งานอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา แต่เป็นอาชีพแห่งอนาคต: มุมมองนักอนุรักษ์มืออาชีพ

“งานอนุรักษ์ ไม่ใช่งานอาสา” เปิดมุมมองอาชีพแห่งอนาคตจากเหล่านักอนุรักษ์ตัวจริง

หากกล่าวถึงการอนุรักษ์หรืองานอนุรักษ์แล้ว หลาย ๆ คนมักจะนึกถึงงานอาสา หรือการเป็นอาสาสมัคร แต่ในความเป็นจริงแล้ว การอนุรักษ์สามารถเทียบได้ว่าเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญและนำไปใช้ต่อยอดเป็นวิชาชีพได้

งาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 ที่จัดขึ้นมุ่งส่งเสริมแนวคิดความยั่งยืนให้หยั่งรากลึกลงไปในสังคม ต้องการสร้างความเชื่อมั่นใหม่ในสังคมไทยว่า งานอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา เพราะต้องอาศัยความเป็น ‘ศาสตร์’ เฉพาะทาง ในการดำเนินงาน ถ้าหากมีการวางแนวทางที่ชัดเจน การอนุรักษ์ก็จะกลายเป็นสายอาชีพใหม่ที่มีความสำคัญและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่งในยุคที่โลกโดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องการแนวคิดด้านอนุรักษ์และความยั่งยืนให้เป็นบรรทัดฐานใหม่

ภายในงานจึงได้มีการจัดเสาวนาในเรื่อง “การอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา แต่เป็นอาชีพแห่งอนาคต” โดย 3 นักอนุรักษ์ธรรมชาติที่รักและยึดมั่นในอาชีพด้านนี้ของพวกเขาอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC Thailand) ทูตสันถวไมตรีประจำประเทศไทย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP), ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดี, National Geographic Explorer สมาชิกของ International League of Conservation Photographers (iLCP), และ รงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย ทีมวิจัยนก กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของสถิตินับนกประเทศไทย วันนกอพยพโลกปี 2564 การเสวนานี้ดำเนินรายการและร่วมแชร์ประสบการณ์โดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์, National Geographic Explorer และนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ก่อตั้ง ReReef

มาร่วมค้นหาบันดาลใจและเหตุที่ทำให้เลือกงานอนุรักษ์มาเป็นวิชาชีพของพวกเขากัน

อเล็กซ์ เรนเดล: ปลูกฝังการอนุรักษ์ไปยังเยาวชน และผลักดันความยั่งยืนให้องค์กรขนาดใหญ่

หลายคนอาจคุ้นเคยอเล็กซ์ เรนเดลล์ ในฐานะดารานักแสดง แต่หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี เขาค้นพบความหลงใหลทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของตัวเองเมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ การประชุมครั้งนั้นทำให้เขาได้รู้ว่า ‘ภาวะโลกรวน’ เป็นเรื่องที่จริงจังและมีรายละเอียดเยอะกว่าที่คิด จึงเป็นตัวจุดประกายให้อเล็กซ์ได้เริ่มต้น ‘อาชีพ’ ทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของศูนย์การศึกษาสิ่งแวดล้อม (EEC) องค์กรที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ สร้างประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ต่อธรรมชาติ ซึ่งเน้นส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวไปที่เด็กและเยาวชน ผ่านการจัดค่ายกิจกรรมที่พาไปรู้จักระบบนิเวศใต้น้ำหรือศึกษาธรรมชาติในป่า

“ผมได้เจอผู้ปกครองและทำงานกับเด็ก ๆ หลายครั้ง ผู้ปกครองหลายคนยังมองว่าไม่อยากให้ลูก ๆ มาทำงานสายนี้เพราะยังคงมองว่าเป็นงานอาสาสมัคร อยากให้ทุกคนเปลี่ยนการรับรู้ตรงนี้ว่า มันเป็นอาชีพได้ มันสร้างโอกาสให้เราและทุกองค์กรกำลังหันมาสนใจด้านนี้มากขึ้น” อเล็กซ์กล่าว

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ผลักดันแนวคิดการอนุรักษ์และความยั่งยืนไปยังองค์กรใหญ่ๆ ในยามที่กระแสด้านความยั่งยืนยังเป็นเพียงแค่แนวคิดของกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) โดยเขาอธิบายเรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals–SDGs  หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ) ให้แก่บรรดาผู้บริหารของ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยว่า กิจกรรมบรรยายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในค่ายสามารถนำไปใช้บริษัทได้ จนในทุกวันนี้ สิงห์ เอสเตท ได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับค่าย EEC อยู่บ่อยครั้ง และนำแนวคิดได้ความยั่งยืนไปใช้ในการบริหารโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในเครือ

“โลกเป็นของเราทุกคน ทรัพยากรบนโลกก็เช่นกัน ทรัพยากรเป็นเรื่องที่ต้องแบ่งปันกันเพราะจำนวนผู้คนบนโลกมีมากกว่าทรัพยากร ดังนั้น (ในภาคธุรกิจ) อย่ามองว่าเราเป็นเจ้าของ เราต้องแบ่งปันกัน ต้องมีเป้าหมายเดียวกันว่าจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างไร”

อเล็กซ์กล่าวและเสริมว่า หากมองในมุมของนักธุรกิจแล้ว ไม่ควรคิดแค่ว่างานด้านอนุรักษ์ไม่ต้องใช้ทุนเยอะ แต่กลับต้องหาสมดุลให้เจอว่าต้องทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่เราใช้อยู่กับเราไปนาน ๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ได้ด้วยทรัพยากร

เมื่อถามถึงคำแนะนำด้านการเรียนและทำงานด้านสิ่งแวดล้อม อเล็กซ์ได้ให้คำตอบว่า การทำงานในด้านนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องป่าหรือทะเล แต่สามารถทำได้ทุกสายงาน แม้ที่สุดแล้วจะได้ทำงานที่ไม่เกี่ยวกับความยั่งยืน แต่สามารถนำแนวคิดการอนุรักษ์และความความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสายงานของตัวเอง

“การทำงานด้านการอนุรักษ์นั้นมีโอกาสมากมาย สิ่งที่เราต้องทำคือการค้นหา Passion (ความหลงใหล) ในการทำงาน“ อเล็กซ์ กล่าว

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย : จากนักวิจัยในท้องทะเล สู่การเพิ่มอาชีพเป็นช่างภาพสารคดีสายอนุรักษ์

ในวัยเด็ก ชิน- ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ชื่นชอบและสนใจฉลาม ปลาและสัตว์ทะเลมาตั้งแต่เด็ก จากหนังสือภาพสัตว์ทะเลที่ส่งเสริมจินตนาการและผลักเขาให้ออกไปเติบโตเป็นเป็นนักดำน้ำ พ่วงกับการทำงานวิจัยทางทะเลที่เกาะเต่าด้านฉลามโดยตรง

ต่อมาเขาค้นพบว่า งานวิจัยที่มีผู้อ่านและใช้งานแค่หลักสิบ ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวการอนุรักษ์ให้โลกได้ตระหนักเท่ากับการประกอบสร้างสิ่งที่เขาพบเจอให้เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘สารคดี’ แต่ตอนแรกเริ่มก็พบอุปสรรคกับความจริงที่ว่า ในประเทศไทยไม่ได้มีช่องทางในการสื่อสารหรือเล่าเรื่องงานวิจัยในเชิงอนุรักษ์ออกมามากนัก

อย่างไรก็ตาม เขาได้ส่งเรื่องราวการทำวิจัยฉลามของเขาไปที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ที่ได้มีส่วนช่วยให้เขาเผยแพร่เรื่องราวและผลงานภาพถ่ายใต้ทะเลที่สวยงามน่าตื่นตะลึง จนสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกาสนใจในศักยภาพการเล่าเรื่องทางด้านธรรมชาติของเขา และได้มอบโอกาสให้ได้ไปศึกษาดูงาน และฝึกฝนการถ่ายทอดเรื่องราวสารคดีระดับโลก จนทุกวันนี้เขาสวมหมวกเป็นช่างภาพสารคดีเพิ่มเติมจากงานวิจัย โดยภาพถ่ายของเขายังเน้นถ่ายทอดเรื่องราวความอัศจรรย์ใต้ทะเลในแบบของตัวเองให้กับผู้ชมมากมาย

ในฐานะนักวิจัยผู้คนพบการใช้วิธีถ่ายภาพเพื่อการเล่าเรื่องงานวิจัยให้กับผู้คนได้อย่างทรงพลัง เขากล่าวถึงมุมมองภาพถ่ายจะทำให้เกิดความตระหนักในสิ่งแวดล้อมต่อคนทั่วไปว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อม การสื่อสารของทุกคนมีความหมาย และต้องทำให้เรื่องนี้กระจายออกไปสู้ผู้คนในวงกว้าง และการสื่อสารนั้นต้องทำออกไปอย่างมีความเข้าใจ”

รงรอง อ่างแก้ว: ผู้ยึดอาชีพผู้ช่วยนักวิจัยไปกับนกที่เธอรัก

ทุกวันนี้ รงรอง อ่างแก้ว ยึดอาชีพผู้ช่วยนักวิจัยด้านนก จากการค้นพบตัวเองตั้งสมัยเรียนปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเข้าร่วมชมรมดูนก

ด้วยความชื่นชอบในธรรมชาติเป็นทุนเดิม เธอจึงเริ่มศึกษาเรื่องการดูนกอย่างจริงจัง เพราะนกเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย สวยงามและสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน จนได้รับคำเชิญจากอาจารย์ให้มาเป็นผู้ช่วยและเก็บข้อมูลวิจัย และได้ยึดอาชีพเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ทีมวิจัยนก กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจากอาชีพนี้เองทำให้เธอได้ครอบครองสถิตินับนกประเทศไทย วันนกอพยพโลกปี 2564 มาครอง

เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า อาชีพทางด้านสายอนุรักษ์ธรรมชาติและความยั่งยืนนั้นมีงานทำในสังคมที่มองว่า งานสายนี้เป็นงานอาสามากกว่าเอามาตั้งหลักเป็นอาชีพได้หรือไม่

รงรองตอบจากประสบการณ์ของเธอว่า  ในประเทศไทย การศึกษาวิจัยด้านนกนั้นมีน้อย จึงมีความต้องการบุคลากรในด้านนี้อีกมาก กล่าวคือมีตำแหน่งงานรองรับอย่างแน่นอน แต่ในการทำงานด้านนี้ ถ้าจะทำวิจัยก็ต้องมีพื้นฐานความรู้ ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ต่อไปได้

ในแง่หนึ่ง การดูนกสามารถนำไปต่อยอดในสายงานต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งในการทำงานในด้านการวิจัย งานด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายกลุ่มก็มาเที่ยวประเทศไทยเพื่อดูนกพันธุ์ต่าง ๆ เช่นกัน ถือเป็นโอกาสหนึ่งของประเทศในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

“ถ้าเราเริ่มอย่างจริงจัง ก็มีตำแหน่งงานรองรับในอนาคต” รงรอง กล่าว

สิ่งที่นักอนุรักษ์ทั้งสามคนกล่าวถึงล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะในปัจจุบันถือเป็นยุคทองของสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการตระของผู้คนในวงกว้าง

ส่วนฟากเอกชน หากมีการลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้เป็นวิชาชีพก็จะทำให้โลกเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต อันจะเป็นการส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับลูกหลานของเรา

“…เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของคนทุกคน”

เรื่อง กษิดิศ ธัญกิจจานุกิจ

โครงการสหกิจศึกษา เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประเทศไทย

เรียบเรียง กองบรรณาธิการเนื้อหาออนไลน์ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ดำเนินรายการ เพชร มโนปวิตร

ชมวิดีโอบันทึกการเสวนาได้ที่นี่ 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.