CSR ไม่ได้แปลว่าบริจาค เข้าใจความยั่งยืนภาคธุรกิจ แบบ ‘อนันตชัย ยูรประถม’ ผู้บริหาร SBDi

พูดคุยกับ ‘อนันตชัย ยูรประถม’  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi) ถึงหน้าที่ขององค์กรธุรกิจต่อความรับผิดสังคม รวมทั้งมุมมองของผู้บริหารที่ต้องการพาองค์กรไปสู่ความรับผิดที่มากกว่าเดิม

เรารู้จักความยั่งยืนลึกซึ้งแค่ไหน?

ทุกวันนี้ความยั่งยืนไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้าขั้นวิกฤติ ทั้งภาครัฐ ธุรกิจและผู้บริโภคต่างมีส่วนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวและขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะบทบาทไหนก็ตาม เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกองค์ประกอบในระบบเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งมือทำอย่างเร่งด่วนที่สุด

องค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในอดีตจึงถูกรวบรวม เรียงร้อยและขมวดปมเป็นชุดความคิดที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือร้านค้าขนาดเล็กต่างตื่นตัวมากยิ่งขึ้นกับคำศัพท์ใหม่ๆรวมทั้งกฏเกณฑ์ที่ข้องเกี่ยวกับการทำมาหากินของพวกเขานับจากนี้ต่อไป เช่นเดียวกับยังมีการบ้านอีกมากที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนจะลุกขึ้นมาประกาศตัวเป็นองค์กรที่ยั่งยืน โดยที่เบื้องหลังการปลูกป่า สร้างฝาย แจกผ้าห่ม หรือบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลคือปลายทางที่เราสังเกตเห็นและรับรู้ได้เท่านั้น ยังมีวิธีคิด กระบวนการ และการจัดการเรื่องความยั่งยืนที่ลึกซึ้งให้เราได้ทำความเข้าใจต่อไป

‘อนันตชัย ยูรประถม’ หรืออาจารย์เอก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi) พาเราเดินทางผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจทั้งความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ความสำคัญและการมีอยู่ขององค์กร รวมทั้งเข็มทิศในหัวของผู้บริหารที่จะเป็นต้นทางสำคัญในการเปลี่ยนผ่านที่แท้จริง

SBDi คือใคร?

เราเป็นองค์กรเล็กๆ เป็นพันธมิตรกับคนอื่นๆ จะบอกว่าเป็นที่ปรึกษาธุรกิจหรือเปล่าก็ไม่เชิง มองว่าเราเป็นองค์กรด้านการวิจัยมากกว่า สมัยก่อนตอนเริ่มต้นทำเรื่องความยั่งยืน ทุกคนจะเห็น CSR ในมุมแคบเท่านั้น จะไปหาหนังสือตำราเรื่องนี้ก็ยากมาก ไม่มีเลย ต้องเอามาจากเมืองนอกหมดและแพงด้วย คนที่ทำทำแบบไม่ได้มีหลักการมันก็เป๋ไปแต่เรื่องบริจาคอย่างเดียวเลย

 เป้าของพวกเราคือทำอย่างไรจะให้สังคมไทยมีองค์ความรู้และความสามารถในการทำเรื่องความยั่งยืนให้เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นเราต้องเป็นคนที่สร้างชุดความรู้และเชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริง เพราะถ้าทำแบบไม่มีทฤษฎีก็ไม่รู้ว่าทำแล้วถูกทิศมั้ย หรือมีทฤษฎีแต่ทำไม่ได้มันก็ได้แค่ท่องบทไปวันๆ พันธกิจของเราคือการเผยแพร่เรื่องพวกนี้ให้มากที่สุด ก็เป็นโชคดีของเราที่ทำงานเป็นพันธมิตรกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมา 13-14 ปีแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นช่องทางสำคัญที่เราทำส่งผ่านความรู้ด้วยการอบรมบริษัทจดทะเบียน ยังคุยกันเลยว่าสมัยก่อนต้องไปง้อให้มาเรียนเรื่องความยั่งยืน แต่ตอนนี้คนละเรื่องกันเลย มีแต่คนแย่งกันเรียน

ธุรกิจไทยเริ่มสนใจเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่เมื่อไหร่?

