คนเก็บขยะแบกถุงวัสดุที่รีไซเคิลได้ ในภูเขาขยะ Dandora กรุงไนโรบี อันเป็น 1 ใน 4 ภูเขาขยะที่ใหญ่และเป็นพิษมากที่สุดในแอฟริกา ภาพถ่ายโดย BENEDICTE DESRUS, SIPA via AP
ในนาคูรู ประเทศเคนยา ถุงพลาสติก หูหิ้วได้หายไปจากตลาด Wakulima เนื่องจากการห้ามใช้ถุงพลาสติกในประเทศก็จริง แต่มันกลับถูกแทนที่ด้วยถุงโพลีโพรพีลีน (Polypropelene) ซึ่งเป็นถุงพลาสติกอีกประเภท แต่ James Wakaiba นักกิจกรรมผู้เป็นตัวแทนของการรณรงค์ที่นำไปสู่การห้ามใช้ถุงพลาสติก กล่าวว่าการแบนที่ไม่สมบูรณ์แบบยังดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย
“โอเค ถุงพวกนี้ทำจากโพลีโพรพิลีนก็จริง แต่พวกมันถูกนำมาใช้ใหม่ได้ และไม่ได้เป็นถุงบางๆ ที่ปลิวได้ง่าย” เขากล่าว “สหประชาชาติ (UN) บอกว่าแค่ปีเดียว คนเคนยาก็ใช้ถุงพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตตั้ง 100 ล้านใบ แสดงว่าเราก็ประหยัดถุงไปได้ 100 ล้านใบแล้ว ผมคิดว่าความสำเร็จของเรื่องนี้มีประมานร้อยละ 80”
ถุงพลาสติกซึ่งมักถูกมองว่าเป็นทั้งสินค้าขายดีที่สุดของโลกและเป็นสิ่งที่พบได้ทุกหนทุกแห่ง กลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกห้ามใช้มากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ UN เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว กว่า 127 ประเทศมีการห้ามใช้หรือเก็บภาษีถุงพลาสติก นอกจากนี้ การควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ยังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น แม้แต่กลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากอัลกออิดะห์ยังเข้าร่วมการแบนถุงพลาสติกด้วยเหตุผลว่า “[ถุงช้อปปิ้งพลาสติก] เป็นภัยอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสัตว์”
เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรปเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อแบนถุงพลาสติก โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บกวาดผลิตภัณฑ์พลาสติกที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดบนชายหาดในยุโรป ส่วนในสหรัฐ ฮาวายห้ามใช้ถุงพลาสติกอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากมีการแบนอยู่ในทุกเทศมณฑล (County) และนิวยอร์กเป็นรัฐที่สองที่สั่งห้ามถุงพลาสติก (ต่อจากแคลิฟอร์เนีย) นอกจากนี้ยังมีการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับพลาสติกกว่า 95 ครั้ง ในปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติที่มากกว่าปีอื่นๆ
กระนั้นก็ตาม ในขณะที่การห้ามใช้ถุงพลาสติกเกิดขึ้นทั่วโลก ประสิทธิผลของมันกลับยังไม่แน่ชัด แม้ว่า Wakibia จะชื่นชมการกระทำดังกล่าวของเคนยาก็ตาม การแบนถุงพลาสติกก่อให้เกิดการแบนผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ประเภทอื่นๆ รวมถึงจาน ถ้วย ช้อนส้อม หลอด และขวด ซึ่งพลาสติกประเภทที่ว่านี้มีจำนวนร้อยละ 40 ของพลาสติกที่มีการผลิตทั่วโลก แต่ยังคงมีคำถามว่าสิ่งนี้จะสามารถช่วยลดขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงในมหาสมุทรเป็นจำนวนเฉลี่ยกว่า 8 ล้านตันต่อปีได้มากเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อมีการคาดการณ์ว่าการผลิตวัสดุดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในราวปี 2040 และอาจเป็นส่วนประกอบกว่าร้อยละ 20 จากการผลิตน้ำมันของโลก ในราวปี 2050
แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนการแบนอย่างแข็งขันก็รับทราบถึงข้อจำกัดเหล่านี้
“แม้การห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะมีความสำคัญเพียงใดในการลดขยะพลาสติก มันก็ยังเปลี่ยนโลกไม่ได้” มาร์ค เมอเรย์ (Mark Murray) ผู้อำนวยการบริหารของ Californians Against Waste กล่าว “พูดกันตามตรง ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือการส่งสารถึงผู้กำหนดนโยบาย สาธารณชน และอุตสาหกรรม ว่าเราจะทำอะไรบางอย่างอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนบรรจุภัณฑ์พลาสติก และถ้าพวกคุณไม่รู้ว่าจะทำมันยังไง พวกเราจะเริ่มแบนผลิตภัณฑ์ของคุณไปทีละอย่าง”
สิ่งมหัศจรรย์กลายเป็นของอันตราย
ในไม่ถึงสี่ทศวรรษ ถุงพลาสติกเปลี่ยนจากสิ่งมหัศจรรย์เป็นของอันตราย หลังการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการผลิตพลาสติกที่ใช้ในครัวเรือนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถุงพลาสติกกลายเป็นที่นิยมในทศวรรษที่ 1970 และในปลายทศวรรษที่ 1980 ร้านค้าในสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจากถุงกระดาษไปเป็นถุงพลาสติก หลังจากนั้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้แพร่กระจายเป็นจำนวนหลายล้านใบ
ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ปัจจุบันมีการผลิตถุงพลาสติกมากเพียงใด แม้แต่กลุ่มอุตสาหกรรมการค้า American Progressive Bag Alliance ยังกล่าวว่าพวกเขาไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน จากการประมาณของสหประชาชาติ ทั่วโลกมีการผลิตถุงพลาสติกกว่าหนึ่งล้านล้านถึงห้าล้านล้านใบ ซึ่งหากอ้างอิงจากตัวเลขที่น้อยที่สุด จะมีการใช้งานถุงพลาสติกกว่าสองล้านถุงต่อนาที Earth Policy Institute กล่าว
แม้แต่ระบบจัดเก็บขยะในโลกตะวันตกก็ไม่สามารถรับมือกับการแพร่กระจายในระดับนี้ และการใช้ถุงโพลีโพรพิลีนที่นำมาใช้ใหม่ได้ง่ายก็กลับไม่ได้ช่วยอะไรมาก เนื่องจากมีโรงแยกขยะในสหรัฐฯ เพียงไม่กี่แห่งที่รับถุงประเภทนี้ เนื่องจากความเสี่ยงต่อการขัดข้องของเครื่องจักรที่ไม่เหมาะกับการคัดแยกมัน
การห้ามใช้ถุงพลาสติกเริ่มมีพลัง
แม้จะมีข้อกังขาว่าการแบนและการเก็บภาษีถุงพลาสติกทำให้ประเทศยากจนและคนจนลำบาก เพราะพวกเขาต้องการถุงพลาสติกราคาถูกหรือฟรีเพื่อใส่สินค้า แต่ข้อโต้แย้งนี้ถูกปัดตกไปเมื่อบังกลาเทศเริ่มสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกในปี 2002 และในขณะนี้ ทวีปแอฟริกาเป็นผู้นำการควบคุมการใช้ถุง โดย 31 จาก 34 ประเทศที่มีนโยบายห้ามใช้หรือเก็บภาษีถุงพลาสติก ตั้งอยู่ในบริเวณใต้สะฮารา (Sub-Saharan) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในโลก และเคนยาได้กลายเป็นประเทศที่มีบทลงโทษผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ใช้ถุงพลาสติกรุนแรงที่สุดในโลก โดยผู้กระทำผิดอาจต้องถูกปรับเงินถึง 38,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือโทษจำคุกกว่า 4 ปี
