รันตี ซองกาเรีย และบีคลี่ การพบกัน ณ สังขละบุรีของแม่น้ำทั้งสาม โดยมีพยานเป็นมนุษย์

ความเหมือนระหว่างมนุษย์และแม่น้ำที่ฉันพอนึกออก อย่างแรกคงเป็นเวลาชีวิตที่ถึงแม้มีทรัพย์เป็นล้านก็ซื้อกลับมาไม่ได้สักเสี้ยวนาที เช่นเดียวกับกระแสน้ำในลำธารจะกี่ล้านปีบนโลกก็ไม่เคยไหลย้อนกลับ ทั้งสองล้วนต้องมีบั้นปลายและจุดจบ ช้าหรือเร็วก็แค่นั้น กิจกรรมทางน้ำ กาญจนบุรี

อีกสิ่งคือ พวกเธอนั้นมีอารมณ์หลากหลาย บางเช้าแสนสงบชวนหลงใหล บางบ่ายนั้นเชี่ยวกรากก้าวร้าวเกินอยู่ใกล้ ตกเย็นท่ามกลางแสงตะวันตกกลับร่าเริงราวกับที่แห่งนี้ไม่เคยมีพายุ แน่นอนว่ายากเกินฉันจะคาดเดา ทำได้เพียงแค่เสพช่วงเวลาเหล่านั้น แม้รู้ว่ามันต้องจบลง ช้าหรือเร็วก็แค่นั้น กิจกรรมทางน้ำ กาญจนบุรี

แม่น้ำรันตี
แม่น้ำซองกาเรีย
แม่น้ำซองกาเรีย
สะพานมอญ

แต่แล้วแม่น้ำยังมีอีกข้อเท็จจริงที่ฉันประทับใจที่สุด นั่นคือ การเริ่มจากสายน้ำเล็ก ๆ ไหลขยักคดเคี้ยวเลาะเปลือกโลกจนพบกับทางน้ำที่เติบโตมาจากอีกทิศ ผสานกันจนเป็นลำน้ำที่กว้างกว่าเดิม เช่นเดียวกับโชคชะตาทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้ทั้ง 3 พบกัน ณ สังขละบุรี
แม่น้ำแรกชื่อ “รันตี” เธอเดินทางมาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ก่อนพบกับ “ซองกาเรีย” หรือแม่น้ำที่แบ่งสังขละบุรีเป็น 2 ฝั่ง ใช่แล้ว…หากคุณจะนึกภาพ “สะพานมอญ” สะพานไม้ร้อยล้านเรื่องราวแสนคุ้นตาก็มีไว้ข้ามแม่น้ำสายนี้ โดยชื่อของเธอถูกนิยามด้วยภาษามอญแปลว่า “ฝั่งโน้น” และทั้งคู่ก็ได้พบกับ “บีคลี่” สายน้ำแสนอุดมสมบูรณ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาตะนาวศรีบริเวณเส้นสมมติที่แบ่งไทยกับเมียนมาร์

เจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม บริเวณ “สามสบ” ก่อนเลี้ยวเข้าแม่น้ำบีคลี่

รันตี ซองกาเรีย และบีคลี่ การบรรจบของทั้งแม่น้ำทั้ง 3 สาย ถูกมนุษย์เรียกขานว่า “สามสบ” อันมีที่มาจากคำว่า “ประสบ” (หรือจะเรียก สามประสบ ก็ได้) จะว่าไปแล้วก็ช่างบังเอิญ เพราะเหล่ามนุษย์ซึ่งต่างชาติพันธุ์กลับสร้างโชคชะตาร่วมกันอย่างกลมเกลียวรอบผืนน้ำแห่งนี้ ไม่ว่าจะเรียกตนว่า ไทย มอญ กะเหรี่ยง ฯลฯ ต่างคนต่างมา แต่ไม่จำเป็นต้องต่างคนต่างอยู่ “เมืองสามหมอก ดินแดนสามวัฒนธรรม” จึงเป็นอีกการจำกัดความสังขละบุรีได้อย่างมีเสน่ห์

แม่น้ำรันตี

แล้วก็เช่นเดียวกับทุกแห่งบนโลก กาลเวลาย่นระยะห่างระหว่างวัฒนธรรมอย่างช้า ๆ จากคนพลัดถิ่นกลายเป็นคนท้องถิ่นในที่สุด เช่นเดียวกับแม่น้ำทั้ง 3 สาย รวมเป็น “แม่น้ำแควน้อย” และแควน้อยก็บรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ที่ตำบลปากแพรก กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง ไหลเอื่อยเฉื่อยหล่อเลี้ยงผู้คนนานาจังหวัดปีแล้วปีเล่า ก่อนจะสิ้นสุดเรื่องราวของแม่น้ำ เปลี่ยนบทเป็นทะเลอ่าวไทยในลำดับต่อไป

พายคายัคข้ามสามสบไปชมเมืองบาดาล

กาลเวลาเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ เช่นเดียวกับวิถีของสายน้ำ และในบางครั้งความสัมพันธ์ของทั้งสองก็เกี่ยวเนื่องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำว่า “เมืองบาดาล” ฟังแล้วคล้ายเรื่องแต่งจากโลกวรรณกรรมโบราณ อันที่จริงแล้ว (เคย) ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสังขละบุรีแห่งโลกปัจจุบันสักเท่าไหร่ โดยมี “วัดวังก์วิเวการาม” เป็นจุดเชื่อมโยงทางกาลเวลาสู่สังขละบุรีแห่งอดีต
ทุกวันนี้วัดดังกล่าวตั้งตระหง่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในละแวก แต่ในวันวาน ทั้งวัด บ้านเรือน และผู้คนเคยดำรงอยู่ในพื้นที่ราบด้านล่าง ซึ่งกลายเป็นท้องน้ำอันเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนเขาแหลม ผู้คนเลยต้องย้ายไปสร้างเรื่องราวบริเวณที่เห็นอยู่เฉกเช่นในปัจจุบัน

ของขวัญจากอดีตมาในรูปแบบโบราณสถาน ต้องตานักเดินทางทั่วสารทิศ แน่นอนว่าการไปเมืองบาดาลคงเป็นไปไม่ได้ด้วยการเดินเท้าเปล่าหรือโดยสารรถกระบะ หากต้องล่องเรือจากสามสบเพื่อไปพบหลักฐานแห่งการเคยมีชีวิต ได้แก่ วัดศรีสุวรรณ วัดสมเด็จ และวัดวังก์วิเวการาม ซึ่งในฤดูน้ำมาก อุโบสถโบราณจะอยู่ใต้ผิวน้ำ
แต่ถ้าหากต้องการสัมผัสสถาปัตยกรรมโบราณแห่งนี้ เดือนมีนาคมและเมษายน คือช่วงเวลาที่มีระดับน้ำต่ำที่สุด เท้าสามารถสัมผัสพื้นดินได้อย่างอิสระ แต่ในขณะที่บางเดือน เช่น ตุลาคมจนถึงมกราคม จะได้เห็นยอดหอระฆังที่ตระหง่านทะลุผิวน้ำขึ้นมาพร้อมเมฆหมอกและทิวเขาเป็นฉากหลัง หากวันที่ฟ้าเป็นใจและไม่รีบไปไหน การเสพทัศนียภาพตรงนี้บนเรือพาย อาจทำให้เราไม่ลืมนึกเสียใจกับการที่กระแสแห่งน้ำได้ลิขิตเหล่ามนุษย์ให้เติบโตที่อื่น ส่วนเรื่องราวก่อนหน้า ทำได้เพียงแค่รอให้ใครมาค้นพบ

