การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกรวน กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ตัวการสำคัญคือ Green House Gas (GHG) หรือ ก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้อย่างง่ายๆ
ดังนั้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 เมื่อปี 2021 จึงมีมติให้ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงจากมาตรการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่นโยบาย “Net Zero” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นภูมิอากาศให้ไม่เลวร้ายไปกว่านี้
จากมติดังกล่าว ประเทศไทยตั้งเป้าบรรลุการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)
เพื่อให้เป้าหมาย ‘เพื่อโลก’ ดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จภายในช่วงเวลาไม่ถึง 30 ปีต่อจากนี้ ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน รวมไปถึงสถาบันการศึกษา ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การสร้างสังคมเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ประสบความสำเร็จ
เอสซีจี กับการสร้างพันธมิตร ขยายแนวร่วมสู่ Net Zero 2050 ไปด้วยกัน
เอสซีจีมีความตั้งใจในการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนร่วมกันในสังคมวงกว้าง และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบาย Net Zero ของประเทศไทยประสบความสำเร็จภายในกรอบเวลาที่ตั้งเป้าไว้
(1) จับมือภาคธุรกิจ ขับเคลื่อนนวัตกรรมที่อยู่อาศัยสีเขียว พลิกฟื้นสิ่งแวดล้อม สู่สังคมคาร์บอนต่ำ
กลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) : เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานขาดแคลน การจัดการเศษวัสดุที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเอสซีจีมุ่งเน้นการหมุนเวียนทรัพยากรและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ แนวทาง Turn Waste to Value เพื่อลดเศษวัสดุจากงานก่อสร้างโครงการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้ง ร่วมกันพันธมิตรองค์กรเอกชนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อบริหารจัดการปัญหาเศษวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มุ่งสู่การดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวอย่างความร่วมมือ อาทิ
1.) การนำเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็มไปใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและ ลดจำนวนขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง รวมถึงการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างให้เป็นระบบ ร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในกลุ่มสมาชิก CECI ในหลายโครงการเช่น โครงการ Supalai Rama 9 โครงการ The Forestias โครงการ Central Sriracha / Chanthaburi และ โครงการ One Bangkok เป็นต้น
2.) ร่วมกับบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างฉลาก SCG Green Choice ใช้ในโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมกว่า 100 โครงการ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำยั่งยืน ซึ่งลัย มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตวัสดุ 564 ตัน เทียบเท่าปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 47,000 ต้นภายใน 1 ปี
TCMA: เอสซีจี ยังได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (TCA) และ Global Cement and Concrete Association (GCCA) จัดทำ “Thailand Chapter: Net Zero Cement & Concrete Roadmap” โดยได้นำเสนอในที่ประชุมสมาคมผู้ผลิตซีเมนต์รายใหญ่ระดับโลก GCCA CEO Gathering 2022 เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธุรกิจซีเมนต์และคอนกรีตทั่วโลก
CPAC Green Solution ผนึกกำลัง 50 บริษัทพันธมิตร : เอสซีจี โดย CPAC Green Solution ผนึกกำลัง 50 บริษัทพันธมิตร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อยกระดับมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพฝีมือด้านงานก่อสร้าง โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังร่วมกัน ควบคู่ไปกับแนวทาง Go Green จากการนำโซลูชันและเทคโนโลยีมาใช้ในทุกกระบวนการก่อสร้าง เพื่อ Turn Waste to Value เปลี่ยนความสูญเสียให้มีประโยชน์คืนกลับสู่สังคม ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เน้นการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมกับการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม
GCCA Net Zero Concrete Roadmap 2050: ความร่วมมือสร้าง Roadmap ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตโลก ซึ่งมีการผลิตแบบหมุนเวียนอยู่ในโรดแมปเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่เปิดตัวโรดแมปการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นผลสำเร็จ โดย Roadmap ดังกล่าวได้รับการรับรองและสนับสนุนจาก UN
(2) สร้างเครือข่ายด้านการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา และเครือข่ายองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นอกจากการสร้างความร่วมมือในพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในระดับเอกชนและหน่วยงานระดับรัฐแล้ว เอสซีจีเล็งเห็นถึงความสำคัญในการวิจัย พัฒนา และแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมและยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างไทยในอนาคต รวมถึงเป้าหมายในการดำเนินการธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล เอสซีจีจึงมุ่งสร้างพันธมิตรเครือข่ายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่เอสซีจีมีไปพัฒนา ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ให้สิ่งแวดล้อมคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามในสัญญาร่วมวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาแนวทางการแก้ไขวัสดุขั้นพื้นฐานอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับการก่อสร้างถนนของประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาวิธีก่อสร้างถนนไทยให้ดีขึ้นด้วยวัสดุทางเลือกอื่นที่สามารถตอบโจทย์การก่อสร้างด้วยระยะเวลาก่อสร้างที่น้อยลง มีความแข็งแรง พร้อมลดการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จํากัด (CPAC) ร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิ Earth Agenda ในโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง พร้อมภาคีสนับสนุน กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ จาก CPAC 3D Printing Solution ขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง สร้างต้นแบบนำร่องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติได้เสมือนจริง คืนกลับความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศแนวปะการัง โดยได้มีแผนดำเนินงานนำร่องในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เขาหลัก จังหวัดพังงา เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ตามลำดับ
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) ถึงแนวทางการนำพลังงานทดแทนจากชีวมวลหรือ Biomass ซึ่งแปรรูปมาจากกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แกลบ ฟางข้าว เปลือก/ชังข้าวโพด ไม้สับ ขี้เลื่อย ใบไม้ ภายใต้โครงการ “ชุมชนต้นแบบ ลดการเผา” โดยการรับซื้อเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ช่วยลดปัญหาการเผาและปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เสริมรายได้แก่เกษตรกรและประชาชนในชุมชนเขตป่า ปัจจุบัน ใช้เชื้อเพลิงทดแทน แกลบ ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ไม้สับ RDF ปริมาณทั้งหมด 96,000 ตัน/ปี ร้อยละ 16 ของเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยในปี 2022 ตั้งเป้าใช้เชื้อเพลิงทดแทนปริมาณทั้งหมด 144,000 ตัน/ปี ร้อยละ 24 ของเชื้อเพลิงทั้งหมด
เอสซีจีได้ดําเนินการและทบทวนกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะมอบ “สิ่งที่ดีกว่า” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าให้ทรัพยากรอย่างสูงสุดและจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันกับสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในวัฏจักรการผลิตและการบริโภค