พิจารณาวันหมดอายุบนฉลาก คุณก็สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงวิกฤต ‘ขยะอาหาร’ ได้

ความท้าทายของการลด ‘ขยะอาหาร’ คือการสร้างความรับรู้ให้ผู้บริโภคเรียนรู้ถึงความแตกต่างของคำต่างๆ ที่แสดงบนฉลากอาหาร

ขยะอาหาร เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกังวล ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nations’ Food and Agriculture Organization) ระบุว่า ขยะอาหาร มีปริมาณ 1.3 พันล้านตัน หรือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่ผลิตทั้งหมดในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่า 940 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่คนประมาณ 800 ล้านคนเข้านอนด้วยความหิวโหย มากกว่าครึ่งของพื้นที่การเกษตรในโลกกำลังปลูกพืชที่คนไม่บริโภค

ข้อมูลด้านบน ฟังดูทั้งใกล้ตัวและไกลตัวได้ในคราวเดียวกัน เพราะแม้เราจะรับรู้ตัวเลขน่าตกใจเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริง ชีวิตประจำวัน เมื่อเราเปิดตู้เย็น หยิบของโปรดที่เกือบลืมไปแล้วว่าเก็บไว้ และพบว่า ‘วันที่ควรบริโภคก่อน’ ผ่านไปแล้ว 2 วัน สิ่งที่เราทำคือโยนมันลงถังขยะ

คำถามคือ การทิ้งอาหารที่อายุเลย ‘วันที่ควรบริโภคก่อน’ คือการกระทำที่ถูกต้อง ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงๆ ใช่ไหม?

ทำไมจึงเกิดขยะอาหาร

ข้อมูลจาก Love Food Hate Waste เครือข่ายความยั่งยืนด้านอาหารในสหราชอาณาจักรระบุว่า ความสับสนของผู้บริโภคและความไม่อยากรับประทานอาหารที่อาจ ‘หมดอายุ’ แล้ว นำไปสู่การทิ้งอาหารที่ยังอยู่ในสภาพดีมากกว่า 1 ล้านตัน ขยะเหล่านี้คิดเป็นเงินประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ทั้งที่จริงแล้ว มากกว่าครึ่งของอาหารที่เราทิ้งไปเป็นของที่เรายังกินได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร และบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอาหาร

การประชุมสุดยอดของ The World Cold Chain Summit เรื่องการลดขยะอาหาร มีการพูดคุยในประเด็นโซ่ความเย็น (Cold Chain) หรือการควบคุมอุณหูมิการขนส่งและเก็บอาหารของผู้ประกอบการ เพื่อเก็บรักษาอาหารให้สดใหม่และลดการทิ้งอาหาร

โดยขยะอาหารในประเทศกำลังพัฒนา มักมีสาเหตุจากโซ่ความเย็นที่ไม่มีประสิทธิภาพระหว่างกระบวนการผลิตและการจำหน่ายอาหาร ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้สูง ผู้บริโภคกว่าครึ่งเป็นผู้สร้างขยะอาหารเอง

นอกจากนี้การที่ปัจจุบันราคาอาหารถูกลงมาก ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจทิ้งอาหารได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน

ขยะอาหารส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

อาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกในแต่ละปี คือสิ่งบ่งชี้ว่าเรามีอาหารเพียงพอต่อคนทั้งโลก แต่มันไม่สามารถแจกจ่ายให้คนทั้งโลกที่ต้องการได้

การผลิตอาหารใช้ต้นทุนมหาศาลกว่าที่เราคิด ตั้งแต่ผืนป่าที่ถูกถางเพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม คนจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ต้องอพยพไปจากบ้านเกิด เนื่องจากการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ที่ดึงทรัพยากรไปหมดสิ้น โดยเฉพาะน้ำสำหรับบริโภค

พื้นที่ในกระบวนการผลิตอาหาร สร้างดินที่ปนเปื้อน อากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง และที่รุนแรงที่สุดคือก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลที่เกิดจากอุตสาหกรรมอาหาร

ก๊าซเรือนกระจกจากอาหารที่ถูกทิ้งโดยคนทั้งโลก มีปริมาณเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า

เมืองบังคาลอร์ในอินเดียที่มีประชากรเกือบ 10 ล้านคน บังคาลอร์ผลิตขยะอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 ตัน ต่อวัน ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ จากขยะทั้งหมดเป็นขยะอินทรีย์ ขอบคุณภาพจาก Greenpeace

แก้ปัญหาขยะอาหารโลก เริ่มต้นจากตัวเอง

มีหลายวิธีในการลดช่วยลดการทิ้งอาหาร เช่น ซื้อในปริมาณที่พอเหมาะ การเก็บให้ถูกต้อง การเก็บในช่องแช่แข็งก่อนที่อาหารจะถึงวันหมดอายุ หรือการนำอาหารเหลือมาทำเมนูใหม่ ๆ หากทำตามวิธีดังกล่าวอย่างถูกต้อง อาหารก็จะไม่กลายเป็นขยะ

ความสับสนของการใช้คำแสดงวันหมดอายุบนฉลากอาหาร ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการทิ้งอาหารของผู้บริโภค

คำว่า ‘ควรบริโภคก่อน’ (Best Before) ‘นำมาปรุงอาหารก่อน’ (Use By) และ ‘ควรอยู่บนชั้นวางสินค้าถึงวันที่’ (Display Until) มีความหมายต่างกัน แต่สำหรับผู้บริโภคบางคน เมื่อตระหนักว่าวันบริโภคเลยวันหมดอายุไปแล้ว มักทิ้งอาหารลงถังขยะทันที

‘ควรบริโภคก่อน’ (Best Before)

แสดงถึงคุณภาพของอาหาร เป็นการประเมินจากผู้ผลิตว่าอาหารจะมีความสดและรสชาติดีที่สุดได้นานถึงวันไหน ใช้กับอาหารหลายประเภท บนชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต ‘อาหารที่เลยวันที่ควรบริโภคก่อน’ มาแล้วยังสามารถรับประทานได้ ตราบใดที่ยังอยู่ในสภาพดี ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม และรสชาติปกติ ยกเว้นไข่ไก่

‘นำมาปรุงอาหารก่อน’ (Use By)

แสดงถึงความปลอดภัยของอาหาร โดยใช้กับเนื้อสัตว์ ปลา หรือเนื้อไก่ที่เสื่อมสภาพได้ ผู้บริโภคจึงควรยึดวันที่บนฉลากนี้อย่างเคร่งครัด โดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพหรือกลิ่นของอาหารเหล่านั้น ควรนำมาใช้หรือปรุงอาหารก่อนวันที่ที่ระบุไว้บนฉลาก

‘ควรอยู่บนชั้นวางสินค้าถึงวันที่’ (Display Until)

คำนี้บนฉลากช่วยให้ร้านค้าหรือผู้ขายจัดการการวางสินค้า โดยนำอาหารที่ใกล้วันที่ระบุบนฉลากหรือใกล้วันหมดอายุไว้ด้านหน้าสุด และวางอาหารสดใหม่ไว้ด้านหลัง เพื่อไม่ให้เหลืออาหารที่ใกล้หมดอายุและถูกนำไปทิ้ง

ความท้าทายของการลดขยะอาหาร คือ การสร้างความรับรู้ให้ผู้บริโภคเรียนรู้ถึงความแตกต่างของคำต่าง ๆ ที่แสดงบนฉลากอาหาร

สืบค้นและเรียบเรียง ภูม บุญมาแย้ม

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : กว่าจะมาเป็น Refill Station ร้านค้าแบบเติมแห่งแรกของไทย เมื่อธุรกิจช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.