เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของทุกคน GC Circular Living Symposium 2022

เพราะการลดคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยรักษาโลกนี้เพื่อทุกคนไปนานๆ และการไปสู่ผลสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยการลงมือทำจริง และร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทุกหน่วยสังคม การลดคาร์บอนและไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนไปกว่านี้ จึงจะเป็นจริงได้

 

เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของทุกคน

GC Circular Living Symposium 2022 งานประชุมระดับนานาชาติที่ทาง GC จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 25 – 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ชวนทุกคนมาอัพเดทความรู้ ร่วมคิด แบ่งปันไอเดีย และต่อยอดไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน ปีนี้มาในธีม Together To Net Zero

ภายในงานมีทั้งนิทรรศการและเวทีเสวนาในหัวข้อที่ครอบคลุมหลายมิติ นิทรรศการได้ถ่ายทอดผ่านเมืองจำลอง Net Zero City ทำให้เราเห็นภาพรวมของสังคมที่จะเดินหน้าไปสู่ Net Zero ด้วยกัน ตั้งแต่ Net Zero Living การจำลองภาพบ้าน ที่มีรายละเอียดการใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งผ่านการคิดเพื่อลดคาร์บอนตั้งแต่กระบวนการผลิต เช่น มีการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือวัสดุ   รีไซเคิล รวมถึงการจัดการกับขยะภายในบ้าน

Net Zero Park พื้นที่สีเขียวไว้หย่อนใจและช่วยลดอุณหภูมิ, Net Zero Farm & Café ไลฟ์สไตล์กินดื่มกับเมนูกรีนๆ ใส่ในภาชนะไบโอพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และ Net Zero Industry แสดงนวัตกรรมการผลิตและจัดการพลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ผ่านมา เราอาจได้ยินเรื่อง Net Zero ที่เป็นเป้าหมายขององค์กรธุรกิจ แต่ที่จริงแล้ว Net Zero สามารถอยู่ในไลฟ์สไตล์ของเราได้ในทุกมิติ นิทรรศการเหล่านี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจทั้งการใช้ชีวิตและการสร้างธุรกิจที่สอดคล้องกับความยั่งยืน

ด้านเวทีเสวนานั้นมีหัวข้อน่าสนใจมากมาย ผ่านการสนทนาที่สร้างแรงบันดาลใจรอบด้านเพื่อการลดคาร์บอนและไปถึงเป้าหมาย Net Zero ได้จริงจากสปีคเกอร์กว่า 40 ท่าน เราขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง

 

คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ต้องลงมือจริง

เวทีแรก Hero To Zero Talk เชิญเหล่าฮีโร่จากแวดวงต่างๆ ที่ลงมือปฏิบัติจริง มาทำให้เราเห็นภาพแง่มุมเพื่อความยั่งยืน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวถึงแนวคิดของหัวข้อนี้ “ต้องทำด้วยความจริงใจ ด้วยความเข้าใจว่าโลกใบนี้มีอยู่ใบเดียว เราต้องทำให้รอดไปด้วยกัน” สิ่งที่องค์กรทำอย่างจริงจังคือ 2 สิ่งหลักก็คือการลดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีสิทธิภาพ ใช้พลังงานสะอาด และการลดขยะเหลือทิ้ง นำกลับมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงในโรงงานหรือองค์กร แต่ยังสร้างแพลตฟอร์มเก็บแยกขยะ รีไซเคิล อัพไซเคิล ให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าที่ชื่อว่า YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ที่ให้ผู้คน ชุมชน และธุรกิจขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วม เป็นทั้งการทำความดีและสร้างรายได้อย่างครบวงจร

 

UPTOYOU  แบรนด์รักษ์โลกตอบโจทย์ไลฟสไตล์คนรุ่นใหม่

ล่าสุดออกมาเพื่อให้ทุกคนร่วมตัดสินใจว่า โลกจะรอด อยู่ที่เราจะเลือก 

 ด้าน ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักชีววิทยาทางทะเล ที่รับรู้ถึงความป่วยไข้ของโลกผ่านทะเลที่เขาเห็นกับตา “5 ปีที่ผ่านมา ปะการังเปลี่ยนแปลงเร็วกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเสียอีก” ต้องชวนให้ทุกคนมากลัวสิ่งที่น่ากลัวที่สุด และลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้พ้นจากความกลัวนั้น โดยตั้งเป้าลดคาร์บอนของตัวเอง แม้จะเป็นเพียงคนเดียว หรือกลุ่มคนเล็กๆ ก็วางแผนการลงมือทำอย่างจับต้องได้

