ลดผลกระทบจากความสุขชั่วมื้อ ด้วย 6 วิธีซื้ออาหารทะเลที่ดีตัวเราและโลก

ขับเคลื่อนการกินแบบยั่งยืน ใส่ใจต้นกำเนิดของวัตถุดิบ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากความสุขชั่วมื้อ ด้วย 6 แนวทางเลือกซื้ออาหารทะเลอย่างยั่งยืนต่อไปนี้

อุตสาหกรรมอาหารทะเลในปัจจุบันกำลังตกอยู่ในภาวะไม่ปกติ มหาสมุทรปนเปื้อนและมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์ในมหาสมุทรเป็นอย่างมาก ในขณะที่การทำประมงที่มากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ ทำให้ 1 ใน 3 ของประชากรปลาทั่วโลกถูกจับมากเกินไปและมีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ สวนทางกับปริมาณปรอทในตัวปลาที่กลับมีปริมาณสูงมากขึ้นและยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกิจกรรมการเผาถ่านหินของมนุษย์

แต่ท่ามกลางข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง ด้วยการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวด้านอาหารอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคเริ่มตั้งคำถามว่าอาหารทะเลของพวกเขามาจากไหน ใครเป็นคนจับมัน และจับมันด้วยวิธีการอย่างไร

เพราะเมื่อผู้บริโภครู้ว่าตนเองมีสิทธิและอำนาจในการตั้งคำถามต่อผู้ผลิตได้ เมื่อนั้นผู้ที่อยู่ในสายพานการผลิตทั้งหมด ต้องร่วมกันรับผิดชอบในการตอบคำถาม และมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการติดตามห่วงโซ่อุปทาน ที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลที่พวกเขาซื้อและรับประทาน นั้นมาจากการประมงที่ถูกกฎหมาย มีจริยธรรม และยั่งยืนต่อทุกชีวิตในมหาสมุทรของพวกเราทุกคน

และนี่คือ 6 แนวทางในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารทะเลอย่างยั่งยืน โดยสภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council – NRDC) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติได้ เพื่อให้ทุกมื้ออาหารของเรา สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด

1 คิดให้เล็ก

ปรอทเป็นสารนิวโรทอกซินที่มีฤทธิ์ไปขัดขวางกระบวนการทำงานของสมองและก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาท โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ปลาที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างหมึก หอยเชลล์ และปลาซาร์ดีน จะมีสารปรอทน้อยกว่าปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างปลาทูน่าและปลากระโทงดาบ ซึ่งอยู่ในลำดับห่วงโซ่อาหารที่สูงกว่า

เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเมื่อปลาใหญ่กินปลาที่มีขนาดเล็กกว่า ผู้ล่าจะดูดซึมสารพิษที่อยู่ในตัวเหยื่อเข้าไปด้วย กระบวนการนี้เรียกว่า “การสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหาร” (Biomagnification) ดังนั้นเมื่อปลาทูน่ากินฝูงปลาแอนโชวี่เข้าไป มันจะสะสมสารปรอทที่อยู่ในปลาแอนโชวี่เข้าไปอยู่ในตัวมันเองด้วย

2 เลือกวัตถุดิบในท้องตลาดท้องถิ่น

คนในสหรัฐอเมริกาบริโภคอาหารทะเลเป็นปริมาณเกือบ 5 พันล้านปอนด์ทุกปี และร้อยละ 90 ของอาหารทะเลเหล่านั้นนำเข้ามาจากประเทศที่ขาดแคลนกฎหมายการจัดการอย่างระมัดระวัง อย่างประเทศจีนและเวียดนาม

เนื่องจากการปราศจากข้อจำกัดในการจับปลา ทำให้ปลาหลายสายพันธุ์โดนคุกคามและถูกจับมากเกินไป ยังมีปัญหาเรื่องการจับปลาที่หลงมาติดอวน จับสายพันธุ์ปลาทะเลอย่างโลมาและเต่าทะเลมากับอวนจับปลาโดยไม่ได้ตั้งใจ วิธีการจับปลาในรูปแบบอื่นก็สร้างความเสียหายเช่นเดียวกัน อย่างการจับปลาโดยใช้อวนลากหน้าดิน การจับปลาวิธีนี้ไปทำลายปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ทะเล และการทำประมงแบบผิดกฎหมายยังสร้างมูลค่าทางการประมงอย่างถูกกฎหมายได้หลายพันล้านเหรียญทุกปี