เรื่องนี้มีมานานแล้ว ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง มีคนสนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยังยืน (Sustainable Development : SD) คนเขาอยากเปิดเผยแต่กิจกรรมที่ทำแต่ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลอื่น เถียงกันไปมาทาง Global Report Initiative (GRI) ก็เลยบอกว่าไม่เป็นไรงั้นเดี๋ยวเป็นแพลตฟอร์มให้ จำได้ว่าเป็นปี 2000 เขาก็ได้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากส่วนต่างๆมาช่วย จากนั้นก็เราก็ชวน SCG โดยทาง Siam Craft มาทำการเขียนรายงานตามรูปแบบของ GRI ซึ่งน่าจะเป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ทำรายงานความยั่งยืนโดยใช้ฟอร์แมตของ GRI

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยถูกถามจากฝั่งยุโรปและอเมริกาว่าทำไมบ้านเราไม่มีผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืน ประมาณเกือบยี่สิบปีที่แล้วมั้ง ถามว่าตลาดหลักทรัพย์ขายอะไร ก็ขายหุ้น แล้วหุ้นก็คือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั่นแหละ ดังนั้น มันก็หมายถึงผลิตภัณฑ์ของหุ้นที่มีความยั่งยืนนั่นเอง คือบริษัทที่มีความสามารถเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและไม่ใช่การเงินได้ เราเห็นว่าเทรนด์นี้ยังไงก็มาแน่ ทางตลาดฯก็เลยชวน SBDi เข้าไปเป็นพันธมิตรร่วมกัน ก็เลยคิดว่าทำหลักสูตรด้านความยั่งยืนกันดีกว่า

อย่างในเมืองไทยไม่ใช่ว่าไม่มีคนทำเลยนะ แต่เขาทำแล้วเขาไม่รู้จักว่าสิ่งที่ทำอยู่คือความยั่งยืน เขาก็ไม่ได้บอกเรา ตอนนั้นจะมีเพียงแค่ SCG กับPTT ที่เป็นองค์กร ระดับโลกไปแล้วที่แชร์เรื่องนี้ อะไรที่เกิดขึ้นในโลกก็จะรับรู้เร็ว เราเชื่อว่าเอกชนไทยเขาทำกันมานานแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยกันออกมา เพราะสมัยก่อนเวลาเราคุยกันเรื่องบริษัทจะคุยแต่เรื่องกำไร ขนาดธุรกิจ เรื่องตัวเงิน สินค้าและบริการ เรื่องสังคมก็มีองค์กรด้านสังคมสงเคราะห์จัดการอยู่แล้ว หรือเรื่องการบริหารจัดการคนในองค์กรหรือสิทธิมนุษยชนไม่มีใครออกมาพูด

ข้อผิดพลาดหรือจุดที่มักถูกมองข้ามไปเวลาองค์กรพูดเรื่องความยั่งยืนคืออะไร?

ผู้นำองค์กรมีความสำคัญมากที่สุดในเรื่องนี้ ผมว่าความเข้าใจนี่สำคัญมาก เพราะถ้าเขาเข้าใจแบบไหนเขาก็จะทำแบบนั้น เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำองค์กรมองว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นเพียงการทำรายงานออกมาเพียงหนึ่งเล่มเท่านั้นหรือได้รางวัลหรือได้เข้าไปอยู่ในดัชนีอะไรสักอย่างก็พอแล้ว สังเกตดูว่าพวกเขาจะออกมาพูดว่าผมได้รางวัลอย่างนั้นอย่างนี้นะ จริงๆมันเหมือนการทำเพื่อตอบข้อสอบ ติวเพื่อให้สอบได้ ดังนั้นการสื่อสารที่ออกมามันจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเกิดผู้นำองค์กรเข้าใจว่าความยั่งยืนคือการเปลี่ยนแปลงที่จะไปสู่บริบทใหม่ของการทำธุรกิจแล้วใช้เครื่องมือเหล่านี้เอามาตรวจสอบบริษัทตัวเอง ปรับปรุงให้ดี ทำจริงๆ มันจะเห็นเวลาเขาสื่อสารออกมาเลยว่าเขาเปลี่ยนแปลงเรื่องนั้นจริงๆ

อย่างผมเคยคุยมา ซีอีโอบางคนบอกว่าอยากทำ ผมถามว่าทำอย่างไร เขาก็ตอบว่าให้เงินได้เต็มที่เลย อยากออกไปทำอะไรก็ทำ แต่อย่ามายุ่งกับกระบวนการผลิตนะ ทั้งที่เรื่องนี้จะสำเร็จได้เนี่ยมันต้องมีคนที่เหมาะสมมานำองค์กร ซึ่งถูกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งคือ ซีอีโอนำองค์กรไปถูกทิศหรือเปล่า ถ้ายังคิดแต่เรื่องการบริจาคมันก็ยังวนเวียนอยู่แบบเดิม

ความยั่งยืนเป็นมากกว่าเรื่อง CSR อย่างไร?

