ในห้วงของการระบาดของโรคโควิด-19 มีคำพูดในเชิงขำขัน (และไปทางเสียดสีเล็กน้อย) ว่า คนไทย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่นั้นคุ้นชินกับการใส่หน้ากากอนามัยมาก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเสียอีก เพื่อป้องกันตัวจากสถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
.
โดยผลกระทบจาก PM 2.5 อาจเปรียบเทียบได้กับการ ‘ตายผ่อนส่ง’ เนื่องจากอนุภาคของเล็กๆ ของฝุ่น คนเราจะหายใจเอาฝุ่นนี้เข้าไปสะสมในร่างกาย ที่เข้าไปในระยะยาว จะส่งผลให้เกิดอาการ เจ็บป่วย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ หลอดเลือดสมอง เป็นต้น
.
เมืองที่มีปัญหาเรื่อง PM 2.5 ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพลเมือง และเมืองที่พบปัญหาเช่นนี้คือเมืองที่ประสบปัญหาในเรื่องของความยั่งยืนในหลายๆ ด้าน
.
ในงาน Sustainability Expo 2022 งานมหกรรมเพื่อความยั่งยืน จึงได้มีการจัดนิทรรศการ “รู้จักฝุ่นเมือง Know Your PM2.5” ที่นำเสนอความรู้ของฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในเมืองใหญ่ (โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ) เพื่อให้ผู้ชมได้มีความรู้ในเรื่องของการเกิดฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กในอากาศ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ
.
โดยในนิทรรศการจะแสดงถึงองค์ประกอบของฝุ่นแบบแยกส่วนให้เราเข้าใจถึงที่มา ช่วงเวลาการเกิด มอนิเตอร์แสดงความหนาแน่นของฝุ่นแบบเรียลไทม์ ข้อดีของการเล่าเรื่องด้วยนิทรรศการก็คือ มีการสังเคราะห์ข้อมูลและออกแบบมาเป็นโครงสร้าง เป็นวัตถุที่จับต้องสัมผัสได้ เข้าไปมีประสบการณ์ร่วมได้
.
ยิ่งถ้าคุณได้มาร่วม ‘เล่นฝุ่น’ ในนิทรรศการนี้แล้ว จะยิ่งเข้าใจเรื่องฝุ่น ลึกซึ้งเข้าไปถึงอณูของมันเลยทีเดียว
.
เข้าร่วมนิทรรศการ “รู้จักฝุ่นเมือง Know Your PM2.5” โดย ทีมวิจัยคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโซน Better Community งาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 เข้าชมฟรีตลอดทั้งงาน
.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo/
นิทรรศการนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “While you’re relaxing, someone never gets rest” หรือ ในขณะที่คุณพักผ่อน ยังมีบางสิ่งที่ไม่ได้พักผ่อนตาม
.
นั่นคือฝุ่นในชนิดต่างๆ ที่กำลังก่อตัวในชั้นบรรยากาศ และก็เป็นที่มาของฝุ่นที่คนในเมืองใหญ่หายใจเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ
หน้าทางเข้านิทรรศการ จะมีกล้องจุลทรรศน์ที่ส่องให้เห็นถึงถึงเส้นผมเส้นเล็กๆ ซึ่งเส้นผมจะเป็นตัวเปรียบเทียบของฝุ่นขนาดต่างๆ ที่จะบอกเล่าในนิทรรศการ โดยฝุ่นที่มีขนาดใหญ่สุดอย่าง PM10 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 5-7 เท่า โดยฝุ่นที่มีขนาดเล็กสุด คือ PM1 มีขนาดเทียบเท่าได้กับแบคทีเรีย
.
ซึ่งเมื่อเราก้าวเข้าไปในนิทรรศการ เราก็จะกลายเป็นฝุ่น 1 อนุภาค ที่กำลังจะไปพบกับอนุภาคของฝุ่นอีกมากมายที่อยู่ภายใน รวมไปถึงรู้จักแหล่งกำเนิดของฝุ่น
เมื่อเข้าไปด้านใน จะมีภาพกราฟฟิกที่เป็นตัวแทนของ สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ (KU TOWER) ความสูง 117 เมตร ของทีมวิจัยคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย และมีเสาที่ตั้งอยู่ที่ตึกใบหยก กรุงเทพมหานคร
.
