ความงดงามของธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลายคนถวิลหา การระบาดครั้งใหญ่ได้แยกมนุษย์ออกจากพื้นที่ธรรมชาติ ฉันก็เป็นหนึ่งในมนุษย์เหล่านั้น ที่เฝ้ารอได้กลับไปสัมผัสความธรรมดาของธรรมชาติอีกครั้ง น้ำตกกรุงชิง
สายฝนที่หล่นลงจากฟ้าชวนให้นึกถึงสถานที่ที่ชุ่มฉ่ำ ความเขียวชอุ่มของใบไม้หลังได้รับน้ำฝน และแสงแดดที่ส่องกระทบกับหยดน้ำหลังฝนซา นานแค่ไหนแล้วที่ภาพเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตจริง
เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ผู้คนก็เริ่มเดินทางอีกครั้ง ฉันไม่รอให้โอกาสนี้ผ่านไป การเดินทางไปตามความต้องการของหัวใจจึงเริ่มขึ้น
จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้ของไทยที่ฉันเดินทางมาเยือนหลายครั้ง ทั้งภารกิจเรื่องการงาน และภารกิจส่วนตัว
ครั้งนี้ ฉันมาพร้อมกับเพื่อนร่วมทางเจ้าเก่า ที่ได้ชักชวนฉันไปสัมผัสประสบการณ์บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
พวกเรามาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ ในช่วงเช้าของวัน แดดแรง ก้อนเมฆลอยประปรายตัดกับสีฟ้าและป่าสีเขียว อากาศอบอ้าวสมกับเป็นป่าฝนเขตร้อน
เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พร้อมด้วยนักสื่อความหมาย นำพวกเราเดินเท้าเข้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ บรรยากาศสองข้างทางเต็มไปด้วยพันธุ์พืชที่โดดเด่น อย่างเฟิร์นต้น หรือมหาสดำ พืชในตระกูลเฟิร์นที่คงวิวัฒนาการไว้ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์
ตลอดทางเดิน เรือนยอดของต้นไม้ใหญ่คอยบังแดดให้กับพวกเรา และยังปกคลุมเส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ คล้ายเป็นหลังคาสีเขียวขนาดใหญ่
ระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายเป็นระยะ ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลที่ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ร่วมกับนักวิชาการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ธรรมชาติ และระบบนิเวศที่สำคัญในป่าแห่งนี้ ทำให้เราได้หยุดพักบ้าง และได้ชื่นชมกับทัศนียภาพตรงหน้า พร้อมกับอ่านเรื่องราวบนป้ายสื่อความหมาย
เส้นทางเดินค่อย ๆ ชันขึ้นในช่วงหนึ่งกิโลเมตรแรก แต่ด้วยทางคอนกรีตพร้อมกับราวจับที่ปรับปรุงใหม่โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ช่วยให้เราเดินขึ้นทางชันได้ง่ายขึ้น “ทางเดินที่นี่ออกแบบให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด” นักสื่อความหมายอธิบายให้พวกเราฟัง และเสริมว่า “แต่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย”
เส้นทางเดินที่สร้างจากคอนกรีตมักจะเกิดตะไคร่น้ำและมอสส์ปกคลุม จึงทำให้นักท่องเที่ยวลื่นล้มได้ง่าย ขั้นบันไดเล็ก ๆ และราวจับจึงถูกวางไว้ในตำแหน่งที่เสี่ยงอันตรายเท่านั้น
บางช่วง เรายังเห็นทางดิน และพูพอนที่แทรกเข้ามาในทางเดิน เหล่าแมลงเล็ก ๆ พบได้ทั้งบนใบไม้และบนดิน ที่แปลกตาคือ มดขนาดใหญ่ที่เพียงเห็นก็รู้สึกเจ็บแล้ว นักสื่อความหมายบอกว่า “นั่นคือ มดยักษ์ปักษ์ใต้ ที่ถูกค้นพบโดยนักวิจัยชาวไทย ที่นี่ยังมีปูภูเขาด้วยนะคะ แต่เราไม่ค่อยได้พบเห็น เพราะเขาแอบอยู่ในรู”
ช่วงหนึ่งกิโลเมตรสุดท้ายก่อนจบเส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ ทางเดินลงเขาลาดชันมากกว่าช่วงทางเดินที่ผ่านมา แต่ข้างทางก็มีราวจับให้เราได้ประคองตัวเดินลงไปจนถึงข้างล่างได้อย่างปลอดภัย
“เมื่อก่อนราวจับช่วงนี้เป็นสนิมและผุพังมากครับ เพราะสภาพอากาศที่ชื้นตลอดเวลา และการเดินเข้ามาซ่อมแซมก็ยากลำบาก” พี่ดง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่คอยเดินตามหลังพวกเรามาตั้งแต่แรก กล่าว
ระยะเวลาเกือบสองชั่วโมงที่พวกเราเดินตั้งแต่ต้นทางจนถึงตรงนี้ เสียงมวลน้ำมหาศาลกระแทกกับโขดหินดังกระหึ่มอยู่เบื้องหน้า ภาพของน้ำตกกรุงชิงชั้นที่ 2 หรือหนานฝนแสนห่า ปรากฏขึ้น โดยรอบน้ำตกแวดล้อมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหมือนเราได้สัมผัสการโอบกอดจากธรรมชาติ
ละอองน้ำตกที่พรมลงบนผิวกาย อากาศสดชื่นที่ต้นไม้แบ่งปันให้กับเรา แสงแดดที่ตกกระทบผิวน้ำสะท้อนเป็นสีทองระยับ ทำให้ความเหนื่อยล้าจากการเดินแทบไม่เหลืออยู่ในความรู้สึก เมื่อใจที่ถวิลหาธรรมชาติ ได้พบกับความงามที่สัมผัสได้ เมื่อนั้นจิตใจก็เหมือนได้รับการปลอบประโลม
หากไม่มีการบุกเบิกจากคนรุ่นก่อน ก็คงไม่เกิดเส้นทางแห่งนี้ พี่ดงเล่าว่า ตามประวัติการเล่าขานในพื้นที่ คำว่า “กรุงชิง” เป็นชื่อสถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อกันว่าเคยเป็นชุมชนมาแต่สมัยโบราณ และเป็นพื้นที่ที่มีประวัติการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งในด้านความคิดในการปกครอง โดยน้ำตกกรุงชิงเป็นฐานของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ที่หลบหนีเจ้าหน้าที่รัฐบาลในช่วง พ.ศ. 2517 ต่อมาฝ่ายรัฐบาลสามารถยึดพื้นที่ได้ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ที่กรุงชิงแตกใน พ.ศ. 2524
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งคำบอกเล่าเกี่ยวกับชื่อกรุงชิง โดยคำว่า “ชิง” เป็นชื่อของต้นชิง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งที่มีมากในพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตก ซึ่งระหว่างทาง พวกเราเห็นต้นชิงขึ้นอยู่ประปรายตามการอธิบายของนักสื่อความหมาย
พี่หนิง – มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางกับเรา เล่าว่า “มูลนิธิไทยรักษ์ป่าเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิงเพื่อให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติเดิม โดยการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จนนำไปสู่การปรับปรุงเส้นทางฯ ในจุดที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “คณะกรรมการดูแลรักษาการใช้ประโยชน์เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง” เพื่อดูแลการใช้ประโยชน์ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ ในระยะยาว ตามแนวทางการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
เราพักรับประทานอาหารกลางวันที่หน้าน้ำตกกรุงชิง ข้าวผัดหมู ไข่ต้ม และน้ำพริก ที่แสนธรรมดา กลายเป็นอรรถรสที่แสนอร่อย เมื่อได้มานั่งรับประทานอาหารอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ
ปากลิ้มรสอาหาร หูฟังเสียงน้ำ ตามองทัศนียภาพ จมูกสูดกลิ่นอากาศบริสุทธิ์ และผิวกายที่สัมผัสกับละลองละเอียดของสายน้ำ ประสาทสัมผัสทั้งหมดได้ทำงานไปพร้อมกัน เป็นช่วงเวลาที่เราไม่ต้องคิดอะไร ปล่อยให้ร่างกายได้ทำงานตามสัญชาตญาณอย่างเต็มที่
หลังจบมื้อกลางวัน ก็ได้เวลาที่ต้องเดินกลับไปตามเส้นทางเดิม ทางชันเมื่อตอนเดินลง ตอนนี้เราต้องเดินขึ้น ราวจับช่วยให้เราดึงตัวเองผ่านมาได้ ระหว่างทางฝนเม็ดใหญ่เริ่มลงเม็ด พวกเรานำเสื้อกันฝนที่เตรียมมาสวมใส่อย่างรวดเร็ว เดินต่อไปได้ไม่ถึงห้านาที ฝนห่าใหญ่ตกลงทั่วป่า ถึงตอนนี้ พวกเราก็ไม่กลัวเปียกกันแล้ว ระยะทางที่เหลือประมาณ 3 กิโลเมตร เราได้ยินเสียงน้ำฝนกระทบป่าตลอดทาง บางช่วงของทางดินกลายเป็นโคลนสีน้ำตาล และบางช่วงก็มีสายน้ำไหลข้ามทาง
ช่วงทางเดินลงเขาก่อนถึงที่ทำที่การฯ มีขั้นบันไดเล็กๆ ช่วยให้การเดินบนทางลาดปลอดภัยมากขึ้น เมื่อพวกเราออกมาถึงที่ทำการอุทยานฯ ก็นั่งคุยกันว่า การเดินทางวันนี้ช่างเป็นการเดินทางที่ครบทุกรส ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงความทรงจำในวัยเด็กที่ได้เล่นน้ำฝน จะมีสักกี่ครั้งที่เราได้เดินตากฝนกลางป่า
การเดินทางในเส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ ครั้งนี้ ทำให้เราเห็นมิติเรื่องการรักษาธรรมชาติของคนในภาคท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคเอกชน เพราะทุกภาคส่วนล้วนใช้ประโยชน์และทรัพยากรจากป่า ความงามที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะไม่ยั่งยืน หากเราคิดแต่จะใช้โดยไม่รักษา และเมื่อทุกฝ่ายสร้างความเข้าใจ และทำงานร่วมกันได้ ธรรมชาติก็จะมอบความล้ำค่าให้กับเรา
ดังเช่น คุณเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า “ต้นทางที่ดีจะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี”
นอกจากนี้ มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา” เพื่อให้ผู้ที่ต้องการชมความงามในเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสามาเข้าชมได้ที่นี่ https://thairakpa.org/krung_ching/kc/
เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย ณัฏฐพล เพลิดโฉม
ขอขอบคุณ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป