พลาสติกใช้แล้วทิ้ง : ลด ละ เลิก วิถีชีวิตติดพลาสติก

พลาสติกใช้แล้วทิ้ง : ลด ละ เลิก วิถีชีวิตติดพลาสติก

 พลาสติกใช้แล้วทิ้ง แสนสะดวกเข้าครอบงำชีวิตประจำวันของเรา

และเราอาจบอกลานิสัยติดพลาสติกเพื่อโลกได้อย่างไร

เพียงมองแวบแรก อาจบอกได้ยากว่า สิ่งต่างๆอย่างแปรงสีฟัน ยางรถยนต์ บุหรี่ และรองเท้า มีอะไรเหมือนกัน

แต่ถ้าพินิจให้ถ้วนถี่ เราจะพบว่า ของเหล่านั้นมักมีส่วนผสมของวัสดุอัศจรรย์อย่างพลาสติกอยู่ไม่มากก็น้อย

ตอนนี้วัสดุที่ว่ากลายเป็นปัญหาระดับโลก บางครั้งการนำกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย เพราะพลาสติกถูกนำไปผสมกับวัสดุอื่น รวมถึงพลาสติกต่างชนิด เช่นที่พบในรองเท้า ในหลายพื้นที่ การนำกลับมาใช้ใหม่ การเผา หรือการฝังกลบ ไม่ใช่ทางเลือก ไม่ต้องพูดถึงเศษขยะทั้งหมดที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองและมหาสมุทร ดังนั้น บ่อยครั้งยิ่งกว่าที่หลังจากการใช้งานสั้นๆ สิ่งของพลาสติกก็กลายเป็นขยะที่มีแนวโน้มจะมีชีวิตหลังความตายหลายร้อยปี

พลาสติกถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองและไหลสู่ทะเล แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ให้สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในทะเลกัดกิน อนุภาคเหล่านี้ปนอยู่กับเกลือทะเลที่เราบริโภคโดยไม่รู้แน่ถึงผลกระทบ เราหายใจเอาอนุภาคพลาสติกที่เล็กยิ่งกว่า เรียกว่านาโนพลาสติก เข้าไป เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบนาโนพลาสติกบนยอดเขาอันห่างไกลและกระทั่งในภูมิภาคอาร์กติก

ทั่วโลกขายบุหรี่ปีละหลายล้านล้านมวน แต่มีก้นบุหรี่เพียงราวหนึ่งในสามเท่านั้นที่ทิ้งลงถังขยะ  ที่เหลือถูกดีดทิ้งข้างถนนหรือทางน้ำที่ซึ่งมันจะปล่อยนิโคตินและน้ำมันดินสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมกับพลาสติก ก้นบุหรี่คือขยะพลาสติกอันดับแรกๆที่พบตามชายหาด
อุปกรณ์การกินทำจากพลาสติกหลายพันล้านชิ้นถูกทิ้งทั่วโลก เราเคยอยู่โดยไม่มีของพวกนี้ได้อย่างไร และจะทำได้อีกครั้งหรือไม่

ตอนนี้วัสดุอัศจรรย์กลายเป็นวัตถุแห่งฝันร้าย

นับวันความท้าทายที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นคือการมีสิ่งแรกโดยไม่มีสิ่งหลัง “ลด ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่” (reduce, reuse, recycle) คือคำตอบของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ธุรกิจต่างๆ ที่ขายผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมีแรงจูงใจน้อยนิดที่จะสนับสนุนการลดหรือ     การใช้ซ้ำ ขณะที่การนำกลับมาใช้ใหม่อาจซับซ้อนและมีราคาสูง แต่เมื่อมลพิษพลาสติกกลายเป็นปัญหาระดับโลกในปัจจุบัน ความเสี่ยงจึงเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับการตระหนักรู้ของสาธารณชน

รองเท้ายากจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะทำมาจากการนำพลาสติกหลายชนิดกับวัสดุอื่นๆ มาทากาวและหลอมเข้าด้วยกัน
คนทั่วโลกซื้อเครื่องดื่มบรรจุขวดพลาสติกหนึ่งล้านขวดทุกหนึ่งนาที แต่อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ ยังจัดว่าต่ำอยู่มาก

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดดูเหมือนเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ขยะพลาสติกเริ่มทำให้เรากังวล เหล่าผู้ประกอบการกำลังสร้างทางเลือกใหม่ๆเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนี้

ทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติก คือความท้าทายที่ต้องใช้วิธีจัดการแตกต่างกัน สิ่งของทุกชิ้นมีเรื่องราว และนี่คือบางส่วนของเรื่องราวเหล่านั้น รวมทั้งบางส่วนของทางออกด้วย

เรื่อง ลอรี คัทเบิร์ต

ภาพถ่าย ฮันนาห์ วิตเทเกอร์

ชาวอเมริกันโยนแปรงสีฟันทิ้งเฉลี่ยปีละหนึ่งพันล้านชิ้น แม้จะมีแปรงสีฟันทางเลือกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่แปรงสีฟันพลาสติกก็ยังใช้กันทั่วไป
ทุกวันนี้ ยางรถยนต์หนึ่งเส้นประกอบด้วยยางธรรมชาติร้อยละ 19 และยางสังเคราะห์ร้อยละ 24 ที่เหลือเป็นโลหะและสารประกอบอื่นๆ ขณะบดอัดและเสียดสีกับผิวถนน ยางรถยนต์จะปล่อยเศษยางสังเคราะห์ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่ได้จากปิโตรเลียมเหมือนพลาสติกอื่นๆ ฝนชะล้างเศษพลาสติกเหล่านี้จากถนนลงสู่ทางน้ำ

เห็นแก่โลกหรือพลาสติก: สารคดีเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ระยะเวลาหลายปีในชื่อ “เห็นแก่โลกหรือพลาสติก” (Planet or Plastic?) ที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้ถึงวิกฤติขยะพลาสติกทั่วโลก เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกในรูปแบบวิดีโอและสารคดีได้ที่ natgeo.com/plastic

***อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2562


สารคดีแนะนำ 

วิกฤติพลาสติกล้นโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.