ภาพมะม่วงในงานเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขอบคุณภาพจาก https://www.posttoday.com/politic/news/577649
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเทศไทยเพิ่งจะทำสถิติใหม่ลงกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดไป ด้วยการจัดเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงใหญ่ที่สุดในโลกแก่นักท่องเที่ยวจีนจำนวนหมื่นคน ภายในงานใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูไปทั้งหมด 1.5 ตัน มะม่วงน้ำดอกไม้จำนวน 6,000 ลูก รวมน้ำหนัก 4.5 – 5 ตัน กิจกรรมนี้นอกเหนือจากเป็นการสร้างสถิติใหม่แล้ว ยังจัดขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวจีน และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ประเทศหลังเผชิญกับเหตุการณ์เรือล่ม ในจังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 โศกนาฏกรรมครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตรวม 47 ราย
ทว่าหลังเสร็จสิ้นงานปรากฏภาพถ่ายของขยะอาหารจำนวนหนึ่งจากเมนูข้าวเหนียวมะม่วงที่เหลือทิ้งไว้ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์มากมาย ส่วนใหญ่ไม่พอใจในประเด็นที่นำเงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่ายอย่างทิ้งขว้าง ด้านผู้จัดงานเผยในเวลาต่อมา กิจกรรมนี้เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างหน่วยงานเอกชน ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีประชาชนแต่อย่างใด พร้อมระบุ ข้าวเหนียวมะม่วงที่เหลือมีการบรรจุใส่กล่องแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวจีนนำติดมือไปกิน อย่างไรก็ดีแม้จะมีการชี้แจงข้อมูลแล้ว แต่วิวาทะระหว่างทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยังคงเกิดขึ้น
อันที่จริงแม้จะเป็นเม็ดเงินจากเอกชนที่เต็มใจจ่ายเพื่อจัดงานเอง ทว่ากองขยะอาหารจากกิจกรรมจะไม่กระทบต่อประชาชนแน่หรือ? ทุกวันนี้ขยะอาหารคือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกไม่น้อยไปกว่าก๊าซเรือนกระจก 30% ของอาหารที่ผลิตได้บนโลกนี้ ไปไม่ถึงจานของคุณ แต่กลับลงเอยในหลุมฝังกลบแทน เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้อย่างไร? บนโลกออนไลน์เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงตำหนิ ว่าเป็นการผลาญเงินและอาหารไปอย่างไร้ประโยชน์ อันที่จริงต้องขอบคุณกิจกรรมนี้ที่แม้จะยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าสามารถเรียกคืนนักท่องเที่ยวจีนกลับมา แต่อย่างน้อยก็เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของ “การกินให้หมด อย่าเหลือทิ้ง”
จินตนาการว่าเงินเก็บของคุณหายไปจากบัญชี 30% หรือถ้าคุณทำธุรกิจสักอย่าง แล้วสินค้าของคุณราว 30% ไม่สามารถขายได้ คุณจะรู้สึกอย่างไร? นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับอาหารทั่วโลก และอาหารที่หายไปอย่างไร้ค่าที่มีมูลค่ารวมกันมากถึง 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหากคิดเป็นน้ำหนักมันจะหนักถึง 1.2 ล้านล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอจะช่วยให้คนจำนวน 3 พันล้านคนอิ่มท้อง การสูญเสียอาหารในรูปแบบนี้ หรือที่เราเรียกว่า “ขยะอาหาร” (food waste) เป็นคนละประเด็นกับการสูญเสียอาหารในกระบวนการเพาะปลูก (food loss) ซึ่งเกิดขึ้นในขั้นตอนแรกๆ ของการผลิตอาหาร และส่วนใหญ่มักเกิดกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา ซึ่งขาดแคลนเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการผลิตอาหาร ตัวอย่างเช่น ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา ทวีปแอฟริกา 10 – 20% ของพื้นที่เพาะปลูกมักเผชิญกับศัตรูพืชอย่างแมลง และสัตว์ฟันแทะ ส่งผลให้พวกเขาสูญเสียรายได้ไปประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับอาหารที่หล่อเลี้ยงผู้คนราว 48 ล้านคนในหนึ่งปี
