พวกเราร่วมทริปมากับโครงการ Seiko Save The Ocean โครงการเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยบริษัท ไซโก (ประเทศไทย) โดยเราได้รับเชิญเพื่อเดินทางสู่ทะเลอันดามัน ปักหมุดที่จังหวัดภูเก็ต เรียนรู้การทำบ้านปลากับหมู่บ้านประมงแถบชุมชนแหลมตุ๊กแก ก่อนล่องเรือไปยังอ่าวเปลวในหมู่เกาะพีพี เพื่อร่วมปล่อยปะการังเทียม ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการอนุรักษ์แบบยั่งยืนให้กับทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อม
มากกว่ากองน้อยใหญ่ใต้น้ำ คือแหล่งพักพิงของฝูงปลา
เพราะใต้น้ำคือแหล่งทำมาหากินของชาวประมง เมื่อก่อนเพียงแค่วางลอบวางไซตามแนวหิน หรือดักทางน้ำ ก็ได้ปลามาไม่น้อย แต่ในระยะหลัง ชาวบ้านจับปลาได้น้อยลง แม้จะมีเพียงลอบเปล่าๆ ก็ต้องกู้ขึ้นมา ชาวประมงจึงเรียนรู้ที่จะอยู่คู่กับธรรมชาติ พวกเขาเปลี่ยนลอบให้กลายเป็นบ้านปลา เพื่อปกป้องปลาเล็กปลาน้อยให้เติบโตหล่อเลี้ยงชีวิตและระบบนิเวศ
การเพิ่มทรัพยากรทางทะเลทำกันหลายวิธี วิธีที่ใกล้ตัวของชาวประมงในพื้นที่บ้านแหลมตุ๊กแก จ.ภูเก็ต ก็คือการสร้างบ้านปลา ซึ่งทำกันมาแต่ไหนแต่ไร ชาวประมงรู้ว่าปลาจะมาว่ายวนอาศัยอยู่กับกองอะไรก็ตามใต้ท้องทะเล ธรรมชาติมีก้อนหินและปะการังมาให้ หรือซากใดๆ ที่จมลงใต้สมุทร ที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นบ้านปลา ถึงขั้นเป็นอาณาจักรหากมีกว้างใหญ่มากพอ
พี่แตน – ศรีสุดา ทิพย์จิตรดี ผู้นำชุมชนบ้านแหลมตุ๊กแก จังหวัดภูเก็ต บอกว่า “เมื่อก่อนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ใช้ยางรถจักรยานยนต์มัดเป็นช่อไปวาง แต่พอรู้ว่าไม่ดีกับสิ่งแวดล้อม เราก็คิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยนมาใช้ของธรรมชาติที่สุด ให้ธรรมชาติอยู่คู่กับธรรมชาติ”
บ้านปลารุ่นที่พี่แตนเล่าทำจากไม้อะไรตามที่หาได้ ขึ้นโครงไม่ต่างจากลอบ แต่ถอดบานดักออก เปิดให้ปลาว่ายผ่านเข้าออกอย่างอิสระ มุงทางมะพร้าวเพิ่มเสริมกำบังให้ปลาหลบภัย แต่เดิมลอบก็ถูกทำขึ้นเพื่อจับและปล่อยปลาไปในตัวอยู่แล้ว คนหาปลารู้ดีว่าจับปลาตัวเล็กไปก็กินไม่ได้ขายไม่ออก ปล่อยให้ลอดออกไปเติบโตต่อดีกว่า พวกเขาจึงถักตาข่ายให้ตาใหญ่ “อยากได้ปลาตัวใหญ่แค่ไหน ก็ใช้ตาใหญ่เท่านั้น” นี่เป็นวิถีที่ชุมชนมีอยู่แล้ว
เมื่อคนรักทะเลมาเจอกัน
ในโลกที่ความเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นพันธกิจหลักสำหรับทุกหน่วยในสังคม กิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเหมือนกันย่อมถูกดึงดูดเข้าหากัน แบรนด์ Seiko ซึ่งเดินตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals – SDGs ที่ทางสหประชาชาติประกาศเมื่อปี 2015 จากเป้าหมาย 17 ประการ ทางแบรนด์เลือกการอนุรักษ์ท้องทะเลมาสร้างพันธกิจตอบแทนโลกและสังคม
เพราะมีนาฬิกาดำน้ำรุ่น Prospex แคมเปญ Save The Ocean จึงเกิดขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ทะเลหลายด้าน แบรนด์แม่ที่ญี่ปุ่นสนับสนุนการสำรวจทางทะเล สร้างแคมเปญกำจัดขยะในทะเล เป็นต้น
สำหรับ Seiko ประเทศไทย คุณฮิโระยูกิ อะกาชิ (Mr.Hiroyuki Akashi) กรรมการผู้จัดการ ผู้รับไม้ต่อในการสร้างแคมเปญอนุรักษ์ทรัพยาการทางทะเล บอกว่า “จริงๆ โครงการ Seiko Save The Ocean นั้นทาง Seiko ประเทศไทยได้เริ่มต้นจัดทำขึ้นจากแคมเปญ จิมเบ นาฬิกาที่มีแรงบันดาลใจมาจากฉลามวาฬ จึงได้จัดกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเล พอบริษัทแม่รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทะเล ผมดีใจมาก เพราะผมชอบทะเล ผมจึงตั้งใจมากกับโครงการนี้” คุณอะกาชิเกิดในโอซากา แล้วย้ายไปโตที่โยโกฮามา เมืองท่าสำคัญของญี่ปุ่น เขาบ่มเพาะความรักและความผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่นั้น
คุณอะกาชิเสริมว่า “แคมเปญ Seiko Save The Ocean ในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยหลักคือการอนุรักษ์และฟื้นฟูชีวิตใต้ทะเล การสร้างบ้านปลา ปล่อยสัตว์น้ำในวัยอนุบาลคืนสู่ท้องทะเลหรือป่าชายเลน เป็นสิ่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เพิ่มเติมการวางรากฐานให้ยั่งยืนขึ้น และสนับสนุนสิ่งที่คนพื้นที่ทำอยู่แล้ว”
“ตอนที่ไซโกติดต่อมา เขาอยากรู้ว่าเราทำมาหากินอย่างไร เรารักษาดูแลสิ่งที่เราต้องอยู่คู่กันไปอย่างไร และให้เราสร้างบ้านปลาให้ดูว่าเราทำอย่างไร ปล่อยอย่างไร” พี่แตนเล่า สิ่งที่ชาวแหลมตุ๊กแกสาธิตนั้น กลายมาเป็นกิจกรรมหลักของผู้ร่วมทริป เราทุกคนจึงได้ลองสร้างบ้านปลาไปด้วยกัน
มืออันคล่องแคล่วทำงานร่วมกับมืออันเก้กัง ตรึงอวนตาข่ายเข้ากับโครงไม้ ผูกทางมะพร้าวเป็นใบบัง ท่ามกลางคำถามของพวกเราและคำตอบจากคนพื้นที่ ความเข้าใจก็ค่อยๆ ก่อตัว แหไนลอนที่ไม่ย่อยสลายในที่สุดแล้วจะถูกเก็บกู้ขึ้นมา เพราะบ้านปลามีอายุใช้งาน 3 – 6 เดือน ส่วนจะต้องไปวางจุดไหน “คนหาปลาอยู่กับน้ำ รู้ทางน้ำอยู่แล้ว เราก็ไปวางตามนั้น เรารู้กันโดยธรรมชาติเลย” พี่รัก – ทองม้วน ศรีผา ชาวประมงบ้านแหลมตุ๊กแกบอก
สำหรับบ้านปลาที่เราช่วยกันสร้างถูกนำไปวางที่อ่าวซันไรส์ บริเวณเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต ถิ่นทำกินหาปลาของชาวบ้านนั่นเอง โดยกำหนดจุดวางให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด สามารถกลับมาดูผล และเก็บกู้ภายหลัง
ปะการังเทียม บ้านปลาหลังใหญ่ เพื่อนของสัตว์ทะล
การทำปะการังเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ และวิวัฒนาการเร็วตามความรู้ที่เพิ่มขึ้น จากเคยวางสารพัดซากทั้งโครงเหล็ก ยางรถยนต์ และนานาวัสดุลงไปโดยไม่เท่าทันเรื่องผลกระทบ ก็มาตระหนักและพิจารณาถึงสิ่งที่จะลงไปอยู่ใต้ทะเลมากขึ้น
สำหรับการวางปะการังเทียมของโครงการ Seiko Save the Ocean ปีนี้ ได้มองหาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนมาเจอปะการังเทียมรุ่นใหม่ของ SCG สร้างจากปูนไฮบริดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้มาจับมือร่วมกัน ปะการังเทียมนี้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติของ CPAC Solution Center ทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการออกแบบให้กลมกลืนกับปะการังธรรมชาติ มีทั้งทรงปะการังสมองขนาดใหญ่ ปะการังสมองแบบแยกส่วน ปะการังอะมีบา และปะการังข้าวโพด ทางทีมงานคาดว่าวัสดุนี้จะคงทนอยู่ใต้น้ำได้นานมากกว่า 10 ปี