ส่วนเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เก็บภาษีถุงพลาสติกเมื่อปี 1993 ผู้คนใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยเพียงสี่ใบต่อปี ตรงกันข้าม สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตขยะจากวัสดุภัณฑ์พลาสติกต่อหัวมากที่สุดในโลก ใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยเกือบหนึ่งใบต่อหนึ่งคนต่อวัน
ต่อต้านการสั่งห้าม
ในสหรัฐฯ มีการต่อต้านการห้ามใช้ถุงพลาสติกด้วยงานวิจัยที่เน้นย้ำถึงข้อจำกัดของนโยบายดังกล่าว เช่นในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยของ รีเบกกา เทย์เลอร์ (Rebecca Taylor) ที่พบว่าเมืองที่แบนถุงพลาสติกก่อนปี 2016 มีการลดจำนวนขยะพลาสติกลงกว่า 18.1 ล้านกิโลกรัม เนื่องจากผู้คนใช้ถุงน้อยลง แต่กลับกัน การซื้อถุงขยะกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้การลดขยะพลาสติกกลับลดลงเหลือเพียง 1.27 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น
กลุ่มอุตสาหกรรมด้านถุงพลาสติกในสหรัฐฯ เองพยายามผลักดันให้มีกฎหมายที่ปรับปรุงการรีไซเคิล และลงทุนซื้อถังขยะ โดยหวังว่าผู้คนจะทิ้งถุงที่ใช้แล้วในถังขยะเหล่านั้น เพื่อนำปรีไซเคิลใหม่ แต่สิ่งนี้อาจเป็นไปไม่ได้ในประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลเพียงร้อยละ 9
ความสำเร็จบางส่วนในเคนยา
มีความท้าทายสำหรับการแบนถุงพลาสติกในเคนยา สมาคมผู้ผลิตถุงพลาสติกแห่งเคนยา (Kenya Association of Manufacturers) พยายามคัดค้านการแบนในศาล ด้วยเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้คนกว่า 100,000 คนในอุตสาหกรรมถุงผลาสติกต้องตกงาน
การบังคับใช้การแบนส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าถุงพลาสติกจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแทนซาเนียและอูกันดา
Geoffrey Wahungu อธิบดีหน่วยงานจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเคนยา (Kenya’s National Environment Management Agency) ยอมรับว่า ในตอนแรก รัฐบาลไม่ได้พิจารณาว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดไหนแทนพลาสติก และสุดท้าย รัฐบาลได้ยกเลิกการแบนพลาสติกที่ใช้ห่ออาหารสด และผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ บางประเภท
แม้โทษของการใช้ถุงพลาสติกมีความรุนแรง (มีครั้งหนึ่งที่การจับพ่อค้าผลไม้กลายเป็นข่าว) การลงโทษส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นกับผู้จัดจำหน่าย และไม่ไช่พ่อค้ารายย่อยหรือผู้บริโภค
Walibia เห็นด้วยกับโทษที่รุนแรงนี้ โดยกล่าวว่า “ถ้าโทษเบา คนคงไม่ทำตามกฎหมายหรอก”
สิ่งที่เขากล่าวมานี้อาจมีมูลความจริง แม้เคนยายังมีขยะเป็นจำนวนมาก ประเทศแห่งนี้กลับสะอาดขึ้นอย่างชัดเจน อันเห็นได้จากจำนวนถุงพลาสติกตามต้นไม้และท่อระบายน้ำที่ลดลง
“ทุกคนกำลังจับตามองเคนยา เนื่องจากการเดินหน้าอย่างกล้าหาญของพวกเรา” Wahungu กล่าว “เราจะไม่หันหลังกลับไป และพวกเราจะไม่ยอมอ่อนข้อ”
แต่ขณะที่รัฐบาลกำลังขยายขอบเขตการแบน ความท้าทายใหม่ๆ ก็ตามมา โดยพวกเขาวางแผนว่าจะเริ่มแบนถุงช้อปปิ้งแบบไม่ทอ (Non-woven) ในเดือนเมษายนนี้ แต่ศาลกลับชะลอคำสั่งนี้ และในเวลาเดียวกัน เหล่าผู้ผลิตถุงก็ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการสั่งห้ามครั้งนี้
เรื่อง LAURA PARKER