ทว่าขยะอาหาร หรือ food waste ต่างกับ food loss โดยสิ้นเชิง นี่คือการสูญเสียอาหารในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต และไม่มีอิทธิพลจากธรรมชาติมาเกี่ยวข้อง ปัญหาขยะอาหารพบในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนา เนื่องจากผู้คนมีตัวเลือก และสามารถกักตุนอาหารได้มากกว่า งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกันทิ้งอาหารที่ยังสามารถกินได้เฉลี่ยคนละ 0.4 กิโลกรัมต่อวัน และส่วนใหญ่แล้วมากกว่า 80% ของปัญหามาจากครัวเรือนไม่ใช่ร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เหตุผลในการทิ้งอาหารมีตั้งแต่ ซื้ออาหารมาเยอะเกินจนกินไม่ทัน, สับสนข้อมูลวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อนบนฉลาก ไปจนถึงเหตุผลที่ว่าหน้าตาของอาหารนั้นๆ ไม่สวยงาม มีรูปร่างไม่สมประกอบ ข้อนี้อาจฟังดูไร้สาระ แต่ในสหรัฐฯ 1 ใน 5 ของผักผลไม้จากฟาร์มไม่สามารถขึ้นไปอยู่บนชั้นวางสินค้าได้ เนื่องจากขนาดหรือรูปลักษณ์ของมัน “ไม่ได้มาตรฐาน” และแน่นอนลงเอยในถังขยะ
ผู้คนในทวีปอเมริกาเหนือก่อขยะอาหารเฉลี่ย 105 กิโลกรัมต่อปี ขยะเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้กับหลอดไฟ 100 วัตต์ ได้นาน 2 อาทิตย์ หรือใช้กับเตาอบที่สามารถอบอาหารได้ 1 ชั่วโมง
(ขยะอาหารวิกฤตแค่ไหน และสำคัญอย่างไรที่เราทุกคนควรรับรู้ ลองชมสารคดีโดย เทสโก้โลตัส)
แล้วเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราทิ้งอาหารที่ยังกินได้ให้เป็นขยะ? ถ้าเราทิ้งไข่ไก่หนึ่งฟอง นั่นหมายความว่าเราไม่ได้แค่ทิ้งไข่ใบเดียว แต่ยังรวมไปถึงการทิ้งน้ำอีก 55 แกลอนให้สูญเปล่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะอาหารทุกชนิดต้องใช้ทรัพยากร และเวลาในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำ, แร่ธาตุ, ธัญพืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์, ที่ดิน, แรงงาน, พลังงาน และอื่นๆ อีกมากมาย หากเอาสัดส่วนของขยะอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมากองรวมกัน ต้องใช้ที่ดินในการผลิตอาหารที่เราไม่ได้กินเหล่านี้รวมเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่าผืนแผ่นดินของประเทศจีนเสียอีก มากไปกว่านั้นที่ดินในการเพาะปลูก หรือทำฟาร์มไม่ได้ลอยขึ้นมาเฉยๆ แต่ต้องแลกมาด้วยการทำลายผืนป่าเดิม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายสายพันธุ์ และบ้านของชนพื้นเมืองหลายเผ่า นี่คือผลกระทบที่มองไม่เห็นจากการทิ้งอาหารที่ยังคงกินได้ และผลกระทบนี้ไม่ได้ครอบคลุมแค่การสิ้นเปลืองทรัพยากรในขั้นตอนการผลิตเท่านั้น เมื่ออาหารถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบ กระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากจัดอันดับสัดส่วนการผลิตก๊าซเรือนกระจกตามประเทศแล้ว ขยะอาหารจะถือเป็นประเทศอันดับที่ 3 ผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและจีน ก๊าซเหล่านี้จะปกคลุมชั้นบรรยากาศส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น น้ำแข็งละลาย, ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ซึ่งในที่สุดแล้วผลกระทบจะวนกลับมาทำลายพืชผลทางการเกษตร
กว่าจะได้มาซึ่งอาหารต้องใช้ทรัพยากรมากแค่ไหน สำหรับเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ใช้น้ำทั้งหมด 6,000 ลิตร หรือเทียบได้กับการอาบน้ำฝักบัว 188 ครั้ง และเทียบได้กับการอาบน้ำในอ่าง 250 ครั้ง
ความน่ากังวลก็คือหากวงจรเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ในอนาคตอันใกล้ เมื่อถึงปี 2050 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,800 ล้านคน จำนวนผู้คนที่เพิ่มขึ้นมาอีกมากกว่า 2,300 ล้านคนในอีก 31 ปีข้างหน้า หมายถึงความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเราคิดถึงภัยคุกคามต่างๆ ที่จะนำไปสู่สงคราม ความขัดแย้ง เราอาจไม่คิดถึงภัยจากการขาดแคลนอาหาร ทว่าท้องหิวคือหายนะที่รุนแรงและท้าทายที่สุดท่ามกลางการแก่งแย่งทรัพยากรในโลกที่ล้นไปด้วยผู้คน การเกษตรคือทางออกที่จะยุติปัญหานี้ และหนทางดังกล่าวต้องแลกมากับผลกระทบมากมาย ทุกวันนี้กิจกรรมการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์คือกิจกรรมขนาดใหญ่ที่สุดบนโลก ซึ่งใช้พื้นที่ที่ไร้น้ำแข็งปกคลุมไปมากกว่าร้อยละ 38 การเกษตรใช้ทรัพยากรน้ำอย่างหิวกระหาย และปลดปล่อยมลพิษมากมายกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม ถ้าเช่นนั้นการเกษตรแบบไหนที่จะตอบสนองความต้องการอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปลอบประโลมโลกที่บอบช้ำไม่ให้ย่ำแย่ลง? เหล่านี้คือตัวอย่างของโมเดล 5 ขั้นในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว
1 หยุดขยายกิจกรรมทางการเกษตร – ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อเรามีความต้องการผลิตอาหารเพิ่ม เราก็เพียงแผ้วถามป่า หรือไถปราบทุ่งหญ้าเพื่อขายพื้นที่เพาะปลูก ทว่าการกระทำเช่นนี้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศตามมามากมาย หรือที่เรียกว่า “รอยเท้าการเกษตร” แต่ในที่สุดแล้วเราไม่อาจอยู่ได้ หากถางป่าจนหมด และทำให้พื้นที่สีเขียวบนโลกเป็นพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ดังนั้นการตัดไม้ทำลายป่าคือสิ่งแรกที่ต้องหลีกเลี่ยง
2 เพาะปลูกให้ได้มากขึ้นในที่ดินที่มีอยู่ – เมื่อไม่ได้เพิ่มพื้นที่สำหรับการเกษตร โลกก็ควรหันไปสนใจการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่า โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา, ละตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก ซึ่งยังสามารถพัฒนาผลผลิตในอนาคตให้เพิ่มมากขึ้นได้จากการนำระบบการเกษตรสมัยใหม่ และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้
3 ใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น – ทุกวันนี้มีระบบการเกษตรมากมายที่สามารถใช้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้รถแทรกเตอร์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งยังติดตั้งจีพีเอสและเซนเซอร์ หรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเองก็สามารถผสมหรือปรับสูตรปุ๋ยเคมีที่เข้ากับสภาพที่ดินของตนได้
(อยากรู้ไหมว่าถ้าคุ้ยขยะในสหรัฐฯ จะเจออะไรบ้าง? Yara Elmjouie ผู้สื่อข่าวจาก AJ+ อาสาพาไปชม)
4 เปลี่ยนอาหารการกิน – ทุกวันนี้พืชผลที่ถูกผลิตขึ้นเป็นอาหารของมนุษย์เพียงร้อยละ 55 ส่วนที่เหลือกลายเป็นอาหารของปศุสัตว์ราวร้อยละ 36 และอีกร้อยละ 9 เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ผู้คนสามารถช่วยลดปริมาณการผลิตพืชผลเหล่านี้ได้ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง หรือเปลี่ยนจากการกินสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยธัญพืช ไปเป็นสัตว์ที่กินหญ้า ก็จะช่วยเพิ่มสัดส่วนปริมาณอาหารโลกได้อย่างมหาศาล
5 ลดขยะ – ในประเทศร่ำรวย ขยะส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน, ภัตตาคาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนในประเทศยากจน ขยะอาหารมักเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการขนส่งจากเกษตรกรไปยังตลาด ดังนั้นควรพิจารณาแก้ปัญหาให้ถูกจุด รณรงค์นิสัยไม่กินเหลือ ตักแก่พอดี ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา ควรนำระบบการขนส่งหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเก็บรักษาผลผลิตเข้าไปช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น
เหล่านี้คือมาตรการใหญ่ๆ ในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน แล้วสำหรับปุถุชนคนธรรมดาเราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง? อันที่จริงข้อ 5 คือข้อสำคัญที่ทุกคนควรนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ลดการก่อขยะให้น้อยที่สุดด้วยการตักอาหารเท่าที่พอกิน เพื่อป้องกันการกินเหลือ, หมั่นตรวจเช็ควันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ หากไม่แน่ใจว่ายังทานได้ไหม ใช้จมูกดมกลิ่นในการตัดสินใจ มากกว่าที่จะเชื่อฉลากระบุวันหมดอายุหรือวันบริโภคก่อน, บริจาคอาหารที่ไม่ต้องการ แต่ยังกินได้ให้ผู้อื่น, ไม่รังเกียจอาหารที่มีรูปลักษณ์ไม่ได้ตามมาตรฐาน, สนับสนุนร้านค้าท้องถิ่น หรืออาหารพื้นถิ่น เพื่อลดการใช้พลังงานและมลพิษจากการขนส่ง, สร้างบ่อหมักปุ๋ยจากขยะอาหารของตนเอง เพื่อนำไปปลูกพืช หรือหากไม่นำไปหมักก็นำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนในระยะยาวคุณสามารถทำได้ด้วยการทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และลองทานผลผลิตที่คุณปลูกเอง ข้อหลังนี้จะช่วยให้ซาบซึ้งถึงความเพียรพยายามกว่าจะได้มาซึ่งอาหารที่เราทาน
เมืองที่มีประชากรจำนวน 10,000 คน ก่อขยะอาหารประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องได้นานถึง 800 ปี
และหากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจร้านค้า หรือร้านอาหาร ทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถทำได้ เพิ่มเติมคือการจัดตั้งส่วนหรือแผนกพิเศษสำหรับอาหารที่ไม่ต้องการเหล่านี้ ในราคาถูกลง หรือแจกฟรี เพราะมีคนมากมายที่ต้องการมัน ในยุโรปมีหลายองค์กรที่รับบริจาคอาหารเหล่านี้จากร้านค้าหรือภัตตาคารเพื่อนำไปปรุงอาหารแก่คนไร้บ้าน ข้อแนะนำเหล่านี้คุณสามารถนำไปปรับใช้อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของคุณเอง ทุกวันนี้ไม่ควรมีใครเข้านอนขณะท้องยังหิวโซ และขยะอาหารคือสิ่งไม่จำเป็นที่สุดที่เราช่วยกันลดมันได้ ไม่ใช่แค่เป็นการช่วยเหลือผู้คนยากจนที่ขาดแคลนอาหาร มากไปกว่านั้นคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะ “การกินให้หมด” มีคุณค่าต่อโลกไม่น้อยไปกว่าการเลิกใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง หรือลุกขึ้นมาใช้ขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว
(Too Good To go คือแอพพลิเคชั่นที่เป็นสื่อกลางช่วยนำอาหารเหลือจากภัตตาคารมาขายใหม่ในราคาย่อมเยา เพื่อลดปริมาณขยะอาหารลง พวกเขามีระบบการทำงานอย่างไรชมได้จากวิดีโอนี้)
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูล
สารคดีชุด “อนาคตของอาหาร” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2014
One-Third of Food Is Lost or Wasted: What Can Be Done
Solving the problem of Food waste
Feeding the World by Reducing Food Waste
How To End The Food Waste Fiasco