SX Talk Series # 4 กลมกลืนอย่างสร้างสรรค์ สร้างโอกาส สู่สังคมยั่งยืน

บันทึกจากบทสนทนาใน SX Talk Series # 4 ที่สะท้อนความยั่งยืนในมิติเชิงสังคม

ถ้าพูดถึงความยั่งยืน ใครหลายคนมักนึกภาพถึงความยั่งยืน ในมิติเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เรามักได้ฟังการถ่ายทอดประสบการณ์กันอยู่บ่อยๆ แต่ถึงเช่นนั้นมิติความยั่งยืนด้านสังคมก็ยังเป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

ในเวที SX Talk ประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งปูทางไปสู่งานใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนนี้ มีหัวข้อ   “SX Talk Series # 4 Inclusion for Sustainable Society กลมกลืนอย่างสร้างสรรค์ สร้างโอกาส สู่สังคมยั่งยืน”  ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้อธิบายความยั่งยืนในเรื่องสังคมได้อย่างน่าสนใจ และ National Geographic ภาษาไทย ขอบันทึกสิ่งที่ได้ฟังจากการเข้าร่วมฟังการพูดคุยในโอกาสนี้

เวทีครั้งนี้มี  3 วิทยากรพิเศษ ซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกับการทำกิจการเพื่อสังคม ได้แก่ นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา CEO วิสาหกิจสุขภาพชุมชน :SHE Vice Chairman SE Thailand Association ซึ่ง “ช่วยสตรีที่เคยก้าวพลาดให้ยืนได้มั่นคงต้องให้ Innovation Soft Power ที่ทรงค่าเป็น Service ที่ตอบ UN SDGs หลายข้อ ต้นทุนต่ำ ใช้ประจำ ทำได้ทุกที่ มี Signature“

คุณเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ CEO – Vulcan Coalition Co.,Ltd. “แสงสว่างในความมืด ความหวัง รอยยิ้มของคนที่ถูกสังคมลืม การผนวกรวมของสังคมเพื่อความเท่าเทียม” และ คุณท๊อฟฟี่-โสภณ ทับกลอง นักแสดง นักเต้น นักศิลปะ และพิธีกรรายการทีวี “ความสำเร็จคือโอกาสที่คุณจะฝึกฝนและทำมันต่อเนื่องอยู่เสมอไม่มีหรอกความมืดมีแต่แสงสว่างที่เป็นสีดำมากกว่า”

ในบรรยากาศการพูดคุยแบบสบายๆนี้ บทสนทนาเริ่มที่ นพ.พูลชัย ผู้พัฒนาโครงการ SHE อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเล่าว่าเขานำแนวคิดที่ต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มมนุษย์ออฟฟิศที่ร่างกายสะสมความเครียดเป็นเวลานาน

สิ่งที่เขาทำคือการผสมผสานองค์ความรู้และเทคนิคกายวิภาคศาสตร์ดัดจัดสรีระเทคนิคของการยืดเหยียดแบบ Sport Medicine ร่วมกับการกดจุด Trigger Point เพื่อสั่งให้สมองเปลี่ยนคำสั่งจากกล้ามเนื้อตึงให้เป็นกล้ามเนื้อหย่อน การสลายจุด Trigger Point ในกล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับได้สนิทขึ้น เพราะเป็นการปรับสมดุลระบบประสาทอัตโนมัติใหม่ เมื่อทำสม่ำเสมอประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะดีขึ้น ใช้เวลาเพียง 10 นาที ในการคลายความเมื่อยล้า

แนวคิดการยืดกล้ามเนื้อถูกนำมาใช้เป็นงานและธุรกิจบริการ โดยมีพนักงานออฟฟิศ ผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงคนทั่วไปเป้นเป้าหมายหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับค่อนข้างดี

“พร้อมกันนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังนำไปสู่โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมมาช่วยในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ด้วยการนำพนักงานจากกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอดีตผู้ต้องขังหญิง กลุ่มสตรีมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางด้านรายได้ วัฒนธรรม การศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการภาครัฐต่างๆ ซึ่งจากการลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และ ปัตตานี พบว่า กลุ่มสตรีมุสลิมส่วนใหญ่ จะประกอบอาชีพรับจ้าง มีรายได้เพียงเล็กน้อย การเข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ทำให้พวกเขามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้”

ขณะที่คุณเมธาวี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม Start up ที่นำ AI มาช่วยสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ โดยประเด็นสำคัญที่คุณเมธาวีมาแบ่งปัน คือ การตั้งคำถามว่า “เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้นักศึกษาที่บกพร่องทางการมองเห็นเรียนจบและมีงานทำ” ซึ่งนำมาสู่การออกแบบสังคมให้กับผู้มีศักยภาพจำกัดได้มีพื้นที่การพัฒนาศักยภาพที่เท่าเทียม และนั่นจึงเป็นที่มาให้เกิดการฝึกทักษะผู้พิการ ป้อนข้อมูล  ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีหน่วยงานและองค์กว่า 60 เจ้า มาร่วมสร้างงานให้คนพิการ มากกว่า 600 คน ให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 9,000 บาท

ในเรื่องนี้ เธอ ถ่ายทอดมุมมองว่า  การขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ล้วนมีบทบาทสนับสนุนสังคมพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน กรณีของ Vulcan Coalition ซึ่งเป็น Start-up ที่นำ AI มาช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้พิการ โดยพัฒนา Platform ห้ารูปแบบตั้งแต่ 1.Academy Platform ใช้สำหรับ Training 2.Linkage Platform ใช้สำหรับเรื่องสัญญาการจ้างผู้พิการอย่างเป็นธรรม 3. Collab Platform สำหรับการทำงานของผู้พิการซึ่งมาทำงานในลักษณะ Labelling working 4. Value Platform สำหรับติดตามประสิทธิภาพการทำงานและ 5. Unity Platform สำหรับการแบ่งปันความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มผู้พิการ

“หลักการสำคัญ คือ การออกแบบให้ผู้มีศักยภาพที่จำกัดสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้ (Design for Accessibility) ซึ่ง AI สามารถออกแบบและตอบโจทย์เหล่านี้ เพื่อให้โครงการนี้สร้างประโยชน์ได้ทั้งผู้พิการ และสังคมที่จะได้รับบริการ”

ด้านคุณท๊อฟฟี่-โสภณ  นักแสดงละครเวทีจาก Blind Theatre ผู้ชักชวนให้คนตาบอดออกมาลองเคลื่อนไหวไปพร้อมกันกับเขา เล่าถึง

การทำละครมืด หรือ Blind Theatre ซึ่งกระบวนการในการแสดงละครนั้น ไม่ใช่แค่การสวมบทบาท และแสดงให้เป็นใครสักคนตามบทนั้น แต่มันคือการฝึกร่างกาย และร่วมกันสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชมในทุกๆแบบผ่านเสียง กลิ่น ซึ่งสร้างประสบการณ์ในการเสะงานละครเวที

หากจะชมละครกลุ่มนี้ ต้องปิดตาแล้วเปิดใจ และเชื่อว่า การมองเห็นไม่ใช่ทุกสิ่ง คนดูต้องใช้จินตนาการ รับฟัง รับรู้ ด้วยประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ และทำให้มีสมาธิมากกว่าการชมละครทั่วไป

ทั้งหมดจึงเป็นมิติในด้านสังคมผ่านการทำโปรเจคที่ผู้ร่วมสนทนา SX Talk Series # 4 Inclusion for Sustainable Society นำมาเล่าสู่กันฟัง

อ่านเพิ่มเติม : เสือศาสตร์ 101 เรียนรู้เริ่มต้นที่เสือโคร่ง ขยายสู่ความยั่งยืนของระบบนิเวศ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.