เรามักคิดว่าพลาสติกนั้นเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผู้ร้ายตัวจริงคือมนุษย์ที่ใช้งานพลาสติกและจัดการขยะไม่ถูกต้องต่างหากที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง
โจทย์ที่ใหญ่พอๆ กับการพัฒนาและปรับตัวทางธุรกิจของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ที่ตรงกันและทำงานร่วมกันได้ภายใต้เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นแนวทางสำคัญของโลกนับจากนี้ พลาสติกถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย สร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดต้นทุน และนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่อยู่เสมอ กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ไปจนถึงรีไซเคิลและอัพไซคลิ่งจึงถูกพูดถึงมากขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งานต้องคิดให้รอบด้านมากขึ้น
ชื่อของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะผู้ผลิตสินค้าปิโตรเคมีรายใหญ่ที่ขยายธุรกิจไปถึงสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในช่วงเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันธุรกิจมีขนาดสินทรัพย์มากถึง 6.8 แสนล้านบาท และมีรายได้ในปี 2564 4.7 แสนล้านบาท IVL คือต้นทางของขวดพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) ปริมาณมหาศาลที่ใช้บริโภคในวงกว้าง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่สัมผัสกับสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรนี้
ทีม NG Thai ได้คุยกับคุณ ยาโชวาดัน โลเฮีย รองประธานบริษัทของ IVL ที่ดำรงตำแหน่ง Chief Sustainability Officer มานานกว่า 2 ปีก่อน เป็นทายาทธุรกิจที่เติบโตมาพร้อมเส้นทางธุรกิจของครอบครัว เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของเขาคืออะไร? และมองการจัดการขยะพลาสติกจากประสบการณ์ระดับโลกอย่างไร? ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษนี้
IVL ทำเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในมุมใดบ้าง?
ตอนนี้เราทำอะไรหลายอย่างมาก ช่วงนี้ผมพอจะเริ่มว่างมากขึ้นหน่อยเพราะว่าเราเพิ่งแต่งตั้งคุณ แอนโธนี่ วาตานาเบะ เป็น Chief Sustainability Officer คนใหม่เมื่อไม่นานมานี้ เขาจะดูแลทีมด้านความยั่งยืนโดยตรง ก่อนนั้นที่ผมมารับตำแหน่งนี้ มันยังใหม่อยู่ คือทีมนี้เรามีมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว ซึ่งทำข้อมูลและรายงานความยั่งยืน ตัวรายงานเราทำมาได้ 10 ปีแล้วครับ แต่เริ่มให้ข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษและข้อมูลที่เกี่ยวข้องมา 7 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเราพยายามทำเรื่องการลดคาร์บอนและความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อให้ IVL เราไปสู่เป้าหมาย ปี 2030 ที่เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% และเพิ่มการใช้งานพลังงานสะอาดเป็น 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมด อย่างวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่เราใช้ตอนนี้เป็นโพลีเอสเตอร์ ในวันข้างหน้าเราตั้งใจจะเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบชีวภาพให้มากกว่านี้
จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร?
เรื่องความยั่งยืนมีต้นทุนและเราเองก็คาดหวังจากมันด้วย เรื่องที่เราเน้นอย่างส่วนโครงการสีเขียวซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการผลิตและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ IVL มีโรงงาน 146 แห่งทั่วโลก ซึ่งเราเองก็พยายามหาทางลดเรื่องการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบอยเลอร์ (Boiler) และชิลเลอร์ (Chiller) ลดการใช้พลังงาน ใช้งานพื้นที่โรงงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งทำได้หลายวิธีครับ
อีกเรื่องคือการใช้พลังงานทดแทนและลดการใช้ถ่านหิน ในประเทศไทยเราตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 10 เมกะวัตต์ที่โรงงานและอยู่ระหว่างทำเพิ่มอีก 18 เมกะวัตต์ นอกจากนี้จะเริ่มลดการใช้งานหินในปี 2030 ทุกวันนี้ในประเทศไทยเรามี 3 โรงงานที่ใช้ถ่านหินอยู่ จากแผนที่มีเราน่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 5.15 หมื่นตันในปี 2027 นอกจากนี้เรายังลงทุนต่อเนื่องกับธุรกิจการรีไซเคิลที่ใช้เงิน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเชื่อมโยงกับธุรกิจทั้งหมดของเรารวมทั้งการเข้าซื้อธุรกิจอื่น เราลงทุน 4.7 พันล้านดอลลาร์หสหรัฐในวัตถุดิบชีวภาพซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนวัตุดิบเป็น 37% ภายในปี 2030 ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอนนั้น เราลงทุนพัฒนาเครื่องดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่อเมริกา นอกจากนี้ยังมีธุกริจพลังงานไฮโดรเจนในโปรตุเกสด้วย
ผมคิดว่าภาวะโลกร้อนกระทบกับระบบนิเวศและระบบเศรษฐกิจ ทั้งโลกต้องช่วยกันเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ให้ได้ เราสื่อสารกับลูกค้าของเราอย่างชัดเจน รวมทั้งคู่ค้าและพนักงานว่าเรื่องความยั่งยืนนี้ต่อรองไม่ได้ ยังไวก็ต้องทำ ซึ่งเราพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลด้านพลังงานและคาร์บอนต่อเนื่อง เพื่อช่วยทำให้การทำงานของเรามีมาตรฐานระดับสากล
เมื่อพูดถึงธุรกิจของ IVL จะนึกถึงพลาสติก แล้วพลาสติกจะเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างไร?
เราเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ ธุรกิจหลักคือ PET ซึ่งก็ถือเป็นพลาสติกประเภทหนึ่ง ครองสัดส่วน 8% ของพลาสติกทั้งหมดที่เราใช้กัน ปีนึงบริโภคสูงถึง 30 ล้านตันทั่วโลก สินค้าของเราถูกนำไปผลิตเป็นขวดน้ำดื่ม รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทต่างๆ PET มีข้อดีคือง่ายต่อการคัดแยกจัดเก็บเพื่อนำไปรีไซเคิล เรื่องนี้เราก็ต้องทำงานกับพันธมิตรด้วย ทุกวันนี้ ขวด PET เป็นพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลมากที่สุด ในแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันออกไปทั้งอเมริกา ยุโรปหรือเอเชีย อย่างในอเมริกาเขามีรถเก็บขยะและแขนกลในการเก็บขยะมาเทรวมกัน ทั้งพลาสติก เหล็ก กระดาษ กระป๋องก็รวมกันหมด การเก็บรวบรวมขวด PET จึงทำได้เพียง 30% เท่านั้น แต่ตอนนี้ธุรกิจจัดการขยะที่นั่นก็ได้รับความสนใจมากขึ้น คัดแยกกันมากขึ้นและรวบรวมส่งกลับมาให้อุตสาหกรรมอย่างเรา
ถ้าเป็นที่ยุโรปก็จะหลากหลาย อย่างเยอรมนีเขาเก็บขวด PET ได้ถึง 92% ซึ่งเขามีกระบวนการที่ดี มีตู้อัตโนมัติคอยให้บริการ พอเราดื่มเสร็จเอาไปคืนที่ตู้ จะมีคืนเงินให้ 15-30 เซ็นต์ ซึ่งมันก็เป็นแรงจูงใจให้คนหันมาคืนขวดที่ตู้กัน ประเทศอื่นๆในยุโปรก็ทำกันแบบนี้ อัตราการเก็บของเขาจึงสูงมาก ส่วนในเอเชีย จะเป็นการเก็บด้วยมือตามท้องถนน ซึ่งคนเก็บจะรู้ราคาของพลาสติกที่แตกต่างกัน เขาก็จะเลือกเก็บขวดพลาสติกไป รวมได้ก็เอาไปขายที่ที่เขารับซื้อ เราก็ไปซื้อต่อเอามาอีกที เหมือนกันทั้งจีน อินเดียและไทย ประเทศเรามีอัตราการเก็บขวด PET สูงถึง 85% ขณะที่จีนและอินเดียได้ 90% ถือว่าทำได้ดีเลย แต่ที่น่าคิดคือ พลาสติกที่มันถูกปล่อยออกไปในสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกในน้ำมีจำนวนมาก ซึ่งเราไม่ได้มีระบบการจัดการ คนจะไปงมขยะแล้วเอามาขายก็ไม่มี ซึ่งถ้าชุมชนริมคลองทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง มันก็จะถูกพัดพาลงทะเลไป เรื่องนี้เราก็ยังต้องแก้ไขกันอีกมาก
เวลาคนบอกพลาสติกเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม มองเรื่องนี้อย่างไร?
คือต้องมองแบบนี้ครับ อย่างถ้าเราต้องการทำขวดน้ำดื่มเทียบวัตถุดิบทั้ง PET อะลูมิเนียมและแก้ว การหลอม PET ใช้ความร้อน 270 องศาเซลเซียส อะลูมินั่ม 750 องศาเซลเซียส ส่วนแก้ว ใช้ความร้อนถึง 1,300 องศาเซลเซียส ซึ่งกลายเป็นว่าใช้พลังงานเยอะมาก เมื่อเทียบกับ PET ซึ่งกระบวนการผลิต PET นั้นส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่าบรรจุภัณฑ์แบบอื่นๆ ด้วยซ้ำ สมมติถ้าเราแบนการใช้ขวด PETแล้วหันไปใช้ขวดแก้วหรือกระป๋อง ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ใช้พลังงานในการขนส่งมากกว่าด้วย ในยุโรปเขาก็เข้าใจดีว่าการใช้โพลีเอสเตอร์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าคอตตอนและไม้ด้วยซ้ำ
ทุกคนอยากช่วยกันดูแลโลกใบนี้ แต่ก็ต้องดูเรื่องต้นทุนและความเป็นจริงในชีวิตด้วย PETและโพลีเอสเตอร์ ถือว่าตอบโจทย์ทั้งด้านราคา การเข้าถึงสินค้า คุณภาพ และการนำไปจัดการด้วยกระบวนการอื่นๆต่อไป IVL เราลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 7.5 แสนตันภายในปี 2025 ซึ่งหวังว่าจะช่วยรีไซเคิลขวด PEt ได้ 5 หมื่นล้านขวด ทุกปีเราก็รีไซเคิล PET 4.2 หมื่นตัน และเราก็จะเพิ่มมากขึ้นจากนี้
การใช้พลาสติกมีประโยชน์แต่ว่าการทิ้งขยะพลาสติกของเราต่างหากที่ยังทำได้ไม่ดี เรื่องนี้ต้องให้ความรู้ความเข้าใจในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ในประเทศฝั่งตะวันตกเขามีถังขยะแยกประเภทให้ใช้กันอย่างทั่วถึง ซึ่งก็ช่วยให้ประชากรของเขาคุ้นชินและทิ้งขยะได้ถูกต้องมากขึ้น อย่างตามสวนบ้านเขาเราจะไม่เห็นขยะทิ้งเรี่ยราด เพราะเขารู้เรื่องพวกนี้ เข้าใจเรื่องการทิ้งให้ถูกถังเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป ในอเมริกาก็พยายามเร่งพัฒนาอยู่ หรือในเอเชีย ไม่ใช่ประชาชนไม่รู้เรื่องการจัดการขยะ แต่การบริการรวมถึงกระบวนการด้านรีไซเคิลยังไม่ได้พัฒนามาก ผู้คนจึงยังมีทางเลือกน้อย
ในประเทศไทย เราเริ่มโครงการให้ความรู้ด้านรีไซเคิลเมือ่ปี 2017 ซึ่งเราเน้นเรื่องการคัดแยกและจัดการขยะด้วย 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle มีน้องๆ มาเรียนรู้นับหมื่นคนต่อปี และเราก็จะทำมากขึ้นด้วย เราเข้าไปถึงโรงเรียนเลย เริ่มจากเจาะกลุ่มเด็กอายุ 9-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมในการเรียนรู้เรี่องรีไซเคิล น้องๆ เองเมื่อเรียนแล้วก็สามารถเอากลับไปบอกกับพ่อแม่ที่บ้านต่อได้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจเรื่องรีไซเคิลได้ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังจัดหาถังขยะประเภทต่างๆไปไว้ตามโรงเรียนเพื่อฝึกให้พวกเขาคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง
ปี 2019 เราประเมินการทำโครงการเรียนรู้ออกมา พบว่าทุกๆ บาทที่เราลงทุนด้านการศึกษานี้ไปจะให้คุณค่ากลับมาถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นประโยชน์กับชุมชนผ่านกาารสร้างความรู้ให้คนรุ่นใหม่ นอกจากจะช่วยลดขยะ จัดการขยะอย่างถูกต้อง ยังเพิ่มโอกาสในการหารายได้เสริมอีกด้วย อย่างปีที่ผ่านมเราร่วมกับมูลนิธิยูนุสเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย เราถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคุณครูเพื่อให้พวกเขาได้ไปสอนเด็กนักเรียนต่อ เราตั้งเป้าว่าจะให้ความรู้เรื่องนี้กับเด็ก 1 ล้านคนในปี 2030 แต่พอมาจับมือกับทางสถาบันยูนุส ก็คิดว่าน่าจะทำได้ในปี 2025
IVLจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างไร?
ทั้งโลกตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 เพื่อช่วยกันฉุดไม่ให้โลกเราร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ทุกคนต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตของตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย อย่างเมื่อสิบปีก่อน เราใช้พลาสติก 25 กรัมสำหรับการผลิตขวด 500 มิลลิลิตร ตอนนี้เราลดการใช้วัตถุดิบมาเหลือ 14 กรัมเท่านั้น ทำขวดให้เบาขึ้นแต่ยังใช้งานได้ดีเหมือนเดิม และไม่ใช่แค่ขวดน้ำดื่มนะ เราทำขวดประเภทอื่นๆ ให้ใช้วัตถุดิบน้อยลงได้ อย่างขวดแชมพู เป็นต้น
กระบวนการรีไซเคิลจะเป็นตัวปลี่ยนผ่านที่สำคัญของธุรกิจ สังเกตได้ง่ายๆ อย่างรถที่เราขับกันทุกวันนี้ก็ใช้วัสดุที่เบาขึ้น เปลี่ยนชิ้นส่วนจากเหล็กไปเป็นพลาสติกมากขึ้น ตัวรถก็เบาขึ้น สามารถวิ่งระยะทางได้มากขึ้นจากการใช้พลังงานเท่าเดิม มองกลับมาที่ธุรกิจของเรา เราตั้งใจจะทำให้ขวดพลาสติกของเราเบามากขึ้นทุกปี สนับสนุนการนำกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น ตอนที่ผมไปประชุม World Economic Forum ก็มีเวิร์คชอปกับบริษัทน้ำอัดลม เขาบอกว่ากระบวนการ Recuse นี่ไม่เหมาะกับธุรกิจเครื่องดื่ม เอามาล้างๆ แล้วบรรจุใหม่ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้จะเป็นการรีไซเคิลและขวด PET จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี
ประทับใจอะไรในเวที World Economic Forum?
ผมไปปีนี้เป็นครั้งแรก ถือว่าไปเปิดหูเปิดตา เจอกับโลกกว้าง ดูว่าผู้นำระดับโลกเขาคิดอย่างไร เรื่องความยั่งยืนเป็นหัวข้อที่สำคัญมากที่สุด ทุกเวที ผู้นำแต่ละคนก็จะนำเสนอมุมมองที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการทำให้พลาสติกและเคมีภัณฑ์ยั่งยืนมากขึ้น จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดมากขึ้นนับจากนี้ เรื่องที่น่าประทับใจคือการร่วมมือกัน มีเวิร์คชอปที่ทั้งภาครัฐ เอกชน มาร่วมด้วยกัน รวมทั้งธุรกิจบริหารจัดการขยะและธุรกิพลาสติกอย่างเราต้องร่วมมือกันเป็นพันธมิตรที่ทำงานไปด้วยกันตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพราะเรื่องนี้ทำตัวคนเดียวไม่ได้
ผมเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Global Plastic Action Partnership กลุ่มบริษัทพลาสติกเขาจะประชุมกันทุกสองเดือน ช่วยกันแชร์ว่าใครทำอะไรไปบ้างและจะทำอะไรต่อไป อันไหนทำแล้วดี อันไหนไม่ควรจะทำต่อ เวทีนี้ได้ทำให้เรามารวมตัวกัน คิดในภาพที่ใหญ่มากขึ้นและร่วมมือกันได้
บางคนบอกว่าเรื่องความยั่งยืนนั้นน่าเบื่อ ตัวคุณเบื่อบ้างหรือเปล่า?
ไม่นะครับ ผมสนุกที่จะทำมัน และเป็นเรื่องทีต้องทำด้วย ผมเองก็ยังหนุ่มและมีเรี่ยวแรงทำเรื่องนี้อีกมากเพื่อช่วยกันทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ถ้ามีอะไรที่ผมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผมก็จะทำ ผมก็หวังว่า IVL ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมได้ นั่นเป็นแพชชั่นที่ผมมี
การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจะทำให้ตัวธุรกิจเองอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน ความยั่งยืนของโลกก็ขึ้นกับคาร์บอนที่ทุกภาคส่วนสร้างบนโลก ถ้าเรายังปล่อยมลพิษไปเรื่อยๆ สุดท้ายอากาศก็แย่ลงแล้วพวกเราก็จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นมิติของความยั่งยืนคือการทำให้โลกอยู่ร่วมกันได้และน่าอยู่มากขึ้น สำหรับเราคือการมุ่งพัฒนาสินค้าที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้หรือสินค้าทดแทนที่ดีกว่าของเดิม ต้องทำของให้ดีขึ้นในขณะที่รบกวนโลกนี้น้อยลง เป้าประสงค์ของเราคือ การเปลี่ยนธุรกิจเคมีภัณฑ์ไปด้วยกันเพื่อโลกที่ดีขึ้น
การจับมือกับพันธมิตรและทำงานร่วมกันคือคำตอบเลยครับ อย่างการทำโครงการหรือพัฒนาอะไรสักอย่างขึ้นมา มันก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เราเองก็ต้องคุยกับทั้งคู่ค้าและสื่อสารไปที่ผู้บริโภคด้วย ทุกวันนี้ผลสำรวจมากมายบอกว่าผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินสูงขึ้นให้กับสินค้าที่ทำเรื่องความยั่งยืน ตัวผู้ผลิตเองก็จะสามารถขายสินค้าได้สูงขึ้น สอดคล้องไปกับเราที่จะต้องพัฒนาวัตถุดิบและสินค้าที่ดีขึ้นไปสู่พวกเขา และนั่นไม่ใช่แค่ธุรกิจของเรานะครับ ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมเลย
เรื่อง มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล
ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา