2 สร้าง 2 เก็บ: โมเดลพลิกความแห้งแล้งสู่แหล่งน้ำยั่งยืนแห่งชุมชนรอบเขายายดา จ.ระยอง

จากชุมชนที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งเมื่อ 20 ปีก่อน ทุกวันนี้ ชุมชนแห่งเดียวกันนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำด้วยตัวชาวบ้านอย่างยั่งยืน พวกเขาทำได้อย่างไร

เมื่อราว 20 ปีก่อน ชุมชนรอบเขายายเป็นพื้นที่แห่งความแห้งแล้ง

ชุมชนรอบเขายายดา ที่กินพื้นที่ในบริเวณอำเภอเมืองและอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่ตั้งของหมู่บ้าน ราว 10 หมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนผลไม้และยางพารา ต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำที่รุมเร้าและยืดเยื้อ พื้นที่ป่าเป็นป่าดิบแล้งที่เคยผ่านการทำสัมปทานป่าไม้ ประสบกับปัญหาไฟป่าคุกคามหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้เกิดพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

นอกจากนี้ การรุกพื้นที่ป่าเพื่อแห่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ทำให้ดินในพื้นที่ป่าไม่สามารถดูดซับน้ำ ประกอบกับลักษณะภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเล  และเป็นดินทรายที่มีลักษณะการกักเก็บน้ำต่ำ ทำให้เมื่อถึงหน้าฝน น้ำฝนที่ตกลงมากลายเป็นน้ำผิวดินที่ไหลลงสู่ลำธารและไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงหน้าแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำกักเก็บเพื่อทำการเกษตร และลุกลามไปถึงการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน

ปัญหาการขาดแคลนน้ำส่งผลกับวิถีชีวิตการเกษตรของชุมชนรอบเขายายดา ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ปลูกผลไม้ขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ สัปปะรด ลองกอง เมื่อไม่มีน้ำเพื่อลดผลผลิต ชาวบ้านต่างขาดรายได้หลักที่นำมาหล่อเลี้ยงชีวิต ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย

โมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ เปลี่ยนชุมชนเขายายดาจากความแห้งแล้งสู่แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ในฐานะผู้นำชุมชน ย้อนรำลึกถึงความทุกข์ยากของลูกบ้านที่เกิดจากภายแล้งในครั้งนั้น และเล่าให้เราฟังว่า  “เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่นี่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบนี้เลย ที่นี่เป็นเขาหัวโล้น เพราะเกิดจากการบุกรุกที่ป่า และเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ สัตว์ป่าก็หนีกันไปหมด ทำให้ที่นี่เกิดปัญหาภัยแล้งซ้าซากเป็นเวลาหลายปี พอฝนตกก็ไม่มีต้นไม้คอยดูดซับ ทำให้หน้าดินพังทลาย กักเก็บน้ำไม่ได้ เพาะปลูกไม่ได้ และต้องซื้อน้ำจากที่อื่นมาใช้ เราเคยรวมตัวกันปลูกป่า แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเราไม่มีความรู้ในการปลูกป่าให้สมบูรณ์”

หลังจากหาวิธีการเพื่อพลิกฟื้นป่ารอบเขายายดาให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง วันดีได้รับทราบเรื่องราวโครงการสร้างฝายชะลอน้ำที่ประสบความสำเร็จของ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เธอจึงได้ติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาในการพลิกฟื้นชุมชนแห่งนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2550

เอสซีจี เคมิคอลส์ ตอบรับเป็นที่ปรึกษาและ “พี่เลี้ยง” ในการพลิกฟื้นชุมชนรอบเขายายดา หลังจากได้สำรวจพื้นที่แล้ว ทาง เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้จัดทำโครงการ “เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง สร้างระบบการจัดการน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

สร้างคน : รวมพลังสร้างกลุ่มแกนนำในชุมชนที่พร้อมทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เสียสละ กล้าตัดสินใจ บนฐานพื้นของการรับฟังความคิดเห็น

สร้างกติกา: ตั้งกติกาการใช้น้ำของชุมชน บนพื้นฐานของความเกื้อกูลกันและกัน

เก็บน้ำ: เก็บน้ำในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และอยู่ได้นานที่สุด รวมไปถึงฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ และแหล่งเก็บน้ำของชุมชนด้วยการเก็บน้ำหลากในหน้าฝนเพื่อนำไปใช้ในหน้าแล้ง