ด้านนักออกแบบ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ เจ้าของแบรนด์ Qualy ที่ทำดีไซน์ด้วยวัสดุรีไซเคิลมาหลายปี เป็นทั้งการชะลอการใช้วัสดุ และทำให้คนตัวเล็กที่อยู่ในขั้นตอนเก็บของเหลือทิ้งมารีไซเคิลทั้งมีรายได้และเข้าใจเรื่องการใช้วัสดุหมุนเวียน การใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างแรงบันดาลใจสู่ผู้อื่นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นคนที่รับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น

เมื่อมองภาพใหญ่ในระดับผู้นำ มีปาฐกถาโดย Mr. Massmba Thioye จาก Mitigation Division ตัวแทน United Nation Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) เขากล่าวถึงการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่าต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของเราเอง คือการบริโภคต่างๆ เพราะนั่นสร้างคาร์บอนฟุตพรินท์มหาศาล แล้วต่อด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ต้องปรับปรุงด้านวิศวกรรมและเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ แต่การสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยี การเงิน และอื่นๆ ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ หากเรามีเป้าหมายที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศา และมีเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ต้องสร้างโครงสร้างที่เอื้อให้เป็นจริงได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกระดับ ต้องลืมเรื่องความแตกแยกทางการเมือง หันมาตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อช่วยเหลือโลก เขาเห็นว่าสิ่งนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก แต่การประชุมเช่นนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีในการเชื่อมโยงทุกส่วนเข้าหากัน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน

มาถึงหัวข้อ How Sustainability Action is Unlocking New Possibilities โดยผู้บริหารระดับสูงจากแบรนด์ระดับโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม และตัวแทนภาครัฐพูดถึงการต่อยอดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย Net Zero

เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่า Net Zero เป็นประเด็นระดับโลก แต่สำหรับการลงมือทำต้องทำในระดับบุคคลและชุมชน แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รัฐต้องลงมือแก้ปัญหาให้ประชาชน อีกทั้งยังเห็นเรื่องดีที่องค์กรต่างๆ เริ่มให้คำมั่นที่จะลงมือและให้ความร่วมมือกับรัฐ

ในภาคธุรกิจ ดร.คงกระพัน ได้เสริมว่า เราต้องสร้างระบบนิเวศ เช่น แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เข้าถึงง่ายให้ทุกคนได้มามีส่วนร่วมด้วยกัน สำหรับ Abel Deng ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Huawei Thailand ในฐานะบริษัทด้านเทคโนโลยี ก็สร้างนวัตกรรมที่ลดคาร์บอนภายในองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เพราะ 2% ของการปล่อยคาร์บอนมาจากอุตสาหกรรม ICT เขาเห็นว่าถ้าในอุตสาหกรรมเดียวกันสามารถเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการปรับพฤติกรรมร่วมกัน จะสามารถลดคาร์บอนได้ถึง 12.2 ล้านตันในปี 2030 เลยทีเดียว

ด้านธุรกิจอาหารอย่าง Nestle ตัวแทนตลาดอินโดจีน Victor Seah พูดถึงการสร้างโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นทาง แม้การเปลี่ยนผ่านจะต้องลงทุนสูงมาก แต่เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทที่เลือกที่จะทำ เพื่อประโยชน์ในระยะยาว บริษัทเน้นเรื่องบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดการวัสดุให้เป็นแบบหมุนเวียน ลดการเกิดขยะ และยังมีการดูแลน้ำที่มีการจัดการอย่างดี สิ่งเหล่านี้ต้องส่งต่อไปยังผู้บริโภคให้เข้าใจและเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

การลงมือเหล่านี้ต้องมีการขยายผลให้เกิดในวงกว้าง ด้านของผู้ว่าฯ ที่ดูแลเมือง ก็ต้องปรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดการน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อยู่ในระหว่างการจัดการให้ดีขึ้น และการลดอุณหภูมิให้กรุงเทพฯ เย็นลง ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีกฎหมายการควบคุมอาคาร มีมาตรการที่สนับสนุนอย่างชัดเจน ในด้านองค์กรธุรกิจ ดร.คงกระพันพูดถึงการร่วมมือกันระหว่างองค์กรนั้นไม่ยาก แต่ในระดับ SME องค์กรใหญ่ต้องเข้าไปช่วย ต้องมีการให้ความรู้ แม้เราไม่สามารถบอกให้ทุกคนเข้าใจเรื่อง Net Zero ได้ทั้งหมด แต่ถ้าการกระทำนี้ได้ช่วยให้ชุมชนมีรายได้มีอาชีพ ก็ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและยั่งยืนได้ เพราะรักษ์โลกอย่างเดียวไม่พอ ความเป็นอยู่ต้องดีขึ้นด้วย

 

การเงินเพื่อความยั่งยืน จากระดับโลกสู่ธุรกิจขนาดเล็ก

ที่ World Economic Forum การประชุมด้านเศรษฐกิจระดับโลกที่ผ่านมา สิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก คือ เรื่อง ESG (Environment, Social and Governance) อย่างในเสวนา Inspiration for Tomorrow: Net Zero Solution ช่วง Inspiration Panel หยิบยกประเด็นที่พูดถึงกันในระดับนานาชาติเป็นเสียงเดียวกันว่า Net Zero คือเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทุกคนต้องไปให้ถึง การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนไม่ใช่แค่ดีที่ได้ทำ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำแล้วในวันนี้

ตัวเลข 3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐคือเม็ดเงินที่ลงไปกับเศรษฐกิจด้าน ESG และจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นทั้งการลงทุนแก้ปัญหาเพื่อโลก และการลงทุนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ สร้างมูลค่าให้สังคม แต่ก่อนองค์กรอาจมองว่าการลงทุนแบบนี้คือ CSR เป็นการลงทุนทางอ้อม แต่ปัจจุบัน นี่คือทางตรงในการสร้างและปรับระบบเศรษฐกิจทั้งหมด จากแนวคิดสู่ข้อปฏิบัติ จากการอาสาสู่สิ่งที่ต้องทำ นี่ทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปได้หลากหลาย เพราะที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงธุรกิจเพื่อความยั่งยืน คนมักคิดถึงแต่การทำพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น ที่จริงแล้วมีการจัดการที่ยั่งยืนอีกมากมาย ทั้งการผลิต การจัดการวัสดุ การจัดการขยะ และการขนส่ง ที่มีวิธีปฏิบัติเหมาะกับอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ โดยมีบริษัทที่ให้บริการความรู้ด้านนี้อยู่

และยังมีเงินทุนสนับสนุนตั้งแต่ไอเดียตั้งต้นธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถมาเสนอไอเดียเพื่อเงินทุนเหล่านั้นได้ รวมทั้งมีโอกาสจากองค์กรใหญ่ที่พร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงช่วยพาธุรกิจขนาดต่างๆ ให้เติบโตในแนวทางที่ยั่งยืนไปด้วยกันได้ เวทีเสวนาเหล่านี้ ทำให้เราเห็นว่าเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนนั้นเป็นไปได้จริงในทุกระดับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจะสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นอยากจริงจัง ต้องมีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านเงินทุน ทั้งจากนโยบายการคลังของแต่ละประเทศ สถาบันการเงิน และนักลงทุน เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าการเงินเพื่อความยั่งยืนนั้นกำลังจะเป็นกระแสหลัก เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เวที How Green Finance Shape The Future of Business พูดถึงเรื่องนี้ ตัวแทนภาคการเงิน รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายภาพใหญ่ของการเงินสีเขียวที่สนับสนุนระบบนิเวศทางธุรกิจ ทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และสร้างโครงสร้างทางการเงินที่จูงใจให้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิประโยชน์ด้านภาษี รวมทั้งผลิตภัณฑ์การเงินที่สนับสนุนด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำแพลตฟอร์มให้ความรู้เอาไว้แล้ว เช่นเดียวกับทางตลาดหลักทรัพย์ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร มองว่าองค์กรต่างๆ ต้องมาแบ่งปันความรู้ กรณีศึกษาร่วมกัน ให้เกิดฐานข้อมูลที่จะเพื่อพัฒนาด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม มีตัววัดชัดเจนว่าธุรกิจไหนพูดจริงทำจริง มีการให้รางวัล สร้างการรับรู้สู่นักลงทุน

