‘รถ’ เคลื่อนโลก ส่องพัฒนาการรถ EV ไทยใน Sustainability Expo 2022

ถึงวันนี้ ถ้าถามว่านวัตกรรมแห่งอนาคตใดที่ผู้คนสนใจมากที่สุด มีความเป็นไปได้ที่คิดจะครอบครองเป็นเจ้าของมากที่สุด เชื่อว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV (Electric Vehicles) คือคำตอบแรกๆ

วิกฤตภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และอีกสารพัดเหตุผล ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าคือทางเลือกของผู้ใช้รถมาสักระยะแล้ว และยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป ไลฟ์สไตล์ของผู้คน นโยบายผู้ผลิต กระทั่งท่าทีของภาครัฐก็ยิ่งชัดเจนขึ้น โดยในในปีนี้เองคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนทางภาษีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Tax Incentive Package) เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งขับเคลื่อนด้วย

สองล้อของรถ ที่ถูกสร้างขึ้นจากสองมือของมนุษย์ จึงกำลังเคลื่อนตัวเพื่อเปลี่ยนสังคมการใช้พลังงานหลักในยานพาหนะอย่างเป็นรูปธรรม จากน้ำมันสู่พลังงานไฟฟ้า และแน่นอนว่าที่งาน Sustainability Expo 2022 ก็ได้จัดโซนเพื่อเล่าเรื่องรถ EV โดยเฉพาะ ซึ่งเปรียบได้กับการนำเสนอความคืบหน้าของรถไฟฟ้าในประเทศไทย

รถโดยสารสาธารณะหรือ “รถเมล์” คือขนส่งมวลชนพื้นฐานที่ใครๆก็เข้าถึงได้ และในงาน SX 65 ก็ได้มีการนำรถเมล์พลังงานไฟฟ้า สาย 8 ซึ่งเคยเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ในคอนเซ็ปต์ “We Come To Change Fast 8 To Feel Good”

โปรเจคเปลี่ยนมุมมองของรถเมล์สาย 8 ถูกคิดค้นมาสักระยะแล้ว โดยมีบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด, บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ร่วมผลักดัน ซึ่งรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในเฟสแรกมีทั้งสิ้น 153 คัน ก่อนนำมาใช้ล็อตแรก 40 คันตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมา

รถไฟฟ้าที่ว่านี้ จะชาร์ตหนึ่งครั้ง ใช้เวลา 1.40 ชั่วโมง วิ่งได้ 4 รอบ 280 กิโลเมตรต่อวัน พร้อมกันนี้ยังติดตั้งตู้ชาร์ตแบบฟาสต์ชาร์ต กำลังไฟ 310 กิโลวัตต์ชั่วโมงซึ่งมีกระจายตามอู่ต่าง ๆ ทั้ง 8 อู่ อู่ละ 20 หัวชาร์ต ครอบคลุม 71 เส้นทางที่บริษัทฯ ได้รับสัมปทาน

สายเมล์ไฟฟ้าสาย 8 โฉมใหม่นี้ เป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายในตัวรถมี 31 ที่นั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย ประตูฉุกเฉิน ที่นั่งสำหรับวีลแชร์ ภายในรถจะติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบอี-ทิกเก็ต ควบคู่กับการใช้เงินสด โดยเป็นการเติมเงินไม่จำกัดขั้นต่ำ ผ่านระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อเตรียมพร้อมเชื่อมต่อการเดินทางแบบระบบเครือข่าย “รถ-เรือ-ราง” ครบวงจร

ขณะที่อัตราค่าโดยสารจะเท่ากับอดีตคือ 15-25 บาท ตามระยะทาง และจะมีการจำหน่ายบัตรโดยสาร หรืออี-ทิกเก็ต หากเดินทางในวันนั้นครบ 40 บาท และยังสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ด้วย

เวลาพูดถึงขนส่งมวลชน เรามักคิดถึงแต่รถไฟฟ้าสายหลัก ไม่ว่าจะเป็น BTS, MRTหรือ Airport Rail Link รวมไปถึงรถเมล์ แต่ถึงเช่นนั้นรูปแบบขนส่งมวลชนในเมืองที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ ขนส่งมวลชนแบบย่อย หรือ Micro transit ซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งที่ทำหน้าที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างบ้านหรือที่ทำงานไปยังระบบขนส่งหลัก หรือตามย่านชุมชน เศรษฐกิจ ที่มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวจำนวนมาก

เราต้องขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อมานั่งรถไฟฟ้า หลายคนเคยนิยามถึงการเดินทางในกรุงเทพฯ ซึ่งนั่นคือ Pain Point ของคนเมือง อันเป็นที่มาของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่สั่งงานด้วยแอพพลิเคชั่นชื่อ “MuvMi” (มูฟมี)

มูฟมี (MuvMi) เป็นผู้ให้บริการเรียกรถสามล้อไฟฟ้า หรือที่เรียกกันติดปากว่ารถตุ๊กตุ๊กในระบบ Ride Sharing ผ่านแอพฯ มือถือ  ซึ่งเป็นแอพฯเรียกรถแบบ On-Demand ที่สามารถเรียกเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการและระบบจะบริหารจัดการให้ผู้ที่จะเรียกรถไปในเส้นทางเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกัน สามารถไปรถคันเดียวกันได้

หัวใจหลักของการมีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้านี้ คือการอำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางระยะสั้น ซึ่งช่วยเสริมระบบขนส่งมวลชนหลัก โดยมีเป้าหมายอยากเห็นคนใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้นกว่าการใช้รถส่วนตัว ลดปัญหาการจราจรแออัด รถติดน้อยลง มลพิษลดลง และที่ผ่านมาโปรเจคของมูฟมีก็เกิดขึ้นจริงแล้วเช่น ย่านสยามสแควร์, รัชดา-พระราม9, อโศก-นานา

เล่าเรื่องขนส่งมวลชนใน 2 ระดับ ก็ถึงคราวต้องเล่าถึงการใช้รถไฟฟ้าในองค์กร ซึ่งถือว่าในงานนี้นำเสนอจุดปลี่ยนที่สำคัญ เพราะในเมื่อบริษัทและองค์กรใหญ่ต้องใช้รถในธุรกิจเป็นจำนวนมาก มันจะดีกว่าไหมถ้าพวกเขาเป็น คลื่นใหญ่ลูกแรกๆที่จะสร้างการเปลี่ยนพฤติกรรมให้กับผู้คน

อย่าลืมวว่า การเกิดขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขภาวะเรือนกระจกและโลกร้อนจากการปล่อยมลพิษของเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊ส ด้วยระบบการทำงานของรถที่เน้นใช้พลังงานทดแทน ใช้แบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า และไม่มีการเผาเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในระบบขับเคลื่อน แต่ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านคือเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจมากๆ คือการเกิดขึ้นของบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้การบริหารของ เอสซีจีใหญ่ หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

สมนึก สัณห์วิญญู EV Business Division Manager บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า งานของเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คือการ พัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยเฉพาะ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ และให้เกิดการใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในธุรกิจของ เอสซีจี ที่ครอบคลุมตั้งแต่การก่อสร้าง ระบบโลจิสติกส์ ไซต์งานก่อสร้างที่เชื่อมโยงกับการขนส่งต่างๆ

“เราทำให้พนักงาน ซัพพลายเอร์ และผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนรถไฟฟ้าในอัตราที่ไม่ต่างจากใช้รถน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีบริการใน 4 กระบวนการ ประกอบด้วย

1. การคัดสรรผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถโดยสารส่วนบุคคล, รถโดยสารหรือขนส่งเพื่อการพาณิชย์, รถยก (โฟล์คลิฟท์ไฟฟ้า)

2. การให้บริการด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ บริการรถรับ-ส่งพนักงาน, บริการขนส่งสินค้า, บริการขนส่งสินค้าจากร้านค้า (ผู้ส่ง) ส่งถึงที่อยู่ปลายทางลูกค้าหรือ ร้านค้าโดยตรง (Last Mile Delivery)

3.การซ่อมบำรุงและชิ้นส่วนอะไหล่ ได้แก่ การบำรุงรักษาตามสัญญา (รถโดยสารส่วนบุคคล), การบริการบำรุงรักษานอกสถานที่ (รถโดยสารหรือขนส่งเพื่อการพาณิชย์ และรถยก), การจัดหาอะไหล่และชิ้นส่วนประกอบ และ 4. การบริการชาร์จไฟฟ้า ชาร์จเจอร์ที่มอบให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย(รถโดยสารส่วนบุคคลและรถยก)”

