ขับเคลื่อนความยั่งยืน ผ่านมุมมอง 3 ช่างภาพสารคดี

ภาพถ่ายคือบันทึกแห่งกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงชั้นดี แล้วกับภาพธรรมชาติ คุณได้สังเกตเห็นอะไรบ้างไหม?

หากพูดถึงภาพถ่ายธรรมชาติ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรามักจะคิดถึงมุมมองอันสวยงาม สัตว์ป่าน้อยใหญ่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี วิถีชีวิตที่เกื้อกูลระหว่างธรรมชาติกับผู้คน แล้วในยุคนี้ล่ะ การปรากฏตัวของธรรมชาติผ่านภาพถ่ายแสดงให้เห็นถึงร่องรอยและร่วงโรย ภาพถ่ายเหล่านี้บอกอะไรกับเรา

มุมมองของช่างภาพสารคดีและนักเดินทาง ในฐานะผู้สังเกตการณ์เรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวเอง หน้าที่ของพวกเขาจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การส่งต่อภาพถ่ายที่บันทึกถึงสายตาของผู้ชม หากเป็นการชวนให้มองเห็นความเป็นไปของโลกกว้าง และมุ่งหมายให้สารเหล่านี้ช่วยสร้างความตระหนักว่ามนุษย์อยู่นิ่งไม่ได้อีกต่อไป เพราะพวกเราคือกำลังหลักที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกร่วมกัน

นี่คือบทบาทหลักของ National Geographic ที่ใช้ภาพถ่ายให้ผู้ชมได้ยินเสียงของโลก โลกซึ่งทุกสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และทุกการกระทำของเราส่งผลกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เป็นความมุ่งมั่นเดียวกันกับที่ Volvo มี คือการดำเนินธุรกิจองค์รวมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านกรอบความยั่งยืน 3 แนวทาง คือ สภาพภูมิอากาศ (Climate) ทรัพยากร (Resources) และผู้คน (People) ภายในปี พ.ศ. 2583

สิ่งนี้สอดคล้องกับที่พวกเราอยากสื่อสารผ่านนิทรรศการภาพถ่ายที่ Volvo Studio Bangkok ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 24 ตุลาคมนี้ เราเชิญ 3 ช่างภาพผู้สื่อสารงานใน 3 แนวทางคือ Nature Wonders, Nature Conservation และ Life & Culture เพื่อเชิญชวนทุกคนให้มาชมและได้ยิน “เสียง” ที่ภาพนั้นเล่าออกมา

ก่อนอื่นไปทำความรู้จักช่างภาพทั้ง 3 กัน

กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล – ช่างภาพ เจ้าของเพจ Golfwashere กอล์ฟมาเยือน กับภาพถ่ายแลนด์สเคปบอกเล่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ

เริงชัย คงเมือง ช่างภาพสารคดีมืออาชีพ ผู้บันทึกภาพธรรมชาติกับผู้คน ร่วมงานกับสื่อมากมาย รวมทั้ง National Geographic ฉบับภาษาไทย

และ เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย ทั้ง 3 คือตัวแทนของนักบันทึกเรื่องราวที่ทำให้คุณเกิดแรงบันดาลใจ และค้นหาความหมายของการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ผ่านเรื่องราวในภาพ

กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล

ช่างภาพ เจ้าของเพจ Golfwashere กอล์ฟมาเยือน กับภาพถ่ายแลนด์สเคปบอกเล่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ

ระหว่างศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คุณกันตพัฒน์สะสมความสนใจในด้านการถ่ายภาพมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นอาชีพหลักหลังจากเรียนจบ “จากวาดรูปมาถ่ายรูป ผมว่ามันมีความใกล้เคียงกันอยู่ แค่เลือกวิธีการถ่ายทอดงานด้วยการถ่ายภาพ เรามองว่าการที่เราออกไปข้างนอกมันคือการไปเก็บเกี่ยววัตถุดิบในการทำงานศิลปะ”

ความสนใจในการถ่ายภาพแลนด์สเคปเริ่มบ่มเพาะขึ้นระหว่างการท่องเที่ยว จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังกลับมาดูภาพถ่ายของสะพานในจังหวัดพังงาที่เคยถ่ายเอาไว้ “ตรงที่เราถ่ายตอนนี้มันหายไปแล้ว เราเลยรู้สึกว่า ภาพที่เราถ่ายในวันนั้นกลับมีคุณค่าในวันนี้ วินาทีตอนนั้นที่เรากดถ่ายภาพไม่ได้คิดอะไร แต่คุณค่าของมันกลับเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่หายไป ตรงนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มองเห็นคุณค่าถึงวันเวลาก่อนหน้าที่อ้างอิงได้ด้วยภาพถ่าย จนเกิดเป็นความตระหนักในการอนุรักษ์”

จังหวะเวลาคือเรื่องสำคัญในการถ่ายภาพธรรมชาติ และนี่คือเสน่ห์ที่ทำให้เขายังคงถ่ายภาพความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ มาจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาสิบปีพอดี

“ความสุขของผมเวลาถ่ายภาพแนวนี้คือการได้อยู่กับความนิ่ง เงียบ จากชีวิตปกติที่วุ่นวาย พอเราออกไปธรรมชาติแล้วอยู่กับมันนานๆ เป็นวัน กับที่เดิมๆ ก็ทำให้เรารู้สึกอยู่กับตัวเองมากขึ้น แล้วก็มีเวลาได้คิดเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าที่จะมาคิดปัญหาในอดีตหรืออนาคต และเมื่อเราได้เจอสิ่งที่เราอยากถ่ายแล้ว ที่เหลือก็คือรอให้เป็นช่วงเวลา จังหวะเหมาะสมที่เป็นตัวพัฒนาชิ้นงานต่อ”

“จริงๆ ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ ตรงจุดนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจนสร้างความตระหนักให้กับผู้คน อย่างที่ประทับใจที่สุดคือที่ไอซ์แลนด์ ตั้งแต่จากที่เราเห็นในรูปถ่าย คิดว่ามันใหญ่แล้ว พอไปยืนตรงนั้น น้ำตกที่สูงมากๆ กับเสียงน้ำตกแรงกระแทกจนไอน้ำลอยขึ้นสูงกว่าตัวของมันอีกที ทั้งหมดช่วยให้เรารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก แล้วยิ่งเห็นว่า เมื่อหกปีที่แล้วที่เดินทางไปครั้งก่อนกับปีนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ทุกอย่างเหมือนเดิมมากๆ แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจในการอนุรักษ์มันเป็นไปได้”

ความยั่งยืนในทรรศนะของคุณกันตพัฒน์จึงเป็นเรื่องของการรักษาให้อยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “ความยั่งยืนคือสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นและเป็นอย่างนั้นได้เรื่อยๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเกิดจะให้ยั่งยืนจริงๆ ก็ต้องให้คนยุ่งกับมันน้อยที่สุด บางทีอาจเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคมที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลง การที่เรารู้ถึงความสำคัญ และผลที่ตามมาหลังการลงมือทำเป็นอย่างไร เราอาจจะต้องให้ความรู้และสร้างความตระหนัก”

“ภาพถ่ายเหมือนเป็นตัวบันทึกว่า สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันอาจจะเหมือนเดิม หรือต่างจากเดิมไปเลยก็ได้”

เริงชัย คงเมือง

ช่างภาพสารคดีมืออาชีพ ผู้บันทึกภาพธรรมชาติกับผู้คน ร่วมงานกับสื่อมากมาย รวมทั้ง National Geographic ฉบับภาษาไทย

จากประสบการณ์การทำงานสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานทั้งในป่ากับภาพถ่ายธรรมชาติ หรือการเป็นประจักษ์พยานถึงเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้ในสายตาของคุณเริงชัย ภาพถ่ายคือหลักฐานชั้นดีสำหรับโลกใบนี้

“ภาพถ่ายจึงกลายเป็นหลักฐานที่ดีมาก ว่าเกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สัตว์ป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมีขบวนการอะไรที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง ตอนนี้คนสังคมข้างนอกก็เริ่มรู้จักขยะทะเลว่าส่งผลต่อคนอย่างไรผ่านทางสื่อหรือภาพถ่าย ถึงแม้นานๆ จะเผยแพร่สักครั้งหนึ่งก็ยังดี เพราะช่วยแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง และเป็นข้อมูลให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น”

ภาพถ่ายธรรมชาติของคุณเริงชัยเน้นการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งจากมุมมองที่สวยงาม มุมมองที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น และมุมมองที่สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ชมภาพ ทั้งหมดนี้คือคุณค่าที่ภาพถ่ายส่งสารต่อมาถึงผู้ชม

“ภาพถ่ายที่ดีมันสามารถทำให้คนหยุดเพื่อจะเรียนรู้เรื่องราวในภาพได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคนรับสาร บางคนอาจจะไม่สนใจเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่บางคนสนใจเพราะภาพกระทบจิตใจ จนเกิดคำถามในใจต่อ และบางครั้ง คำบรรยายก็ช่วยเล่าต่อว่าเหตุการณ์ในภาพเกิดอะไรขึ้น”

ความประทับใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในการถ่ายภาพธรรมชาติเกิดขึ้นที่ป่าฮาลาบาลา จังหวัดยะลา ในยุคนั้นที่ยังใช้การถ่ายภาพด้วยฟิล์ม จังหวะและธรรมชาติคือความท้าทายสำคัญ แต่ก็นำมาซึ่งความทรงจำที่บอกเล่าเรื่องราวของภาพถ่ายได้อย่างดี

“หัวข้อเป็นการถ่ายเรื่องต้นไทร 24 ชั่วโมง ต้องเฝ้าดูว่าตลอดทั้งวันทั้งคืนมีสัตว์ชนิดใดที่เข้ามากินลูกไทรบ้าง ภาพที่ประทับใจที่สุดคือภาพของค่างที่พาลูกมากินลูกไทรสุก ถึงแม้ฝนจะตกหนักมาก แต่ค่างก็ไม่หนีไปไหน ยังกอดลูกเอาไว้แน่น จนกลายเป็นว่าภาพนี้สามารถเล่าเรื่องราวหลายมุมมอง ทั้งเรื่องป่าเขตร้อน ป่าดิบชื้นที่มีฝนตกปริมาณมากต่อปี และภาพแม่กับลูกค่างท่ามกลางสายฝนที่กำลังสะบัดน้ำออกจากตัว”

เพราะอยู่กับธรรมชาติมาตลอดทั้งชีวิต ความยั่งยืนในมุมมองของคุณเริงชัยจึงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวของทุกคน “ถ้าเราทำงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนคงเป็นไปได้ยาก แต่เราสามารถทำให้คำว่ายั่งยืนค่อยๆ ช้าลง อาจจะพอทำได้ แต่สิ่งที่ทำมาตลอด คือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม น่าจะทำมาเกือบครบทุกประเด็นแล้ว และคิดว่าถ้าเราไม่ทำ มันก็ยังคาใจอยู่ว่าทำไมเราไม่ทำ ทั้งๆ ที่เราเห็นปัญหา นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจทำเรื่องนี้ เพื่อให้คำว่ายั่งยืนมันช้าลง”

“จากที่ผ่านงานสารคดีธรรมชาติมาทุกประเด็น ส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์ทั้งนั้น ทั้งโลกร้อน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ขยะ สัตว์ป่า ไฟป่า เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ทั้งนั้น มนุษย์ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองในแต่ละภาคของสิ่งแวดล้อม ชะลอการเสื่อมสภาพความไม่ยั่งยืนลง” นั่นคือ เราทุกคนจำเป็นต้องมีส่วนในการสร้างความรับผิดชอบเหล่านี้ร่วมกัน

เอกรัตน์​ ปัญญะธารา

บรรณาธิการภาพ นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย กับภาพถ่ายสารคดีในมุมมองที่ชวนให้ตั้งคำถามและคิดตาม

ความทรงจำจากทริปประจำปีกับครอบครัว และกล้องถ่ายภาพ เป็นเรื่องราวที่ประทับอยู่ในใจของคุณเอกรัตน์ จนกลายเป็นการนำเอาทั้งสองสิ่งมารวมกัน หล่อหลอมให้เขามุ่งมั่นเดินทางสายช่างภาพสารคดีมาจนกระทั่งปัจจุบัน

“เราอยากทำอาชีพที่ทำทั้งสองอย่างได้ ทั้งการถ่ายภาพและการท่องเที่ยว พอได้เห็นภาพในนิตยสาร National Geographic เป็นภาพถ่ายจากกระจกรถที่สะท้อนภาพด้านหลังที่ว่ารถกำลังขับหนีภูเขาไฟระเบิด ทำให้เราอยากเป็นช่างภาพเดินทางท่องเที่ยว และศึกษา NG มากขึ้นจนสังเกตเห็นว่าวิธีการถ่ายรูปคนในนิตยสารเล่มนี้ให้ฟีลลิ่งบางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นในภาพแฟชั่นหรือพอร์ทเทรตปกติ จึงเริ่มสนใจและศึกษามากขึ้นจนกลายเป็นช่างภาพคน”