ความยั่งยืนที่ทำกันมารุ่นแรกมีตั้งแต่หลังสงครามโลก ตอนนั้นตื่นตัวเรื่องผลกระทบของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศต่างก็เร่งเรื่องการพัฒนาทั้งหมด อัดฉีดกันเข้าไปเต็มที่เลย เติบโตกันอย่างเดียวโดยที่ไม่สนผลกระทบ อย่างในอเมริกา ทุกคนก็พยายามจะเพิ่มผลผลิตออกมาให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งมีผู้สังเกตว่าทำไมเวลาฤดูใบไม้ผลิแล้วทุกอย่างเงียบจัง แมลงแทบไม่มีเลย ก็เพราะว่าทุกคนเร่งเติบโตจนใช้ยาฆ่าแมลงกันทั่วบ้านทั่วเมืองและทำให้แมลงจำนวนหนึ่งสูญพันธุ์หายไป นี่สะท้อนว่าการเติบโตโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบมีปัญหามาก ก็เลยมาพูดคุยกัน แต่ก็มองว่าเป็นการเอากำไรที่มีเจียดไปดูแลสังคม ดูแลคนยากจนจะดีกว่า นั่นถือเป็นรุ่นแรกของธุรกิจที่ใส่ใจสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นยุคของการ ‘สงเคราะห์’ มากกว่า

คือเวลาเราพูดถึง CSR หรือ Corporate Social Responsibility ซึ่งมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เพียงแต่เราหยิบมันมาใช้แค่กระผีกเดียว ถ้าเราเขียนคำว่า CSR จะเห็นได้ว่ามันประกอบไปด้วย 2 ส่วนประกอบที่สำคัญ หนึ่งคือ SR หรือ Social Responsibility ก็คือความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถ้าพูดถึงความรับผิดชอบ ตัวบุคคลเองก็ต้องมีเหมือนกัน กระทั่งวัด โรงเรียน หรือ NGO เองก็ต้องมีด้วย แต่ในที่นี้เรากำลังพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของ C คือ Corporate องค์กรธุรกิจทั้งหลาย ก็ต้องถามว่าความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรมีเพียงแค่การบริจาคจริงหรือ

การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีสามส่วนที่สำคัญคือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหมด แต่ถามว่าภาคธุรกิจเกี่ยวข้องกับส่วนไหนมากที่สุด คำตอบก็คือระบบเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่เขาต้องรับผิดชอบ ดังนั้นความรับผิดชอบที่สำคัญของธุรกิจคือ การเป็นสถาบันที่ค้ำจุนระบบเศรษฐกิจของสังคมต่างหาก ไม่ใช่แค่ผลิต ขาย ทำกำไรแล้วก็จบ ลองนึกดูนะครับว่าถ้าธุรกิจตั้งขึ้นมาแล้วเจ๊ง ต่อให้มีภาครัฐอยู่ แต่ร้านค้าบริษัทอยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจก็ล่มนะครับ หรือถ้าบริษัทตั้งขึ้นมาแล้วอยู่รอด มีกำไร มีความรับผิดชอบต่อสังคม ถามว่าทำครบถ้วนหรือยัง คำตอบคือยังครับ เพราะนั่นเป็นแค่ฐานต่ำสุด

ขั้นที่สองคือ ธุรกิจจะเติบโตขึ้นมาได้ต้องอยู่รอดจากการปฏิบัติตามกฎหมาย นี่ถึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม อะไรที่ทำได้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ควรทำเสีย เช่น กฎหมายบอกว่าปล่อยน้ำเสียได้เท่านี้ ดูแลพนักงานได้เท่านี้ บริษัทที่เสียดายกำไรก็ทำแค่ผ่านตามที่กฏหมายกำหนด ที่เหลือไม่ทำ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่มี CSR สูงกว่า เขาก็จะมีจริยธรรม เขาจะทำสูงกว่าที่กฏหมายกำหนดเสมอ

ถัดมา ถ้าบริษัทมีกำไรมากพอ มีโอกาสก็ไปเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นด้วย นั่นคือ CSR ในภาพที่พวกเราเห็น ไม่ว่าจะเป็นการออกไปทำสังคมสงเคราะห์ หรือการบริจาค จะเห็นได้ว่ามันเป็นปลายทางเท่านั้น ทั้งที่ฐานของการทำ CSR ต้องไล่ไปตั้งแต่การเป็นสถาบันที่ค้ำจุนระบบเศรษฐกิจและสังคม เติบโตอยู่ภายใต้กรอบกฏหมาย ทำสูงกว่าที่กำหนดด้วย และสุดท้ายถึงเป็นการเผื่อแผ่ไปที่ผู้อื่น

ถ้าเราพูดว่าความยั่งยืนหมายถึง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ค้ำจุนตรงนี้ไปยาวๆ ก็เลยต้องทำ Corporate Sustainability หรือ ความยั่งยืนองค์กร มันเป็นภาคต่อกัน คือ ธุรกิจต้องอยู่รอด มีกำไร ด้วยการไปดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนกำไรและการอยู่รอดของเขาด้วย นี่ช่วยให้ธุรกิจมี CSR ที่ยั่งยืน แล้วก็จะได้ไปช่วยการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างครบถ้วน มันสัมพันธ์กันแบบนั้น

ดังนั้น จึงบอกได้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคนถามผมว่าถ้าอย่างนั้นเราต้องโตและมีกำไรตลอดใช่มั้ย ผมตอบไปว่าไม่จำเป็นครับ ถ้าเราโตได้ก็โต ถ้าโตไม่ได้ยังไงก็ต้องรอดให้ได้

องค์ประกอบในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นและเติบโตได้คืออะไร?

ลองนึกถึงเก้าอี้ที่มี 3 ขา มันมี 2 ขาไม่ได้เพราะเดี๋ยวก็ล้ม 3 ขาในทีนี้คือ หนึ่ง เราต้องการ Doer คือคนที่ลงมือทำ ก็คือภาคธุรกิจนี่ล่ะ ขาที่สองคือ Enabler ซึ่งคือภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนเพราะเขามีพลัง อำนาจและกฏหมายอยู่ในมือ และขาที่สามคือ Supporter ประชาขน ผู้บริโภคนั่นเอง ถ้าธุรกิจทำเพื่อสังคมไปเยอะเลย แต่ผู้บริโภคไม่สนับสนุนสินค้าที่มีความรับผิดชอบเพราะว่าแพงก็เลยไม่ซื้อ ทีไหนขายของถูกก็ไปซื้อที่นั่นไม่ว่าเขาจะไปโกงหรือเอาของใครมาก็ไม่สน ถ้าเป็นแบบนั้น พวก Doer ตายเลยครับ

แต่ถ้า Doer และ Supporter ซึ่งก็คือผู้ผลิตและผู้บริโภคทำ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือมีกฏหมายที่เอื้อกับการทำ เขาก็ไปไม่ไหวเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าความยั่งยืนต้องอาศัยสามขานี้ไปพร้อมๆกัน ค่อยๆดันให้สูงขึ้น มันอาจจะขยับขึ้นไปไม่พร้อมกันหรอกครับ ถ้า Enabler สามารถดันเรื่อง CSR หรือ SE ให้สูงขึ้นได้เพราะว่าเขามีกฏหมายในมือ อย่างพอเราบอกว่าการจัดการน้ำเสียเป็นข้อบังคับ ทุกองค์กรต้องทำให้ได้ตามขั้นต่ำเขาก็ทำกัน แต่มาวันนี้บอกว่าเรื่องคาร์บอนเป็นความสมัครใจเพราะต้องใช้เทคโนโลยีที่สูง ถัดมาเราก็จะเริ่มเห็นภาษีคาร์บอน เริ่มขยับจากฝั่งสมัครใจมาเป็นกฏหมายแล้ว เนื่องจากความสามารถในการจัดการคาร์บอนแต่ก่อนเป็นเรื่องของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเขาทำกัน แต่ตอนนี้มันไม่จำเป็นแล้ว เพราะว่าเรามีความรู้และเครื่องมือหลากหลาย ก็เลยพูดกันว่าวันข้างหน้าเรื่องคาร์บอนก็จะมีข้อบังคับให้ทำเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ในที่สุด

สถาบันการเงินจะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง?

