เหตุการณ์สำคัญของโลกครั้งหนึ่ง เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คือการประชุม Conference of the Parties ครั้งที่ 21 หรือ COP21 ในปี 2015 ที่ประเทศฝรั่งเศส ครั้งนั้นทำให้เกิด ‘ข้อตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ลงนามโดยผู้นำโลกใน 197 ประเทศ เป็นสัญญาณเริ่มความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่ท้าทายคือ จำกัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยพยายามจำกัดให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากเทียบกับการเปลี่ยนแปลงที่ 2 องศาเซลเซียสนั้น อุณหภูมิที่ต่ำกว่าย่อมมีความปลอดภัยกว่ามาก
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ได้ประเมินหากโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ยังคงส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แนวปะการังฟอกสี เกิดการเพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุรุนแรง และมีโอกาสทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)
ตัวการสำคัญได้แก่ Green House Gas (GHG) หรือ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นคำที่ผู้คนบนโลกรับรู้มากว่า 3 ทศวรรษ โดยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ขนานใหญ่ และจะยิ่งแย่มากขึ้น หากอุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะมีมาตรการแก้ไขออกมาแล้วก็ตาม
Net Zero เป็นประเด็นใหญ่ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก
ล่าสุดจากการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา ทิศทางการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนโลกในปัจจุบัน ยังเป็นตัวเลขในระดับ “บันทึกประวัติศาสตร์” แสดงให้เห็นว่ามาตรการความร่วมมือที่ผ่านมา อาจยังไม่ดีพอ ทำให้ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงมาตรการจากการมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากมาตรการแก้ปัญหา Climate Change สู่ทิศทาง “Net Zero” เพื่อเพิ่มความเข้มข้น ในการดูแลสภาพภูมิอากาศให้ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ เพราะมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายคน ออกมาแสดงความคิดเห็นใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นทิศทางน่าตกใจว่า ตอนนี้โลกกำลังดำเนินไปสู่จุด “Point of No Return – จุดที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกต่อไป”
แต่แน่นอนว่า การป้องกันปัญหาย่อมมีราคาที่ต้องจ่ายน้อยกว่ามูลค่าที่ต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสที่โลกจะเร่งปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หันมาใช้พลังงานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ ย่อมหนีไม่พ้น ความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน
กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคนี้ เพื่อทำให้การปล่อยคาร์บอนจากองค์กร หรือ ผลิตภัณฑ์นับได้เท่ากับศูนย์ หรือที่เรียกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
ซึ่งความแตกต่างระหว่าง Carbon Neutral และ “Net Zero” emission คืออะไร ?
สองคำนี้คล้ายคลึงกัน เพราะเป็นการมุ่งแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเช่นกัน แต่ Carbon Neutral ดูที่ “ผลลัพธ์” ในการเฉลี่ยการปลดปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่า หรือวิธีการอื่น ขณะที่ Net Zero Emission หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มองสิ่งที่กว้างไปกว่านั้น คือมองในภาพรวมของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดูที่กระบวนการ และการกระทำ การบาลานซ์ระหว่างปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กับปริมาณการถูกกำจัดออกไปจากบรรยากาศโลก เน้นการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำปลายน้ำ จึงเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งในสภาวะนี้ก็จะไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้
ซึ่งหลังเวทีประชุม COP26 จบลง แต่ละประเทศได้มีการประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ได้ในปี 2065 โดยแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเร่งผลักดันการใช้พลังงานสะอาด
ทั้งนี้ แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีหมุดหมายสำคัญที่ได้ตั้งเอาไว้แล้ว แต่ส่วนสำคัญคือการลงมือทำของทุกภาคส่วนทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เข้มงวด ความร่วมมือจากเอกชน และการตระหนักรู้ของประชาชนที่จะช่วยกันผลักดันเป้าหมายนี้
คนในสังคมสามารถตระหนักถึงปัญหา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคม Net Zero ได้อย่างไร
การดำเนินชีวิตของผู้คนบนโลกที่พึ่งพาปัจจัย 4 ล้วนเกี่ยงโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งผลต่อภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น รวมทั้งสิ่งก่อสร้าง อาคาร บ้านเรือน ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของโลกมาทุกยุค โดยเฉพาะโลกยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีการขยายของเมืองและมีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างมาก
GDP มีส่วนสร้าง GHG
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ก๊าซเรือนกระจกเชื่อมโยงกับ GDP (Gross Domestic Product) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการใช้ทรัพยากร ผูกโยงกับการผลิต เทคโนโลยี รวมไปถึงการกำจัดของเสียส่วนเกินหลังการผลิตหรือบริโภค
ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) แสดงให้เห็นว่า โลกเรามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และแม้ว่าในปี 2020 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายปี เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก
แต่ข้อมูลล่าสุดของปี 2021 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มกลับมาเกือบเท่ากับระดับของปี 2019 แล้ว ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดี
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ลดลงในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นเพียงชั่วคราวและเพิ่มขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยการปล่อยมลพิษทั่วโลกต้องลดลงประมาณ 7% ต่อปีในทศวรรษนี้ เพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
รู้จัก LCA สู่ไอเดีย Net Zero
การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) เป็นกระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ การนำมาใช้ใหม่หรือการแปรรูป และการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยมีการระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสะท้อนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในสังคม เป็นการหาวิธีการในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
บทบาทของภาคเอกชนมุ่งสู่เป้าหมาย เอสซีจี Net Zero 2050
กิจกรรมทางธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ จึงถือเป็นเรื่องที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะการดำเนินธุรกิจโดยปราศจากความระมัดระวัง เน้นแต่ผลประโยชน์ขององค์กร ย่อมทำให้ความสมดุลของโลกเปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่าง ๆ จึงมีแนวทางในการกำหนดและสนับสนุนทิศทางบนหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นในหลากหลายแง่มุม ซึ่งความรับผิดชอบด้านการร่วมลดภาวะโลกร้อน ย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน
เอสซีจี ในฐานะผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) อย่างเห็นได้ชัดและเป็นรูปธรรม เรียกกันว่าเป็นทิศทาง Sustainable Development Goals ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้มาของวัตถุดิบในการก่อสร้าง กระบวนการก่อสร้าง และการใช้พลังงานในช่วงอยู่อาศัย โดยมองเฉพาะอัตราส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการ พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 มาจากวัสดุก่อสร้าง โดยวัสดุประกอบอาคารที่มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดคือ คอนกรีต เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิค อิฐ อลูมิเนียม ไม้ ตามลำดับ อีกทั้งวัสดุเปลือกอาคารนั้นมีผลโดยตรงต่อการใช้พลังงานภายในอาคารอีกด้วย
เอสซีจี จึงตั้งเป้าหมายเรื่อง Net Zero Emission ไว้ภายใน 2050 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย เพราะการให้ความสำคัญกับเรื่องผลิตภัณฑ์ และวัสดุต่าง ๆ สำหรับอาคารและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต่อการร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยธุรกิจอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ภาคการก่อสร้างสามารถช่วยได้ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะชะลอและจำกัดความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Mitigation) และในด้านการปรับตัวให้อยู่กับโลกที่ร้อนขึ้น (Adaptation)
ทิศทางการเติบโตของธุรกิจพัฒนาบ้านที่พักอาศัยและอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน จากนี้จะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและเป้าหมายของบริษัทเอกชน ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะตอบสนองต่อเทรนด์ของโลก และความต้องการของลูกค้า ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่การเป็น Net zero ในที่สุด