รัฐนิวยอร์กกำลังจะมีมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก โดยนิวยอร์กจะกลายเป็นรัฐที่สองของสหรัฐอเมริกาต่อจากแคลิฟอร์เนีย ที่มีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อแก้ปัญหา พลาสติก ล้นโลก
การประกาศห้ามครั้งนี้มีมาตรการไปยังร้านค้าห้ามแจกจ่ายถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use bags) แก่ลูกค้า โดยจะมีผลในเดือนมีนาคมปีหน้า
ถุงช็อปปิงเป็นหนึ่งในสิ่งของที่ถูกห้ามใช้มากที่สุดในบรรดาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง การแบนถุงพลาสติก ซึ่งเริ่มมีการประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2000 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ขณะนี้มีอย่างน้อยกว่า 127 ประเทศที่ออกกฎหมายห้ามใช้ หรือเพิ่มภาษีการใช้หากประชาชนต้องการใช้ถุงพลาสติก
ประเทศในยุโรปเริ่มเข้มงวดกับการใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้ดำเนินการสั่งห้ามสิ่งของที่พบได้ตามชายหาดเพิ่มอีก 10 ชนิด หนึ่งในนั้นรวมไปถึงถุงพลาสติกด้วย โดยจะมีผลในปี 2021
ประชากรรัฐนิวยอร์กใช้ถุงพลาสติกต่อปีเป็นจำนวนกว่า 2.3 หมื่นล้านใบ
กรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งรัฐนิวยอร์ก
โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็เริ่มตื่นตัวกับปัญหาพลาสติกล้นโลกบ้างแล้ว นอกเหนือจากแคลิฟอร์เนีย ที่ออกมาตรการห้ามใช้ถุงช็อปปิงอย่างชัดเจนในปี 2016 และรัฐฮาวายที่มีกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกอีกด้วย
สาเหตุที่ถุงช็อปปิ้งถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบา ทำให้สามารถล่องลอยไปติดอยู่ตามสถานที่อื่นๆ ได้ง่าย อย่างเช่น ตามกิ่งไม้หรือในท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นปนเปื้อนในอาหารของสัตว์ป่าอย่างวัว หรือสัตว์ใหญ่อื่นๆ อีกด้วย และในกรณีถุงพลาสติกเกิดการฉีกขาดเป็นชิ้นเล็กๆ พวกมันก็จะเป็นอาหารของนกและสัตว์เล็กชนิดอื่นๆ
ในท้องทะเล เต่าทะเลมักเข้าใจผิดว่า ถุงพลาสติกเป็นแมงกระพรุน ซึ่งเป็นอาหารโปรดของพกวมัน แม้กระทั่งปลาก็พลาดท่ากินถุงพลาสติก วาฬจำนวนมากต่างเสียชีวิตเนื่องจากเผลอบริโภคถุงพลาสติกเข้าไป ตัวอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการพบพลาสติกจำนวนกว่า 40 กิโลกรัมในท้องวาฬ ในน่านน้ำประเทศฟิลิปปินส์
(คลิปวิดิโอที่เกี่ยวข้อง : ซากวาฬตายพร้อมกับพลาสติกจำนวนกว่า 6 กิโลกรัมในกระเพาะ)
นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะรีไซเคิลถุงช็อปปิ้งที่มีน้ำหนักเบา โรงงานรีไซเคิลหลายแห่งปฏิเสธที่จะรีไซเคิลถุงพลาสติกเนื่องจากพวกมันมักจะเข้าไปติดค้างภายใน ทำให้เครื่องเกิดความขัดข้อง
ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งรวบรวมถุงพลาสติกที่ใช้แล้วไว้ในตู้ที่ทางร้านจัดไว้ โดยถุงเหล่านั้นจะถูกส่งกลับไปยังโรงงานผลิตถุงพลาสติกอีกทีเพื่อเป็นขั้นตอนของการผลิตถุงพลาสติกใหม่ต่อไป แต่การกระทำนี้ของร้านสะดวกซื้อนั้นไม่มีความสม่ำเสมอ จึงยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น
รายงานของกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งรัฐนิวยอร์กระบุว่า ประชากรรัฐนิวยอร์กใช้ถุงพลาสติกต่อปีเป็นจำนวนกว่า 2.3 หมื่นล้านใบ โดยเพียงแค่ในนครนิวยอร์กเมืองเดียวก็ใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไปมากกว่า 10 หมื่นล้านใบต่อปีแล้ว คิดเป็นขยะกว่า 1,700 ตันต่อสัปดาห์เลยทีเดียว รัฐต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนกว่า 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีไปกับการกำจัดขยะเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้ถุงพลาสติกในการซื้ออาหารกลับบ้าน ถุงพลาสติกที่ใช้ห่อเนื้อสัตว์ ถุงห่อเสื้อผ้า และถุงพลาสติกที่ขายในปริมาณมาก รวมไปถึงถุงขยะ จะได้รับการยกเว้นจากการออกมาตรการครั้งนี้
โดยแผนที่จะห้ามใช้ถุงพลาสติกของรัฐนิวยอร์กครั้งนี้ ยังอนุญาตให้พวกเขาสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้ถุงกระดาษ ในจำนวน 5 เซนต์ อีกด้วย
เรื่องโดย
***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย