เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ทางกองบรรณาธิการออนไลน์ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย โพสต์การแถลงข่าวเรื่อง “นวัตกรรม ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ 100% โดยนักวิจัยไทย” ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ และได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากผู้อ่านของเรา อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากผู้บริหารและผู้ติดตามแฟนเพจของเรา ส่งคำถามเกี่ยวกับถุงพลาสติกย่อยสลายได้เข้ามามากมาย
วันนี้กองบรรณาธิการออนไลน์ลงพื้นที่เพื่อนำคำถามจากแฟนเพจไปสอบถามนักวิจัยชาวไทย ผู้คิดค้นนวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสบายได้ ที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.
กระบวนการย่อยสลายของถุงพลาสติกย่อยสลายได้เกิดขึ้นอย่างไร
เม็ดพลาสติกที่นำไปผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายได้”ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการย่อยสลาย ขอแนะนำกระบวนการผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายได้ก่อนนะครับ” ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยจากทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวและเสริมว่า “เราใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นสารตั้งต้น โดยนำไปหลอมให้เป็นเม็ดพลาสติก แต่คุณสมบัติที่ได้ไม่เหมาะสมนำไปขึ้นรูปถุงพลาสติก จึงจำเป็นต้องเติมเม็ดพลาสติกชนิด TAPIOPLAST, PBAT, และ PLA เพื่อเพิ่มความเหนียว และนำไปขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกได้”
เม็ดพลาสติกที่ผสมลงไปมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ตามมาตรฐาน EN13432 ซึ่งเป็นมาตรฐานของวัสดุที่ย่อยสลายได้ กำหนดโดยสหภาพยุโรปสำหรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการผลิตบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้อย่างจริงจัง จึงได้เริ่มพัฒนาความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาถุงพลาสติกย่อยสลายได้ในเชิงพาณิชย์
“ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่กำลังจะวางจำหน่ายนี้ นำไปใช้สำหรับขยะอินทรีย์ (Organic Waste) เท่านั้น เช่น เศษอาหารจากครัวเรือน เศษใบไม้ หรืออินทรียวัตถุต่างๆ” ดร.นพดล ยกตัวอย่างและอธิบายว่า “กระบวนการย่อยสลายจำเป็นต้องอาศัยจุลชีพ (microorganism) และต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมคือต้องมีอากาศร่วมในกระบวนการย่อยสลาย”
ระยะเวลาในการย่อยสลายนานเท่าไร
ถ้าอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม คือมีอากาศ มีความชื้น และมีจุลชีพ กระบวนการย่อยสลายใช้เวลาประมาณ 3 – 4 เดือน แต่ถ้านำไปจำกัดไม่ถูกวิธี กระบวนการย่อยสลายอาจใช้เวลานานขึ้น
ในระดับครัวเรือนสามารถใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ให้ถูกต้องได้อย่างไร
อันดับแรกคือ “การแยกขยะให้ถูกประเภท” ถ้าเราเอาถุงพลาสติกธรรมดามาทิ้งรวมกับเศษอาหาร ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่ผลิตมารุ่นนี้ ใช้สำหรับทิ้งขยะเศษอาหารและอินทรียว้ตถุ เท่านั้น
ในหลายๆ ประเทศประกาศบังคับใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้เพื่อทิ้งเศษอาหารอย่างจริงจัง รวมถึงออกกฏและอัตราเปรียบเทียบปรับในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ปฏิบัติตาม ในความเป็นจริง ต้องอาศัยหลายกลไก ทั้งผู้ใช้ระดับครัวเรือน ร้านค้าต่างๆ ต้องเกิดความเข้าใจก่อนว่า ถุงพลาสติกย่อยสลายได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องการจัดการขยะมีความเข้าใจเรื่องนี้และปฏิบัติได้ถูกต้องหรือไม่ ต้องอาศัยหลายๆ ภาคส่วนในการผลักดันเรื่องนี้
กำหนดการวางจำหน่าย และสถานที่จำหน่าย
กำหนดวางจำหน่ายถุงพลาสติกย่อยสลายได้ คาดว่าอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 แต่สถานที่วางจำหน่ายกำลังอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงระหว่างบริษัทผู้ผลิตและร้านค้า คงทราบผลเร็วๆ นี้
สุดท้ายนี้ ทางทีมวิจัย MTEC มีแผนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อย่างไร
เรากำลังมองไปถึงผู้ใช้ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ที่ต้องใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ เรากำลังพัฒนาสูตรเม็ดพลาสติกที่เหมาะสมกับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อไปถึงกลุ่มผู้ใช้งานในวงกว้างขึ้นด้วย
นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลายได้ เป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค และเป็นการเริ่มต้นปรับตัวตามกระแสโลก ที่ทุกคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้จะเป็นทางเลือกใหม่ แต่เราก็ต้องรู้จักบริโภคอย่างเหมาะสม พลาสติกควรนำมาใช้ซ้ำและมีการจัดการอย่างถูกวิธีและเหมาะสม