การวางปะการังเทียมจากปูนไฮบริดไม่เรียบง่ายเหมือนบ้านปลาโครงไม้ ที่ใช้เพียงเรือหางยาวหรือเรือหัวโทงแล่นออกไปหย่อนกลางทะเลก็เป็นอันเสร็จ ด้วยน้ำหนักหลักร้อยกิโลกรัมของปะการังเทียมแต่ละชิ้น ทำให้ต้องใช้เครนในการหย่อนลงไปด้วยความระมัดระวังอย่างสูง อาศัยความร่วมมือจากกรมอุทยานฯ อีกเช่นกันในการศึกษาและสำรวจจุดวางปะการัง ซึ่งเป็นจุดน้ำลึกอยู่ห่างจากเกาะพีพีดอนออกมาพอสมควร
ปะการังเทียม 26 ชิ้นเรียงอยู่บนเรือเครนท่ามกลางแดดร้อนระอุ เสียงตะโกนให้สัญญาณกันระหว่างคนขับเครน เจ้าหน้าที่ และคนดูแลเบื้องล่าง ล่างทั้งบนเรือพื้นเหล็กและล่างที่รออยู่ตรงผิวน้ำ นักดำน้ำฝ่ายอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ รวมถึงนำดำน้ำจาก PADI อีกพาร์ทเนอร์ของโครงการ มาร่วมสังเกตการณ์และให้การสนับสนุน เวลาเคลื่อนผ่านไปในหลักชั่วโมง งานหย่อนปะการังเทียมตรงหน้ายังคงน่าสนใจ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เห็นกันได้บ่อยครั้ง
ปะการังเทียมทำหน้าที่ทั้งเป็นฐานเกาะให้กับปะการังอ่อนและเป็นบ้านปลาไปในตัว รูปทรงโค้งมนมีร่องหลืบและช่องเปิดให้ปลาหลบหลีกและว่ายเล่น พอวางลงไปเป็นกลุ่มใหญ่ ให้เวลาทำงานสักหน่อยก็ค่อยๆ กลายหมู่บ้านของสัตว์ทะเล ทั้งนี้ จะมีการลงไปติดตามผลทุก 6 เดือน
เราถามพี่รักว่าพอมีบ้านปลาแล้วปลาเยอะขึ้นจริงไหม เขาบอกว่า
“น้ำที่นี่ผมลงมาหมดแล้ว เห็นทั้งปลามง ปลาเก๋า ปลาทองแดง ปลามงนี่เจอเยอะสุด เจอที 400 – 500 โล บางทีเจอเป็นพันโลก็มี ดำน้ำลงไปเห็นอะไรดำๆ เป็นฝูงใหญ่ก็รู้เลย หลังจากสร้างบ้านให้ปลา เห็นเลยว่าปลาเยอะขึ้น เพราะปลามีแหล่งพักพิง บางทีก็มาวางไข่ เราลูกทะเลเราก็ชอบ อยากให้ปลาเล็กปลาใหญ่มาอยู่เยอะๆ”
นอกจากทะเลจะเป็นแหล่งทำกินแล้ว ยังเป็นธรรมชาติที่เขารัก พี่รักมักใช้เวลาดำน้ำลึก (แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน) ลงไปชมปะการังและว่ายน้ำกับหมู่ปลาอยู่บ่อยครั้ง เขายืนยันว่าปลากลับมาอุดมสมบูรณ์จริงๆ
ต่อให้ไม่ได้เห็นกับตาว่าฝูงปลาเป็นพันตัวที่ว่ายไปด้วยกันนั้นเป็นอย่างไร แต่หลายคนที่มาเยือนทะเลใต้คงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผืนสมุทรที่ต่างกันไปในแต่ละช่วง ได้เห็นความงามที่ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองอย่างน่าอัศจรรย์ แต่เมื่อเราอยู่ร่วมกัน ก็ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันของมนุษย์
“ธรรมชาติเมืองไทยงดงามมาก ผมว่าคนไทยควรภูมิใจกับความสวยงามของธรรมชาติทั้งทะเลและภูเขา เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้ธรรมชาติคงความสมบูรณ์เอาไว้ โครงการที่เราทำคือการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิการุ่น Seiko Prospex มาจัดกิจกรรม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนเล็กมากถ้าเทียบกับหลายๆ องค์กรใหญ่ๆ แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ธรรมชาติในเมืองไทยครับ” คุณอะกาชิกล่าวด้วยรอยยิ้ม
เรื่อง อาศิรา พนาราม
ภาพ ดำรง ลี้ไวโรจน์ และ Seiko ประเทศไทย