เรื่องเครื่องมือทางการเงินอย่างยั่งยืนมันมีพัฒนาการของมันครับ แหล่งที่มาที่สำคัญก็คือเงินทุนนี่ล่ะ เมื่อใดที่คนให้เงินบอกว่าอยากสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นล่ะคนก็โดนบีบแล้วก็ปรับตัว แต่ถ้าอยู่ๆจะไปบีบเขาแล้วบอกว่าถ้าทำไม่ได้จะไม่ให้กู้นะ สถาบันการเงินก็เสียโอกาส เพราะมันก็จะมีคนอื่นที่บอกว่ามาเอาเงินที่เขาเลย เขาให้ ดังนั้นต้องทำให้เท่ากันและเรียนรู้ไปด้วยกัน

ตอนนี้ธนาคารต่างๆเขาก็มีกองทุนเยอะแยะที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืน เราจะเห็นจุดเปลี่ยนคือเวลาผมไปบรรยายตามที่ต่างๆ จะมีประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินหรือ CFO มาคุยด้วย ทั้งที่แต่ก่อนเรื่องนี้จะมีแต่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) กับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)คุยด้วยเท่านั้น ล่าสุดก็ได้คุยกับ CFO พวกเขาบอกว่าต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะว่ากระแสการเงินเพื่อความยั่งยืนมันมาแล้วและพวกเขาต้องเตรียมตัวเรื่องนี้ ปัจจุบันผู้บริหารด้านการเงินขององค์กรต่างๆสนใจเรื่องพวกนี้มากยิ่งขึ้น ตื่นตัวมากขึ้นแล้ว

ทำไมเราจึงหยุดทำธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทันทีไม่ได้?

ต้องบอกว่าเราอยู่ในยุควิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว โจทย์คือทำอย่างไรอุณหภูมิโลกจะไม่สูงเกิน ในทางปฏิบัติไม่ว่าจะเรื่องคาร์บอนหรือว่าน้ำเสียเองมันจะมีเพดานของมันอยู่ พอเราไปได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว เทคโนโลยีก็จะเริ่มไม่สนับสนุน ทำได้แต่ต้นทุนการทำสูงเกินจนไม่คุ้มเงิน ตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมถ่านหิน ในอุดมคติเราก็ไม่อยากให้มีธุรกิจแบบนี้แล้ว แต่ถามว่าจู่ๆเราบอกว่าไม่เอาได้มั้ย ก็ต้องดูว่าเราไหวมั้ย ต้นทุนได้หรือเปล่า พลังงานพอให้ใช้หรือไม่ นี่คือประเด็น สิ่งที่ทุกคนควรทำคือการสร้างอัตราเร่งของการทดแทนสินค้าเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เราจะเห็นเครื่องมือทางการเงินเกิดขึ้น ธนาคารเองก็ยังให้การสนับสนุลูกค้าเดิมเขานะ แต่ต้องไปเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนหรือโครงการที่ไม่สร้างมลภาวะให้สูงกว่าโครงการที่สร้างมลภาวะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องใช้การกระตุ้นและแรงส่งจากหลายด้านเพื่อทำให้เรื่องพวกนี้เกิดได้เร็วขึ้น แต่ถามทว่าทำให้หายไปเลยได้มั้ย ไม่มีทางครับ

อย่างวันดีคืนดี เราบอกว่าจะไม่ให้มีรถเครื่องยนต์สันดาปภายในอีกเลย ทุกคนต้องใช้รถไฟฟ้า ก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่าไหวมั้ย คนต้องใช้รถไฟฟ้าแล้วเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ถ้าซื้อมาแล้วจะเอาสถานีที่ไหนไปรองรับ ดังนั้นเวลาเราทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านมันต้องอาศัยเวลาเพราะมีข้อจำกัดของมันอยู่

พูดถึงตรงนี้ก็จะนึกต่อไปถึงวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ SE ทำไมพวกเขากลับประสบความสำเร็จได้ยาก?

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยหรอกครับ ถ้าเราพูดเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมนี่อัตราการรอดเขาต่ำกว่าธุรกิจทั่วไปนะ เพราะว่าจุดสำคัญของธุรกิจเขาคือต้องเอาพันธกิจทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเอามาแปลงเป็นโมเดลทางธุรกิจ คือแค่คิดโมเดลทางธุรกิจก็ยากแล้ว ดูแลสังคมก็ยากแล้ว ทำอย่างไรจึงจะเอาสองอย่างมาเชื่อมโยงกันได้ คำว่าอยู่รอด ไม่ต้องมีกำไรตลอดนะ แค่เอาประเด็นทางสังคมเข้ามาแล้วต้องเลี้ยงตัวเองให้รอดนี่ก็ไม่ง่ายแล้ว เพราะถึงเข้าใจสังคมอย่างลึกซึ้งแต่ไม่สามารถทำเป็นธุรกิจได้ก็ทำไม่ได้ หรือเข้าใจธุรกิจแล้วแต่สิ่งที่ทำไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็ขายไม่ได้อีกเหมือนกัน

ถ้าอย่างนั้นก็ให้บริษัทใหญ่ทำเรื่องเพื่อสังคมในหลายมิติมากขึ้นไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?

อย่างนี้ครับ เราจะใช้เพียงบทบาทใครบทบาทหนึ่งในสังคมนี้ไม่ได้ ขับเคลื่อนด้วยคนประเภทเดียวไม่ได้ ลองนึกถึงคนสี่คนที่ยืนอยู่ตรงแม่น้ำ แล้วมีเด็กอยู่ในตะกร้าไหลลอยมาเต็มไปหมด คนแรกก็ต้องกระโจนลงน้ำเพื่อไปช่วยเด็กๆแบบปัจจุบันทันด่วน คนที่สองก็ต้องรีบวิ่งไปดูต้นแม่น้ำว่ามันเกิดอะไรขึ้นและหยุดปัญหา คนทีสามไม่ได้วิ่งไปไหน แต่คอยดูแลเด็กที่อยู่บนฝั่งให้ปลอดภัย ส่วนคนที่สี่วิ่งกลับบ้านไปบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น เกิดอะไรขึ้นและแก้ไขอย่างไร สังคมต้องการคนทั้ง 4 ประเภท เราไม่ได้ต้องการธุรกิจใหญ่อย่างเดียว หรือธุรกิจเล็กอย่างเดียว แต่เราต้องการคนทั้ง 4 แบบ อย่างธุรกิจใหญ่เขาก็มีหลักคิด 80:20 ไปดูแลคน 20 %ที่ทำกำไรให้เขาได้ 80% แต่คนที่ยากไร้ก็อาจเข้าไม่ถึงสินค้าและบริการของพวกเขา แต่วิสาหกิจเพื่อสังคมมองว่าควรไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้โดยใช้โมเดลทางธุรกิจจะยั่งยืนกว่า ดังนั้น SE จึงเป็นการเข้าไปช่วยในเซ็กเมนต์ที่ธุรกิจใหญ่ไม่มอง หรือไปไม่ถึงหรือไม่สามารถไปได้

ขนาดของธุรกิจก็มีผลในการทำเรื่องพวกนี้ เป้าหมายและการเข้าถึงก็แตกต่างกัน ขนาดใหญ่ต้องใช้ทุนเยอะ ขนาดเล็กแตกย่อยออกไปง่ายกว่า เราจะให้มีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ หรือจะให้ทุกธุรกิจกลายมาเป็น SE ก็ไม่ได้เช่นกันเพราะเขายังต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยกำไรอยู่ จะสังเกตได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่และวิสาหกิจเพื่อสังคมจึงเติมเต็มกันและกัน คือการบริจาคก็ยังต้องมีอยู่ เพราะมีคนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ขณะเดียวกันก็ยังต้องมีเครือข่ายทางสังคมด้วยเพื่อเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เราต้องการความหลากหลายทางความยั่งยืนเช่นเดียวกับที่ธรรมชาติต้องการความหลากหลายทางชีวภาพ

เรื่อง : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ภาพ : เอกรัตน์ ปัญญะธารา

อ่านเพิ่มเติม ปักหมุดเพื่อไปต่อ ล้อหมุนสู่ความยั่งยืนที่จับ

ต้องได้ของ Grab ประเทศไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.