สถานีตรวจวัดนี้มีการตรวจวัดฝุ่นที่ระดับ 30, 75 และ 110 เมตร เพื่อให้ทราบถึงระดับความเข้มข้นของฝุ่น เปรียบเทียบตามช่วงเวลาและกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น โดยเฉพาะ PM2.5
พื้นที่ด้านล่างของนิทรรศการจะมี ‘ลูกบอล’ ที่มีขนาด ลักษณะ และสีที่แตกต่างกัน เป็นตัวแทนของฝุ่นประเภทต่างๆ ที่ลักษณะทางกายภาพ ที่มา และแหล่งกำเนิดที่ต่างกัน ซึ่งเป็นส่วนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กๆ และคนทุกวัยที่จะมาเรียนรู้ในเรื่องของประเภทของฝุ่นได้ผ่านลูกบอลหลากสีนี้
ไฮไลท์ของนิทรรศการนี้คือ การนำเสนอ “ฝุ่นเมือง” ทั้ง 6 แบบ ได้แก่ 1. Midnight Particle Patterns หรือเรียกว่า “ฝุ่นหลังเที่ยงคืน” / 2. Inversion Particle Patterns หรือ “ฝุ่นอุณหภูมิผกผัน” ที่เรามักเรียกกันว่า “ฝุ่นฝาชีครอบ” / 3. Transboundary Particle Patterns หรือฝุ่นจากการเคลื่อนที่ระยะไกล / 4. Secondary Particle หรือ Photochemical Particle Patterns หรือฝุ่นทุติยภูมิ / 5. Mixed Particle Patterns ซึ่งเป็น ฝุ่นรูปแบบผสมผสาน / 6. Unpattern หรือ ฝุ่นไม่มีรูปแบบ
.
โดยนิทรรศการจะให้ความรู้ผ่านการฉายภาพผ่านจอรูปทรงวงกลม ซึ่งจำลองเป็นอนุภาคของฝุ่น
ในภาพฉายนี้แสดงกระบวนการเกิดฝุ่น 6 ชนิด ในเมือง ซึ่งแต่ละชนิดจะมีที่มาและปัจจัยจาก กิจกรรมต้นกำเนิด ธรรมชาติลักษณะโครงสร้างของฝุ่น และสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีผลต่อการเกิดประเภทต่างๆ
.
สามารถอ่านเรื่องราวของฝุ่นทั้ง 6 ชนิด เป็นความรู้เบื้องต้นก่อนได้ที่ https://ngthai.com/environment/44337/particle-patterns
รู้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเมือง แบบนาทีต่อนาที
.
นอกจากเรื่องของฝุ่นแล้ว ภายในนิทรรศการจะมีจอแสดงการวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ในเมืองที่มีพื้นที่สีเขียว หรือมีต้นไม้อย่างหนาแน่น (ในภาพคือสถานีตรวจวัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) กับพื้นที่ในเมืองที่มีความหนาแน่นในพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า ซึ่งวัดกันแบบ Real time นาทีต่อนาที เปรียบเทียบกับสถานีตรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงในระดับโลก
.
โดยภาพในจอจะแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวหนาแน่นกว่า สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าพื้นที่ในเมือง โดยปริมาณการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากย่อมส่งผลต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกรวน ที่น้อยลง ส่งผลให้โลกของเรามีสภาพบรรยากาศที่ดีขึ้น และทำให้โลกของเราน่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน
โดยผู้จัดนิทรรศการจากทีมวิจัยคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดหวังว่าผู้ที่ได้เข้าชมนิทรรศการนี้จะมีความรู้ในเรื่องฝุ่นประเภทต่างๆ ในเมือง เช่น PM2.5 มากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งต้นกำเนิด เพื่อให้รู้ว่าฝุ่นในเมืองเกิดได้อย่างไร ทั้งการเกิดจากกิจกรรมในระดับปัจเจกบุคคล รวมไปถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างสภาพอากาศ และเรื่องของโครงสร้างฝุ่นซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของฝุ่นเมืองแบบภาพรวม และตระหนักได้ว่าทุกคนในเมืองสามารถมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาได้ รวมไปถึงรู้จักวิธีการป้องกันตนเองจากอันตรายที่เกิดขึ้นจากฝุ่นเมือง
.
เข้าร่วมนิทรรศการ “รู้จักฝุ่นเมือง Know Your PM2.5” โดย ทีมวิจัยคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโซน Better Community งาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 เข้าชมฟรีตลอดทั้งงาน
.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo/