเลเมืองไทยสวยมาก ตั้งใจว่าคงอยู่ไทยไปอีกนานนะ ทุกวันนี้ไม่ได้กลับบ้านเลย ส่งเงินอย่างเดียว (หัวเราะ)”

Hayden Demes, นักออกแบบแฟชั่นและครูสอนภาษาอังกฤษ
เคปทาวน์, แอฟริกาใต้

“2 ปีในเมืองไทย ผมทำงานที่อุทัยธานีนาน 17 เดือน ก่อนจะย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เข้าเดือนที่ 7 แล้ว ผมไม่เคยคิดเลยว่ากรุงเทพฯ คนจะมากขนาดนี้ แล้วรถก็ติดมากๆ ด้วย วัฒนธรรมที่ผมประหลาดใจมากที่สุดคือการเคารพครูบาอาจารย์ ผมไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน ซึ่งมันดีมากๆ ในบ้านเกิดของผมความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนไม่ใช่แบบนี้ มีบางครั้งที่ครูถูกเด็กเกเรทำร้ายด้วยซ้ำ รองลงมาก็คงเป็นเรื่องวัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโสกว่า ซึ่งผมคิดว่าจะนำมันติดตัวกลับไปด้วย อีกหนึ่งสิ่งคือศาลพระภูมิ ผมมองว่ามันน่ารักมาก ที่คนไทยขอพรกับศาลพระภูมิ”

Ram Bhandari, พนักงานร้านตัดเสื้อ
รัฐกะฉิ่น, เมียนมา

“ผมทำงานที่นี่มา 4 ปีแล้ว คนไทยน่ารัก เมืองไทยแตกต่างจากบ้านเกิดของผมมากนะ สะอาดกว่า อาหารอร่อยกว่า ส่วนวัฒนธรรมผมว่าเราคล้ายคลึงกัน เพราะเป็นเมืองพุทธเหมือนกัน แต่ถ้าให้เลือกก็ชอบอยู่เมืองไทยมากกว่า อาหารเมืองไทยถูกปากผม”

อ่านต่อคลิกที่นี่ 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ย้อนรอยสารคดีเกี่ยวกับเมืองไทย ใน National Geographic

จากสตรีตฟู้ดถึงฟู้ดทรัก

Nica Sasil, ครูสอนภาษาอังกฤษ
มะนิลา, ฟิลิปปินส์

“รวมๆก็ 2 ปีครึ่งแล้วค่ะที่ฉันทำงานที่นี่ ตอนแรกแค่มาเที่ยวแต่กลับตกหลุมรักที่นี่ ก็เลยตัดสินใจที่จะหางานในไทยให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดก็คือที่นี่ไม่มีภัยพิบัติมากนัก ที่ฟิลิปปินส์เราถูกไต้ฝุ่นถล่ม 2-3 ครั้งต่อปี

สำหรับฉัน วัฒนธรรมที่น่าแปลกใจที่สุดคือความรักของคนไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ฉันเคยอ่านเรื่องนี้มาบ้าง แต่ไม่เคยคิดว่าความรักและความเคารพจะมากมายขนาดนี้ ยกตัวอย่างเช่นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คนไทยพร้อมใจกันสวมใส่ชุดสีดำ มันมหัศจรรย์มากและแสดงให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนไทย อีกเรื่องก็คือการไหว้พระ ที่ฟิลิปปินส์ เวลาคุณจะสวด คุณทำในโบสถ์ แต่ฉันเห็นคนไทยไหว้พระจากด้านนอกวัดหรือยืนอยู่ริมถนนได้”

Labib Ahmed, ผู้จัดการร้านเจน เทรดเดอร์
นิวเดลี, อินเดีย

“ผมทำงานมาแล้ว 1 ปี แต่ไม่ค่อยได้ออกไปไหนเท่าไหร่หรอก แต่ในความรู้สึกผมว่าที่นี่ดีกว่าอินเดียนะ อย่างแรกเลยก็คือค่าเงินบาทดีกว่าเงินรูปี ระบบการจราจรดีกว่า ผมรู้สึกว่าตำรวจจราจรทำงานกันเก่งมาก และพวกเขาจัดการกับการจราจรได้ดี ที่อินเดียคุณจะหนวกหูมากเพราะคนขับรถบีบแตรกันตลอดเวลา แต่ที่เมืองไทยสบายหูไปเยอะ รวมๆ แล้วการอาศัยอยู่ที่นี่ มีเรื่องดีๆ มากกว่าเรื่องแย่นะ”

Jean Vincent Carosin, นักศึกษาฝึกงานธุรกิจโรงแรม
สาธารณรัฐมอริเชียส

“คนไทยต้อนรับผมอย่างดีในสัปดาห์แรกของการฝึกงาน ผมต้องเรียนรู้อะไรหลายอย่างมาก เช่น ห้ามตะโกน ที่บ้านผมเราตะโกนกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่นี่ถ้าคุณตะโกนโหวกเหวกจะไม่มีใครอยากคุยกับคุณ ผมชอบวัฒนธรรมไทยและผู้หญิงไทยมาก พวกเธอใส่ใจดีสุดๆ ที่ผมแปลกใจก็คือทำไมคนไทยต้องมาทำงานก่อนเวลา และกลับหลังเวลาเลิกงาน รวมๆ แล้วพวกเขาอยู่ในที่ทำงานเกินกว่ากำหนดไว้ตั้ง 50 นาทีได้ อีกหนึ่งสิ่งที่ผมไม่เข้าใจมากก็คือคนไทยชอบพูดกันลับหลัง ผมฟังภาษาไทยไม่ออก แต่ผมได้ยินชื่อตัวเองในบทสนทนาที่พวกเขาพูดกัน ผมว่าไม่สุภาพเท่าไหร่นัก”

Adrian Melnyk, ผู้จัดการด้านการสอน โรงเรียนสอนภาษาแบร์ลิทซ์
โทรอนโต, แคนาดา

“ผมทำงานในไทยมาแล้ว 6 ปีครับ ย้ายมาจากแบร์ลิทซ์ในเยอรมนี ตอนแรกผมจะเลือกญี่ปุ่น แต่ค่าครองชีพแพงไป ผมชอบอากาศเมืองไทยมาก เพราะบ้านเกิดผมอากาศหนาว

การทำงานร่วมกับคนไทย ผมค่อนข้างแปลกใจที่กำหนดเวลาเข้างาน 9 โมง แต่การมาสายสัก 5 – 10 นาที เป็นเรื่องปกติ แต่นั่นไม่ใช่ที่สุด ในแคนาดาถ้าคุณต้องการกินข้าวหรือเข้าห้องน้ำ คุณต้องทำก่อนเวลาเข้างาน พอ 9 โมงเช้าคุณต้องพร้อมที่จะทำงานแล้ว แต่ที่นี่ทีมของผมมาถึงโต๊ะแล้วออกไปกินข้าว ไปห้องน้ำ หรือบางครั้งก็เอาข้าวเช้ามากินบนโต๊ะด้วยซ้ำ อีกเรื่องก็คือในการประชุมงาน ที่ประเทศไทยมีแต่หัวหน้าที่พูด ทุกคนเอาแต่ฟัง ทั้งๆ ที่ในการประชุมจริงๆ แล้วทุกคนควรพูด

ผมปรึกษาเรื่องนี้กับหัวหน้าที่เป็นคนไทย ดังนั้นเราเลยมีโปรแกรมพิเศษในการอบรมบรรดาชาวต่างชาติที่เพิ่งเข้ามาทำงานที่นี่ เพื่อให้พวกเขาจะได้เข้าใจว่าจะพบกับอะไรบ้าง”

เรื่อง และภาพโดย  ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ย้อนรอยสารคดีเกี่ยวกับเมืองไทย ใน National Geographic

จากสตรีตฟู้ดถึงฟู้ดทรัก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.