สร้างแรงบันดาลใจ ส่งไทยสู่อวกาศโลก งาน Thailand Space Week 2023

อว. ดันอวกาศ จัดงาน Thailand Space Week ยิ่งใหญ่ หวังผลักดันให้เป็นมหกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของประเทศ นักธุรกิจไทย-ต่างชาติเข้าร่วมงานเกินคาด

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA และบริษัท ไทยคม จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศ จัดงาน Thailand Space Week 2023 หรือ สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 ณ Plenary hall ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

ภายในงาน มีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน โดยมีเหล่าผู้ประกอบการ กลุ่ม startup กลุ่มพัฒนานวัตกรรม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชนทางด้านวิศวกรรมอากาศยานและการบิน การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

งาน Thailand Space Week ถือเป็นงานด้านอวกาศระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยที่จะทำให้วงการอวกาศไทยได้รับความสนใจจากทั่วโลก และแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ภายในงานมีการจัดเสวนาโดยผู้นำองค์กรและหน่วยงานด้านอวกาศกว่า 35 sessions speakers ชั้นนำด้านอวกาศจากทั่วโลกมากกว่า 150 คน พร้อมการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศในรูปแบบนิทรรศการกว่า 30 บูธ ที่มารวมตัวกันอยู่ในงานนี้งานเดียว

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของงาน Thailand Space Week คือ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย การพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากอวกาศ การส่งเสริม Space Business ใน Global Value Chain การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ การวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศ และการพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะกำหนดให้อวกาศเป็น New Growth Engine ของประเทศ

ปัจจุบัน การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของแต่ละประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกเหนือไปจากมิติความมั่นคงของรัฐและสังคม ยังขยายไปถึงการแข่งขันด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอวกาศ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA ได้ศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ในปี 2019 ระบุตัวเลขรายได้อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศ และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

บูธโชว์เคส “ธุรกิจอวกาศ” จากนานาชาติ สร้างพันธมิตรดึงไทยสู่อุตสาหกรรมอวกาศโลก

โดยภายในงาน Thailand Space Week ในครั้งนี้ จะต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมชมทางด้านหน้าทางเข้างานด้วยนิทรรศการเรื่อง THEOS-2 ที่ย่อมากจากคำว่า ‘Thailand Earth Observation Satellite’ หมายถึง ดาวเทียมสำรวจโลกของประเทศไทย ที่ต่อจาก THEOS-1 โดยประเทศไทยเพิ่งส่งดาวเทียม THEOS-2 สู่วงโคจรในอวกาศสำเร็จเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และที่ใกล้กันนั้นจะมีจอขนาดใหญ่ที่ฉายภาพให้เห็นการดำเนินงานต่างๆ ของ GISTDA ในหัวข้อ SPACE ECONOMY (เศรษฐกิจอวกาศ) อีกด้วย

และในด้านหน้าทางเข้างาน ยังมีนิทรรศการจาก บ. THAICOM ซึ่งเป็นภาคธุรกิจเอกชนที่ดำเนินงานเกี่ยวกับธุรกิจดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำของไทย ซึ่งนิทรรศการได้มีการนำเสนอนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดาวเทียม การสื่อสาร โทรคมนาคม ในภาคธุรกิจ เช่น การบริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเพื่อการเดินเรือกลางทะเล หรือการส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านพื้นที่ห่างไกลที่โดยใช้ระบบดามเทียม ไม่จำเป็นต้องเดินสายอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล บริการแพทย์ทางไกล โดรนสำรวจทางการเกษตร และสำรวจพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ โดยเชื่อมต่อกับภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งเป็นดาวเทียมของ THAICOM  เอง เป็นต้น

เมื่อเข้าไปด้านในห้อง Plenary Hall จะพบกับไฮท์ไลท์สำคัญของงานนี้ นั่นคือ การนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศในรูปแบบนิทรรศการกว่า 30 บูธ จากบริษัทที่สร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากดาวเทียมและอวกาศ ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ ทั้งสวีเดน จีน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และที่สำคัญคือ “ประเทศญี่ปุ่น” ที่ได้ร่วมส่งหน่วยงานรัฐบาล และบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจอวกาศร่วมสิบกว่าบริษัทรวมตัวกันในโซน Japan Space ซึ่งแต่ละบริษัทก็ได้นำเสนอนวัตกรรมของตัวเองที่เกิดจากอุตสาหกรรมอวกาศของตนเอง สู่นวัตกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วไปในหลากหลายด้านด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการบริษัทต่างประเทศชั้นนำที่โดดเด่นอย่าง Airbus ที่โดดเด่นด้วยการทำพื้นเป็น “ภาพถ่ายอวกาศ” ราวกับให้ผู้เยี่ยมชมได้มีโอกาสมองเห็นพื้นโลกบนพื้นล่างจากดาวเทียม และมีการนำเสนอนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน และดาวเทียม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของ Airbus และเป็น Airbus นี่เองที่เป็น Partner สำคัญของ GISTDA ในการปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศ  นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการจาก CP เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้นำเสนอนวัตกรรมผลิตอาหารเพื่ออวกาศ หรือโครงการ “ไก่ไทยสู่อวกาศ” มานำเสนอด้วย

เวทีเสวนา “อนาคตของอวกาศ” จากอวกาศไทยสู่อวกาศโลก

นอกจากจะเป็นเวทีแสดงนิทรรศการด้านธุรกิจและเทคโนโลยีอวกาศของภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศแล้ว ภายในงาน Thailand Space Week ได้มีการจัดโปรแกรมการเสวนาในเรื่องความรู้ด้านอวกาศ ดาวเทียม การพัฒนา และอนาคตในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ผู้ร่วมงานที่ทำธุรกิจด้านดาวเทียมและอวกาศจากหลากหลายเทศเข้ามาร่วมแบ่งเป็นข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ของตนเอง และเป็นเวทีที่ให้หน่วยงานอวกาศของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนได้แบ่งปันเรื่องราวองค์ความรู้ด้านอวกาศของตนเองสู่ระดับนานาชาติ

