เมื่อคลื่นลมพัดพาขยะขึ้นฝั่ง ความร่วมมือจึงเกิดขึ้น

การเดินทางลงใต้ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ฉันได้มีโอกาสเยือนจังหวัดตรัง ฉันไม่มีภาพในมโนสำนึกเลยว่า จังหวัดตรังหน้าตาเป็นอย่างไร

ในขณะที่เครื่องบินเคลื่อนผ่านเข้าสู่น่านฟ้าของภาคใต้ ฉันรับรู้ได้ทันทีถึงสภาพอากาศแปรปรวน พนักงานบริการบนเครื่องประกาศให้ผู้โดยสารกลับไปนั่งประจำที่และรัดเข็มขัดนิรภัย เครื่องบินตกหลุมอากาศสองครั้ง เหมือนเรากำลังนั่งรถผ่านทางขรุขระ ผ่านไปครู่ใหญ่เราพ้นออกจากสภาพอากาศแปรปรวน ภาพเบื้องล่างเผยให้เห็นพื้นที่ป่าเขียวครึ้มบริเวณปากแม่น้ำที่เปิดออกสู่ทะเล

สายฝนยังรินลงมาเบาๆ ขณะที่เราเดินออกจากอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานจังหวัดตรัง ปลายทางของฉันคือ การเดินทางไปดูความร่วมมือในชุมชนเพื่อจัดการกับปัญหาขยะที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ไปทั่วโลก

บรรยากาศหลังฝนซาท้องฟ้ายังครึ้มเทา แสงแดดพยายามส่องผ่านก้อนเมฆหนาลงมายังพื้น แต่ก็ทำได้ไม่มากนัก ฉันมาถึงบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และพบเจอกับคนในชุมชนหลายคนที่มารอต้อนรับ ชาวบ้านแลดูดีใจเมื่อมีผู้มาเยือน ที่นี่ ชาวบ้านพึ่งพาการประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ด้านหนึ่งของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ติดกับหาดมดตะนอยยาวหลายกิโลเมตร

จุดทิ้งขยะริมชายหาดมดตะนอยที่จัดแยกประเภทของขยะทะเล

ตามแนวชายหาด ฉันเห็นถังขยะที่สร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ทั้งเศษไม้ เศษอวน และพลาสติก แต่ละจุดแบ่งแยกประเภทขยะอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นขยะที่พบมากที่สุดตามแนวชายหาด ได้แก่ รองเท้าแตะ ขวดพลาสติก โฟม และไฟแช็ก แต่เมื่อก่อน ที่นี่ก็เคยได้รับผลกระทบจากขยะไม่ต่างจากชุมชนอื่น

เมื่อรับรู้ถึงผลกระทบจากขยะในพื้นที่ คนในชุมชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ จึงทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากชาวบ้านมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้โฟมบรรจุอาหาร เนื่องจากได้รับข้อมูลว่า การรับประทานอาหารบรรจุกล่องโฟมสร้างความเสี่ยงโรคมะเร็ง จึงตั้งใจให้ชุมชนบ้านมดตะนอยเป็นชุมชนปลอดโฟม โดยทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และตั้งกติกาชุมชนว่า ไม่สนับสนุนร้านค้าที่ใช้โฟมบรรจุอาหาร ซึ่งมีผลให้ผู้ค้าในชุมชนต้องปรับตัวตามกติกาที่ตั้งขึ้นมานี้

รองเท้าแตะเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ชาวบ้านเก็บได้จำนวนมากที่สุด

“ชาวบ้านที่นี่ตั้งใจอยากรักษาทรัพยากรรอบหมู่บ้านเอาไว้ และอยากมีส่วนช่วยให้ทรัพยากรยังคงอยู่ต่อไป” พี่โชค – สมโชค สกุลส่องบุญศิริ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมดตะนอย กล่าวและเสริมว่า “แต่ชาวบ้านไม่รู้วิธีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้อง เราจึงติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังองค์กรภายนอก” ในส่วนนี้ SCG จึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะให้กับชุมชนบ้านมดตะนอย โดยทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำแนวทางการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

แนวความคิดของชาวบ้านที่นำขยะมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง

แนวคิด SCG Circular Way ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดมูลค่าสูงสุด เช่น เศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนสามารถนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ การบริโภคให้คุ้มค่าที่สุดก่อนกลายเป็นขยะ หรือแม้แต่การแยกขยะก็เป็นหนึ่งวิธีการของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน องค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะได้รับการถ่ายทอดไปยังชุมชนบ้านมดตะนอย และมีการวางแนวทางร่วมกันระหว่างผู้นำระดับจังหวัด ผู้นำชุมชน และชาวบ้านทุกคน และแม้ว่าในอนาคต หากเจ้าหน้าที่จาก SCG ออกจากพื้นที่แล้ว องค์ความรู้เหล่านี้จะยังคงอยู่กับชาวบ้าน และชาวบ้านจะรู้จักการบริหารจัดการตามแนวทางของตนเอง

พี่โชค – สมโชค สกุลส่องบุญศิริ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมดตะนอย

“ลำคลองในหมู่บ้านมีการวางแพดักขยะก่อนไหลออกทะเล” พี่โชคเล่า “ถ้าหมู่บ้านไหนทิ้งขยะลงคลองเยอะๆ ส่วนนี้ก็เป็นภาพฟ้องที่ชัดเจน และชุมชนก็เกิดการแข่งขันกันเอง เพื่อให้มีขยะไปติดแพน้อยที่สุด” ส่วนสำคัญคือการร่วมมือกันของทุกคน ที่เริ่มจากการเก็บขยะในพื้นที่บ้านของตัวเอง และเจ้าหน้าที่ในตำบลก็มีส่วนช่วยเรื่องการหาแหล่งส่งต่อขยะเหล่านี้ เพื่อการจัดการอย่างถูกวิธี เช่น รองเท้าแตะที่ไม่ใช้แล้วส่งให้กับทางกลุ่ม Trash Hero ที่นำไปแปรสภาพให้กลับมาเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่

นอกจากผู้ใหญ่ในชุมชนที่ร่วมกันจัดการเรื่องขยะอย่างจริงจังแล้ว กลุ่มสตรีในหมู่บ้านยังรวมตัวกันเพื่อถ่ายทอดเรื่องการบริหารจัดการขยะให้กับเหล่าเยาวชนตัวเล็กๆในหมู่บ้านด้วย โดยจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เช่น การวาดภาพที่ให้เด็กๆถ่ายทอดภาพท้องทะเลที่ตัวเองปรารถนา และงานศิลปะจากเศษขยะที่เก็บได้จากชายหาด โดยมีอาสาสมัครในหมู่บ้านคอยเป็นพี่เลี้ยงในการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ นับว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และช่วยให้เยาวชนมีความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ตั้งแต่เยาว์วัย

ภาพวาดของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เธอสื่อสารเกี่ยวกับท้องทะเลในจินตนาการของเธอ

การเดินทางครั้งนี้ ฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนสถานที่เลี้ยงมาเรียม พะยูนน้อยหลงฝูง ที่กลายเป็นขวัญใจของชาวไทยเมื่อช่วงที่ผ่านมา อ่าวที่เคยเป็นบ้านมาเรียมอยู่บนเกาะลิบง เรานั่งเรือออกจากฝั่งไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เดินทางมาถึงเกาะเล็กๆที่พึ่งพาการทำประมงพื้นบ้านและยางพารา

ท่าเรือเกาะลิบงสร้างขึ้นง่ายๆ จากวัสดุที่หาได้บนเกาะ

ชาวบ้านบนเกาะรอต้อนรับพวกเราด้วยความอบอุ่น บังจ้อน – สุวิทย์ สารสิทธิ์ เป็นอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เคยเลี้ยงมาเรียม เขาเล่าถึงความเป็นมาของมาเรียมตั้งแต่วันแรกที่มาอยู่ที่นี่จนถึงวันสุดท้าย แววตาที่ยังดูผูกพันและคิดถึงสัตว์ทะเลตัวน้อยยังปรากฏอยู่บนใบหน้าขณะที่เขาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง “ชาวบ้านบนเกาะรู้สึกตกเป็นจำเลยสังคม ว่าเป็นผู้สร้างขยะ และเป็นเหตุให้พบขยะในท้องของมาเรียม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านช่วยกันอย่างมากในเรื่องการจัดการขยะ” บังจ้อนเล่าและเสริมว่า “เรือที่ออกทะเลมักจะมีถุงเก็บขยะติดไปด้วยเสมอ เพื่อเก็บขยะที่อยู่ในทะเลหรือบนบก แต่ละหลังคาเรือนทิ้งขยะในที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ และชาวบ้านก็รวมตัวกันเดือนละครั้งเพื่อเก็บขยะในชุมชนและชายหาด”

บังจ้อน – สุวิทย์ สารสิทธิ์ อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง

เมื่อปี 2017 ชาวบ้านร่วมกันเก็บขยะรอบเกาะลิบงทั้งบนบกและชายฝั่งได้กว่า 420 กิโลกรัม และชาวประมงบนเกาะรู้จักพื้นที่ของตนเองดีว่า เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของพะยูนกว่า 180 ตัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลรอบๆเกาะลิบง “ในระบบนิเวศหญ้าทะเล พะยูนคือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย การกินหญ้าทะเลของพะยูนเป็นลักษณะของการซุยหน้าดิน เพราะฉะนั้น เศษขยะที่ทับถมอยู่บนตะกอนหน้าดินอาจติดเข้าไปในทางเดินอาหารของพะยูนได้” บังจ้อนอธิบายให้เราเห็นภาพมากขึ้น

นอกจากประมงพื้นบ้านที่สร้างรายได้ให้กับคนบนเกาะลิบง ยางพาราก็เป็นพืชเศรษฐกิจทางหนึ่งที่คนบนเกาะพึ่งพา

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านบนเกาะลิบงจะช่วยกันเก็บขยะทั้งบนบกและชายฝั่งอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังมีขยะที่ชายหาดให้เห็นทุกวันเช่นกัน “ขยะบางชิ้นเป็นซองบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลากบ่งชี้ว่าผลิตในประเทศมาเลเซีย” บังจ้อนยกตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า ขยะที่รอบเกาะลิบงไม่ได้มีต้นกำเนิดจากบนเกาะทั้งหมด บางชิ้นหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำทะเล และคลื่นลมก็พัดขึ้นมาเกยที่ชายหาด และอาจมีบางส่วนที่ถูกดินตะกอนทับถมอยู่ในแนวหญ้าทะเล

จุดทิ้งขยะบนเกาะลิบงที่มีการคัดแยกประเภทของขยะ

“เราเป็นชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากทะเล เราไม่อยากให้อู่ข้าวอู่น้ำของเราพังไปหรอก” หญิงอาสาสมัครหมู่บ้านคนหนึ่งพูดกับฉันด้วยน้ำเสียงชาวใต้ “เราตื่นตัวกับเรื่องขยะมานานมากแล้ว แต่เก็บขยะเท่าไร มันก็ไม่หมดไปเสียที” เสียงของชาวบ้านสะท้อนบางอย่างว่า หากหวังแต่พึ่งพาคนที่อยู่กับทะเล ปัญหาขยะทะเลคงไม่บรรเทาลง เราทุกคนมีส่วนในการสร้างขยะ เพราะปลายทางของขยะคือทะเล แม้เราจะทิ้งอยู่บนบกที่อยู่ห่างไกลทะเลเพียงใด แต่ขยะเพียงชิ้นเดียวก็อาจไหลลงสู่ทะเลได้ในวันหนึ่ง การแก้ปัญหาขยะทะเลให้ยั่งยืนจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะที่ไปปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติ และใส่ใจเรื่องพฤติกรรมการบริโภคให้มากขึ้น

บริเวณอ่าวบนเกาะลิบงที่เคยเป็นแหล่งอนุบาลมาเรียม

เช่นเดียวกับชุมชนมดตะนอย ผู้ใหญ่ที่อยู่บนเกาะปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักทรัพยากรทางทะเลตั้งแต่เด็กๆ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคุณครูและผู้นำศาสนาคอยสอนเรื่องวิถีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ในโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนให้เด็กรู้จักกับหญ้าทะเล ให้นักเรียนนำหญ้าทะเลมาทดลองเพาะปลูกในตู้ และวางแผนการทดลองด้วยตนเองตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษา และตั้งชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มเยาวชนปริศนาหญ้าทะเล”

“การใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุดก่อนกลายเป็นขยะ เป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยให้ปริมาณขยะลดลงได้” ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ขยะทั้งหลายในทะเลส่วนใหญ่มาจากบนบก เพราะฉะนั้น เราสามารถเริ่มได้จากตัวเราทุกคน เพราะตราบใดที่เราเป็นหนึ่งในผู้บริโภค เราทุกคนต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาจเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุด หมุนเวียนวัสดุต่างๆ ที่เราบริโภคให้เกิดมูลค่ามากที่สุดก่อนที่เราจะทิ้งไป รู้จักแยกขยะอย่างถูกวิธี และบริโภคอย่างรู้คุณค่า เพียงเท่านี้เราก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.