เช่นเดียวกับการค้นหาอะไรสักอย่างจากธรรมชาติ มีกฎคล้าย ๆ กันของการเป็นคนนอก คือการแตะต้องสิ่งเดิมให้น้อยที่สุดเท่าที่พึงกระทำ บริเวณโดยรอบสามสบ รวมถึงเขื่อนเขาแหลม เป็นอีกแห่งในกาญจนบุรีที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรสีเขียว
สำหรับมนุษย์แห่งอาณาจักรคอนกรีตอย่างฉัน เกือบลืมไปแล้วว่าโลกนี้เดิมทีไม่เคยมีผู้ใดเป็นเจ้าของ เรารู้ว่าเขื่อนสร้างเมื่อไหร่ เพื่ออะไร หรือเพื่อใคร แต่ไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าแม่น้ำแต่ละสายไหลมาแล้วกี่ศตวรรษ ซึ่งการที่ยังมีความสงสัยใคร่รู้นั่นเองมักกระตุ้นชีพจรให้เราเดินทางไปค้นหา

แม่น้ำบีคลี่

ต้นน้ำแต่ละแห่งของสามสบอยู่ไกลโพ้นเป็นสิบเนินเขา อย่างแม่น้ำบีคลี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ ได้แก่ ปลาเค้าดำ ปลายี่สก ปลากา ปลาตะเพียน ปลาเวียน ฯลฯ ซึ่งปลาเหล่านี้มีฤดูวางไข่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม
ดังนั้นหากใครได้ไปโปรดละเว้นการจับปลาในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ในฐานะผู้มาเยือนมักไม่มีเหตุผลให้ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว สิ่งที่ธรรมชาติยินดีให้เราก็ช่างคล้ายกับการสำรวจเมืองบาดาลบนย่อหน้าเมื่อครู่ ด้วยการยกเรือพายหรืออุปกรณ์ตั้งแคมป์ขึ้นเรือนำเที่ยว และดื่มด่ำกับบรรยากาศพื้นน้ำ ผนังป่าไม้ และเพดานท้องฟ้า ซึ่งทั้งหมด (ยัง) ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

น้ำตกเล็ก ๆ ริมแม่น้ำบีคลี่ ในหนึ่งปีจะมีน้ำตกไหลลงมาให้ชมแบบนี้เพียง 1 – 2 เดือนเท่านั้น

ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ต้องการเปิดโลกด้วยเรือพาย อาจเป็นคายัค หรือ SUP Board ก็ได้คือ ปลายฤดูฝน ช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม เพราะปริมาณน้ำค่อนข้างมาก บริเวณที่น้ำนิ่งสามารถพายได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับลำน้ำบางช่วงก็ไหลเชี่ยวกำลังลุยสนุก พร้อมกับการเตรียมการทั่ว ๆ ไป
เช่น การแจ้งที่พักว่าวันนี้จะผจญภัยในบริเวณไหนบ้าง เนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์อาจทิ้งเราไปได้ทุกเมื่อ รวมถึงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน อย่างเสื้อชูชีพหรือหมวกกันน็อคก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสุดท้ายแล้วโปรดอย่าลืมว่าฉันเป็นเพียงมนุษย์ที่แตกสลายได้ตลอดเวลา

ช้าหรือเร็วก็แค่นั้น – แต่ไม่ใช่วันนี้

 


เรื่อง: สิทธิพงษ์ ติยะวรากุล
ภาพ: ศุภกร

ช่องทางติดต่อ:
ล่องเรือเที่ยวสามแม่น้ำ ติดต่อพี่ยุ คนขับเรือ โทร. 09-2327-4181

ขอบคุณ บ้านแม่น้ำ สำหรับที่พักสบาย ๆ บรรยากาศดี เงียบสงบและเป็นส่วนตัว
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 087-5199150
หรือที่เฟซบุ๊ค BanMaeNamSangklaburi

ขอบคุณ Thailandoutdoor Shop ที่เอื้อเฟื้อเรือคายัค รวมถึงอุปกรณ์แคมปิ้ง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 09-0927-7897
หรือที่เว็บไซต์ www.thailandoutdoorshop.com

และขอบคุณ Paddle More Thailand – พาย SUP กาญจนบุรี
ติดต่อได้ที่โทร. 08-5299-8329 เว็บไซต์ https://www.paddlemorethailand.com และเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/PaddleMoreTh

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.