เก็บข้อมูล: เก็บข้อมูลต้นทุนน้ำที่มีอยู่ตามจุดต่างๆ ในชุมชน เพื่อนำข้อเท็จจริงที่พบในพื้นที่ที่ใช้นำมาวิเคราะห์การจัดน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

สร้างคน

เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้เริ่มการ ‘สร้างคน’ โดยการรวบรวมอาสาสมัครในหมู่บ้านมาบจันทร์ ซึ่งมีแกนนำหลักคือเจ้าหน้าที่จากทาง เอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้ใหญ่วันดี และ ดร. พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ผู้อำนวยส่วนวิจัยต้นน้ำ เป็นที่ปรึกษาในโครงการ โดยเป็นการสร้างคนในชุมชนให้เป็นนักวิจัยท้องถิ่น เตรียมเก็บรวบรวมแหล่งน้ำในหมู่บ้าน โดย เอสซีจี เคมิคอลส์ จะเป็นที่ปรึกษาและแนะนำให้อาสาสมัครเหล่านี้เป็นผู้กระจายความรู้ในการจัดการน้ำที่ถูกต้องสู่คนในชุมชน เพื่อสร้างจิตวิญญาณรักษ์ป่ารักษ์น้ำให้กับชุมชน

ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จ. ระยอง
ดร. พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการ

สร้างกติกา

เพื่อรักษาแหล่งน้ำเพื่อใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน เมื่อถึงหน้าแล้ง ชาวบ้านในชุมชนรอบเขายายดาจะสร้างกฎการใช้น้ำในหน้าแล้งเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างพอเพียง โดยการสร้างกติกานี้และมาจาการเก็บรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำของชาวบ้านตลอดทั้งปี

เก็บข้อมูล

ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการได้สร้างแนวคิด “นักวิจัยท้องถิ่น” ที่สามารถเก็บข้อมูล บันทึกสถิติอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวกับน้ำได้อย่างเป็นระบบ และจัดทำผังน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำได้ โดยการจัดเก็บข้อมูลค่าความชื้น ปริมาณน้ำฝนโดยการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และมีการเก็บข้อมูลน้ำบ่อโดยการใช้ลูกดิ่งวัดความลึก และใช้ลูกปิงปองเพื่อวัดกระแสในน้ำท่า ร่วมกับการคำนวณแบบพื้นฐานเพื่อคำนวณออกมาเป็นปริมาณน้ำที่มีในชุมชน เพื่อกำหนดการใช้กติกาน้ำ

เก็บน้ำ อย่างยั่งยืน

เอสซีจี เคมิคอลส์ และชุมชนรอบเขายายดาได้ถอดรหัสหลักการการเก็บน้ำในพื้นที่นี้ว่า “ต้องหาทางเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด ด้วยการเพิ่มการดูดซับน้ำฝน ลดน้ำผิวดิน ชะลอการไหลของน้ำท่า เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำให้ได้มากที่สุด”

ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล กล่าวถึงวิธีการเก็บน้ำในชุมชนเขายายดาว่า “เราแนะนำการลดปัญหาน้ำหลาก และตุนน้ำใช้หน้าแล้งให้กับชุมชน ตั้งแต่ฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 5 ระดับเพื่อชะลอน้ำฝน ให้ดินซึมซับน้ำ และสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำจากเขา กักความชุ่มชื้น ทำทำนบชะลอน้ำและขุดลอกคลองเพื่อเก็บน้ำในคลองใช้ได้มากขึ้น และทำธนาคารนำใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำฝนคืนลงสู่ดิน”

โดยการปลูกป่า 5 ระดับ คือการคัดเลือกพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าของท้องถิ่นซึ่งมีขั้นเรือนยอดที่ต่างกัน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับใต้ดิน เช่น มัน เผือก ระดับเรี่ยดิน เช่น ฝักทอง แตงโม ระดับเตี้ย เช่น พริก มะเขือ ระดับกลาง เช่น มะม่วง มะพร้าว และระดับสูง เช่น สัก ยางนา มาปลูกเสริมกับแนวป่าเดิม โดยเรือนยอดที่มีหลากหลายระดับเหล่านี้จะช่วยลดแรงตกกระทบผิวดินของเม็ดฝน ยืดระยะเวลาในการตกของเม็ดฝน เพิ่มการดูดซับน้ำฝนของผิวดินได้อย่างเต็มที่

ด้านการสร้างฝายชะลอน้ำในผืนป่า  ฝายของชุมชนเขายายดาจะสร้างขึ้นโดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน กิ่งไม้ ไม้ไผ่ เพื่อชะลอการไหลของน้ำในลำธารให้ช้าลงในตอนที่มีน้ำมากในฤดูฝน ป้องกันการเกิดน้ำหลากในพื้นที่ของบ้าน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยผืนป่ากักเก็บน้ำเพื่อใช้ในยามหน้าแล้ง ผลของการสร้างฝายในบริเวณเขายายดา พบหลักฐานในเชิงประจักษ์ว่า ฝายทำให้เขายายดามีปริมาณน้ำคงอยู่ตลอดทั้งปี และตามงานวิจัยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยวิธีการใช้แบบจำลองร่วมกับภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า ฝายช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำได้, น้ำสะสมในชั้นดินเพิ่มขึ้น, ลดความขุ่นของตะกอนในน้ำท่า และต้นไม้ในป่าเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 14.08

ในส่วนของธนาคารน้ำใต้ดิน คือการขุดหลุมเพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในระดับผิวดินช่วงฤดูฝนไว้ในใต้ดิน เป็นการเติมระบบน้ำใต้ผืนดินตามพื่นที่บ้านเรือนหรือสวนของชุมชน  ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นต่อหน้าดิน ประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นไม้บริเวณใกล้เคียง ลดน้ำท่วมขังได้ในช่วงหน้าฝน สามารถกักน้ำส่วนเกินดังกล่าวให้มาเป็นความชุ่มชื้นในหน้าแล้งได้อีกด้วย

ด้วยความสามัคคีของทุกคนที่ช่วยกันบริหารน้ำจัดการด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บนี้ ทำให้เกิดคุณประโยชน์มากมายหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น น้ำในลำธารให้ผลผลิตถึง 14.83 ล้าน ลูกบาศก์เมตร /ปี ทำให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่ป่า เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต พบสัตว์ป่า 123 ชนิด และพันธุ์ไม้มากกว่า 120 พันธุ์ และยังช่วยลดโลกร้อน อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตัน CO2 / ไร่ และดูดซับ 5.41 CO2 / ไร่ /ปี

ด้านการเกษตร มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรโดยรอบเขายายดา คิดเป็นผลผลิตรวมทั้งสิ้น 79,382,695 กิโลกรัม/ปีเมื่อความสมบูรณ์ของผืนป่ากลับมา ก็ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้มากขึ้น ผลผลิตมีเพิ่มมากขึ้น และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย และจากความสมบูรณ์ที่กลับมา เขายายดาสามารถมูลค่าการท่องเที่ยว 538.54 บาท/ไร่

ทั้งหมดนี้เกิดจากการร่วมมือกันในการสำรวจจัดผังน้ำของคนในชุมชน สื่อสารแนวทางการจัดการน้ำร่วมกันอย่างทั่วถึง เคารพในการใช้กติกาชุมชนร่วมกัน ทำให้ชุมชนนี้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ผู้ใหญ่วันดีกล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ของชุมชนรอบเขายายดาว่า “พอเริ่มสร้างฝายตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2553 พวกเราก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบนเขายายดา จนทำให้วันนี้ป่าเขายายดากลับมาคืนความอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกพืชผักหลากหลายได้ตลอดปี และทางเอสซีจี เคมิคอลส์ ก็ช่วยแนะนำให้เรานำผลผลิตไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ได้มากมาย และรวมถึงต่อยอดบ้านมาบจันทร์ของเราให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำรายได้เข้ามาในชุมชนได้อีกมากมาย ต้องขอขอบคุณเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่เป็นทั้งเพื่อนและพี่เลี้ยงช่วยดูแลพวกเราอย่างใกล้ชิดค่ะ”

นี่คือตัวอย่างของชุมชนที่ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง และสร้างจิตวิญญาณรักษ์ป่ารักษ์น้าให้กับชุมชนอื่นๆ จนสามารถใช้ชีวิตที่เติบโตได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.