ธนาคารน้ำใต้ดิน – นวัตกรรมภูมิปัญญาที่เปลี่ยนน้ำหลากจากหน้าฝนสู่ความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง

ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการกักเก็บน้ำหลากในหน้าฝน สำรองไว้ใต้ดินให้กลายเป็นความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง สร้างแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถทำได้

ที่ชุมชนรอบเขายายดา จ. ระยอง ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร น้ำจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านดำรงชีวิตและทำมาหากินได้อย่างปกติสุข แต่ถ้าหากย้อนเวลากลับไปเมื่อราว 15-20 ปีก่อน ชุมชนรอบเขายายดาประสบปัญหาในเรื่องน้ำในลักษณะของน้ำที่หลากท่วมในช่วงหน้าฝน และการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านรอบชุมชนเขายายดาจึงตัดสินใจที่จะเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาน้ำของพื้นที่ให้ดีขึ้น จนเกิดเป็นโครงการ “เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ” ภายใต้การสนับสนุนและให้คำแนะนำของ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) เพื่อการสร้างองค์ความรู้การจัดน้ำของชุมชนเขายายดา ซึ่งมีหลักการที่สำคัญคือ “เก็บน้ำหลากในหน้าฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง”

หนึ่งในนวัตกรรมที่ชุมชนในพื้นที่นำมาใช้เก็บน้ำสร้างความชุ่มชื้นคือ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ซึ่งเป็นวิธีการสร้างหลุมเพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในระดับผิวดินช่วงฤดูฝนไว้ในใต้ดิน เป็นการเติมระบบน้ำใต้ผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถก่อให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อหล่อเลี้ยงต้นไม้ในสวน หรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ในหน้าแล้ง

ธนาคารน้ำใต้ดินสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ระบบปิด คือการขุดหลุมเพื่อดึงน้ำฝนที่อยู่บนพื้นดินลงสู่ใต้ดินในระดับชั้นผิวดิน มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดินในพื้นที่โดยรอบ และ ระบบเปิด คือการขุดหลุมไปให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่เจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เพื่อให้น้ำฝนเติมเข้าสู่ชั้นหินที่กักเก็บน้ำบาดาลได้โดยตรง เชื่อมต่อกับระบบน้ำใต้ดินเพื่อสามารถขุดมาเป็นน้ำบาดาลมาใช้ในหน้าแล้งได้

โดยประโยชน์ที่ได้รับจากธนาคารน้ำใต้ดินคือการก่อให้เกิดความชุ่มชื้นต่อหน้าดิน ประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นไม้บริเวณใกล้เคียง ลดน้ำท่วมขังได้ในช่วงหน้าฝน สามารถกักน้ำส่วนเกินดังกล่าวให้มาเป็นความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง และชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่รอบ ๆ ผิวดินของธนาคารน้ำได้ปกติ โดยไม่จำต้องเสียพื้นที่เพื่อทำจุดกักเก็บแหล่งน้ำเพียงอย่างเดียว

วิธีการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินอย่างง่ายๆ

สำหรับชุมชนบ้านมาบจันทร์ ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่อยู่โดยรอบเขายายดา มีวิธีการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินอย่างง่ายๆ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ดังต่อไปนี้

  1. สำรวจพื้นที่เพื่อหาจุดทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยพิจารณาจากจุดที่มีการรวมน้ำ หรือจุดที่พบน้ำท่วมขังหน้าผิวดินเป็นหลัก

2. ขุดบ่อให้ทะลุชั้นหน้าดิน โดยขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ (ในกรณีศึกษาครั้งนี้ขุดที่ความลึกประมาณ 2 เมตร ความกว้างปากบ่อ ประมาณ 1 เมตร) และใช้วงบ่อซีเมนต์เพื่อป้องกันดินทลาย ในกรณีขุดเจาะในช่วงหน้าฝน

3. สร้างชั้นแรกของธนาคารน้ำใต้ดิน นำเศษวัสดุขนาดใหญ่ที่มีช่องว่างให้น้ำสามารถไหลผ่านได้ โดยเน้นการใช้วัสดุจากธรรชาติ เพื่อป้องกันสารเคมีปนเปื้อน เช่น ก้อนหิน เศษปูน หรือเศษวัสดุที่ไม่ย่อยสลายใส่ลงไปในช่องว่างด้านในบ่อให้เต็ม ความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร

4. วางท่อพีวีซีตั้งตรงจุดศูนย์กลางบ่อ ทำมุม 90 องศา เพื่อเป็นช่องระบายอากาศ และเป็นตัวช่วยสังเกตการซึมและดูปริมาณน้ำที่มีอยู่ภายในบ่อ

5. สร้างชั้นที่สองของธนาคารน้ำใต้ดินโดยการเติมหินขนาดเล็กลงไปรอบ ๆ ท่อพีวีซีให้เต็ม โดยให้เหลือพื้นที่ขอบปากท่อไว้ประมาณ 20 เซนติเมตร

6. คลุมพื้นที่ปากบ่อด้วยผ้าไนลอน หรือผ้าสแตน (ตาข่ายมุ้งเขียว)

7. ปูทับด้วยวัสดุหยาบหรือก้อนหิน และตามด้วยหินขนาดเบอร์ 1 หนา 10-20 เซนติเมตร จนเสมอปากท่อ เพื่อเป็นตัวกรองไม่ให้เศษดินหรือขยะเข้าไปอุดตัน ทำให้น้ำจากผิวดินไหลลงไปเติมสู่ใต้ดินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ด้วยวิธีการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินที่ชุมชนในพื้นที่เขายายดาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ส่งผลให้พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำส่วนเกินในหน้าฝนเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดินได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นวิธีการที่เริ่มการหาวิธีการเปลี่ยนปัญหาจากน้ำ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการจัดการน้ำของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.