ชาวประมงบนเรือประมงสัญชาติไทยลำหนึ่งกำลังช่วยกันยกอวนล้อมที่อัดแน่นไปด้วยสัตว์นํ้าหลายชนิดขึ้นสู่ผิวนํ้าความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในทะเลอันดามัน เป็นแหล่งกำเนิดและถิ่นอาศัยของสัตว์นํ้าเศรษฐกิจหลายชนิดทว่าการทำประมงเกินขนาดทำให้ปริมาณสัตว์นํ้าที่จับได้ลดลงอย่างมาก ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

อาหารทะเลที่นำเข้ามาเหล่านี้ ไม่ได้มาจากสัตว์ที่ถูกจับตามธรรมชาติ แต่เป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูอยู่ในฟาร์มของต่างประเทศ ในโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมแบบฟาร์ม บ่อยครั้งปลาเหล่านั้นต้องเผชิญกับยาปฏิชีวนะที่อันตรายและสารเคมีต่าง ๆ (ซึ่งส่วนมากถูกห้ามใช้ในสหรัฐอเมริกา) ปลาเหล่านั้นยังถูกเก็บไว้ในก้อนน้ำแข็งที่เต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียและเชื้อซาลโมเนลลาที่พบปนเปื้อนในมูลหมู

องค์กรอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) จะตรวจสอบอาหารทะเลที่มาจากต่างประเทศเพียงร้อยละ 2 จากทั้งหมด ฉะนั้นเป็นการดีกว่าหากผู้บริโภคซื้ออาหารทะเลจากแหล่งขายอาหารที่อยู่ใกล้บ้าน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การประมงในสหรัฐอเมริกาได้มีการระงับการทำประมงที่มากเกินกำลังการผลิตของสัตว์น้ำและฟื้นฟูประชากรปลาที่มีจำนวนลดลงภายใต้กฎหมายการประมงของรัฐ ยังมีปลาบางชนิด เช่น ปลาค็อดแอตแลนติกที่กำลังประสบปัญหามีจำนวนลดลง หรือปลาวาฬขวาแอตแลนติกเหนือก็มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากการถูกจับไปพร้อมกับอวนที่ใช้จับกุ้งล็อบสเตอร์

ฉลามวาฬที่ยังไม่โตเต็มวัยขนาดร่วมห้าเมตร แหวกว่ายอยู่ในท้องน้ำนอกเกาะบอน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ขณะที่เหล่านักดำน้ำเร่งว่ายตามเพื่อบันทึกภาพปลาขนาดใหญ่ที่สุดแห่งท้องทะเล งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกิจกรรมท่องเที่ยวดูฉลามนั้นสูงกว่ามูลค่าที่เกิดจากกิจกรรมประมงชนิดเทียบกันไม่ได้ ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

3 เลือกซื้อให้หลากหลาย

คนอเมริกันมักจะเลือกซื้ออาหารทะเล 5 ประเภท ได้แก่ กุ้ง แซลมอน ทูน่ากระป๋อง ปลานิล และปลาพอลลอค ความต้องการซื้อปลาเหล่านี้ในปริมาณมากนำไปสู่ปัญหาในหลายด้าน อย่างการจับปลาในปริมาณที่เกินพอดี วิธีการจับปลาที่ก่อให้เกิดอันตราย การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และการใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากเกินไป

ในขณะที่ชายฝั่งของสหรัฐอเมริกาประกอบไปด้วยสายพันธุ์ปลาที่มีรสชาติอร่อยและยั่งยืนนับร้อยสายพันธุ์อย่างปลากระบอกและปลาจาน หากเราหันมาเลือกกินสายพันธุ์ปลาที่คนไม่ค่อยนิยมบริโภคเหล่านี้ เราจะสามารถลดความเสียหายและช่วยให้การประมงของอเมริกาพัฒนาต่อไปได้

4 กินปลาท้องถิ่น

การประมงแบบเกื้อกูล (Community-Supported Fisheries) กำลังเติบโตอย่างมาก โดยมีต้นแบบมาจากโปรแกรมการเกษตรแบบเกื้อกูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคจ่ายเงินเพื่อรับวัตถุดิบที่มาจากการเก็บเกี่ยวของชาวนา

การเข้าร่วมการประมงแบบเกื้อกูลคือหนทางที่ยอดเยี่ยมที่เราจะได้รู้ว่าปลาของเรามาจากที่ใด ใครเป็นคนจับมา และจับมาอย่างไร (การจับปลาในสเกลเล็ก ชาวประมงที่จับปลาอย่างยั่งยืนมักจะใช้วิธีการจับปลาที่สร้างผลกระทบต่ำกว่า อย่างการใช้เบ็ดตกปลาหรือการวางตาข่ายดักปลา) โปรแกรมประมงแบบเกื้อกูลยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจการประมงระดับท้องถิ่น ช่วยเพิ่มความต้องการซื้อในท้องถิ่นและเพิ่มอาหารทะเลอย่างยั่งยืน โดยเราสามารถค้นหาการประมงแบบเกื้อกูลใกล้บ้านได้ที่เว็บไซต์ขององค์กร Local Catch Network เว็บไซต์ที่รวบรวมและจัดหาแหล่งประมงท้องถิ่นที่จับปลาอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

5 เลือกกินอย่างรอบคอบ

ถ้าไม่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมการประมงแบบเกื้อกูลได้ ให้เลือกซื้ออาหารทะเลจากพ่อค้าและร้านอาหารที่ไว้ใจได้ ธุรกิจที่น่าเชื่อถือจะตั้งมาตรฐานอาหารทะเลที่พวกเขานำมาขายในร้านไว้สูงกว่า และส่วนมากพวกเขาจะวางแผนการหาซื้ออาหารทะเลอย่างยั่งยืนในระยะยาว

อาหารทะเลบางชนิดมาพร้อมกับฉลากที่ทำให้เราไม่ต้องคาดเดาว่าอาหารชนิดนี้มีความยั่งยืนหรือไม่ ฉลากที่ติดโดย สำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council – MSC) ก็เป็นหนึ่งในฉลากที่ได้รับการรับรองและดำเนินการติดฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco – Label) ตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO)

6 ใช้เครื่องมือที่ดีช่วยในการเลือกซื้อ

องค์กร Monterey Bay Aquarium ได้จัดทำโปรแกรม Seafood Watch ขึ้นมาเพื่อพัฒนาคำแนะนำอาหารทะเลตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจสร้างทางเลือกการซื้ออาหารทะเลที่เป็นมิตรต่อมหาสมุทร โดยแยกอาหารทะเลออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับ “best choices” อาหารทะเลที่ควรซื้อเป็นอันดับแรก ได้รับการจัดการดูแลอย่างดี และถูกจับหรือเลี้ยงดูในฟาร์มอย่างเหมาะสม

ระดับ “good alternatives” อาหารทะเลที่ซื้อได้แต่มีข้อควรระวัง เพราะมีข้อกังวลว่าสัตว์เหล่านี้ถูกจับมาอย่างไร ได้รับการเลี้ยงดูในฟาร์มหรือถูกจัดการอย่างไรบ้าง

และระดับสุดท้าย “avoid” อาหารทะเลที่ควรหลีกเลี่ยง พวกมันถูกจับมามากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ ขาดการจัดการที่ดี ถูกจับหรือถูกเลี้ยงดูในฟาร์มในแนวทางที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของสัตว์ทะเลชนิดอื่นหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

สืบค้นและเรียบเรียง : ภัทราพร ชัยบุตร

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : มิติความจริงที่หายไปจาก Seaspiracy สารคดีโด่งดังที่บอกให้มนุษย์เลิกกินปลา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.