ดังเช่นงานเสวนาเรื่อง Space-Derived Big Data: Transforming Policy into Action ซึ่งกลาวถึงการใช้ข้อมูล Big Data ที่ได้จากดาวเทียมมาสู่การวางแผนพัฒนานโยบายและคุณภาพชีวิตของแต่ละประเทศ ที่มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากกลายประเทศบนเวที อย่าง Mr. Atsushi Watanabe – Director-General for International Cooperation, Japanese National Space Policy Secretariat (NSPS), Cabinet Office, Government of Japan, Mr. Ronald Tong – Acting Executive Director, OSTIn (Singapore), ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ – GISTDA Executive Director (Thailand) และ นายเอกชัย ภัคดุรงค์ – Chief Strategy Officer, Thaicom เข้าร่วมเสวนาบนเวที

Mr. Atsushi Watanabe กล่าวถึงพัฒนาดาวเทียมและการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนานโยบายของประเทศญี่ปุ่นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศดาวเทียมเป็นอย่างมาก โดยเมื่อต้นปี 2023 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินกว่า 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านกิจการดาวเทียม เพิ่มจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 15 โดย Big Data ที่ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากดาวเทียมมีทั้งการสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจหา และวางแผนรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ทางญี่ปุ่นมุ่งเน้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้อมูลดดาวเทียมเพื่อการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงใช้ประโยชน์เพื่อการร่วมกับภูมิภาค เช่น ร่วมมือกับประเทศไทยในการใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อป้องกันปัญหาไฟป่าในประเทศ เป็นต้น

ด้าน Mr. Ronald Tong กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ของดาวเทียมในประเทศสิงคโปร์ว่า สิงคโปร์มีความโดดเด่นในเรื่องของธุรกิจการเดินอากาศและการขนส่งทางเรือ ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมสร้างเม็ดเงินร้อยละ 6 และ 7 ในจีดีพีของประเทศตามลำดับ ซึ่งทำให้ประเทศเป็นเหมือนหนึ่งในศูนย์กลางเชื่อมต่อของภูมิภาคเอเชียและของโลก ดังนั้นทางสิงคโปร์ได้ใช้ประโยชน์จาก Big Data จากดาวเทียมมาใช้พัฒนาและเพิ่มมูลค่าใน 2 อุตสาหกรรมหลักของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการข้อมูล การสื่อสาร โทรคมนาคมจากการเดินเรือ – เดินอากาศ สู่ภาคพื้นดิน และการตรวจจับข้อมูล – พยากรณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินเรือและเดินอากาศอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการจัดการจราจรทางเรือ ทางอากาศ อย่างมีประสิทธิภาพ และวางแผนเรื่องจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทาง เพื่อให้สอดคล้องกับความยั่งยืนของโลก

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ จาก GISTDA กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านอวกาศได้เปลี่ยนไปมาก ทำให้เทคโนโลยีข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่แต่เดิม ผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big Data ดาวเทียมจะมีแค่รัฐบาล และหน่วยงานระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบัน มีผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมทั้งจากองค์กรเอกชน และคนทั่วไป เพื่อเอามาใช้ประโยชน์ในการสร้าง AI – Machine Learning IOT,  หรือนำมาสร้างเป็นแอปพลิเคชั่นต่างๆ และคนทั่วไปก็เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่นไปใช้ เช่น การตรวจสอบ เฝ้าดู สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย, การเฝ้าดูสถารณการณ์น้ำท่วม ตามดูสถาณการณ์ฝุ่น PM 2.5 ซึ่ง GISTDA ก็เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ในเว็บไซต์

ด้าน นายเอกชัย ภัคดุรงค์ จาก THAICOM ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ระบุว่า จากเทคโนโลยีด้านอวกาศและดาวเทียมที่เปลี่ยนไป ทำให้ทาง THAICOM ได้เปลี่ยนตัวเองจาก บ. ด้านให้บริการดาวเทียมมาเป็นบริษัทที่พัฒนาด้านธุรกิจอวกาศ เพราะในตอนนี้ อุตสาหกรรมการให้บริการดาวเทียมภาคเอกชน จากที่แต่ก่อนเป็นเรื่องของ “บริษัทใหญ่ๆ” เท่านั้น เพราะเทคโนโลยีเมื่อก่อนต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่ตอนนี้ ในโลกอุตสาหกรรมดาวเทียม มีบริษัทขนาดกลาง-เล็ก เช่น บริษัทสตาร์ทอัป ทำให้จำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม ที่แต่เดิมมีเพียงหลักร้อย ก็เพิ่มมาเป็นหลักพันแล้ว นอกจากนี้ ดาวเทียมเองมีขนาดและราคาที่หลากหลาย การเข้าถึงอวกาศมีราคาน้อยกว่าเดิมมาก สภาพแวดล้อมทางธุรกิจดาวเทียมเช่นนี้กระตุ้นให้คนใช้เพื่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง พัฒนาสิ่งแวดล้อม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้คนทั่วไปเทคโนโลยีเข้าถึงข้อมูลจากดาวเทียมง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับงาน Thailand Space Week 2023 หรืองานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติฯ จะมีไปตั้งแต่วันนี้จนถึงวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ Plenary hall 1-2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ท่านใดที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://tsw.gistda.or.th/register/ หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://tsw.gistda.or.th โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.