องค์กรใหญ่อาจไม่น่ากังวล แต่สำหรับธุรกิจ SME อาจทำไม่ง่ายด้วยตัวเอง แต่องค์กรใหญ่หลายแห่งก็พร้อมสนับสนุนธุรกิจเล็กที่เป็นซัพพลายเชน ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อม ให้สร้างมาตรฐานใหม่ที่ตอบโจทย์การแข่งขันทั้งในประเทศและนอกประเทศ

 

แรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ ธุรกิจรักษ์โลกไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย

ในระดับบุคคลและคนตัวเล็กที่มีความตั้งใจ ในงานนี้ก็มีทั้งเวทีพูดคุยและเวิร์คชอปจากผู้ประกอบการ ดีไซเนอร์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาสาธิตให้เห็นจริงว่า จากแพชชั่นนั้นสามารถกลายสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อย่าง Inspiration for Tomorrow Solutions ช่วง Showcase ที่มีนักนวัตกรรมมาแบ่งปันประสบการณ์ เช่น แบรนด์จักรยานยนต์ไฟฟ้า Etran ที่ใช้พลังงานกรีนเต็มรูปแบบจนได้รางวัล Red Dot Deign มาเล่าเรื่องการฝ่าฟันสู่ความสำเร็จ ไม่ง่ายแต่เป็นไปได้ หรือ Ricult แพลตฟอร์มการเกษตรที่ใช้ Data และ AI มาช่วยตัดสินใจการเกษตร นำอุปกรณ์เทคโนโลยีมาช่วยลดคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการเกษตร การจัดการขยะทางการเกษตร เพื่อทำเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น บริษัทเหล่านี้มีศักยภาพ และเป็นตัวอย่างของการได้รับเงินทุนจากสถาบันการเงินที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืน

และเสวนา Green Career: Less Footprint More Opportunity ที่มีหลากหลายผู้ประกอบการมาเล่าให้ฟังถึงการทำงานสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน เช่น เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ นักออกแบบแฟชั่นจากวัสดุเหลือทิ้งมาใส่ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นดีไซน์เก๋ และเป็นที่ยอมรับไปถึงแบรนด์แฟชั่นระดับโลก และ ณัฏชนา เตี้ยมฉายพันธุ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ Plant Based Food อาหารจากพืชที่สร้างการรับรู้ต่อผู้คนได้สำเร็จว่าเป็นอาหารที่ไม่เพียงดีต่อสุขภาพ แต่ยังมีส่วนช่วยโลกลดคาร์บอนฟุตพรินท์ได้อีก ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นโอกาส ว่าธุรกิจที่สร้างสรรค์จากความรักษ์โลกนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นไปได้จริง อยู่รอด มีกำไร และอิ่มใจไปพร้อมกัน

2 วันกับ GC Circular Living Symposium 2022 เต็มไปด้วยความรู้และช่วยฉายภาพให้เห็นอนาคตที่เป็นไปได้ของสังคมคาร์บอนต่ำที่เกิดจากการร่วมมือกันของทุกคน แรงบันดาลใจที่ได้รับจากเวทีเสวนาที่ครบทุกมุม และจากนิทรรศการกับผลิตภัณฑ์ที่ได้สัมผัสจริง ยิ่งทำให้เราอยากกลับไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และบอกต่อถึงผู้คนรอบข้าง วันนี้ทุกคนได้เห็นผลกระทบจากโลกร้อนแล้ว มันเป็นเรื่องของเราทุกคนที่ต้องลงมือทำวันนี้ ไม่มีคำว่าสาย ‘ตอนนี้’ คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดแล้ว

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.