“เราสนใจความสัมพันธ์เกี่ยวกับคน เพราะทุกอย่างมีคนเป็นส่วนประกอบ เราชอบถ่ายคน แน่นอนว่าขั้นต่อมาคือต้องหาองค์ประกอบต่างๆ ที่คนไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งรวมถึงสัตว์​ ธรรมชาติ วัฒนธรรม ความรู้ วิทยาศาสตร์​ ทุกอย่างมีคนเป็นแกนในทุกสิ่ง จนคลุกคลีกับงานสายสารคดีมากขึ้น ทำให้เราเห็นว่า สุดท้ายแล้วมนุษย์เป็นผู้ขับเคลื่อนทุกอย่าง จะดีหรือจะเสียก็อยู่ในมือมนุษย์”

จากจุดเริ่มต้นที่มนุษย์ ลากเส้นต่อจุดไปถึงบริบทโดยรอบ กลายเป็นการลงรายละเอียดให้เขาได้ทำความเข้าใจกับมนุษย์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม “คนกับธรรมชาติหลีกหนีกันไม่ได้” เอกรัตน์บอก

“เราเคยทำเรื่องโลงศพกับโครงกระดูกที่พบในถ้ำ ซึ่งเราว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมาก ตอนที่เราเข้าไป เห็นแต่โลงศพในถ้ำหินปูน แล้วมันแสดงให้เห็นว่ามนุษย์พึ่งพิงธรรมชาติมาโดยตลอด ทั้งในแง่การมีชีวิตและชีวิตหลังความตาย มันน่าสนใจมากที่ความเชื่อในธรรมชาติแบบไหนที่ทำให้มนุษย์ยุคนั้นยอมแบกโลงศพปีนขึ้นเขาเพื่อเอาไปวางไว้ในถ้ำ มันก็เลยทำให้เราค่อนข้างทึ่งว่า สุดท้ายแล้ว ธรรมชาติมันมีความสัมพันธ์กับชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว อยู่ที่ว่ามองเห็นหรือไม่เห็น”

การที่ภาพหนึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนได้ ต้องเป็นภาพที่สวย แต่เหนือกว่าภาพที่สวย คือพลังที่ทำให้คนรู้สึกหวงแหน และอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำอะไรบางอย่างก็ได้ให้เกิดการอนุรักษ์ขึ้นมา “หน้าที่ของช่างภาพบันทึกความงาม ความสัมพันธ์ และความสำคัญในเชิงระบบนิเวศต่างๆ ของคนและสิ่งแวดล้อมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยมันเป็นงานค้นคว้า เก็บบันทึกข้อมูล เพื่อพัฒนาต่อว่าอนาคตแนวทางเรื่องการพัฒนาเรื่องความยั่งยืนหรือการอนุรักษ์ ว่าควรจะไปทางไหน”

“ในฐานะช่างภาพ หน้าที่ของเราคือถ่ายรูป เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น เราจะออกไปถ่ายรูปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเอาภาพถ่ายเหล่านี้มาส่งต่อข้อมูลว่า ทุกวันนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ เพื่อให้คนรับรู้และตัดสินใจร่วมกันถึงอนาคตของพวกเราทุกคนว่า เราจะเดินไปทางไหน”

 

ชมผลงานของพวกเขาในนิทรรศการ ‘ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านเลนส์ – Sustainability through the Lens” ณ Volvo Studio Bangkok @ ICONSIAM ชั้น 3

ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม – 24 ตุลาคม 2565 เข้าชมฟรีได้ทุกวัน

และเชิญร่วมฟังเสวนาจากช่างภาพทั้ง 3 ในหัวข้อ ‘ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านเลนส์’ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2565 14.00 น. – 15.00 น.

 

พบกันในงานวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 – 15.00 น.

ที่ Volvo Studio Bangkok ชั้น 3 ICONSIAM

ลงทะเบียนเพื่อร่วมงานได้ตั้งแต่วันนี้ที่ >> https://bit.ly/3UeWLVN
คลิกเพื่อดูเส้นทาง >> https://goo.gl/maps/zvBDPL7haFEECxbN9

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.