พัทน์ ภัทรนุธาพร เด็กไทยใน MIT Media Lab ศูนย์วิจัยนวัตกรรมเพื่อโลกอนาคต

MIT Media Lab คือห้องปฏิบัติการวิจัยของ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พัฒนาเทคโนโลยีปฏิวัติวงการมาแล้วมากมาย

MIT Media Lab เกิดขึ้นในยุคที่โลกกำลังจะก้าวสู่ดิจิทัล ในช่วงปี 1985 จากความคิดริเริ่มของ Prof. Nicholas Negroponte หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ซึ่งตั้งคำถามว่า ถ้าเราจะสร้างเทคโนโลยีสักอย่างที่เปลี่ยนโลก เราควรจะสร้างเทคโนโลยีอะไร และเค้าค้นพบว่าเราควรจะสร้างเทคโนโลยีหรือกระบวนการที่นำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีที่มากขึ้น หรือการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถทำให้คนสร้างเทคโนโลยีได้ไปอีกขั้นหนึ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของ MIT Media Lab สถาบันที่สร้างนวัตกรรมเเห่งอนาคต

คำว่ามีเดีย (Media) ในที่นี้ไม่ใช่โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อโซเชียลมีเดียใด แต่คือตัวกลางที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าหากัน MIT Media Lab คือห้องปฏิบัติการที่รวมคนจากหลากหลายสาขาวิชา หลากหลายมิติ มาอยู่ด้วยกัน เพื่อที่พัฒนาสิ่งที่ยิ่งใหญ่และไกลกว่าการพัฒนาในแต่ละสาขาวิชา

ภาพจาก Facebook : MIT Media Lab

มันจะมีความต่อต้านการเรียนรู้แยกกันในแต่ละสาขาวิชาในรูปแบบเดิม ๆ หรือที่เรียกว่า Anti-Disciplinary แต่ในขณะเดียวกันมันจะมีการบูรณาการเข้าหากันจากหลาย ๆ ศาสตร์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

ห้องปฏิบัติการแห่งนี้รวมคนจากหลากสาขาวิชา ที่มีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวหลายมิติมาอยู่ด้วยกัน เพื่อพัฒนาสิ่งยิ่งใหญ่และกว้างไกลกว่าการพัฒนาในแต่ละสาขาวิชา เพราะการเรียนรู้แยกกันในแต่ละสาขาวิชาแบบเดิม หรือที่เรียกว่า Anti-Disciplinary ไม่สามารถบูรณาการศาสตร์อันหลากหลาย เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อธิบายให้เห็นภาพ MIT Media Lab แห่งนี้ เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นในฝันของเหล่านวัตกร เพราะคือพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ ที่หลอมรวมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะเข้าด้วยกัน

National Geographic Thailand ต่อสายทางไกลพูดคุยกับ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นวัตกรชาวไทยรุ่นใหม่และนักศึกษาปริญญาเอกแห่ง MIT Media Lab ถึงอนาคตของโลกแห่งนวัตกรรมล้ำสมัย และทางไปต่อของประเทศไทยในด้านเทคโนโลยี

ตอนนี้โลกเทคโนโลยีไปถึงไหนกันแล้ว

ในมุมมองของผม เทคโนโลยีในหลาย ๆ แขนงกำลังทะลายกำเเพงที่กั้น มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับเทคโนโลยี โลกจริงเเละโลกเสมือน รวมสิ่งต่าง ๆ เข้าหากัน

อย่างเช่น อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of things) ที่ทำให้ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงถึงกัน เราส่งจรวดไปดาวอังคาร แต่เราสามารถรับข้อมูลที่ส่งกลับมาวิเคราะห์บนโลก ไปจนถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่ฝังอยู่ในร่างกายคอยตรวจสอบการเจ็บป่วยของเราและส่งข้อมูลกลับออกมา

เเม้ว่าในแต่ละสาขาต่างมีการพัฒนาของมันเอง แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ ทุกสาขากำลังเชื่อมต่อ นำข้อมูลที่ดูเหมือนจะอยู่คนละมิติเข้ามารวมเกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ และนำไปสู่การค้นพบและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้

Ray Kurzweil นวัตกรชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ “The Singularity is Near” ทุก ๆ อย่างกำลังรวมศูนย์เข้าหากันและมันทำให้พลังแห่งเทคโนโลยีนั้นมันทวีคูณมากขึ้นไปอีก

อย่างผมเองสนใจการรวมกันระหว่าง Bio กับ Digital หรือการรวมกันของศาสตร์ทางชีววิทยาและระบบดิจิทัล โดยทั่วไปสิ่งมีชีวิตจะมีการคำนวณเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่น เราเก็บข้อมูลของร่างกายในรูปแบบของ DNA บางกรณีเวลาเราป่วย เมื่อเชื้อไวรัสเข้ามาสู่ร่างกายเราและพยายามแพร่พันธุ์ออกไป  มันจะมีการประมวลผลทางข้อมูลเกิดขึ้นอยู่เสมอ คำถามคือเราจะสร้างเทคโนโลยีที่ชีววิทยาและดิจิทัลเดินทางมาเจอกันได้อย่างไร

เพราะในอนาคต มันจะไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อของข้อมูลอีกต่อไป แต่มันคือการเชื่อมต่อของระบบที่เเยกจากกัน เช่น เมื่อก่อนเวลาคุณป่วยและไปโรงพยาบาล ข้อมูลการป่วยของคุณจะถูกเก็บอยู่ตรงนั้นไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ แต่เดี๋ยวนี้เวลาไปโรงพยาบาล ข้อมูลของคุณจะถูกนำไปรวมกับข้อมูลของคนอีกมากมาย เพื่อการวิจัยที่จะทำให้เราเห็นเทรนด์ว่าช่วงนี้มีโรคอะไรเกิดขึ้น พฤติกรรมคนเป็นอย่างไร ซึ่งมันนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ความเข้าใจใหม่ ๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ผลกระทบของการเชื่อมต่อของระบบนี้มันไม่ได้หยุดแค่ข้อมูลที่ได้ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมที่นำมาแก้ไขปัญหา เราสามารถใช้ AI มาช่วยสร้างยา หรือระบบที่สามารถส่งวัคซีนไปฉีดที่บ้านคุณเลยก็ได้

นวัตกรรมเปลี่ยนโลก ที่มีต้นกำเนิดมาจาก MIT Media Lab

นวัตกรรมที่ MIT Media Lab คิดค้นและส่งผลให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงมีอยู่มากมาย ในหลาย ๆ ภาคส่วน

MIT Media Lab เริ่มวิจัยและพัฒนาระบบจอสัมผัสหรือ Touch Screen มาตั้งแต่ปี 1995 จากความพยายามเพื่อให้เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนมากขึ้นด้วยการเชื่อมต่อที่ลื่นไหลเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์

Google Glass เป็นผลงานพัฒนาโดยนักศึกษาจาก MIT Media Lab ที่นำไปสู่การพัฒนาระบบ Virtual Reality (VR) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง ผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง สัมผัส แม้กระทั้งกลิ่น และ Augmented Reality (AR) หรือการจำลองภาพให้เสมือนจริง แบบ 360 องศา

Electronic Ink คือนวัตกรรมที่คิดค้นโดย Joseph M. Jacobson อาจารย์ของ MIT Media Lab ผู้ต้องการสร้างกระดาษที่ทำให้น้ำหมึกสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ จากกระดาษปกติที่ไม่ว่าจะพิมพ์สิ่งใดลงไป สิ่งนั้นจะคงอยู่ถาวร แนวคิดของโจเซฟนำไปสู่การพัฒนา Kindle จอที่ใช้พลังงานต่ำและถนอมสายตา

แม้แต่คอนเซปต์เริ่มต้นของ Social Media ก็เกิดขึ้นใน MIT Media Lab จากกลุ่ม Socialable Media ซึ่งมีแนวคิดตั้งต้นว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เว็บไซต์เป็นเพียงพื้นที่ให้คนมาอ่านหรือรับข้อมูล แต่เป็นพื้นที่รวบรวมคน และถูกต่อยอดนำไปสู่การสร้าง Social Media Platform อย่าง Facebook และ Twitter