ตัวอย่างของ โครงการที่ประสบความสำเร็จและส่งมอบให้แก่ลูกค้าไปแล้ว อาทิเช่น โครงการรถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้า โครงการรถมินิแวนรับ-ส่งพนักงาน โครงการรถแท็กซี่ไฟฟ้า โครงการรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพนักงาน โครงการรถบัสไฟฟ้ารับ-ส่งพนักงาน โครงการรถคอนกรีตผสมเสร็จไฟฟ้า เป็นต้น ในขณะที่ยังมีโครงการที่น่าสนใจที่เรากำลังพัฒนาอยู่อีกมากมายอาทิ เช่น โครงการประกอบรถบัสไฟฟ้าในประเทศ โครงการเปลี่ยนรถกระบะน้ำมันเป็นรถกระบะไฟฟ้า โครงการสลับพวงมาลัยจากด้านซ้ายเป็นด้านขวาสำหรับรถบรรทุกไฟฟ้า เป็นต้น

“รถไฟฟ้าถือเป็น New S Curve ขององค์กร ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงถึงความเป็นไปได้ และการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่จะเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า และถ้าองค์กรทั้งหมดเปลี่ยนก็ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับผู้ใช้ทั่วไป”

ปิดท้ายรายงานชิ้นนี้และบรรยากาศว่าด้วยเรื่องรถ EV ในงาน SX 2022 ซึ่งเราจะไม่พูดถึงในกรณีของรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำตลาดและขายจริงแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Volvo, Neta V, New MG ZS EV., MG EP PLUS., FOMM ONE. หรือความสนใจในความเคลื่อนไหวของเจ้าตลาดอย่าง Toyota ที่แว่วมาว่าก็เตรียมเปิดตัวรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานทางเลือกเช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่อยากจะเล่า ก็คือการเกิดขึ้นของ “รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” ซึ่งในงานนี้แบรนด์ Yamaha ก็ได้นำรถรุ่น ยามาฮ่า E01 มาแสดง

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายามาฮ่า ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Plugged Yamaha to new era” พร้อมจุดเด่นของระบบชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ที่รวดเร็ว และเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะว่าไปก็ถือเป็นการพัฒนาทุกองค์ประกอบทั้งด้านการออกแบบและวิศวกรรม ด้านสมรรถนะ แบตเตอรี่ ระบบการชาร์จไฟ ดีไซน์ภายนอก และฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ เพื่อให้เป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบ ใช้งานได้จริง ไม่ต่างอะไรกับใช้พลังงานน้ำมัน

ยามาฮ่า E01 นับเป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มีสมรรถนะใกล้เคียงกับเครื่องยนต์เทียบเท่ากับสกู๊ตเตอร์ขนาด 125 ซีซี ให้กำลัง 8.1 กิโลวัตต์ ส่งผลให้มีประสิทธิภาพที่ดีในการเดินทาง โดยระยะทางจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเต็มที่ สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดถึง 104 กิโลเมตร* เมื่อวิ่งด้วยความเร็วคงที่ 60 กม./ชม.ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 100 กม./ชม.

นั่นเป็นความเคลื่อนไหวว่าด้วย รถ EV ในงาน SX 2022ซึ่งอธิบายได้ถึง Ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร อันสอดคล้องกับการเติบโตของยอดขายรถ EV ซึ่งมีรายงานว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสำคัญ จากนโยบายที่ชัดเจนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทำให้เกิดมาตรการสนับสนุนรถ EV

ถึงตรงนี้ ถ้าถามว่านวัตกรรมแห่งอนาคตใดที่ผู้คนสนใจมากที่สุด มีความเป็นไปได้ที่คิดจะครอบครองเป็นเจ้าของมากที่สุด เชื่อว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV (Electric Vehicles) คือคำตอบแรกๆ เพราะนอกจากจะคุ้มค่า ประหยัดในเรื่องการใช้พลังงานแล้ว

ล้อที่เคลื่อนเปลี่ยนโลก ของยานยนต์ไฟฟ้า ยังมีพวกเราเป็นคนผู้ร่วมขับเคลื่อนด้วย

อ้างอิง

ครม. โปรโมท! ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เห็นชอบ ร่าง ประกาศ กค. ยกเว้นอากรศุลกากร สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/57285

รถยนต์ไฟฟ้า: ความต้องการและโอกาสที่กำลังมาถึง สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565

https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ev-survey-22

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.