LEGO Mindstorms เกิดขึ้นจากสมมติฐานว่าจะเป็นยังไงหากเด็กสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ ไม่ใช่แค่เป็นผู้ใช้ แต่เป็นผู้สร้าง เด็กจะเรียนรู้ได้ดีกว่าจากการที่เค้าเล่นสนุกและทดลอง และนำไปสู่การค้นคว้า และได้คิดถึงวิธีการคิด เช่น การที่คอมพิวเตอร์สามารถสั่งให้หุ่นยนต์ขยับได้เราต้องคิดว่าคอมพิวเตอร์มันจะคิดยังไง -เราต้องทบทวนกระบวนการคิดของเราให้ดีก่อน อย่างเช่นถ้าเราอยากให้หุ่นยนต์เลี้ยวซ้ายเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง เราต้องคิดว่าถ้าตัวเราเองอยากเลี้ยวซ้าย เราจะต้องขยับร่างกายเราอย่างไร

แนวความคิดของ MIT Media Lab คือการที่จะเพิ่มอำนาจผู้คนในการทำสิ่งใหม่ ๆ ผ่านเทคโนโลยี

 

กระบวนการคิดและลงมือทำแบบ MIT Media Lab

ที่นี่รับนักเรียนประเภท Misfit ที่ปกติเข้ากับภาคสาขาอื่นไม่ได้ ทำให้มีความหลากหลายสูง ผมอยู่ในกลุ่ม Fluid Interface ที่มุ่งหวังจะทำให้เทคโนโลยีไหลรวม กลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ นักเรียนในกลุ่มเดียวกันมีทั้งคนที่มาจากสาขา Biotechnology อย่างผมเอง ไปจนถึงคนที่มีพื้นหลังจากภาคจิตวิทยา วิศวกรรมไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ประสาทวิทยา รวมไปถึงปรัชญา

มันสนุกและสร้างสรรค์ เพราะคนใน MIT Media Lab ต่างคิดว่าพวกเขากำลังเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่น เพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่อยู่เสมอ

MIT Media Lab มีหลักการ 4 ข้อ เรียกว่า 4P of Creative Learning ประกอบไปด้วย การเล่นสนุก (Play) การเล่นสนุกกับเพื่อนที่มีความหลากหลาย และมีความคิดต่างกัน (Peers) ความสนใจ ความเป็นตัวของตัวเอง (Passion) และความคิดริเริ่มที่จะทำสิ่งต่าง ๆ (Project)

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ การเรียนรู้ผ่านระบบ Cross/Inter-Disciplinary ที่ทำให้ขอบเขตความรู้ของเรากว้างขึ้น ในขณะเดียวกันมันส่งผลให้ความรู้ของเราตื้นลงหรือเปล่า ผมคิดว่าการที่เราไม่ได้เรียนรู้ตามระบบแบบดั้งเดิมที่แยกไปตามรายวิชาเพราะเราให้ความสนใจกับโปรเจกต์มากกว่า ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งต้องอาศัยความรู้จากหลาย ๆ สาขา

เราจะทำการค้นหาความรู้ที่ลึกลงไปในเรื่องที่โปรเจกต์ต้องการ ไม่ใช่การที่จะค้นหาความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งแบบดั้งเดิม เราจะเลือกศึกษาเเละหยิบความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นั้นมาใช้เหมือนงานของผม ที่เน้นไปทางด้าน Wearable Technology การสร้างเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ซึ่งทำงานผสมผสานกับร่างกายของมนุษย์ ก็ต้องศึกษาทั้งในด้านชีววิทยา อิเล็กทรอนิกส์เเละอื่นๆ

ที่สำคัญที่สุดคือการที่เราเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ (Learn to Learn) และการเรียนรู้ที่จะสร้างนวัตกรรม

ภาพจาก Facebook : MIT Media Lab

บทเรียนจากการเข้าระบบการศึกษาที่ต่างประเทศ

ผมได้เรียนรู้ว่า สิ่งเล็ก ๆ หลายอย่าง ล้วนมีส่วนในการหล่อหลอมความคิดความอ่านของคน ๆ หนึ่ง การที่คนเราจะรับรู้ข้อมูลหรือตัดสินใจอะไรล้วนมีผลจากการเล่นเเละเรียนรู้ในวัยเด็ก สมัยเรียนมัธยมที่อเมริกา คุณครูมักถามเสมอว่าสิ่งที่ครูพูดนั้น เป็นเหตุเป็นผล (Make Sense) หรือเปล่า ซึ่งคำตอบจะถูกกลั่นกรองมาจากความคิดของตัวนักเรียน ต่างกับในไทยที่มักถามว่าเข้าใจหรือเปล่า เด็กเพียงแค่ต้องจำสิ่งที่ครูพูดให้ขึ้นใจ

ผมได้เห็นแนวคิดการดำเนินชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย (Goal Driven) ของคนอเมริกัน ที่อาจไม่ได้สนใจว่าคุณทำตามระเบียบ ถูกต้องตามตำราเป๊ะหรือเปล่า เพราะเขามองภาพใหญ่ว่าคุณต้องการจะทำอะไร และเอาเป้าหมายนั้นเป็นที่ตั้ง

การทำให้สำเร็จตามเป้าหมายอาจไม่ใช่ทางตรงเสมอไป เราต้องคิดนอกกรอบ ละทิ้งรูปแบบเดิม ๆ และเลือกมองข้ามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เคยถูกตั้ง เพื่อเดินตามเป้าหมาย ขอเพียงเป้าหมายนั้นเป็นเป้าหมายที่ถูกต้อง หากคุณมัวแต่ทำตามกฏเดิม ๆ มองไปยังเส้นทางเดิม ๆ โดยไม่มองภาพใหญ่ว่ากำลังเดินทางไปทางไหน ก็ยากที่จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

ผมเห็นวัฒนธรรมการอ่าน คนที่นี่อ่านหนังสือเยอะ การอ่านสำคัญมากเพราะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของสิ่งรอบตัวว่ามีที่มาอย่างไร และนำไปสู่การสร้างอนาคต

ผมได้เรียนวิชาปรัชญาและวรรณกรรม เพื่อทำความเข้าใจความคิดอ่านของคนยุคต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่างที่ผมอธิบายเรื่องการขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย เราไม่ได้เรียนวิชานี้ เพื่อทำข้อสอบว่า วรรณกรรมฉบับนี้แต่งขึ้นในปีคริสตศักราชใด แต่เราเรียนเพื่อศึกษาความคิดอ่าน ทัศนคติและการใช้ชีวิตของคนในยุคต่าง ๆ ในฐานะนวัตกร เมื่อเราเข้าใจวิวัฒนาการความคิดของมนุษย์ เราก็จะเข้าใจมนุษย์ในภาพกว้างและมิติหลากหลายยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน ในสิ่งเเวดล้อมที่ผมอยู่ คนที่นี่ใจกว้างและไม่ค่อยตัดสินคน (Judging) คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เท่าที่ต้องการ โดยไม่มีใครมาตัดสินคุณ หากคุณไม่ได้ละเมิดกฎหมาย ทำผิดจริยธรรมกับใคร ทุกสิ่งที่อยากทำ ทุกเรื่องที่อยากแสดงออก คือสิทธิโดยชอบธรรมของคุณ

เมื่อสังคมแทบไม่ให้น้ำหนักกับการตัดสินคนอื่น ส่งผลให้ทุกคนกล้าแสดงออก กล้าทำตัวประหลาดหลุดโลก ความไร้ขอบเขตกฎเกณฑ์นี้เอง ที่หลายครั้งคือต้นกำเนิดของนวัตกรรมและแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อโลก

นวัตกรรมใหม่ๆ มักจะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงหรือรบกวนสิ่งที่มีอยู่  มันทำให้เป็นสังคมที่สร้างสรรค์และสนุกที่จะอยู่ด้วย

โลกอนาคตในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร

ชีวิตของคนในโลกอนาคตจะมีความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับความซับซ้อน อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่ามันจะมีการโยงเข้าหากันของมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับเทคโนโลยี โลกจริงเเละโลกเสมือน การโยงกันของโซเชี่ยลมีเดีย เทคโนโลยีการแพทย์ ข้อมูลในธนาคารเรา แน่นอนว่ามันจะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น

แต่มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อมนุษย์ในระยะยาว เรายังไม่รู้ว่าเทคโนโลยีในอนาคตมันจะเปลี่ยนรูปแบบชีวิตเราที่เรามีต่อกันและกันขนาดไหน

ยกตัวอย่าง การเสพติดโซเชียลมีเดีย ที่นำไปสู่อาการซึมเศร้า จากการที่เราเห็นชีวิตของคนมากมายที่ดูเหมือนจะมีความสุขมากกว่าเราเพราะทุกคนนำเสนอเเต่ด้านที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา เทคโนโลยีนั้นมีประโยชน์ต่อมนุษย์มหาศาล แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับมนุษย์เช่นกัน

คำถามที่ต้องตอบคือ มนุษย์อยู่ตรงไหนในคลื่นแห่งเทคโนโลยี เราจะกำหนดตำแหน่งของผู้คนให้เข้ากับเทคโนโลยีอย่างไร เทคโนโลยีที่ดีไม่ควรมาแทนที่มนุษย์ แต่มันควรจะมาพัฒนา ปรับแต่งให้มนุษย์เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆได้มากขึ้น  เราต้องฝึกคนไม่ให้ไปทำสิ่งที่ AI สามารถทำแทนได้ แต่ฝึกคนให้ใช้ความสามารถ AI ทำในสิ่งที่เหนือกว่ามนุษย์จะจินตนาการได้

ในขณะเดียวกัน อีกหนึ่งความท้าทายของโลกที่ต้องเผชิญและก้าวผ่านไปให้ได้คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ภาวะโลกร้อนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไปตลอดกาล เทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างปกติสุขกำลังถูกคิดค้นขึ้น และจะกลายเป็นวิถีใหม่ อย่างหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างคนกับธรรมชาติ

จุดยืนของเมืองไทยในคลื่นเทคโนโลยี

สำหรับประเทศไทย เรายังมีปัญหาด้านโครงสร้างและกติกา เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ลึงลงไป เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ในแต่ละช่วงของหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยสมัยกรีก ลัทธิมาร์กซ์ที่ว่าด้วยสังคมนิยม มาจนถึงระบบทุนนิยมในปัจจุบัน กติกาแต่ละรูปแบบถูกสร้างและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนที่แตกต่างกัน ตามบริบทของสังคมในแต่ละยุคสมัย

ในประเทศไทยเรามองกติกาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อยู่ค้ำฟ้า เราเอากติกาที่สร้างมาเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วมาใช้ แต่เรายังไม่เข้าใจบริบทที่เปลี่ยนเเปลงไปรวมทั้งความแตกต่างระหว่างกติกาที่มนุษย์สร้างขึ้นและเป้าหมายที่มนุษย์ต้องการ ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้

จริง ๆ มีคนไทยที่เก่งมากหลายคน แต่เราไม่ใด้เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ไปทำการทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ ในอเมริกามีการเปิดโอกาสให้คนได้ท้าทายระบบ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมได้ในที่สุด

ความกล้า คือสิ่งที่จะนำไปสู่สิ่งใหม่ ไม่มีนวัตกรรมใดถูกสร้างขึ้นจากความคิดที่ว่ามันสำเร็จอยู่แล้ว เพราะถ้าเรามั่นใจว่ามันสำเร็จอยู่แล้วเเสดงว่าสิ่งนั้นก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เคยมีมา

การสร้างนวัตกรรม มาพร้อมความกล้าหาญ มาพร้อมความเสี่ยง มาพร้อมความพยายามที่จะค้นหาสิ่งใหม่ และยอมรับผลที่ตามา

หากประเทศไทยต้องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เราต้องเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำการทดลอง ทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดได้เมื่อเรากลับไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เรากระจายอำนาจให้คนสามารถตัดสินใจเองแล้วหรือยัง ประเทศไทยของเราไม่ได้ขาดคนเก่ง แต่กติกาของประเทศไทยไม่เอื้อให้พวกเขาได้มีโอกาสสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกัน ทำในสิ่งที่เค้าสนใจ และเปิดพรมแดนให้พวกเขาได้ทดลอง

เรื่อง จอมพล ละมูนกิจ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 42 Bangkok โรงเรียนทางเลือกสาย IT ที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางการศึกษา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.